คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 29 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งขับไล่จากที่ดินหลังซื้อขายไม่สำเร็จ และประเด็นค่าขึ้นศาลเกินจำนวน
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดิน 84 แปลง ซึ่งไม่มีที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ที่มีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียวรวมอยู่ด้วย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นภริยาสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย อันถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 2 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อที่ดินดังกล่าวมิใช่ที่ดินที่พิพาทกันในคดีก่อน เป็นเพียงที่ดินที่จำเลยที่ 1 เสนอขายให้แก่โจทก์รวมไปกับที่ดิน 84 แปลง เพื่อระงับข้อพิพาทในคดีก่อนด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น โดยตกลงกันว่าหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ให้จำเลยที่ 1 บังคับคดีตามฟ้อง เมื่อโจทก์ผิดนัด จำเลยที่ 1 ก็บังคับคดีได้เพียงที่ดิน 84 แปลง ตามฟ้องในคดีก่อน ไม่อาจบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ได้ เพราะมิใช่ส่วนหนึ่งของฟ้องในคดีก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ที่ขอให้ขับไล่โจทก์จึงไม่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ อันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 อ้างว่าทำเพื่ออำพรางการกู้เงินโดยมีที่ดินดังกล่าวเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าสัญญาซื้อขายสมบูรณ์ โจทก์ขายที่ดินโดยสมัครใจ และฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ออกไปจากที่ดินดังกล่าว โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งโดยยืนยันตามฟ้องเดิม จึงเป็นการโต้แย้งกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน หากผลคดีเป็นไปตามข้ออ้างของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคหนึ่ง ซึ่งตามสัญญาซื้อขายที่ดินตกลงซื้อขายในราคา 145,000,000 บาท จึงถือว่าทุนทรัพย์ที่พิพาทในที่ดินแปลงนี้เท่ากับจำนวนเงินที่ซื้อขายกัน มิใช่ราคาประเมิน 18,400,000 บาท ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอุทธรณ์ขอให้บังคับตามคำขอของแต่ละฝ่ายเช่นเดียวกันกับคำขอในศาลชั้นต้น ราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นอย่างเดียวกับในศาลชั้นต้น แม้ต่อมาโจทก์จะขอถอนอุทธรณ์ และศาลมีคำสั่งอนุญาต ก็ไม่ทำให้ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) ก ท้าย ป.วิ.พ. เป็นเงิน 295,000 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกาฝ่ายเดียว โจทก์มิได้ฎีกา ปัญหากรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3689 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ คงมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ขอให้บังคับโจทก์และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินได้หรือไม่ คดีของจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องชำระค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตาม ตาราง 1 (2) ก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคสอง เป็นเงิน 200 บาท แต่จำเลยที่ 2 ชำระมา 295,000 บาท เกินมา 294,800 บาท จึงคืนให้แก่จำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12368/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน, ค่าฤชาธรรมเนียม, และการคืนค่าขึ้นศาลเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนหนี้
โจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงท้ากันให้ถือเอาผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นข้อแพ้ชนะคดีโดยมิได้กำหนดว่าให้หน่วยงานใดเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เมื่อศาลชั้นต้นมีหนังสือให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ไปให้กองพิสูจน์หลักฐาน ทำการตรวจพิสูจน์โจทก์และจำเลยที่ 3 มิได้โต้แย้งคัดค้าน เท่ากับโจทก์และจำเลยที่ 3 ตกลงยินยอมให้กองพิสูจน์หลักฐานทำการตรวจพิสูจน์ตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ท้ากัน อันเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของคำท้า ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์อยู่เป็นเวลานานมาก จำเลยที่ 3 เพียงฝ่ายเดียวยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ การที่ศาลชั้นต้นสอบถามผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีหนังสือเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐาน เพื่อส่งไปตรวจพิสูจน์ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีการดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำท้าแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องนอกเหนือคำท้าและโจทก์มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของคำท้าเป็นให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ เพราะคำท้าของคู่ความนั้นจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกได้ก็โดยคู่ความตกลงกันเท่านั้น จำเลยที่ 3 หาอาจเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือยกเลิกคำท้าแต่ฝ่ายเดียวได้ไม่
แม้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์แถลงไม่คัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 ที่จำเลยที่ 3 ขอให้ศาลชั้นต้นเรียกเอกสารคืนจากกองพิสูจน์หลักฐานแล้วส่งไปให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์ ก็หามีผลผูกพันถึงโจทก์ไม่ เพราะทนายโจทก์มอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์มารับทราบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันนัดพร้อมเพื่อฟังผลการตรวจพิสูจน์เท่านั้น และกรณีตามคำแถลงของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวเป็นกิจการที่สำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายโจทก์จะต้องกระทำด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจแถลงต่อศาลว่าจะคัดค้านคำแถลงของจำเลยที่ 3 หรือไม่ คำแถลงของผู้รับมอบฉันทะจากทนายโจทก์จึงไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อโจทก์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนทุนทรัพย์ 4,828,975.63 บาท ทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เมื่อจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในจำนวนเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 จึงควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
การที่โจทก์ใช้สิทธิดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 3 ให้รับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายไปเป็นจำนวนมาก เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ต้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในจำนวนทุนทรัพย์ 4,709,472.66 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีอยู่เพียง 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ดังนั้น จำนวนทุนทรัพย์ 4,209,472.66 บาท ที่จำเลยที่ 3 ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จึงเกิดจากการดำเนินคดีของโจทก์เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ดังกล่าว จึงเห็นสมควรให้โจทก์รับผิดใช้ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนนี้แก่จำเลยที่ 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์
จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องในส่วนของคำท้าและหากศาลฎีกาเห็นว่า คำท้าของคู่ความเป็นไปโดยถูกต้องตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 3 เป็นฝ่ายชนะคดีหรือยกฟ้องโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท ตามบัญชีท้าย ป.วิ.พ. ตาราง 1 ข้อ (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5687/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลให้วางค่าขึ้นศาลในคดีล้มละลายที่ไม่ถูกต้อง ผู้ร้องขอให้ศาลรับคำร้องพิจารณาปล่อยทรัพย์ที่ยึด
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แต่เป็นของผู้ร้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะสอบสวนให้ได้ความเสียก่อน เพื่อพิจารณาว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดในคดีล้มละลายหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด่วนสั่งยกคำร้องโดยปฏิเสธว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีอำนาจสั่งถอนการยึด จึงมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนและมีคำสั่งไม่ให้ถอนการยึดตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 158 บัญญัติไว้ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณา จึงมิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอเพื่อคัดค้านการยึดทรัพย์ต่อศาลตามมาตรา 158 ที่บัญญัติให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดาซึ่งผู้ร้องขอต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ขอให้ถอนการยึดนั้น แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 146 ซึ่งตามตารางท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 วรรคท้าย มิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสียค่าขึ้นศาลหรือเสียค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องต่อศาล การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ขอให้ปล่อยก็ดี และมีคำสั่งไม่งดเว้นค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ก็ดี จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดิน: การครอบครองดูแลแทนเจ้าของ ไม่ถือเป็นเจ้าของสิทธิในการคัดค้านการออกโฉนด
การพิจารณาว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่ มิใช่พิจารณาเฉพาะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาคำให้การของจำเลยประกอบด้วย โจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง จำเลยขอออกโฉนดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงโดยมิชอบ ขอให้จำเลยไปเพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยไปเพิกถอนการขอออกโฉนดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง คำให้การของจำเลยถือว่าเป็นการกล่าวแก้ข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยไปเพิกถอนคำขอออกโฉนดที่ดินพิพาท ก็เป็นผลต่อเนื่องมาจากประเด็นในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6343/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
เหตุที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ก็เนื่องจากผู้ร้องอ้างว่าได้รับโอนสินทรัพย์รวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยมาจากโจทก์ ซึ่งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวโจทก์ได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้เป็นคดีนี้พร้อมกับได้เสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้บังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจึงเป็นการขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนที่โจทก์เดิมเพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยต่อไปเท่านั้น หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่มีผลทำให้ผู้ร้องได้รับเงินหรือทรัพย์สินใด ๆ เพิ่มขึ้น ผู้ร้องจึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749-8750/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องวางค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา แม้เป็นการอุทธรณ์คำสั่ง ไม่ใช่คำพิพากษา ศาลมีอำนาจสั่งไม่รับอุทธรณ์ได้
ป.วิ.พ. มาตรา 229 ที่กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้น มิได้ใช้บังคับเฉพาะกรณีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น แม้คดีนี้จำเลยที่ 1 จะเพียงอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นในชั้นขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่เป็นเนื้อหาสาระในคำฟ้องของโจทก์ แต่เป็นการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ภายหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาตัดสินคดีแล้ว ซึ่งอาจมีผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกยกเลิกเพิกถอนไปได้หากอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น กรณีจึงอยู่ภายใต้บังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 229 ซึ่งบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้อุทธรณ์ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาหรือคำสั่งมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์นั้นด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีมิใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาว่าอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่เพราะค่าขึ้นศาลซึ่งต้องเสียในเวลายื่นอุทธรณ์ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. และค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตามคำพิพากษาที่ต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เป็นคนละส่วนกัน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 มาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวถือเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นตรวจอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 232 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลชั้นต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่เป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ซึ่งผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์คำสั่งไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ได้ การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่ชั้นสืบพยานโจทก์ ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่บังคับให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้แก่โจทก์เป็นอันเพิกถอนไปได้ มีผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติก่อน แม้ศาลชั้นต้นจะให้โอกาสจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมมาวางศาล แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็มิได้ปฏิบัติตามจนระยะเวลาล่วงเลยไปแล้วจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงิน: เบี้ยปรับเมื่อผิดนัดชำระหนี้ ศาลยืนตามสัญญากู้
หนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 2 และข้อ 4 และบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงินมีใจความโดยสรุปว่า ในระยะ 3 ปีแรก นับแต่วันทำสัญญากู้เงิน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราคงที่ตามบันทึกต่อท้ายสัญญากู้เงิน โดยในปีแรกอัตราร้อยละ 3.5 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี และปีที่ 3 อัตราร้อยละ 5.5 ต่อปี ต่อจาก 3 ปีนั้นแล้วจึงมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้เมื่อใด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วง 3 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญากู้เงินหรือหลังจากนั้นก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นได้เสมอ ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะ 3 ปีแรกก็ดี ดอกเบี้ยหลังจากล่วงพ้น 3 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้เงินก็ดี ล้วนเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามข้อสัญญาทั้งสิ้น ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดหรือไม่ และเป็นดอกผลนิตินัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 วรรคสาม แต่ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปีที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยทั้งสองหลังจากที่จำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ เห็นได้ว่าเป็นการใช้สิทธิตามสัญญากู้เงินข้อ 4 ที่ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ดอกเบี้ยจำนวนนี้จึงเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญากำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ซึ่งถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ โดยคำนึงถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 373 วรรคหนึ่ง
โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง โดยขอให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินตามฟ้อง นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับดอกเบี้ยในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) และข้อ (4) แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากจำนวนทุนทรัพย์ตามฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4902-4904/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ต้องพิจารณาผลสำเร็จการจัดทำแผนและผลประกอบการหลังเข้ารับหน้าที่
ในการกำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดในขณะที่คดีฟื้นฟูกิจการอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลและเป็นการกำหนดตามที่ศาลได้มีคำสั่งเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบกลั่นกรองในเบื้องต้นและศาลยังได้กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียสามารถร้องคัดค้านได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 146 เช่นนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ถูกคัดค้านโต้แย้งได้ภายในกำหนดเวลา 14 วัน หาเป็นที่สุดไม่ แม้ในวันเดียวกันนั้นศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่เมื่อคำสั่งดังกล่าวยังมีผลที่กระทบกระเทือนสิทธิของลูกหนี้ทั้งสามหรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น และบุคคลผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ศาลจึงมีอำนาจในการที่จะพิจารณาคำร้องคัดค้านต่อไปได้
การที่ผู้ทำแผนจะมีฐานะเป็นผู้ทำแผนและมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามเริ่มตั้งแต่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/17 ก่อนหน้านั้นหาได้มีนิติสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างลูกหนี้ทั้งสามซึ่งมิได้เป็นผู้ร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการกับผู้ทำแผนไม่ เช่นนี้ผู้ทำแผนจะขอเรียกค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนซึ่งเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนหาได้ไม่ หากว่าหนี้ดังกล่าวจะมีอยู่จริงก็เป็นหนี้ซึ่งลูกหนี้ทั้งสามได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ทำแผนในฐานะเจ้าหนี้จะต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/26 ประกอบมาตรา 90/27 หาใช่เบิกจ่ายจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ในส่วนค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนซึ่งเกิดขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้วนั้น เมื่อ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้กำหนดให้ศาลเข้ามากำกับและตรวจสอบการกระทำการต่างๆ ได้ ทั้งนี้เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงไป ทั้งมีอำนาจในการตั้งผู้ทำแผนและให้ผู้บริหารแผนพ้นจากตำแหน่งกรณีจึงรวมถึงการอนุญาตหรือมีคำสั่งใดๆ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย เมื่อเกิดปัญหาประการใดๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ คณะกรรมการ เจ้าหนี้ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลได้โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้มีการจ่ายเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพื่อเป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายของผู้ทำแผนได้
เนื่องจากหลังจากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้วผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 90/43 และผู้ทำแผนมีหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 90/25 ในการจ่ายค่าตอบแทนผู้ทำแผนเนื่องจากการกระทำหน้าที่ดังกล่าวในส่วนของการทำแผนฟื้นฟูกิจการนั้นศาลจะพิจารณาให้ผู้ทำแผนมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนได้เป็นจำนวนเท่าใด ศาลต้องพิจารณาถึงผลสำเร็จในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่าแผนดังกล่าวที่ผู้ทำแผนได้จัดทำนั้นมีหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการที่ผู้ทำแผนได้จัดทำขึ้นมาแล้วนั้นสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ อีกทั้งเมื่อมีการนำแผนฟื้นฟูกิจการมาเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้และศาลแล้ว แผนฟื้นฟูกิจการนั้นที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนและศาลได้ให้ความเห็นชอบหรือไม่ ทั้งในการพิจารณาดังกล่าวศาลจะต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่ผู้ทำแผนสมควรจะใช้เมื่อพิจารณาประกอบคุณภาพของงานและความสำเร็จของงาน อัตราค่าตอบแทนผู้ทำแผนศาลอาจจะกำหนดเป็นหน่วยรายชั่วโมงหรือกำหนดเหมารวมเป็นรายชิ้นงานไปก็ได้ ในส่วนที่ผู้ทำแผนได้เข้าไปจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามนั้นศาลจะต้องพิจารณาถึงความสามารถในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามในระหว่างที่ผู้ทำแผนเข้ามาจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม ผู้ทำแผนได้ทำให้กิจการของลูกหนี้ทั้งสามมีสถานะหรือผลประกอบการดีขึ้นเพียงใด มีรายได้รับเพิ่มขึ้นหรือไม่ ในส่วนค่าใช้จ่ายซึ่งได้แก่ ค่าที่ปรึกษากฎหมายที่ผู้ทำแผนได้จ่ายไป ศาลจะต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายอันจำเป็นตามปกติในการดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ทั้งสามทั้งยังจะต้องพิจารณาว่าได้มีการเบิกจ่ายเงินส่วนนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสามไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้ทั้งสามโดยแท้จริงหรือไม่ทั้งค่าที่ปรึกษากฎหมายที่จะพิจารณาให้เบิกนั้นก็ย่อมอยู่ในกรอบเฉพาะค่าที่ปรึกษากฎหมายในส่วนที่ผู้ทำแผนได้ปรึกษากับที่ปรึกษากฎหมายเพื่อดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสาม
คดีนี้ผู้ร้องทั้งสามและลูกหนี้ทั้งสามได้ร้องคัดค้านเพื่อขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้กำหนดค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ทำแผนตามคำสั่งอันเป็นการโต้แย้งกระบวนการในคดีฟื้นฟูการเพื่อให้ศาลมีอำนาจในการกำกับดูแลคดีฟื้นฟูกิจการได้ควบคุมกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการให้เป็นไปอย่างเหมาะสม กรณีถือได้ว่าเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นนี้ 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำกัดเฉพาะคู่สัญญาหรือผู้เกี่ยวข้องโดยตรง มิอาจฟ้องจำเลยที่ไม่มีหน้าที่ตามสัญญา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนแบ่งแยกและโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมมีอำนาจพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโดยมิได้สอบถามข้อเท็จจริงใด ๆ จากคู่ความแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์จากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำฟ้องเท่านั้น จึงเป็นคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องมิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นไว้ อุทธรณ์ของโจทก์ก็ไม่เป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้าม โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ตามมาตรา 24 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 227
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจาก ท. โจทก์ชำระราคาและเข้าครอบครองตลอดมา แต่ ท. ยังมิได้จดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่ง ท. และทายาทอื่นรวม 4 คน ร่วมกันรับมรดกมาจาก อ. เจ้ามรดก ต่อมา ม. ทายาทคนหนึ่งของ อ. จดทะเบียนให้จำเลยเข้าร่วมเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนของตน และที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นโฉนดที่ดิน ที่ดินที่จำเลยได้รับมาจากการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมนั้นรวมที่ดินพิพาทกับที่ดินอื่นอีกส่วนหนึ่งที่จำเลยได้รับสิทธิมาจาก ม. ต่อมา ท. ถึงแก่ความตาย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลย ดังนี้ หากโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะ ท. ไม่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวเอากับ ท. หรือทายาทของ ท. หรือหากโจทก์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ถูกกระทบกระเทือนอันเนื่องมาจากมีการออกโฉนดที่ดินและแบ่งแยกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทที่โจทก์ครอบครองก็ชอบที่จะฟ้องผู้เกี่ยวข้องเพื่อขอให้เพิกถอนการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์จะมาฟ้องเพื่อขอให้จดทะเบียนแบ่งแยกและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่เป็นที่ดินพิพาทให้แก่โจท์หาได้ไม่ เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมหรือสัญญาใด ๆ ที่จะต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ได้
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 การที่โจทก์อุทธรณ์และจำเลยฎีกาต่อมาเป็นการอุทธรณ์และฎีกาตามมาตรา 227 ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นละ 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ข. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิใช่เสียตามทุนทรัพย์ที่พิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3316/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในคดีบังคับคดีและการไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลซ้ำ
ผู้ร้องยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดี โดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อหรือรับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษามาจากการขายทอดตลาดซึ่งดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องพิพาทกับจำเลยทั้งสองในมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดีโดยอาศัยเหตุดังกล่าวก็มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่หรือเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุให้ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก
of 3