คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. ตาราง 6

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนภาษีบุตรที่ศึกษาในสถาบันที่เทียบเท่ามหาวิทยาลัย และการกำหนดค่าทนายความ
ประมวลรัษฎากร มาตรา 47 มิได้ให้ความหมายของคำว่ามหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษาไว้เป็นพิเศษ ต้องถือความหมายตามพจนานุกรม ทั้งกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะแบ่งเบาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ซึ่งมีบุตรที่ไม่ได้เป็นผู้เยาว์และอายุยังไม่เกิน 25 ปีแต่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาใด ๆ ในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในประเทศมีระดับการศึกษาสูงขึ้น ดังนั้น เมื่อสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาเป็นสถาบันที่เนติบัณฑิตยสภาก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประสิทธิ์ประสาทและส่งเสริมการศึกษานิติศาสตร์และความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายโดยเฉพาะมิใช่มหาวิทยาลัยแต่ก็เป็นสถาบันการศึกษาในระดับที่สูงกว่ามัธยมศึกษาจึงเป็นชั้นอุดมศึกษาตามความหมายของมาตรา 47โจทก์จึงมีสิทธิหักลดหย่อนบุตรซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่สถาบันดังกล่าวได้
การกำหนดค่าทนายความว่าควรจะให้ผู้แพ้คดีใช้แทนผู้ชนะคดีมากน้อยเพียงใดเป็นการใช้ดุลพินิจอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าทนายความของศาล จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 แต่การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ใช้แทนจำเลยจำนวน 1,000 บาท เกินอัตราขั้นสูงของตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีที่ทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 2,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5692/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเช่าเลิกสัญญา ค่าเสียหาย และสิทธิในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยเช่าที่ดินจากโจทก์เพื่อก่อสร้างโครงเหล็กติดตั้งป้ายโฆษณา เมื่อสัญญาเช่าที่ดินเลิกกันแล้วจำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนที่ดินให้แก่โจทก์ในสภาพที่ได้รับมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 561 คือต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดซึ่งรวมถึงเสาเข็มของจำเลยออกไปจากที่ดินที่เช่าด้วย เพราะจำเลยเป็นผู้ปลูกสร้างโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า จึงไม่ถือว่าเป็นส่วนควบกับที่ดินตามมาตรา 146
เมื่อสัญญาเช่าเลิกกันแล้วการที่จำเลยไม่รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของจำเลยออกจากที่ดินเช่าและส่งมอบที่ดินเช่าคืนโจทก์ในสภาพที่จำเลยได้รับมา ย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เช่าได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
จำเลยอุทธรณ์และฎีกาขอให้ยกฟ้องในเรื่องค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 ถึงวันฟ้องวันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นเงินรวม 71,999.98 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ส่วนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระแก่โจทก์นับแต่วันหลังจากวันฟ้องต่อไปอีกเดือนละ 10,000 บาท แต่รวมค่าเสียหายทั้งหมดแล้วไม่ให้เกิน20 เดือนนั้น เป็นค่าเสียหายในอนาคตจึงนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ในอุทธรณ์และชั้นฎีกาไม่ได้ ดังนั้นจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาตามทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเงินแต่ละชั้นศาลจำนวน 1,800 บาท
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายมาด้วยจึงเป็นคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความใช้แทนให้แก่ผู้ชนะคดีต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราชั้นสูงกว่าตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลัก เมื่อปรากฏว่าทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 71,999.98 บาท เกินกว่า 25,000 บาท ซึ่งมีค่าทนายความอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์เป็นเงินร้อยละ 3 ของทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คือเป็นเงินไม่เกิน 2,159.97บาท แต่สำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์กำหนดค่าทนายความในอัตราขั้นสูงในศาลอุทธรณ์ไม่เกิน 1,500 บาท จึงต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีที่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตราสูงกว่าใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4046/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานและผลผูกพันจากเอกสารการซื้อขาย แม้มีผู้รับมอบอำนาจช่วง และการกำหนดค่าทนายความ
ตามบัญชีพยานอันดับ 1 ในช่องชื่อพยาน โจทก์ระบุว่าผู้รับมอบอำนาจขออ้างตนเองเป็นพยานโดยมิได้ระบุที่อยู่ของพยานเป็นการระบุถึงสถานะของพยานโจทก์ว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ปรากฏตามฟ้องว่าผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์คือ ข. ส่วน ป. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ข. แม้ตามหนังสือมอบอำนาจโจทก์ให้อำนาจข. มอบอำนาจช่วงได้ แต่สถานะของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงต่างกันจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ระบุ ป. เป็นพยาน แต่โจทก์นำ ป. มาเบิกความเพื่อประกอบเอกสารที่แสดงว่า จำเลยสั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์แล้ว ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหักล้างคงนำสืบเพียงว่า การที่กรรมการของจำเลยลงชื่อในใบสั่งซื้อคนเดียวแสดงว่าจำเลยมิได้ซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์นำ ป. เข้าเบิกความ จำเลยก็มิได้คัดค้าน กรณีไม่ปรากฏว่าโจทก์ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี อีกทั้งจำเลยไม่เสียเปรียบและไม่เสียหาย ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงรับฟังคำเบิกความของ ป. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
ตามหนังสือรับรองระบุว่า กรรมการของจำเลยมี 4 คน ซึ่งรวมทั้ง ว. ด้วย กรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราของจำเลยจึงมีผลผูกพันจำเลย แต่การที่ ว. ลงชื่อสั่งซื้อสินค้าโดยใช้ใบสั่งซื้อซึ่งเป็นแบบพิมพ์ของจำเลย เมื่อโจทก์นำสินค้าไปส่ง พนักงานของจำเลยได้รับสินค้านั้น และต่อมา ว. ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยมีหนังสือขอผ่อนผันการชำระหนี้ โดยใช้แบบพิมพ์ของจำเลยอีก ย่อมแสดงว่าจำเลยรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนซื้อสินค้าจากโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดีกับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้ว แม้เป็นการยื่นคำแก้อุทธรณ์เกินเวลาที่กฎหมายกำหนดและศาลชั้นต้นสั่งไม่รับคำแก้อุทธรณ์นั้นแต่ทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3957/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีเดิมตัดสินแล้วโจทก์ผูกพันตามคำพิพากษา แม้ไม่มีการต่อเติมสิ่งปลูกสร้าง
คู่ความคดีก่อนกับคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่ได้วินิจฉัยในคดีก่อนกับประเด็นในคดีนี้ก็คือประเด็นเดียวกันว่า กันสาดหน้าต่างตึกแถวของจำเลยอยู่ในที่ดินของโจทก์หรือไม่ และกันสาดตามฟ้องคดีนี้ก็คือกันสาดเดิมตามฟ้องในคดีก่อนมิได้มีการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงอันจะเป็นการละเมิดครั้งใหม่ โดยในคดีก่อนศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามคำท้าของคู่ความว่ากันสาดไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์ย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนดังกล่าว และจะมาฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลกลับมาวินิจฉัยซ้ำในประเด็นเดียวกันอีกหาได้ไม่ ฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์อุทธรณ์และฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานต่อไปมิได้ขอให้ชนะคดีตามคำฟ้อง โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาอย่างคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้คือชั้นศาลละ 200บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คดีไม่มีทุนทรัพย์แทนจำเลยเป็นเงิน 2,000 บาท จึงสูงกว่าอัตราขั้นสูงตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดไว้เพียง 1,500 บาท ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4838/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเรื่องอำนาจศาลและกฎหมายที่ใช้บังคับในสัญญากู้เงิน และการห้ามอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ข้ออ้างของจำเลยที่ตกลงกันในสัญญากู้เงินให้ศาลของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีและใช้กฎหมายของประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการตีความสัญญาหรือการฟ้องร้องบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาเงินกู้ ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการแสดงเจตนาของคู่กรณีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 13 เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 38 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 46,497,247.86 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวนเพียง 100,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.215 ของจำนวนทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนทุน ค่าทนายความดังกล่าวจึงไม่สูงเกินส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2658/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาเช่าซื้อ และการคิดค่าเสียหายจากการชำรุดบกพร่องของทรัพย์
จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงมีหนังสือทวงให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา หลังจากนั้นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืนโจทก์ โจทก์จึงถอนฟ้องแล้วนำรถยนต์ออกประมูลขายได้เงินไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อ จึงมาฟ้องเรียกราคารถยนต์ในส่วนที่ขาดจากจำเลยทั้งสองอีก กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) เพราะฟ้องโจทก์คดีก่อนไม่อยู่ในระหว่างพิจารณาเนื่องจากถอนฟ้องไปแล้ว และเมื่อพิจารณาคดีก่อนที่โจทก์ถอนฟ้องไปแล้วศาลยังมิได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ประกอบกับคดีก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดราคาจากการประมูลขายรถยนต์พร้อมดอกเบี้ยอันเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีก่อน คำขอบังคับในคดีทั้งสองจึงต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
การฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นค่าเสื่อมราคาหรือค่าขาดราคาของรถยนต์ที่ประมูลขายได้ราคาน้อยกว่าราคาเช่าซื้อที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นผลมาจากการเลิกสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30
การคำนวณทุนทรัพย์เพื่อกำหนดอัตราค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ต้องถือเอาจำนวนเงินที่โจทก์เรียกร้องตั้งแต่ฟ้องคดี มิใช่คำนวณจากทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีซึ่งอาจจะไม่เต็มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่เรียกร้องมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3925/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทนายความในคดีมีทุนทรัพย์และไม่มีทุนทรัพย์ ศาลต้องใช้อัตราที่สูงกว่าตามกฎหมาย
ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกัน การกำหนดค่าทนายความต้องถือเอาค่าทนายความในอัตราที่สูงกว่าเป็นหลัก เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ 24,500 บาท ซึ่งมีอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 600 บาทแต่ในส่วนคดีไม่มีทุนทรัพย์มีอัตราค่าทนายความชั้นสูงในศาลอุทธรณ์ 1,500 บาท ดังนั้นต้องถือเอาอัตราค่าทนายความที่สูงกว่ามาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3574/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่หลังโอนสิทธิ & ค่าทนายความคดีไม่มีทุนทรัพย์ การรื้อถอนบ้านโดยเจ้าพนักงานบังคับคดี
ขณะที่โจทก์เสนอคำฟ้องต่อศาลโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยซึ่งอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของโจทก์ แม้ภายหลังฟ้องคดีแล้ว โจทก์จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นไป อำนาจฟ้องของโจทก์ที่บริบูรณ์อยู่แล้วยังคงมีผลอยู่ต่อไป คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมกันต้องถือเอาอัตราค่าทนายความในคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งมีอัตรา สูงกว่ามาใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาปัญหานี้ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นให้จำเลย ใช้แทนให้สูงขึ้นได้ การรื้อถอนบ้านจำเลยออกจากที่ดินพิพาทนั้น หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล โจทก์อาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 ทวิ ได้อยู่แล้วโจทก์จะรื้อถอนบ้านของจำเลยเองโดยให้ศาลบังคับให้จำเลย ออกค่าใช้จ่ายหาได้ไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3320/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทนายความ: ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าทนายความ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกาว่า คดีนี้มีทุนทรัพย์สูงและ เป็น คดีมีข้อยุ่งยาก ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ใช้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 1,000,000 บาท เหมาะสมแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ ในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 1 และที่ 4 ทำคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความ แทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 นั้น เป็นฎีกาในปัญหาเรื่อง ค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว และเป็นการโต้แย้งดุลพินิจ ของศาลอุทธรณ์ในการกำหนดค่าทนายความที่โจทก์ต้องใช้แทน จำเลยที่ 1 และที่ 4 นอกจากนี้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นตาม ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 คนละ 50,000 บาท ก็เป็นจำนวนที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควร ระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูงดังที่ระบุไว้ในตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ดังกล่าวจึงมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นกำหนด หรือคำนวณไม่ถูกต้องตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 168 แต่อย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการโอนสิทธิที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตย่อมได้สิทธิเหนือผู้ครอบครองเดิมที่ไม่จดทะเบียน
ผู้คัดค้านซื้อที่ดินโฉนดพิพาทซึ่งรวมที่ดินพิพาทมาด้วย จากส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์โดยสุจริต ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก่อนที่ ผู้คัดค้านจะจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจาก ส.แต่เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ร้องจึงยกเอาสิทธิที่ได้มาอยู่ก่อนและยังมิได้จดทะเบียน นั้นขึ้นใช้ยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดย เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองแม้ผู้ร้องจะยังครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาก็ต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาครอบครองใหม่ เมื่อยังไม่ถึง 10 ปี สิทธิของผู้ร้องจึงยกขึ้นอ้างต่อผู้คัดค้านไม่ได้ ผู้คัดค้านลงชื่อเป็นผู้แก้อุทธรณ์เอง และแม้ว่าทนาย ผู้คัดค้านจะลงชื่อเป็นผู้เรียงคำแก้อุทธรณ์ แต่ตามใบแต่งทนายความไม่ปรากฏว่ามีข้อความให้ทนายผู้คัดค้านมีอำนาจ ดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้าน จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้าน ยื่นคำแก้อุทธรณ์เอง โดยมิได้แต่งตั้งทนายความให้ดำเนินคดี ในชั้นอุทธรณ์ ดังนี้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาให้ผู้ร้องใช้ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านมิได้
of 7