พบผลลัพธ์ทั้งหมด 78 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2532/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางการกู้ยืม, สัญญาขายฝาก, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, บุคคลภายนอก, การชดใช้ค่าเสียหาย
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า หนังสือสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืนเงินระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การปฏิเสธว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลสมบูรณ์ โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมเงิน เนื่องจากสัญญาขายฝากเป็นเอกสารสัญญามหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้น ป.วิ.พ. มาตรา 127 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง จากทางนำสืบของโจทก์ โจทก์โอนเงินดอกเบี้ย 2 ครั้ง ให้ ฉ. และ ฉ. โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งจะเท่ากับดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดือน จากต้นเงิน 350,000 บาท ซึ่งโอนหลังจากหักดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือนแล้ว ซึ่งหากโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเจตนาทำสัญญาขายฝากจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องมีการผ่อนชำระดอกเบี้ยแก่กันเพราะการขายฝากที่ดินพิพาทสามารถชำระเงินสินไถ่ให้แก่ผู้ซื้อฝากได้ในคราวเดียวหรือนำเงินสินไถ่ไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์เพื่อไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนได้ในคราวเดียวกันไม่จำต้องชำระดอกเบี้ยรายเดือน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมที่มีที่ดินพิพาทเป็นประกัน ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองกู้ยืมเงินจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมอบโฉนดที่ดินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยึดถือเป็นหลักประกัน โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินกู้ยืม 350,000 บาท แต่การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (1) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมเป็นโมฆะ การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 โจทก์ทั้งสองไม่อาจเรียกคืนได้ แต่ต้องนำเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระไปหักเงินต้นดังกล่าว และเมื่อนิติกรรมการขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินโดยมีที่ดินพิพาทเป็นหลักประกันจึงตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยข้างต้น ทำให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ แต่เนื่องจากจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ 3 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวงย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์ทั้งสองไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ได้ สภาพแห่งหนี้จึงไม่อาจเปิดช่องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ จึงต้องรับผิดชดใช้ราคาที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยคิดตามราคาประเมินตามที่โจทก์ทั้งสองมีคำขอและให้นำไปหักเงินกับหนี้ที่โจทก์ทั้งสองต้องชำระตามสัญญากู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4661/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายที่ดินโดยมีเจตนาลวงเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายจัดสรรที่ดิน ทำให้สัญญาเป็นโมฆะ และที่ดินต้องคืนแก่ผู้ขาย
โจทก์และจำเลยมีเจตนาซื้อขายที่ดินเนื้อที่เพียง 100 ตารางวา เท่านั้น แต่มีเจตนาลวงซื้อขายที่ดินพิพาทเนื้อที่ 58.2/10 ตารางวา รวมไปด้วยเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้มีการแบ่งแยกที่ดินตั้งแต่ 10 แปลง ขึ้นไป อันเป็นการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 โดยมีข้อตกลงให้โจทก์ชำระหนี้จำนองในส่วนที่ดินพิพาทและให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์เมื่อพ้นกำหนด 3 ปี นิติกรรมการซื้อขายในส่วนที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยโจทก์และจำเลยสมรู้ร่วมกัน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตามมาตรา 172 วรรคสอง อย่างไรก็ดีกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดินโดยจัดสรรที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 21 การดำเนินการของโจทก์ยังคงต้องด้วยหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินโดยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ให้ผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีสาธารณูปโภคขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการ ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณูปโภคตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไปตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้าขัดขวางหน้าที่ของโจทก์ดังกล่าว และไม่อาจขับไล่โจทก์กับห้ามโจทก์ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยให้โจทก์รื้อถอนหรือขนย้ายสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งในที่ดินเพื่อจัดทำสาธารณูปโภคตามฟ้องแย้งได้ ปัญหาอำนาจฟ้องของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่การกระทำการเพื่อชำระหนี้ของโจทก์ยังถือเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์ไม่อาจเรียกคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทจากจำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4210/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าโมฆะเนื่องจากมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย (โรงแรมในที่ธรณีสงฆ์) คู่กรณีไม่ต้องรับผิดซึ่งกันและกัน
เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกันโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะประกอบธุรกิจโรงแรมในอาคารพิพาททั้ง ๆ ที่มีกฎหมายห้ามไว้เช่นนี้จึงเป็นการที่จำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทกับโจทก์โดยมีวัตถุประสงค์ในมูลเหตุชักจูงใจเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาเช่าจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
เมื่อสัญญาเช่าเป็นโมฆะโจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจากจำเลยไม่ได้ ส่วนการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากสัญญาเช่าที่เป็นโมฆะจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเป็นการผิดกฎหมาย จึงถือว่าการที่โจทก์จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งโจทก์และจำเลยหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 และเมื่อโจทก์กับจำเลยต่างก็กระทำการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำเลยจะมาฟ้องแย้งว่าโจทก์กระทำละเมิดหลอกลวงจำเลยด้วยการปกปิดความจริงในเหตุทั้งสาม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างที่จำเลยนำสืบไม่ได้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
เมื่อสัญญาเช่าเป็นโมฆะโจทก์จะมาเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ และเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจากจำเลยไม่ได้ ส่วนการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากสัญญาเช่าที่เป็นโมฆะจะต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยทำสัญญาเช่าอาคารพิพาทโดยมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเป็นการผิดกฎหมาย จึงถือว่าการที่โจทก์จำเลยกระทำการชำระหนี้ตามสัญญาเช่าเป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ทั้งโจทก์และจำเลยหาอาจจะเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 และเมื่อโจทก์กับจำเลยต่างก็กระทำการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายด้วยกันทั้งสองฝ่าย จำเลยจะมาฟ้องแย้งว่าโจทก์กระทำละเมิดหลอกลวงจำเลยด้วยการปกปิดความจริงในเหตุทั้งสาม ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างที่จำเลยนำสืบไม่ได้ ถือว่าเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6614/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อตกลงวิ่งเต้นแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นโมฆะ, การคืนเงินถือเป็นลาภมิควรได้, โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยรับจะดำเนินการวิ่งเต้นให้โจทก์ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร โจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยจะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเองหรือผ่านบุคคลอื่นเพื่อแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง โดยมีเงินที่ได้รับจากโจทก์เป็นค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ การที่โจทก์ตกลงมอบเงินให้ตามข้อเสนอของจำเลย แต่โจทก์ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การคืนทรัพย์อันเกิดจากโมฆะกรรม ต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับตาม มาตรา 172 วรรคสอง การที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นการกระทำตามอำเภอใจ เสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ทั้งยังเป็นการชำระหนี้อันฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี จึงไม่อาจเรียกร้องเงินคืนได้ตาม มาตรา 407 และ 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายโมฆะจากข้อจำกัดสิทธิการถือครองของชาวต่างชาติ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อย
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเวอร์จิน ผู้ร้องจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 การที่นิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ต้องเป็นนิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติว่า "...นิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ ถ้าเป็น...นิติบุคคลดังต่อไปนี้...(4) นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน..." เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ผู้ร้องผู้จะซื้อจะขายถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้คัดค้านผู้จะขายตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 ได้ ผู้ร้องจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 มีคุณสมบัติที่จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามสัญญาดังกล่าวได้ปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทผู้ร้องว่า บริษัทผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจการลงทุนทั่วไปและถือครองทรัพย์สินในการประกอบกิจการของบริษัทผู้ร้อง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าก่อนที่บริษัทผู้ร้องจะเข้าถือครองทรัพย์สินโดยซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ผู้ร้องจะไปซื้อทรัพย์สินแล้วว่าบริษัทผู้ร้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าถือครองทรัพย์สินในประเทศนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้ร้อง ในคดีนี้ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ห้องชุดที่ผู้ร้องจะซื้อจากผู้คัดค้านมีราคาสูงถึง 72,960,361 บาท จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า บริษัทผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายไทย โดยเฉพาะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แล้ว และทราบดีว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประเทศไทยได้ บริษัทผู้ร้องต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนก่อน ส่วนบริษัทผู้คัดค้านผู้จะขายห้องชุดให้แก่ผู้ร้องซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ถือว่าเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัทผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามบทกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ และเชื่อว่าผู้คัดค้านตรวจสอบแล้วทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกัน สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์และนำสืบว่า ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ส่งมอบห้องชุดให้ผู้ร้องภายในกำหนด ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงทำบันทึกยกเลิกการซื้อขายห้องชุดและตกลงกันตามข้อตกลง เปลี่ยนข้อตกลงเดิมเป็นการตกลงคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนนั้น แม้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะมิได้ตกลงยกเลิกการซื้อขายห้องชุดดังกล่าวและมิได้ตกลงให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตกเป็นโมฆะ และหากผู้คัดค้านต้องคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านผิดนัดไม่คืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วนตามข้อตกลงผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ขาดตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลง ซึ่ง ส. คณะอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านแต่งตั้งตามข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลงก็ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 17,136,747.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 7,134,408.14 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท และค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการกึ่งหนึ่งที่ผู้ร้องทดรองจ่ายแทนผู้คัดค้านไปก่อนจำนวน 65,258 บาท แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ถือว่าเป็นคนต่างด้าวรู้อยู่แล้วว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากผู้คัดค้านซึ่งตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องได้ชำระค่าห้องชุดให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนถือเป็นการที่ผู้ร้องได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนในฐานลาภมิควรได้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ได้ ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 411 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินแก่ผู้ร้องตามข้อตกลง จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 411 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5457/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
นิติกรรมอำพรางซื้อขายกิจการหลีกเลี่ยงกฎหมายต่างด้าว สัญญาเป็นโมฆะ เงินชำระหนี้คืนไม่ได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยทั้งสองต่างให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์และยกข้อต่อสู้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางการซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จำเลยที่ 1 ถูกจำกัดสิทธิบางประการตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สัญญากู้ยืมเงินเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ดังนี้ คดีย่อมมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ดังที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ไว้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาซื้อขายกิจการจำเลยที่ 1 ที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายที่ควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวด้วยการให้ผู้มีสัญชาติไทยมีชื่อถือหุ้นแต่เพียงในนาม สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 กรณีเป็นเรื่องโจทก์รู้อยู่ว่า การที่โจทก์ซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ทั้งหมดและให้ผู้มีสัญชาติไทยถือหุ้นแต่เพียงในนามแทนโจทก์ที่เป็นคนต่างด้าว อันเป็นการจงใจกระทำการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามกฎหมายมาแต่ต้น เมื่อได้ความดังนี้ เงินที่โจทก์อ้างว่าให้กู้ยืมแต่แท้ที่จริงเป็นเงินที่โจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อกิจการจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายและไม่อาจเรียกคืนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5376/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมาย: โมฆะทั้งข้อตกลง & ผู้ให้กู้ไม่มีสิทธิรับดอกเบี้ย หักเงินต้นได้
การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยหาอาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระได้ไม่ แต่ในข้อนี้ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้เป็นฝ่ายเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้จากจำเลย เมื่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วและจำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายได้ โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวด้วย ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ 7,500 บาท ไปหักเงินต้นตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับที่หนึ่ง คงเหลือหนี้เงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้เงินฉบับนี้ 42,500 บาท เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและจำเลยมิได้ชำระหนี้ตามกำหนด จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดคือวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2560)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1190/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาไม่ผูกพันจำเลย เหตุผลผลประโยชน์ทับซ้อนและรู้เห็นการกระทำโดยมิชอบ
โจทก์กับ บ. และ ว. ร่วมกันทำกิจการค้าใช้ชื่อว่า "กิจการร่วมค้า ซ." เข้าทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา - บางพลี - บางประกง กับจำเลย ต่อมาเกิดข้อพิพาทตามสัญญาจ้างตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ระหว่าง บ. กับพวก ผู้ร้อง ก. ผู้คัดค้าน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนเกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลย และปฏิเสธไม่รับบังคับให้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เมื่อกิจการร่วมค้า ซ. ไม่ได้รับราคาที่เพิ่มเติมจากจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในกิจการร่วมค้า ซ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกคืนเงินราคาคงที่เพิ่มเติมและดอกผลค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานลาภมิควรได้ โดยไม่จำเป็น ต้องฟ้องร่วมกับ บ. และ ว. และเมื่อคดีนี้ โจทก์และจำเลยต่างเป็นคู่ความในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7277/2549 ซึ่งได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าโจทก์กับนิติบุคคลต่างประเทศ 2 ราย ดังกล่าว ทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนกับจำเลยโดยไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้น โจทก์จึงมีส่วนร่วมในการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นผลให้สัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลย แม้โจทก์กับพวกจะทำงานตามสัญญาจ้างเหมานั้นเสร็จสิ้นแล้วโดยส่งมอบโครงการทางด่วนให้จำเลยรับไปและมีราคาคงที่เพิ่มเติมภายหลังก็ตาม ก็ถือได้ว่าโจทก์ได้กระทำการเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดี โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกราคาคงที่เพิ่มเติมและค่าดอกผลในค่าผ่านทางด่วนจากจำเลยในฐานะลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาบริการประกันชีวิตผิดกฎหมาย: การจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้าทำให้สัญญานั้นเป็นโมฆะ
โจทก์ทำสัญญาบริการกับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ตกลงรับจ้างให้บริการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรเพื่อเป็นตัวแทน 25 คน และผู้บริหารงานขาย 5 คน ในการเป็นตัวแทนของโจทก์ทำหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ให้ได้ผลงานเป็นเบี้ยประกันภัยรับปีแรก 5,000,000 บาท ภายในรอบระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 ซึ่งโจทก์ได้ค่าตอบแทน 1,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ไปรับแล้วเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 หากบุคลากรทำผลงานให้โจทก์ไม่ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินตามวิธีคิดคำนวณที่กำหนดไว้ ต่อมาจำเลยที่ 1 กระทำไม่ได้เบี้ยประกันภัยได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่การที่โจทก์จ่ายเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2553 แสดงว่าโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนที่จะครบรอบการผลิตผลงานให้แก่โจทก์ในวันที่ 31 มกราคม 2554 เป็นการจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้แก่โจทก์ จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 33 (7) ซึ่งห้ามมิให้บริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้จ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดล่วงหน้าให้แก่บุคคลใดเป็นค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนสำหรับงานที่จะทำให้แก่บริษัท และบริษัทที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 35 (7) ดังกล่าวต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 93 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการควบคุมบริษัทประกันชีวิตให้จ่ายเงินหรือค่าตอบแทนภายในขอบเขตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ การทำสัญญาบริการระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 ถือเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย มีผลทำให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจนำสัญญาบริการมาฟ้องร้องบังคับแก่จำเลยทั้งสามได้ การที่โจทก์จ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าตอบแทนสำหรับงานที่ทำให้โจทก์แก่จำเลยที่ 1 เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่อาจเรียกคืนเงินค่าตอบแทนดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175-6177/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายที่ดินในเขตป่าสงวน/ปฏิรูปที่ดินเป็นโมฆะ เงินมัดจำไม่สามารถเรียกร้องคืนได้
โจทก์ทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน ต้องห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่น ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 จึงหาอาจเรียกคืนได้ไม่