คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 391

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 655 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาซื้อขายบ้าน - การคืนสิทธิไทม์แชร์และเงินมัดจำ - การกลับคืนสู่ฐานะเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลูกบ้านตามแบบที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตลอดมา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่ยินยอมชำระเงินตามงวดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเท่านั้น มิได้ให้การถึงว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะมิได้ดำเนินการโอนสิทธิใดๆ หรือได้ชำระเงินใดๆ ตามสัญญาไทม์แชร์ให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า โจทก์ยังไม่ได้ทำหนังสือติดต่อไปยัง ฮ. เพื่อโอนสิทธิในสัญญาไทม์แชร์ให้แก่จำเลยที่ 1 สัญญาไทม์แชร์จะยกเลิกไม่ได้นั้น จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามมิให้รับฟัง และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ข้อตกลงในการซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ยกเลิกการซื้อขายและจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินมัดจำที่ได้รับไว้ตามสัญญาให้แก่โจทก์ไปแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมเลิกสัญญาซื้อขายที่มีอยู่ต่อกันนั้นโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อผลของการเลิกสัญญาทำให้สิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นส่วนหนึ่งของราคาบ้านและที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ยังอยู่ที่จำเลยที่ 1 และอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะส่งมอบคืนแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องรับสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ดังกล่าวคืนเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการซื้อบ้านและที่ดิน ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาก็พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์แก่โจทก์ได้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกสัญญาไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1102-1103/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาสิทธิคืนสู่ฐานะเดิม เบี้ยปรับลดได้
เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว แต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยจึงต้องใช้คืนเงินที่โจทก์ชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยไปแล้วให้แก่โจทก์ แต่โจทก์กับจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญาให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วโดยไม่ต้องใช้คืนข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลจึงชอบที่จะสั่งให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 453/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายบ้านที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากจำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่างานก่อสร้างแล้วเสร็จ
โจทก์และจำเลยต่างไม่ถือเอาระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านเป็นสำคัญ แต่ถือเอาการก่อสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยังคงยืนยันว่าบ้านยังไม่เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จำเลยต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 387 เมื่อปรากฎว่าจำเลยขายบ้านไปแล้ว และโจทก์ก็ไม่ประสงค์จะซื้อบ้านอีกต่อไป สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันและต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตามมาตรา 391 วรรคสอง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้บริโภค, สัญญาซื้อขาย, การผิดสัญญา, อายุความ, การบอกเลิกสัญญา, หน้าที่ของผู้ขาย
จำเลยเป็นผู้เสนอขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ส. ป. และ ฉ. บุคคลทั้งสามจึงเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 ซึ่งมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 4 (4) เมื่อผู้บริโภคทั้งสามได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดสัญญาจะซื้อจะขายของจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายและได้ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม โจทก์ย่อมมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่จำเลยในศาลและมีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามที่ร้องขอได้ด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ขณะโจทก์นำเอกสารมาสืบ จำเลยไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วน หรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ จึงถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับถึงการมีอยู่และความแท้จริงของต้นฉบับเอกสารนั้น รวมทั้งยอมรับว่าสำเนานั้นถูกต้องกับต้นฉบับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานแห่งเอกสารนั้นได้ตามมาตรา 93 (4) ((93 (1)) (เดิม))
โจทก์ระบุในคำฟ้องว่า เป็นเรื่องละเมิดสิทธิผู้บริโภค แต่ตามคำบรรยายฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ในฐานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคใช้สิทธิของผู้บริโภคทั้งสามที่ถูกจำเลยละเมิดสิทธิโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามกำหนดและส่งมอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสามตามสัญญา เป็นการใช้สิทธิดำเนินคดีแทนผู้บริโภคทั้งสามในการบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย จึงต้องถืออายุความตามสัญญาจะซื้อจะขายไม่ใช่อายุความละเมิดตามที่จำเลยอ้างต่อสู้ เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างผู้บริโภคทั้งสามกับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อจำเลยไม่พร้อมที่จะชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสาม ผู้บริโภคทั้งสามจึงยังไม่ต้องชำระหนี้ที่เหลือแก่จำเลย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่ผู้บริโภคทั้งสามภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากจำเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าหนังสือดังกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว แต่เพิกเฉย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่รับไว้ตามมาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน & เลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย: การบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821
สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างก่อสร้าง: การบอกเลิกสัญญาจากความผิดของผู้รับจ้างและการสละค่าแห่งการงานเป็นเบี้ยปรับ
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักไว้มีข้อความว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากแบบแปลนตามสัญญา จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่ชำระค่าจ้างส่วนที่ค้างแก่โจทก์ได้ มีผลเป็นการที่โจทก์ยอมสละค่าแห่งการงานที่โจทก์เสียไปในการก่อสร้างบ้านพักงวดที่สามให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทนในการที่โจทก์ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง ค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมเป็นเบี้ยปรับซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381
การพิจารณาว่าเมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างแก่โจทก์หรือไม่ ต้องอาศัยข้อความในสัญญาจ้างเป็นสำคัญ เมื่อสัญญาจ้างระบุว่าหากโจทก์ก่อสร้างผิดไปจากรูปแบบตามสัญญาจ้าง โจทก์ยอมให้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่โจทก์ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำข้อสัญญาดังกล่าวมาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในงานก่อสร้างงวดที่สามจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว จำเลยต้องรับผิดชอบความเสียหายจากสัญญาเดิม แม้รถสูญหาย
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า "คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่" ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์จึงอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลขึ้นไป คือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและศาลที่มีมูลคดีเกิดขึ้น ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย เมื่อสำนักงานของโจทก์เป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลจังหวัดสระบุรีได้ ข้อตกลงที่ให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่งนั้น จึงขัดต่อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่อาจใช้บังคับได้
สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีตามสัญญาเช่าซื้อไปก่อนที่รถยนต์ที่เช่าซื้อจะสูญหาย เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วนอกจากโจทก์จะได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่ง แล้ว จำเลยที่ 1 ยังมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ด้วย จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องรับผิดในความเสียหายหากต่อมาการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 217 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามที่สัญญาเช่าซื้อได้กำหนดไว้ และย่อมมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ เมื่อไม่ส่งคืนก็ต้องใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ตามสัญญาเช่าซื้อ จนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน แต่เนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย โจทก์จึงเรียกค่าขาดประโยชน์ได้จนถึงวันที่รถยนต์สูญหายไป หลังจากนั้นโจทก์จะเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3745/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยาย: ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้ผู้เช่าซื้อ
การที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์เป็นผลต่อเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ไปจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัท อ. ข้อตกลงและหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่จะต้องจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงตกเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ซื้อและรับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อจากบริษัทดังกล่าวมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อโจทก์จะอ้างว่าไม่ได้ตกลงด้วยหาได้ไม่ นอกจากนี้โจทก์ยังมีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจึงต้องมีหน้าที่ทำนองเดียวกับผู้ให้เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 ที่จะต้องให้ผู้เช่าซื้อได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่าซื้อ รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นทรัพย์ที่มีทะเบียน โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อได้ตามสภาพของรถยนต์และโดยชอบด้วยกฎหมาย กับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อจึงมีหน้าที่จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อโดยตรงอีกด้วย
เมื่อบริษัท อ. ไม่โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์และบริษัท อ. เป็นสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการให้บริษัท อ. จดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ หาใช่กรณีพ้นวิสัยดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการให้มีการจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อจนจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อล่วงเลยไปแล้วถึง 4 งวด โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ แม้ว่าจำเลยที่ 1 จะไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 จนกระทั่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ และตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีก็ตาม สัญญาเช่าซื้อก็หาได้เลิกกันเพราะเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าซื้อไม่ เพราะโจทก์ผิดสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 อยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช้สิทธิเลิกสัญญา ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 ได้ การที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันต่อมาจึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ
เมื่อมีการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่กัน จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยปริยายจึงชอบแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่ตามเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้วรวม 4 งวด ให้แก่จำเลยที่ 1 สำหรับเงินจองซื้อรถยนต์ที่เช่าซื้อซึ่งจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มาตีราคาเป็นเงิน 630,000 บาท และชำระเป็นเงินสดอีก 110,000 บาท รวมทั้งเงินค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อที่บริษัท อ. รับไว้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่จองซื้อ เมื่อโจทก์ซื้อรถยนต์นั้นมาให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อต่อ จึงต้องเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อและถือว่าโจทก์ได้รับไว้ ซึ่งโจทก์ก็ยอมรับโดยนำเอาเงินจองซื้อรถยนต์จำนวน 740,000 บาท มาออกใบเสร็จเป็นเงินดาวน์และภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินโจทก์จึงต้องคืนเงินจอง ค่าจดทะเบียนและต่อทะเบียนรถยนต์ที่จองหรือที่เช่าซื้อให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย ในขณะเดียวกัน การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ถือเป็นการได้ใช้ทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จะชดใช้คืนแก่โจทก์ย่อมทำได้ด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเล่นแชร์เลิกสัญญา นายวงแชร์หลบหนี จำเลยผู้ประมูลมีหน้าที่คืนเงินให้ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล
การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจะซื้อจะขาย และการบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้โอนสิทธิไม่ชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโครงการ ก. ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยในข้อ 7.2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงและยอมรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้าเฉพาะรายที่ได้จองหรือซื้อที่ดินและ/หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการแต่ยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจากจำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือและยอมให้จำเลยที่ 2 ผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 ได้ การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิที่มีอยู่ตามปกติหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่เวลาที่รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 66