พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 56/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความ: ผลผูกพัน, การลดเบี้ยปรับ, และค่าทนายความที่เหมาะสมกับรูปคดี
ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ให้โจทก์ถอนฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาที่โจทก์กับพวกฟ้องจำเลยรวม11คดีภายในกำหนด3วันนับแต่วันทำสัญญาและให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่ระบุไว้คืนแก่จำเลยภายในกำหนด15วันนับแต่วันทำสัญญาและจำเลยตกลงจะชำระเงินแก่โจทก์จำนวน18,000,000บาทภายในวันที่31กรกฎาคม2535ปรากฏว่าสำนวนคดีที่ตกลงให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.2497จำนวน6คดีและเป็นคดีฟ้องเรียกให้จำเลยชำระหนี้ในทางแพ่งจำนวน5คดีทั้ง11คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดินฉะนั้นข้อตกลงในส่วนดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150แม้ข้อตกลงในส่วนที่ให้จำเลยถอนฟ้องและไม่ดำเนินคดีในข้อหาฟ้องเท็จตามคดีอาญาที่ระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารจ.1ข้อ1(ฎ)เป็นคดีอาญาแผ่นดินซึ่งอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนตกเป็นโมฆะก็ตามก็เป็นส่วนที่แยกออกจากส่วนที่สมบูรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา173ซึ่งไม่เกี่ยวกับส่วนที่จำเลยจะต้องชำระเงินเพื่อตอบแทนแก่โจทก์ในการที่โจทก์ได้ถอนฟ้องคดีทั้ง11สำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลอุทธรณ์หยิบยกเรื่องเช็คขึ้นวินิจฉัยเป็นไปตามประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องจึงไม่เป็นเรื่องนอกประเด็น การที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงยินยอมให้เบี้ยปรับแก่โจทก์เป็นเงิน5,000,000บาทหากจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาแสดงว่าจำเลยที่1มีเจตนาผูกพันตามนั้นจำเลยที่1จึงมีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับแก่โจทก์แต่ก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเป็นไปตามนั้นโดยเด็ดขาดศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้โดยพิจารณาถึงทางได้เสียของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา383 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าคดีนี้ไม่ยุ่งยากศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความทั้งสองศาลแก่โจทก์รวม3,000,000บาทสูงเกินไปนั้นเป็นดุลพินิจที่เหมาะกับรูปคดีแล้วไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะไปเปลี่ยนแปลง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9545/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวแทนเกินอำนาจ-รับชำระหนี้: ตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต
แม้จำเลยที่ 2 ตัวแทนขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 จะไม่มีอำนาจรับเงินค่าซื้อรถยนต์แทนจำเลยที่ 1 และการที่จำเลยที่ 2รับเงินค่าซื้อรถยนต์จากโจทก์จะเป็นการที่ตัวแทนทำการนั้นไปเกินอำนาจตัวแทนก็ตาม แต่เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2และทางปฎิบัติของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 2รับเงินค่าซื้อรถยนต์ภายในขอบอำนาจของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นตัวแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์บุคคลภายนอกผู้สุจริต ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 ดังนั้น จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ค้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความเกินขั้นสูงตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในผลแห่งคดีแต่มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้นั้น แม้ปัญหานี้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6617/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับประกันภัยหลังผู้เอาประกันเสียชีวิต และอำนาจฟ้องของโจทก์ต่อผู้รับประกันภัย
จำเลยที่ 2 ทำสัญญารับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้โดยในกรมธรรม์ระบุวันทำสัญญาประกันภัยเป็นวันหลังจากที่ พ.ถึงแก่ความตายแต่ระบุชื่อผู้เอาประกันคือพ. หลังจากพ.ถึงแก่กรรมจำเลยที่1ในฐานะผู้จัดการมรดกของพ.ได้ดำเนินกิจการแทน พ.และได้จ้างอ.เป็นลูกจ้าง และในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย อ. ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแม้ พ. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนวันที่ทำสัญญาประกันภัยก็ตาม แต่เมื่อเหตุเกิดขึ้นแล้วจำเลยที่ 2 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนสำหรับการที่รถยนต์บรรทุกสินค้าที่รับประกันภัยไว้เสียหายตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ให้แก่จำเลยที่ 1 ไป จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. เป็นผู้ทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 โดยตรงเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยระบุว่า พ.เป็นผู้เอาประกันภัยเป็นเรื่องผิดพลาดไป หรือเป็นการเข้าใจผิดของคู่กรณีเท่านั้น หาได้หมายความว่าจำเลยทั้งสองมิได้ทำสัญญาประกันภัยต่อกันไม่ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากรถที่รับประกันภัยไว้ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ได้ ปัญหาว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยไว้หรือไม่ และจำเลยที่ 2ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเพียงใด เป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 30,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน50,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ในส่วนของโจทก์ที่ 1และที่ 2 แต่ละคนจึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งแม้ศาลฎีกาจะเห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2ก็วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อัตราค่าทนายความตามตาราง 6ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นไว้ว่าทุนทรัพย์เกิน 25,000 บาท อัตราค่าทนายความในศาลชั้นต้นขั้นสูงร้อยละ 5 นั้น การกำหนดค่าทนายความดังกล่าวคิดจากทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้อง หาใช่คิดจากจำนวนที่ศาลพิพากษาให้ไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้งหากศาลพิพากษายกฟ้องจะกำหนดค่าทนายความให้ไม่ได้เลย เมื่อทุนทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 จำนวน 40,000 บาทและโจทก์ที่ 2 จำนวน 521,700 บาท การที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดจำนวน 25,000 บาทจึงไม่เกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนด แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสองรวมกันมาโดยไม่ได้แยกว่าให้ใช้แทนโจทก์คนไหนเท่าใดและให้จำเลยที่ 2ร่วมใช้แทนด้วยทั้งหมดเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 284/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้ชื่อบริษัทและเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันเป็นละเมิดสิทธิ และการใช้เครื่องหมายการค้าที่ทำให้สาธารณชนสับสน
โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าคอมพิวเตอร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "UNIX" ทั้งในต่างประเทศและประเทศไทยและสำหรับในประเทศไทยโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าจำพวกที่ 8 ชนิดสินค้าคอมพิวเตอร์ ส่วนและอุปกรณ์เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งได้โฆษณาเผยแพร่สินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์มาก่อนที่จำเลยจะยื่นขอจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดและใช้ชื่อบริษัททั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า"บริษัทยูนิกซ์คอมพิวเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด" และ"UNIXCOMPUTER(THAILAND)COMPANYLIMITED" คำว่า "UNIX"ที่จำเลยนำไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยและเป็นส่วนหนึ่งของตรา บริษัท จำเลยเหมือนกันกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ซึ่งใช้กับสินค้าคอมพิวเตอร์ ของโจทก์จำเลยประกอบธุรกิจจำหน่ายรับซ่อมเครื่องคอมพิวเตอร์ และจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์จำเลยอยู่ในวงการธุรกิจคอมพิวเตอร์ ทราบดีว่าคำว่า "UNIX" เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ผลิตและจำหน่าย การที่จำเลยนำคำว่า"UNIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ไปจดทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตราของบริษัทจำเลยและจำเลยรับเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า"ONIX" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มากย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าสินค้าคอมพิวเตอร์หรือการค้าของจำเลยเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงและเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์โดยมิได้รับอนุญาต การใช้คำว่า "UNIX" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยจึงเป็นการใช้โดยไม่สุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ย่อมมีสิทธิขัดขวางมิให้จำเลยนำคำดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อและตรา บริษัท จำเลยและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วยังจำหน่ายสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" ซึ่งเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX" ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ของโจทก์ที่ผลิตออกจำหน่ายจนถึงนับได้ว่าเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายดังกล่าวซึ่งติดมากับสินค้านั้นอยู่ในตัว ดังนี้แม้จำเลยจะมิใช่ผู้ผลิตสินค้านั้นและคิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าคำว่า "ONIX" การกระทำของจำเลยก็เป็นการใช้เครื่องหมายการค้าโดยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนคำว่า "UNIX"ของโจทก์แล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาทแทนโจทก์ คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ อัตราค่าทนายความในศาลอุทธรณ์ชั้นสูงตามตาราง 6 ท้าย กำหนดไว้เพียง 1,500 บาทการกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้จำเลยใช้แก่โจทก์จึงเกินอัตราดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6455/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอนุญาตให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลังกำหนดเวลา และข้อจำกัดการอุทธรณ์คดีทุนทรัพย์น้อย
การที่จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยหลังจากระยะเวลากำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วโดยอ้างว่ามีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้นเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยาน ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ให้อำนาจไว้เมื่อคดีนี้มีทุนทรัพย์เพียง 27,500 บาท คู่ความจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่งและมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ตามลำดับ การที่โจทก์อุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้น อันเป็นการอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2460/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมในการแบ่งแยกทรัพย์มรดก แม้ผู้รับมรดกไม่มีตัวตน
โจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอแบ่งแยกและลงชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม มิได้ฟ้องทายาทขอให้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรม ดังนั้น ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจะมีตัวตนอยู่หรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นพิพาทในคดี และแม้ผู้มีชื่อรับพินัยกรรมจะไม่มีตัวตนก็ตามก็มีผลเพียงทำให้ข้อกำหนดในพินัยกรรมเกี่ยวกับการยกทรัพย์มรดกแก่บุคคลที่ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมสิ้นผลไปเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดที่ระบุให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนั้นหาได้เสื่อมเสียไปไม่ เมื่อจำเลยเป็นผู้ยึดถือโฉนดที่ดินตามพินัยกรรมไว้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมย่อมมีสิทธิขอแบ่งแยกและใส่ชื่อตนในโฉนดในฐานะผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้ตายได้ โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินซึ่งเป็นมรดก เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณราคาเป็นเงินได้ ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทนายความเกินอัตราขั้นสูงตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่ให้ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1909/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องละเมิด, การรับผิดของนายจ้าง, ผู้รับประกันภัย, และดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่1ขับรถยนต์ไปตามถนน พหลโยธินซึ่งแบ่งเส้นทางจราจรเป็น2ช่องเดินรถโดยมีเกาะกลางถนนคั่นเมื่อถึงหน้ากรมการขนส่งทางบกจำเลยที่1ขับรถด้วยความประมาทด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังในการบังคับรถเป็นเหตุให้รถแล่นขึ้นมาบนเกาะกลางถนนชนเสาไฟฟ้าหักและเป็นเหตุให้โคมไฟฟ้าสาธารณะของโจทก์ที่ติดอยู่บนเสาไฟฟ้าดังกล่าวแตกเสียหายซึ่งเป็นการบรรยายถึงลักษณะแห่งความประมาทของจำเลยที่1แล้วคำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ส่วนจำเลยที่1จะขับรถมาจากทิศทางใดจะไปไหนและออกนอกเส้นทางอย่างไรไม่ใช่ข้อสาระสำคัญฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นนิติบุคคลมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์แต่ผู้เดียวการที่ผู้อำนวยการกองก่อสร้างและบูรณะซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจะถือว่าโจทก์รู้ด้วยไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ลงชื่อรับทราบและอนุมัติให้ฟ้องคดีในหนังสือแจ้งเหตุละเมิดและขออนุมัติฟ้องคดีในวันที่27มิถุนายน2533จึงถือว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่27มิถุนายน2533โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่12ตุลาคม2533ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่3ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ทำละเมิดจำเลยที่3จะยกอายุความเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา448วรรคแรกมาปฏิเสธความรับผิดไม่ได้เมื่อโจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน2ปีนับแต่วันวินาศภัยคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา882วรรคแรก จำเลยที่2เป็นนายจ้างซึ่งกฎหมายกำหนดให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่1ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่1ได้กระทำไปในทางการที่จ้างจำเลยที่2จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่1และต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ชดใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนเพราะถือว่าจำเลยที่2ซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดมาตั้งแต่เวลาที่ทำละเมิดแล้วส่วนจำเลยที่3เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดการที่โจทก์มีข้อตกลงให้การไฟฟ้านครหลวงเป็นผู้ซ่อมโคมไฟฟ้าสาธารณะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นและโจทก์จะจ่ายเงินค่าซ่อมให้การไฟฟ้านครหลวงไม่เกี่ยวกับจำเลยที่3ผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่3ชำระค่าเสียหายภายใน15วันนับแต่วันได้รับหนังสือจำเลยที่3ได้รับเมื่อวันที่25สิงหาคม2532แต่ไม่ชำระภายในกำหนดจำเลยที่3จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่10กันยายน2532
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2538
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าทรัพย์สิน: สิทธิเลิกสัญญาเช่าธรรมดา และความรับผิดในความเสียหายหลังสิ้นสุดสัญญา
ในสำนวนคดีหลัง จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากทรัพย์ที่เช่าซึ่งขณะยื่นคำฟ้องมีค่าเช่าเดือนละหนึ่งหมื่นบาทจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสองโจทก์ฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยข้อฎีกาของโจทก์ดังกล่าวในสำนวนหลัง ค่าใช้จ่ายปรับปรุงซ่อมแซมทรัพย์สินอันเป็นกิจการพิพาทเพื่อประโยชน์ของโจทก์จะใช้สอยและเรียกเก็บค่าบริการ หาใช่เป็นการใช้จ่ายช่วยค่าก่อสร้างกิจการพิพาทจึงมิใช่ค่าใช้จ่ายที่จะถือว่าโจทก์จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยที่ 1 เป็นพิเศษยิ่งกว่ากว่าใช้จ่ายเช่ากิจการพิพาทตามสัญญาเช่าธรรมดา สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าธรรมดาและโจทก์จำเลยที่ 1 มิได้ตกลงระยะเวลาการเช่าต่อกันไว้โจทก์จำเลยที่ 1 ย่อมใช้สิทธิเลิกสัญญาต่อกันเมื่อใดก็ได้ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายว่า โจทก์จำเลยที่ 1ตกลงชำระค่าเช่ากันเป็นรายเดือน การบอกเลิกสัญญาเช่าจึงต้องบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าได้ทุกระยะ แต่ต้องแจ้งให้คู่สัญญารู้ตัวก่อนชั่วกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 566 จำเลยที่ 1แจ้งบอกเลิกการเช่าต่อโจทก์ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์2533 และจำเลยที่ 1 ยื่นคำฟ้องขับไล่โจทก์ วันที่ 17 เมษายน2533 เกินกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งแล้วดังนี้การอยู่ดำเนินกิจการพิพาทของโจทก์ภายหลังจากนั้นเป็นการไม่ชอบ เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 โจทก์ต้องรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 พึงได้รับในระหว่างที่โจทก์อยู่ในกิจการพิพาท ไม่ส่งมอบกิจการพิพาทคืนให้จำเลยที่ 1 เมื่อครบกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าในเดือนต่อมาหลังจากโจทก์รับทราบการบอกเลิกการเช่า สำนวนแรกเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นเงินรวม 15,000 บาทนั้นเกินกว่าอัตราที่กำหนดไว้ตามมาตรา 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมกำหนดใหม่ให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6992/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขาย, สัญญาบัญชีเดินสะพัด, ค่าทนายความ, การชำระค่าเอกสาร, ทุนทรัพย์
โจทก์ประกอบกิจการแพปลา รับซื้อปลาจากชาวประมง จำเลยเป็นชาวประมง เมื่อออกเรือจับปลาได้แล้วนำไปขายให้โจทก์ แต่การออกเรือจับปลาจะต้องลงทุนเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าและโจทก์ยังยอมออกเงินทดรองเป็นค่าใช้จ่ายแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำปลาไปขายให้โจทก์ก็จะมีการคิดบัญชี แล้วหักหนี้จากราคาปลา เงินส่วนที่เหลือเป็นของจำเลย ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยให้หักทอนบัญชีอันเกิดจากกิจการในระหว่างเขาทั้งสองแล้วหักกลบลบหนี้ให้ทราบว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ อันต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ซึ่งไม่บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กรณีไม่ใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือก็ฟ้องจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ถ้าคู่ความไม่ยอมชำระค่าอ้างเอกสาร ศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานเอกสารนั้นได้ซึ่งคำว่า ไม่ยอม มีความหมายว่าจงใจฝ่าฝืนไม่ชำระ แต่ในกรณีหลงลืมซึ่งไม่จงใจฝ่าฝืน ศาลย่อมมีอำนาจรับชำระค่าอ้างเอกสารหลังจากมีคำพิพากษาแล้วได้ เพราะชำระเพียงครั้งเดียวรับฟังได้ถึงสามชั้นศาล ดังนั้น จะชำระในชั้นศาลใดย่อมไม่มีผลแตกต่างไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังหากเพิ่งชำระในศาลชั้นสูงเมื่อชำระแล้วก็รับฟังได้ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์คิดตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6992/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาบัญชีเดินสะพัด-การหักหนี้-ฟ้องเคลือบคลุม-ค่าทนายความ-ทุนทรัพย์
โจทก์จำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้าและออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายแทนจำเลย เมื่อจำเลยนำปลาไปขายให้โจทก์ก็จะมีการคิดบัญชีหักหนี้จากราคา ปลาเงินส่วนที่เหลือเป็นของจำเลย ข้อตกลงเช่นนี้ต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 ซึ่งไม่บังคับว่าจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือกรณีมิใช่จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยตรง แม้โจทก์ไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือก็ฟ้องจำเลยได้ โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ตกลงกับจำเลย ยอมให้จำเลยเบิกเงินล่วงหน้า และยอมออกเงินทดรองค่าใช้จ่ายอื่น ๆแทนจำเลย เมื่อจำเลยหาปลาได้แล้วจะต้องนำมาขายให้โจทก์ แล้วคิดหักบัญชีกัน แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่ามีการกู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์เมื่อวันที่เท่าใดบ้าง เป็นจำนวนเงินเท่าใดและเป็นค่าอะไรบ้าง รายละเอียดเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสำเนาเอกสารท้ายฟ้องแม้จำเลยจะอ้างว่าสำเนาภาพถ่ายไม่ชัดเจนอ่านไม่ออก ก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 ถ้าคู่ความไม่ยอมชำระค่าอ้างเอกสาร ศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้นได้ ซึ่งคำว่าไม่ยอม มีความหมายว่าจงใจฝ่าฝืนไม่ชำระ แต่ในกรณีหลงลืมซึ่งไม่จงใจฝ่าฝืน ศาลย่อมมีอำนาจรับชำระค่าอ้างเอกสารหลังจากมีคำพิพากษาแล้วได้ เพราะชำระเพียงครั้งเดียวรับฟังได้ถึงสามชั้นศาล ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้รับฟังหากเพิ่งชำระในชั้นศาลสูง ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ คิดตามทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความแทนโจทก์มากเกินกว่าร้อยละ 3 จึงไม่ชอบ