คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 391

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 655 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1645/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บอกเลิกสัญญา, การชำระเงินค้าง, ค่าปรับ, การกลับคืนสู่ฐานะเดิม, สิทธิการหักเงิน
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วจึงถือได้ว่าสัญญาว่าจ้างเป็นอันเลิกกันตั้งแต่วันที่บอกเลิกสัญญา เมื่อสัญญาเลิกกันแล้ว คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแทนการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญากรณีไม่อาจบังคับให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิหักเงินค่าปรับในการทำงานเกินกำหนดจากจำนวนเงินที่จำเลยยังค้างชำระต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการบอกเลิกสัญญาอนุญาโตตุลาการต่อข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก่อนการบอกเลิก สัญญาฯ ยังมีผลบังคับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอนุญาโตตุลากรสมาคมประกันวินาศภัยไม่มีอำนาจพิจารณาและชี้ขาดคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องนั้น เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างว่าการบังคับตามคำชี้ขาดและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ. อนุญาตโตตุลาการฯ มาตรา 45 ประกอบกับ ป.วิ.พ. มาตรา 222 ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้
ตามสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยบทส่งท้าย ข้อ 35 ที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ร่วมกันทำขึ้นระบุว่า "คู่สัญญามีสิทธิถอนตัวออกจากความผูกพันตามสัญญานี้ได้โดยการมีหนังสือแจ้งการถอนตัวส่งถึงนายกสมาคมประกันวินาศภัยล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 60 วัน ก่อนวันที่การบอกเลิกมีผลบังคับ และผลแห่งการบอกเลิกสัญญานี้ไม่กระทบถึงเรื่องที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการและเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการบอกกล่าวถอนตัวจะมีผล" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลเหตุแห่งข้อพิพาทตามคำเสนอข้อพิพาทที่ผู้ร้องเสนอต่ออนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัย เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนการบอกกล่าวถอนตัวของผู้คัดค้านจะมีผล ดังนั้น ผลแห่งการบอกเลิกสัญญาของผู้คัดค้านจึงไม่มีผลกระทบถึงเรื่องดังกล่าว ผู้ร้องและผู้คัดค้านยังคงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยต่อไป แม้ผู้ร้องจะยื่นคำเสนอข้อพิพาทหลังจากการบอกเลิกสัญญามีผลแล้ว อนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยก็ยังมีอำนาจพิจารณาและชี้ขาดคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผิดสัญญาเช่าซื้อ ยึดรถยนต์ก่อนบอกเลิกสัญญา จำเลยต้องคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อ
จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากบ้านของโจทก์ไปไว้ที่บริษัทจำเลย ไม่ได้ความว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อน กลับได้ความว่าในวันดังกล่าวฝ่ายโจทก์นำค่าเช่าซื้อไปชำระให้แก่จำเลยจำนวนหนึ่ง จำเลยก็รับไว้ การที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทจากโจทก์ในระหว่างการเช่าซื้อถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อจำเลยย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่โจทก์ได้ชำระไปตามสัญญาเช่าซื้อ
หลังจากที่จำเลยยึดรถยนต์พิพาทคืนไปจากโจทก์แล้ว โจทก์มีหนังสือให้จำเลยคืนเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่โจทก์ จึงถือว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาต่อจำเลย สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเป็นอันเลิกกัน ผลแห่งการเลิกสัญญาดังกล่าวคู่สัญญาจะต้องกลับสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินที่ได้รับตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่โจทก์ และโจทก์ต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ของจำเลยในระหว่างที่โจทก์ครอบครองและใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7691/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายผิดสัญญา การเลิกสัญญาและการคืนเงิน
สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยข้อ 6.1 กำหนดว่า "ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญาไม่ว่าข้อใดข้อหนึ่งของสัญญานี้ เจ้าของโครงการอาจบอกเลิกสัญญานี้ในเวลาใดก่อนการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดผู้ซื้อให้แก่ผู้ซื้อได้ โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้ซื้อ และในกรณีดังกล่าวผู้ซื้อตกลงให้เจ้าของโครงการมีสิทธิริบเงินทั้งหมดที่ผู้ซื้อได้ชำระแล้ว" จำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2536 และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ไปรับโอน จำเลยไม่ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาตามข้อกำหนดในสัญญาไปยังโจทก์ จำเลยกลับมีหนังสือไปถึงโจทก์ว่า ห้องชุดของโจทก์พร้อมที่จะเข้าอยู่อาศัยได้แล้ว และต่อมาจำเลยได้มีหนังสือไปถึงโจทก์ชี้แจ้งเรื่องอาคารชุดที่อยู่ในเขตปลอดภัยในราชการทหารว่ากำลังดำเนินการขออนุญาตปลูกสร้างให้ถูกต้อง แสดงว่าจำเลยมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลใช้บังคับอยู่ ต่อมาวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 จำเลยขายห้องชุดพิพาทให้แก่บุคคลอื่นไป ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา วันที่ 23 สิงหาคม 2543 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย สัญญาดังกล่าวจึงเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินค่าห้องชุดที่โจทก์ชำระไปแล้วให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6314/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมาสร้างบ้านชำรุด: ศาลตัดสินให้จ่ายค่าจ้างหักค่าแก้ไขบกพร่อง
เมื่อโจทก์ทำงานงวดที่สองชำรุดบกพร่องไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้าง และจำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขให้เรียบร้อยก่อนแต่โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมแก้ไข โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลย แต่อย่างไรก็ตาม สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยถือว่าเป็นการเลิกกันโดยปริยาย สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันแล้วโจทก์และจำเลยต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่เนื่องจากโจทก์ได้ทำงานงวดที่สองให้จำเลยเสร็จแล้วจึงไม่อาจให้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ กรณีต้องบังคับตามมาตรา 391 วรรคสาม จำเลยต้องใช้เงินค่าก่อสร้างในงวดที่สองให้แก่โจทก์แทน จำเลยไม่มีสิทธิงดจ่ายค่าจ้างเสียทั้งหมด เมื่องานของโจทก์มีสิ่งบกพร่องและจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์แก้ไขสิ่งบกพร่องให้เป็นไปตามสัญญา แต่โจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยชอบที่จะว่าจ้างบุคคลภายนอกทำการแก้ไขสิ่งบกพร่องดังกล่าวได้ โดยโจทก์จะต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 594 และจำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเท่าที่เสียไปจากค่าจ้างของงานงวดที่สองเท่านั้น
เหตุที่โจทก์ทำงานบกพร่องเนื่องจากจำเลยขอเปลี่ยนแบบ ขยายห้องนอนให้กว้างขึ้น ใช้วัสดุผิดจากแบบแปลน ทำให้โครงเหล็กรับน้ำหนักมากกว่าแบบทำให้โค้งงอ จำเลยต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในความบกพร่องดังกล่าวด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ว่าจ้างบุคคลใดให้ทำการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงกำหนดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างบุคคลภายนอกแก้ไขข้อบกพร่องตามความเหมาะสมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อค้างชำระ & การเลิกสัญญาโดยปริยาย: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการใช้ทรัพย์
โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทต่อจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถส่งมอบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์และเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386, 387 และ 391 วรรคสี่ แต่จำเลยที่ 1 หาได้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่ ยังคงครอบครองและใช้รถยนต์คันพิพาทต่อไป สัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันพิพาทจึงยังไม่ระงับ แม้การที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 5 เป็นต้นไป จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อยังไม่ได้ แต่การที่โจทก์ได้เข้าครอบครองรถยนต์คันพิพาทเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2543 โดยจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้ง ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันตั้งแต่วันดังกล่าว แม้โจทก์ไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์ขาดประโยชน์จากการนำรถยนต์คันพิพาทออกให้บุคคลภายนอกเช่า โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อก็ตาม แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโจทก์ก็มีสิทธิเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนอากรที่ได้รับยกเว้นและอำนาจฟ้องคดีภาษีอากร: การพิจารณาคุณสมบัติของสินค้าและผลกระทบต่อการคืนอากร
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มิได้บัญญัติว่าการขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่กำหนดไว้ ต่างกับการขอคนภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมาตรา 27 ตรี แห่ง ป.รัษฎากรให้ยื่นคำร้องขอคืนตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น ดังนั้น การขอคืนเงินอากรที่ได้รับยกเว้นอากรจึงไม่ต้องยื่นคำร้องตามแบบที่กำหนดไว้ แม้ใบขอคืนเงินจะระบุแต่ชื่อโจทก์และจำนวนเงินอากรที่ขอคืนเท่านั้น มิได้ระบุรายละเอียดอื่น เช่น เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ใบขนสินค้าที่อ้างว่าได้ชำระอากรโดยผิดหลง และเลขที่บัญชีธนาคารที่ประสงค์จะให้จำเลยโอนเงินตามจำนวนที่ขอคืน แต่จำเลยก็ต้องพิจารณาว่าจะต้องคืนเงินอากรแก่โจทก์หรือไม่ เมื่อจำเลยพิจารณาแล้วไม่คืนเงินอากรแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากรฯ ภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากรประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการ เมื่อได้ความว่ามีการทำสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือ และกระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงอธิบดีจำเลยขอยกเว้นค่าอากรสำหรับสินค้าพิพาทที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขาย เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการทหาร ต่อมากรมอู่ทหารเรือบอกเลิกสัญญาเนื่องจากสินค้าที่โจทก์ส่งมอบมิใช่สินค้าตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับกรมอู่ทหารเรือจึงเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 สินค้าพิพาทจึงมิใช่ยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในราชการในขณะที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว แม้ภายหลังกรมอู่ทหารเรือจะทำสัญญาซื้อขายใหม่กับโจทก์โดยถือคุณสมบัติของสินค้าเหมือนเดิมทุกประการ ก็เป็นกรณีที่จะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับสินค้าที่นำเข้าตามสัญญาซื้อขายใหม่ การที่โจทก์นำสินค้าพิพาทที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยผ่านพิธีการทางศุลกากรและชำระค่าอากรขาเข้าไปแล้วเพราะไม่ได้เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการมาส่งมอบให้กรมอู่ทหารเรือตามสัญญาซื้อขายฉบับใหม่ ไม่ทำให้สินค้าพิพาทตามสัญญาเดิมที่ไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้ากลายเป็นได้รับยกเว้นอากรขาเข้าด้วย จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินอากรขาเข้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830-3831/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การยอมรับชำระหนี้โดยจำเลยหลังผิดนัด ทำให้สัญญาไม่เลิก และการยินยอมให้ยึดรถถือเป็นการเลิกสัญญาสมัครใจ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน ผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระทั้งหมดเป็นของเจ้าของ และยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อไว้ไม่ทักท้วง แสดงว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 35 เป็นเวลา 9 งวด จำเลยมีหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งสองแจ้งให้มาติดต่อชำระหนี้ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดขอถือเอาหนังสือดังกล่าวเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญา การที่โจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อกับจำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามหนังสือดังกล่าว และชำระหนี้ให้แก่จำเลยเป็นเช็ค 5 ฉบับ แล้วจำเลยยอมรับเช็คดังกล่าวไว้นำไปเรียกเก็บเงินได้ 3 ฉบับ แสดงว่าจำเลยยอมรับชำระหนี้จากโจทก์ที่ 1 ตามเงื่อนไขในหนังสือขอให้ชำระหนี้บอกเลิกสัญญาและยินยอมให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองใช้รถยนต์ได้ ถือว่าจำเลยประสงค์จะให้สัญญาเช่าซื้อมีผลบังคับกันต่อไป ครั้นเมื่อเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าเรียกเก็บเงินไม่ได้ โจทก์ที่ 1 จึงผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อในงวดดังกล่าวอีก หากจำเลยประสงค์จะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 จะต้องบอกกล่าวให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 เมื่อจำเลยยังไม่บอกเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ที่ 1 จึงยังไม่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
หลังจากโจทก์ที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามเช็คฉบับที่สี่และที่ห้าแล้วจำเลยได้ยึดรถยนต์คันที่เช่าซื้อจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งสองทราบว่า จำเลยมายึดรถยนต์คืน โจทก์ทั้งสองก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยอย่างใด โจทก์ที่ 1 เพิ่งจะมอบให้ทนายความมีหนังสือขอให้จำเลยส่งมอบรถยนต์คืนหลังเวลาล่วงเลยมาถึง 5 เดือน ตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ยินยอมให้จำเลยยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโดยไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์ที่ 1 กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาเลิกกันด้วยเหตุอื่นมิใช่การเลิกสัญญาที่มีผลมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อ คู่สัญญาจึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป การที่จำเลยยึดรถยนต์คืนจึงไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกรถยนต์คืนหรือให้ใช้ราคาแทนและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ส่วนจำเลยก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าติดตามรถ ค่าขาดราคาจากค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระโดยอาศัยข้อสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อที่ระงับไปแล้วได้ แต่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนับแต่วันที่จำเลยได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินเป็นค่าเสียหายแก่จำเลยในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อในระหว่างที่ยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนตามค่าแห่งการนั้น ๆ ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับโจทก์ที่ 1 ต้องรับผิดค่าเสียหายดังกล่าวร่วมกับโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การบอกเลิกสัญญา, ข้อตกลงพิเศษ, ผลของการบอกเลิกสัญญา, การส่งมอบทรัพย์สิน
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 22 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น ประนีประนอมยอมความ ฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านจึงเป็นคู่กรณีกับผู้ร้องผู้ให้เช่าโดยตรง โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้คนหนึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือผู้คัดค้านในการดำเนินการต่อสู้คดีตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 155 แม้โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากเป็นผู้รับสิทธิตามสัญญาเช่าจากจำเลยที่ 1 ไว้เป็นประกันหนี้ก็ไม่ใช่คู่กรณีโดยตรงเนื่องจากมีผู้คัดค้านปฏิบัติหน้าที่แทนตามกฎหมาย แต่โจทก์มีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้คัดค้านหากเห็นว่าบกพร่องก็ร้องขอต่อศาลให้สั่งแก้ไขตามมาตรา 146 เมื่อผู้คัดค้านแถลงหมดพยาน ทนายโจทก์แถลงขอสืบพยานโดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำมาสืบแล้วนั้นยังบกพร่องหรือไม่สมบูรณ์ส่วนใดจึงขอสืบพยานเพิ่มเติมให้ครบถ้วนบริบูรณ์ คดีนี้พิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องสิทธิตามสัญญาและผลของกฎหมายเมื่อสัญญาสิ้นสุดโดยการบอกเลิก เป็นเรื่องเกี่ยวกับเอกสารแทบทั้งสิ้น ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำเสนอเอกสารเป็นพยานครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 ในการดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐาน เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านนำสืบมาเพียงพอแล้ว พยานหลักฐานที่โจทก์ขอสืบย่อมเป็นพยานที่ฟุ่มเฟือยเกินสมควร จึงไม่อนุญาตให้โจทก์นำเข้าสืบได้ตามมาตรา 86 วรรคสอง
ผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ที่กำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมนั้น เป็นหลักทั่วไปของนิติกรรมสัญญา กฎหมายไม่ได้ห้ามคู่สัญญาที่จะทำนิติกรรมตกลงกันให้ผลของการเลิกสัญญาเป็นประการอื่น หากข้อตกลงนั้นไม่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว ข้อตกลงนั้นย่อมมีผลบังคับได้ตามหลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา หนังสือสัญญาเช่าที่ดินข้อ 4 ที่ว่า "...เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือเมื่อสัญญานี้สิ้นสุดลงด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้อาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินตามสัญญานี้ทั้งหมดตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น รวมทั้งส่วนควบและอุปกรณ์ทั้งหมด..." ข้อ 11 ที่ว่า "ถ้าผู้เช่า...ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ทันที" และข้อ 12 ที่ว่า "เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาแห่งการเช่าตามสัญญาข้อ 3 หรือสัญญาเช่านี้สิ้นสุดตามสัญญาข้อ 11... ผู้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดของผู้เช่าตามสัญญานี้ให้แก่ผู้ให้เช่าในสภาพที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุดลง" นั้น เป็นข้อตกลงที่ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือเป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงมีผลใช้บังคับกันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 613/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินฝากสูญหายจากความประมาทเลินเล่อของสหกรณ์ ถือเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ สหกรณ์ต้องชดใช้ดอกเบี้ย
ข้อบังคับและระเบียบสหกรณ์จำเลยว่าด้วยการรับเงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากประจำ พ.ศ.2536 หมวด 3 ข้อ 11 ที่ว่ากรณีถอนเงินฝากประจำในระยะเวลาไม่ถึง 3 เดือน จำเลยจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ หมายถึงการฝากและถอนเงินในภาวะปกติ แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีโดยมิใช่ความผิดของโจทก์ ทั้งเป็นเรื่องการทุจริตภายในองค์ของจำเลย โดยความประมาทเลินเล่อไม่ใช้ความระมัดระวังเท่าที่ควรของจำเลยเอง เมื่อกรณีเป็นการฝากเงินที่ไม่ได้ตกลงกำหนดระยะเวลาคืนเงินกัน โจทก์ย่อมถอนเงินคืนเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยไม่คืนเงินฝากแก่โจทก์ย่อมเป็นการผิดสัญญาฝากทรัพย์ เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยคืนเงินตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2544 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2544 จำเลยก็ยังไม่คืน ถือว่าโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้โดยให้ระยะเวลาพอสมควรแล้ว โจทก์จึงเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอถอนเงินฝากทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี เพราะทราบว่าเงินฝากสูญหายไปจากบัญชีเงินฝาก ถือได้ว่าเป็นการบอกเลิกสัญญากับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แล้ว มีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และหากมีเงินอันจะต้องใช้คืนให้บวกดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา 391 นอกจากจำเลยต้องคืนเงินฝากให้แก่โจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5.25 ต่อปีนับตั้งแต่เวลาที่รับไว้
of 66