คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. ตาราง 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 37 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1515/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: ยึดทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อชำระหนี้ แม้ทรัพย์จำนองมีราคาไม่เพียงพอ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยึดทรัพย์เพิ่มเติมได้
หนี้ตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่โจทก์ขอยึดที่ดินพิพาททั้งต้นและดอกเบี้ยรวมมากกว่า 10,000,000 บาท แต่ทรัพย์จำนองทั้งสามแปลงมีราคาตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีรวมไม่ถึง 1,000,000 บาท ที่ดินพิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดีตีราคาที่ดิน 98,119,440 บาท แม้ปัจจุบันเป็นชื่อจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่จำเลยที่ 3 รับมรดกมาจากผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วม ที่ดินจึงอยู่ในขอบเขตที่อาจถูกบังคับคดีได้ตามคำพิพากษา แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น แต่การยึดทรัพย์ที่ดินพิพาทสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ยึด หากเพิกถอนการยึดโจทก์ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมการยึดทรัพย์โดยไม่มีการขายอัตราร้อยละ 3.5 ซึ่งจะเป็นเงินค่าธรรมเนียมจำนวนมาก เนื่องจากจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองทั้งสามแปลงยังไม่เสร็จสิ้น ก็ยังไม่ทราบจำนวนหนี้ที่เหลือที่จะบังคับคดีต่อไป และนำมาเป็นเกณฑ์คำนวณค่าธรรมเนียมได้ และจากสภาพราคาทรัพย์จำนองเป็นที่เห็นได้ว่าไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อขายทรัพย์จำนองเสร็จก็ต้องกลับมายึดที่ดินพิพาทใหม่ การยึดที่ดินพิพาทไว้แต่ยังไม่ต้องนำออกขายจนกว่ามีการขายทอดตลาดจำนองเสร็จสิ้นและได้เงินไม่พอชำระหนี้ จึงค่อยนำที่ดินพิพาทออกขายนั้นไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดีตามคำพิพากษาและก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2169/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดที่ดิน: ไม่ต้องนำชี้ทรัพย์ ยึดถูกต้องเมื่อแจ้งการยึดและบันทึกการยึดแล้ว
การยึดที่ดินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 304ไม่จำต้องให้โจทก์หรือผู้แทนของโจทก์ไปนำชี้ทรัพย์ที่จะยึดเพื่อประทับตราหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเพื่อให้การยึดเห็นประจักษ์เหมือนอย่างกรณีการยึดสังหาริมทรัพย์เหตุที่ระเบียบการบังคับคดีที่มีอยู่เดิมกำหนดให้มีผู้นำยึด โดยผู้นำยึดต้องชี้ทรัพย์ที่จะยึดก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึด การทำแผนที่ในประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น ซึ่งหากแผนที่ดังกล่าวไม่ถูกต้องก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดี ดังนั้นการที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปชี้ที่ดินที่จะยึดผิดแปลง ก็ไม่อาจจะถือได้ว่ากรณีเป็นการยึดที่ดินผิดแปลง การนำชี้ผิดเป็นผลเพียงให้มีการปิดประกาศการยึดผิดแปลงเท่านั้น โจทก์มีสิทธิที่จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปตรวจสภาพที่ดินเพื่อนำชี้ที่ดินแปลงที่ถูกต้องใหม่ได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการยึดที่ดินแปลงที่ชี้ผิดแล้วไม่มีการขาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อประเมินราคาทรัพย์ยึด มีเฉพาะกรณีทรัพย์ไม่ถูกขายและตกลงราคาไม่ได้
ตามตาราง 5 ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหมายเลข 3และ 4 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขาย หรือจำหน่าย กับเมื่อยึดหรืออายัดเงินหรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดว่า การคำนวณราคาทรัพย์สิน ที่ยึดหรืออายัดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมตามหมายเลข 3 และ 4 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกันให้คู่ความที่เกี่ยวข้อง เสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือเงินดังกล่าวนั้นไม่มีการขาย หรือจำหน่ายแล้ว และไม่อาจตกลงกันในการคำนวณราคาทรัพย์สิน เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียม คู่ความที่เกี่ยวข้องจึงจะมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ได้
การยึดทรัพย์ของจำเลยยังอยู่ในระหว่างการบังคับคดีเพื่อขายทอดตลาด ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดี ได้ยึดไว้ไม่มีการขาย หรือจำหน่ายแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเสนอเรื่องต่อศาลให้เพิกถอน การประเมินราคาทรัพย์ดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามที่บัญญัติ ไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3016/2543 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อประเมินราคาทรัพย์ยึด ต้องรอจนกว่าจะไม่มีการขายทอดตลาด
การยึดหรืออายัดทรัพย์สินหรือเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายและไม่อาจตกลงกันในการคำนวณราคาทรัพย์สินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หมายเลข 3และ 4 คู่ความที่เกี่ยวข้องจึงจะมีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296
การยึดทรัพย์ของจำเลยยังอยู่ในระหว่างการบังคับคดีเพื่อขายทอดตลาด ไม่ปรากฏว่าทรัพย์ของจำเลยที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ไม่มีการขายหรือจำหน่ายแล้ว จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเสนอเรื่องต่อศาลให้เพิกถอนการประเมินราคาทรัพย์ดังกล่าวของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1713/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางทรัพย์ชำระหนี้: เจ้าหนี้ไม่อาจยึด/อายัดทรัพย์ที่ลูกหนี้วางไว้เพื่อชำระหนี้ในคดีอื่นได้
เมื่อลูกหนี้ขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยชอบแล้ว เจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้เพื่อเป็นการปลดเปลื้องไม่ให้ลูกหนี้ต้องได้รับความเสียหายกฎหมายอนุญาตให้ผู้ชำระหนี้วางทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ และเมื่อวางทรัพย์แล้วย่อมหลุดพ้นจากหนี้ โดยลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ต่อไปอีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 334 และ 335 แสดงว่า ลูกหนี้เท่านั้นมีสิทธิถอนทรัพย์ที่วางได้เมื่อจำเลยที่ 2 วางเงินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ในอีกคดีหนึ่งและไม่ใช้สิทธิถอนทรัพย์เจ้าหนี้ในคดีอื่นจะยึดหรืออายัดเงินที่จำเลยที่ 2 วางเพื่อไปชำระหนี้รายอื่นไม่ได้และเมื่อการอายัดต้องห้ามตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการอายัดเงินแล้วไม่มีการจำหน่าย จึงเรียกค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้
คำร้องอ้างว่าการอายัดไม่ชอบและขอให้ถอนการอายัด เป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: คำนวณจากหนี้ที่บังคับได้จริง ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่ยึด
ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่ได้ กำหนดเรื่องค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีในกรณีเมื่อยึด ทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย โดย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึด หมายถึง ราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่ง ต้องไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 26,957.13 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 13.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 7 กันยายน 2522 เป็นต้นไป เมื่อคิดคำนวณยอดหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองจะต้อง รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาโดยคิดถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 อันเป็นวันที่โจทก์ขอถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยเนื่องจากจำเลย ได้ชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว ยังมีจำนวนไม่ถึง 160,000 บาท อันเป็นราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดและเจ้าพนักงานบังคับคดี ประเมินราคาไว้ในครั้งแรก โจทก์จึงต้องเสียค่าธรรมเนียม การยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายร้อยละ 3 ครึ่ง ของจำนวนหนี้ ที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในการบังคับคดีอันมีจำนวนน้อยกว่า ราคาทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าราคาทรัพย์สิน ที่โจทก์นำยึดทรัพย์จะมีราคาประเมินจำนวน 160,000 บาท หรือ จำนวน 2,527,300 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ความรับผิดในค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7934/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์ - การกำหนดราคา - ระยะเวลาอุทธรณ์ - ศาลฎีกายืนตามศาลล่าง
ตามตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการคำนวณราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้กำหนด ถ้าไม่ตกลงกัน ให้คู่ความที่เกี่ยวข้องเสนอเรื่องต่อศาลตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 296 วรรคสอง กล่าวคือโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดราคาเสียใหม่ได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดราคาทรัพย์สินที่ยึดเพื่อเสียค่าธรรมเนียมเมื่อยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายแล้ว โจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านและต่อมาโจทก์ขอถอนการยึดและเสียค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าวและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดและถอนการบังคับคดีเรื่องนี้กับได้รายงานให้ศาลชั้นต้นทราบแล้ว ต่อมาโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอคืนค่าธรรมเนียมส่วนที่เกินจากทุนทรัพย์ในคดีที่โจทก์ ควรเสียเป็นคดีนี้ เมื่อเวลาล่วงเลยมานานถึง 5 ปีแล้ว กรณีของโจทก์จึงไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองจึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องของโจทก์เสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3939/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สิน: คิดจากราคาที่ยึดได้ หรือจำนวนหนี้? ศาลฎีกาวินิจฉัยให้คิดจากราคาที่ยึดได้แต่ไม่เกินจำนวนหนี้
กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายการเสียค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีร้อยละ3 ครึ่ง ของราคาทรัพย์ที่ยึดนั้นคำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตาราง 5 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ 3หมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 652/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลังจำเลยชำระหนี้แล้ว และการให้สัตยาบันต่อการผิดระเบียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่2เพื่อบังคับชำระหนี้เมื่อจำเลยที่2อ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพราะจำเลยที่2ไม่ทราบว่าถูกฟ้องแล้วจำเลยที่2ชอบที่จะขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นซึ่งจะทำให้คำพิพากษารวมทั้งการบังคับคดีอันเนื่องมาจากการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลเป็นอันถูกเพิกถอนไปด้วยเพราะศาลจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นใหม่แต่จำเลยที่2ก็หาได้กระทำไม่จำเลยที่2กลับยินยอมชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้นให้โจทก์ทั้งยังได้ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าจำเลยที่2ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ครบถ้วนแล้วมีความประสงค์จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์จำเลยที่2ยินดีชำระค่าธรรมเนียมตามระเบียบจึงขอถ่ายรายการค่าธรรมเนียมศาลเพื่อนำไปยื่นคำร้องขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่อศาลและจะนำค่าธรรมเนียมชำระให้เจ้าพนักงานบังคับคดีภายหลังเนื่องจากจำเลยที่2ทราบจากเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าค่าธรรมเนียมดังกล่าวมากกว่าหนี้ที่จะต้องรับผิดตามคำพิพากษาดังนี้ถือได้ว่าจำเลยที่2ได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบหลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบนั้นแล้วจำเลยที่2จะขอให้เพิกถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ ตามคำร้องของจำเลยที่2ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นเป็นกรณีที่จำเลยที่2ขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอให้ยกเลิกค่าธรรมเนียมในการยึดทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้นดังนั้นหากศาลฟังว่าจำเลยที่2ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนดังกล่าวก็ชอบที่จะยกคำร้องของจำเลยที่2เสียกรณีไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์รับผิดในค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงเป็นเรื่องนอกประเด็นจากคำร้องของจำเลยที่2เป็นการไม่ชอบและปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142(5)ประกอบมาตรา246,247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5272/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี: ศาลมีดุลพินิจให้ฝ่ายผิดนัดชำระรับผิดชอบได้
ความรับผิดชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความในคดีซึ่งรวมทั้งค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีเมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ย่อมตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แต่ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจให้คู่ความฝ่ายใดเป็นผู้เสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือแต่บางส่วนก็ได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง
of 4