พบผลลัพธ์ทั้งหมด 655 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ผู้ขายต้องส่งมอบรถยนต์สภาพพร้อมใช้งานตามกฎหมาย หากไม่สามารถจดทะเบียนได้ถือเป็นผิดสัญญา
ก่อนนำรถยนต์ของกลางออกขายทอดตลาด จำเลยปฏิบัติตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2556 ข้อ 1 3 4 22 ที่กำหนดให้ตรวจสอบรถยนต์ที่ตรวจยึดทุกคันไม่ว่าจะมีผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตามจาก 6 หน่วยงานแล้ว ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการขนส่งทางบกนั้น จำเลยมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือตรวจสอบรถยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาดว่าสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ โดยหากกรมการขนส่งทางบกพบว่ารถคันใดมีปัญหาในการที่จะนำไปจดทะเบียน ขอให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมากรมการขนส่งทางบกได้แจ้งผลการตรวจสอบรถยนต์ที่จะประมูลดังกล่าวตามหนังสือของกรมการขนส่งทางบก ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้ส่งผลการตรวจสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาด 343 คัน โดยแบ่งออกเป็น 1. รายการรถที่สามารถจดทะเบียนได้ 3 คัน 2. รายการรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ 1 คัน 3. รายการรถที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องรถยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ 70 คัน และ 4. รายการรถที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลใด ๆ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรถยนต์ของกลางอยู่ในรายการที่ 3 คือตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ แสดงให้เห็นว่า กรมการขนส่งทางบกเองก็มิได้ยืนยันว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ดังเช่นรถในรายการที่ 1 การที่จำเลยอ้างตามฎีกาว่า กฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 ระบุไว้เพียงแค่ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซี หรือ แชสซี (Chassis) รถหรือโครงรถจักรยานยนต์เท่านั้น มิได้ระบุส่วนของเครื่องยนต์อันเป็นชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่จะนำมาประกอบการงดรับจดทะเบียนตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว รถยนต์ของกลางมีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ มิได้มีการส่งบัญชีตัวถังรถ โครงคัสซีรถและโครงรถจักรยานยนต์ ดังนั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว ถ้าจำเลยนำสินค้าดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อไปจากการขายทอดตลาดไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกเพราะมิได้เป็นผู้นำเข้า การที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางขายทอดตลาดและออกเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนจึงเป็นการกระทำภายใต้ความเชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางสามารถนำไปจดทะเบียนได้นั้น จึงเป็นเพียงความเห็นของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางยังไม่ได้รับการยืนยันจากกรมการขนส่งทางบกว่าจดทะเบียนได้หรือไม่ แต่กลับนำออกขายทอดตลาด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลรวมถึงโจทก์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนการประมูล นอกจากนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกาศส่วนกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม ที่ 5/2559 เรื่อง ประมูลขายทอดตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2559 และบัญชีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะทำการขายทอดตลาดในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่มีรายละเอียดของรถยนต์ของกลางแล้ว ได้ความจาก ว. พนักงานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ตามเอกสารดังกล่าวรถยนต์ของกลางมิได้มีการระบุในช่องหมายเหตุ 1 ว่า "ไม่ออกแบบที่ 32" ซึ่งหมายความว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ ย่อมทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลรวมทั้งโจทก์ที่อ่านประกาศดังกล่าวเข้าใจได้ว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ เมื่อต่อมารถยนต์ของกลางไม่สามารถจดทะเบียนได้ จึงถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ขายไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีสภาพเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามวิสัยของการใช้ทรัพย์แก่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ย่อมต้องการใช้รถยนต์ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การผิดนัดชำระหนี้สัญญาเช่าซื้อ และผลของการส่งมอบรถคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อ
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา 3 งวดติดกัน เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ แม้ปรากฏว่าการส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับส่งให้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มารับภายในกำหนด แต่กรณีนี้ในข้อสัญญาเช่าซื้อถือว่าได้มีการส่งคำบอกกล่าวชอบแล้ว เมื่อเนื้อความในหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาของโจทก์เป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 10 (ก) ที่ข้อสัญญามีข้อความครบถ้วนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2555 ข้อ 4 (4) ที่ประกาศนี้กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อสัญญานี้จึงส่งผลให้โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนกำหนดเวลา 30 วันได้ และในทางกลับกันจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อยังมีสิทธิชำระค่าเช่าซื้อตามหนังสือบอกกล่าวได้ภายใน 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อไม่รอเวลาให้ครบ 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าว จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ โดยไม่มีข้อพิพาทหรือโต้แย้งมีผลเท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดแน่นอน และไม่ประสงค์จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ เพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่โจทก์บอกกล่าวเลิกสัญญาให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยชอบแล้ว ทั้งถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 12 ที่กำหนดให้ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใด ๆ ก็ได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าขาดราคา ตามข้อสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3965/2564 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การผิดนัดสัญญาเช่าซื้อ การส่งมอบรถคืน และสิทธิของผู้นำเข้าในการขายทอดตลาด
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 14 เป็นต้นมา 3 งวด ติดกัน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ 6 งวด ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่รับหนังสือ หากพันกำหนดแล้วไม่ชำระให้ถือเอาหนังสือฉบับนี้เป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อทันที ซึ่งแม้พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาปรากฏเหตุขัดข้องที่ส่งหนังสือบอกกล่าวทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ เพราะเหตุว่าจำเลยที่ 1 ไม่มารับภายในกำหนด แต่กรณีดังกล่าวสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 17 วรรคสาม ให้ถือว่าได้มีการส่งหนังสือบอกกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยชอบแล้ว โดยเนื้อความในหนังสือบอกกล่าวเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 (ก) ที่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ซึ่งกำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องมีข้อสัญญานี้ด้วย ด้วยข้อสัญญาดังกล่าวมีผลให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อก่อนครบกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวได้ แต่จำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระตามที่บอกกล่าวภายใน 30 วัน เพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดผิดสัญญา แต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปส่งมอบคืนให้แก่โจทก์ โดยไม่รอให้ล่วงพ้นกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีข้อโต้แย้ง พฤติการณ์เท่ากับจำเลยที่ 1 ยอมรับว่า อย่างไรเสียก็จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเป็นแน่ และไม่ประสงค์ที่จะชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระเพื่อให้สัญญาเช่าซื้อมีผลผูกพันต่อไป ซึ่งจำเลยที่ 1 สามารถดำเนินการได้เนื่องจากไม่มีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อกระทำเช่นนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะเหตุที่ใจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อทราบโดยชอบแล้ว โดยโจทก์หาจำต้องโต้แย้งคัดค้านการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแต่อย่างใดไม่ ทั้งการส่งมอบรถยนต์คืนเช่นนี้มิใช่เป็นกรณีจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 12 ที่กำหนดให้สิทธิจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อในเวลาใด ๆ เสียก็ได้ด้วยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีให้แก่โจทก์เนื่องจากสัญญาข้อ 12 ดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินทั้งปวงที่ถึงกำหนดชำระหรือเป็นหนี้ตามสัญญาอยู่ในเวลานั้นทันที และไม่ได้เป็นการสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อกันโดยปริยายดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างทำของชำรุดบกพร่อง & การคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 7 ถ้าจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมหรือโดยบัญญัติหรือโดยบทกฎหมายอันชัดแจ้ง ให้ใช้อัตราร้อยละสามต่อปี" และมาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 224 หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี..." ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 และ พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ก. นี้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ คดีนี้โจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินที่ได้รับไว้นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2560 ต่อมาจำเลยได้ทวงถามให้โจทก์ชำระเงินคืน และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยฟ้องแย้งขอเรียกคืนเงินสำรองและค่าเสียหาย จึงมีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับ กรณีต้องนำบทบัญญัติมาตรา 224 ที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ โดยจำเลยมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละสามต่อปีตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีเท่ากับร้อยละห้าต่อปีนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 อันเป็นวันที่ พ.ร.ก. นี้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่ พ.ร.ก. นี้ใช้บังคับในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 ทั้งนี้ปัญหาเรื่องการคิดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินผิดสัญญาเนื่องจากมีสะพานก่อสร้างขวาง สัญญาเป็นอันเลิกกัน
ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทคู่สัญญาถือเอาทำเลที่ตั้งและสภาพที่ดินพิพาทเป็นสาระสำคัญ กล่าวคือโจทก์ประสงค์ให้ที่ดินพิพาทจะต้องไม่มีการก่อสร้างสะพานข้ามแยกผ่านหน้าที่ดินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต การกำหนดข้อสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะกระทำได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามทำข้อตกลงดังกล่าวกับโจทก์โดยไม่สมัครใจ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลผูกพันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม แม้จำเลยทั้งสามจะมี ศ. วิศวกรโยธา สำนักงานโยธา กรุงเทพมหานคร และ ส. นายช่างสำรวจชำนาญงาน สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เบิกความในทำนองเดียวกันว่า โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 ปัจจุบันเริ่มก่อสร้างมาแล้วบางส่วนยังไม่ถึงบริเวณหน้าที่ดินพิพาทก็ตาม แต่พยานทั้งสองก็เบิกความยืนยันว่าจะมีการก่อสร้างต่อไปจนแล้วเสร็จซึ่งที่ดินพิพาทอยู่ห่างจากแนวสะพานยกระดับถนนพุทธมณฑลสาย 3 ประมาณ 200 เมตร และห่างจากทางยกระดับในจุดใกล้ที่ดินพิพาทที่สุดประมาณ 60 เมตร จึงเชื่อได้ว่าในอนาคตบริเวณด้านหน้าที่ดินพิพาทต้องมีการสร้างสะพานยกระดับซึ่งไม่ตรงตามสัญญาที่จำเลยทั้งสามให้ไว้กับโจทก์ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสาม สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจึงเป็นอันเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 กรณีหาใช่เป็นเงื่อนไขในสัญญาที่เป็นอันแน่นอนในเวลาทำนิติกรรมว่าเงื่อนไขไม่อาจสำเร็จได้ หากเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนให้ถือว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะ และหาใช่เป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน และเงื่อนไขนั้นเป็นการพ้นวิสัยอันจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 187 วรรคสอง และมาตรา 189 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบี้ยปรับสูงเกินควร ศาลลดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383 และวินิจฉัยสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 4.1 วรรคสองว่า หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่า... และหากการผิดนัดดังกล่าวดำเนินไปเกินกว่า 30 วัน ถือว่าผู้เช่าจงใจประพฤติผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าฉบับนี้ได้ทันที และผู้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่ามาแล้วทั้งหมด และที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันตามสัญญาบริการ ข้อ 5.3 ว่า ผู้รับบริการยินยอมให้ผู้ให้บริการริบเงินประกันการบริการได้ทันที หากผู้รับบริการผิดข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาบริการฉบับนี้หรือสัญญาเช่าพื้นที่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบค่าเช่าและค่าประกันการบริการที่โจทก์ชำระในงวดแรกได้ แต่ข้อตกลงตามสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งสองทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรลดเบี้ยปรับในส่วนที่เป็นค่าเช่าพื้นที่ลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน ค่าประกันการบริการลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 398,816 บาท จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 17,284 บาท และการที่จำเลยทั้งสองริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยทั้งสองต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความรับผิดของผู้อำนวยความสะดวกในการค้ำประกันหนี้ และสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากลูกหนี้
จำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญาและเขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย แต่ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาจ้างเหมาเลิกสัญญา สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและวัสดุอุปกรณ์ขึ้นอยู่กับการสละประโยชน์จากข้อตกลงเลิกสัญญา
ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2978/2560
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาก่อสร้าง, การเลิกสัญญา, การคืนเงินมัดจำ, อายุความ, และการกำหนดราคาแบบแปลน
โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยรับเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าร้อยละ 30 ของราคาค่ารับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดวันเดือนใดที่จะปฏิบัติการชำระหนี้ต่อกัน หากโจทก์ต้องการเลิกสัญญาจะต้องบอกกล่าวให้จำเลยทำการก่อสร้างภายในระยะเวลาพอสมควรก่อน กล่าวคือ โจทก์ไม่ได้กำหนดวันเริ่มต้นก่อสร้างตามสัญญา จำเลยก็ไม่ได้บอกกล่าวกำหนดวันให้โจทก์ส่งมอบพื้นที่ให้จำเลย ทั้งสองฝ่ายต่างเพิกเฉยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานเกือบ 3 ปี แสดงว่าคู่สัญญาไม่นำพาที่จะปฏิบัติตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ดังนั้น การที่โจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้ง เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์จำเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์ จำเลยได้จัดทำแบบแปลนการก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และบริเวณทางเดินภายในโรงงานและส่งมอบให้แก่โจทก์แล้ว เป็นการงานอันจำเลยได้กระทำให้โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยมิได้นำสืบว่าค่าแบบแปลนมีราคาเท่าใด จึงกำหนดค่าแบบแปลนให้จำเลย 10,700 บาท
โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
โจทก์เป็นเจ้าของโรงงานผลิตนม มิใช่ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ก่อสร้างต่อเติมดัดแปลงรั้ว หลังคา และทางเดินภายในโรงงานผลิตนมของโจทก์ โจทก์จ่ายค่ารับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าให้แก่จำเลย โจทก์ขอบังคับให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืน มิใช่เรื่องที่โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้รับจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้ออกทดรองจ่ายไปในการทำงานให้แก่ผู้ว่าจ้างจากผู้ว่าจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี แต่กรณีเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างเรียกเอาเงินที่ตนได้จ่ายล่วงหน้าให้แก่ผู้รับจ้างคืน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8619/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เลิกสัญญาก่อนกำหนด & ความรับผิดจากการใช้ทรัพย์สิน การชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
โจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10.1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน ไปยังจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อจึงมิได้สิ้นสุดด้วยเหตุตามสัญญาข้อ 10.1 การที่จำเลยที่ 1 ขอคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อ และโจทก์ได้รับคืนไว้ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อต่อไป พฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์รับมอบรถยนต์คืน ดังนั้น โจทก์จะอาศัยสัญญาข้อ 13 เป็นข้ออ้างในการเรียกร้องค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอันเป็นความรับผิดตามสัญญาหาได้ไม่ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โดยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 คงมีเฉพาะการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ตลอดเวลาที่จำเลยที่ 1 ครอบครองใช้สอยรถยนต์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายที่โจทก์ขาดราคาเช่าซื้อ ค่าใช้จ่ายในการติดตามรถยนต์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)