คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 59 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินและต้นไม้ การพิสูจน์เจตนาในการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ และการประเมินราคาความเสียหาย
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 จะต้องเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข คดีนี้ จำเลยทั้งสามพักอาศัยอยู่บ้านซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนาง ส. โดยนาย น. เจ้าของที่ดินเดิมและนาง ส. ซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย น. ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน เชื่อว่านาย น. และนาง ส. เจ้าของที่ดินในขณะนั้นยินยอมให้จำเลยทั้งสามอยู่ในที่ดินพิพาท แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ยกบ้านให้นาง ก. แล้วย้ายออกไปอยู่ที่อื่น แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ยังคงอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมา อันเป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทโดยชอบมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อยู่ในที่ดินพิพาทในวันเกิดเหตุขณะที่มีการนำรถแทรกเตอร์เข้ามาไถที่ดินแม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่ออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่ก็เป็นการอยู่ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องมาจากการเข้าไปอยู่โดยชอบในตอนแรก ถือไม่ได้ว่าเป็นการเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะไม่ได้อยู่ในที่ดินพิพาทแล้ว แต่วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 นำรถแทรกเตอร์เข้ามายังที่ดินพิพาทเพื่อช่วยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไถที่ดิน อันเป็นการเข้ามาโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกเช่นเดียวกัน
ที่ดินพิพาทก่อนเกิดเหตุ มีหญ้าและวัชพืชขึ้นรกทั่วทั้งแปลง จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินพิพาทเพื่อปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพโล่งเตียน ซึ่งการกระทำดังกล่าวย่อมมีผลให้หน้าดินบางส่วนต้องถูกไถออกไปบ้างเป็นธรรมดา มิใช่เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วม อันจะเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจรับฟังได้ว่านาย น. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 3 แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เข้าไปปลูกสร้างบ้านและทำประโยชน์ปลูกต้นไม้อยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาตั้งแต่ที่ดินพิพาทยังเป็นของนาย น. และนาง ส. จนกระทั่งนาง ส. จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ร่วมเมื่อปี 2553 เป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยไม่ปรากฏว่านาย น. และนาง ส. ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าไปดำเนินการใด ๆ ในที่ดินพิพาท น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ไม่ทราบเรื่องที่นาย น. ยกที่ดินพิพาทให้แก่นาง ส. มาก่อน เมื่อต้นไม้ตามฟ้องจำเลยที่ 3 ปลูกขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 3 เข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 ย่อมมีเหตุผลให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตด้วยเช่นกันว่าต้นไม้ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ผู้ปลูก แม้ต่อมาภายหลังศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่ได้รับการยกให้จากผู้เป็นเจ้าของเดิมติดต่อกันมาโดยชอบ ซึ่งจากคำพิพากษามีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 3 ปลูกต้นไม้ตามฟ้องลงบนที่ดินของผู้อื่น เมื่อต้นไม้ดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนสุดท้ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 วรรคสอง และมาตรา 145 แต่การที่ต้นไม้ตามฟ้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมดังกล่าวมานั้น เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่มิใช่เป็นเรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเพียงชาวบ้านทั่วไปอาจทราบได้ การที่ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามทราบผลคำพิพากษาดังกล่าวแล้วน่าจะทราบเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมตามที่ได้มีการกล่าวไว้ในคำพิพากษาเท่านั้น ไม่น่าจะทราบถึงกรรมสิทธิ์ของต้นไม้ตามฟ้องด้วย ดังเห็นได้จากจำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ในเวลากลางวันโดยเปิดเผย มิได้กระทำในลักษณะของการลักลอบตัดฟันอันจะบ่งชี้ถึงเจตนาของจำเลยทั้งสามว่าทราบอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันตัดฟันต้นไม้ตามฟ้องด้วยเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของต้นไม้ดังกล่าว อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ว่าต้นไม้ที่ตนร่วมกันตัดฟันแล้วเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาในการกระทำความผิดมิได้ ทั้งนี้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4423/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกับผู้กระทำโดยเจตนา vs. ตัวแทนโดยบริสุทธิ์: การพิสูจน์เจตนาและความรู้ในการกระทำความผิด
การกระทำอันจะถือเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้นั้น บุคคลผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และมีการกระทำโดยเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น จึงจะเป็นตัวการตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้ ตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม เมื่อพวกของจำเลยที่ขับรถแบ็กโฮเข้าขุดดินในที่ดินของผู้เสียหาย มิได้รู้เท็จจริงว่าดินที่ขุดออกไปเป็นของผู้เสียหายโดยเข้าใจว่าเป็นการขุดดินของจำเลย ก็ย่อมจะถือไม่ได้ว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง แต่ต้องถือว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความเองโดยอ้อมโดยใช้พวกของจำเลยเป็นตัวแทนโดยบริสุทธิ์ (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของจำเลยเอง เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่ได้ความกระจ่างชัดว่าพวกของจำเลยรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดและมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยอันจะถือเป็นการลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นคุณแก่จำเลยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปโดยใช้ยานพาหนะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1128/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากเหตุโกรธเคืองและวางแผนทำร้าย, ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การที่จำเลยทั้งสองกับพวกใช้อาวุธปืนยิงกราดไปที่บริเวณบ้านทั้งจุดที่ผู้เสียหายทั้งสามยืนและนั่งอยู่ในครั้งแรกจนถึงจุดที่หลบซ่อนอยู่ภายในตัวบ้าน จำเลยทั้งสองย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายทั้งสามหรือบุคคลอื่นภายในบ้านได้ แม้กระสุนปืนจะไม่ถูกผู้ใด การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ถือได้ว่ามีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าช่วงเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกมีเรื่องกับผู้เสียหายที่ 2 จนถึงช่วงเวลาเกิดเหตุ มีระยะเวลาห่างกันประมาณ 2 ชั่วโมง จึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองกับพวกตระเตรียมอาวุธปืนเพื่อใช้ในการกระทำความผิดมาล่วงหน้าและนัดหมายกับพวกไปรวมตัวกันที่สถานีบริการน้ำมันเพื่อจะไปที่บ้านที่เกิดเหตุเพราะยังขุ่นเคืองอยู่ ซึ่งเมื่อจำเลยทั้งสองไปถึงบ้านที่เกิดเหตุก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปในบ้านทันทีโดยมีการวางแผนและตระเตรียมไว้ล่วงหน้า จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13262/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, วางเพลิงเผาทรัพย์, และซ่อนเร้นศพ ผู้กระทำต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย
เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปส่ง บ. ที่บ้านแล้วย้อนกลับไปยังกระท่อมที่เกิดเหตุอีกครั้งหนึ่ง และร่วมกับจำเลยที่ 1 ยกร่างของผู้ตายขึ้นรถกระบะคันเกิดเหตุ ทั้งขณะที่จำเลยที่ 1 นำฟางมาคลุมร่างของผู้ตาย และนำยางในรถยนต์มาวางทับ แล้วตระเตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นรถกระบะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุและร่างของผู้ตายเพื่ออำพรางคดี จากนั้นจำเลยที่ 3 ก็นั่งไปด้วยในรถกระบะที่จำเลยที่ 1 ขับ โดยมีจำเลยที่ 2 ขับรถอีกคันหนึ่งแล่นติดตามไป แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุพร้อมร่างของผู้ตายซึ่งอยู่ในรถดังกล่าว การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันจุดไฟเผารถกระบะคันเกิดเหตุโดยเข้าใจว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว เป็นการกระทำโดยมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ใช้ความระมัดระวังตรวจดูให้ดีก่อนว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 และที่ 3 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น
ความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพเพื่อปิดบังเหตุแห่งการตาย ตาม ป.อ. มาตรา 199 นั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานนี้ ผู้กระทำจะต้องซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพซึ่งหมายความถึงร่างกายของคนที่ตายแล้ว แต่เมื่อขณะที่ผู้ตายถูกเผา ผู้ตายยังไม่ถึงแก่ความตาย ร่างกายของผู้ตายในขณะนั้นจึงไม่ใช่ศพ ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือทำลายศพ อันเป็นองค์ประกอบความผิด การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11683/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย: เหตุยกฟ้องคดีกระทำชำเรา หากมีเหตุเชื่อได้ว่าจำเลยสำคัญผิดในอายุของผู้เสียหายจริง
จำเลยเบิกความว่า จำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุประมาณ 18 ปี ถึง 19 ปี เพราะรูปร่างสูงใหญ่ ซึ่งในข้อนี้ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีรูปร่างสูงใหญ่กว่าอายุ หากดูภายนอกเพียงผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุเกิน 18 ปีแล้ว เจ้าของร้านอาหารริมชีรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานเนื่องจากเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกิน 18 ปี ส่วนผู้เสียหายที่ 3 ก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า หากเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 จะรูปร่างสูงใหญ่กว่าเพื่อน บุคคลทั่วไปมองผู้เสียหายที่ 1 แล้วอาจเข้าใจได้ว่ามีอายุ 17 ถึง 18 ปี จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว นอกจากนี้ยังปรากฏด้วยว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เคยทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารริมชีมาก่อนโดยทำงานตั้งแต่เวลา 9 ถึง 19 นาฬิกา อีกทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 บอกผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ว่านอกจากจำเลยแล้วยังมีชายอื่นกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 อีก 11 คน จึงมีเหตุผลเชื่อได้ว่ารูปร่างและลักษณะของผู้เสียหายที่ 1 ทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่า 18 ปี จำเลยอาจสำคัญผิดว่าผู้เสียหายที่ 1 อายุเกิน 18 ปี ดังที่อ้างก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดทั้งสองฐานตามฟ้องและทำให้เป็นการกระทำที่ขาดเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9285/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย ขาดเจตนาความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร
เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า 18 ปี แล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19960/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเรา: การสำคัญผิดในอายุผู้เสียหาย และการยินยอม
ขณะจำเลยรับผู้เสียหายเข้าทำงานไม่ได้ตรวจดูหลักฐานเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายก่อน ผู้เสียหายมีรูปร่างโตกว่าเด็กทั่วไปตัวใหญ่และมีส่วนสูงประมาณ 155 เซนติเมตร และเมื่อพิจารณาภาพถ่ายของผู้เสียหายแล้วก็มีรูปร่างสูงใหญ่และลักษณะสูงใหญ่เกินกว่าเด็กหญิงที่มีอายุ 15 ปี โดยทั่วไป เช่นนี้จึงมีเหตุผลที่จำเลยจะเข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายมีอายุ 17 ถึง 18 ปี การที่จำเลยสำคัญผิดเกี่ยวกับอายุของผู้เสียหายนี้เป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ประกอบมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง แม้จะมีบทบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในมาตรา 276 วรรคแรก แต่เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดมาตรา 276 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18654/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์: เจตนาสุจริตของผู้ซื้อและเจตนาทุจริตของผู้ขาย
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายหน้าดินจากจำเลยที่ 2 โดยมิได้ระแวงว่าหน้าดินที่จำเลยที่ 2 เสนอขายจะเป็นที่ดินของผู้ใด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ให้ ว. กับพวก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้าไปขุดดินในที่ดินของโจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยสุจริต จึงขาดเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์และลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์ ส่วนจำเลยที่ 2 นำหน้าดินของโจทก์ร่วมมาขายให้แก่จำเลยที่ 1 จนลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เข้ามาขุดเอาหน้าดินของโจทก์ร่วมไปโดยใช้ยานพาหนะนั้น นับว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนารบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เข้าไปในที่ดินของโจทก์ร่วมและเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต โดยกระทำผ่านจำเลยที่ 1 กับพวก แต่เมื่อฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย คงฟังได้เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานบุกรุกและลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การล่อซื้อยาเสพติด การตรวจค้นโดยไม่แจ้ง และการใช้กฎหมายใหม่ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสามในบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้ แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้ดำเนินการขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นไปตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ ก็หาเป็นข้อพิรุธของพยานโจทก์ในการตรวจค้นจับกุมไม่ เพราะเป็นกรณีกระทำความผิดซึ่งหน้าที่กำลังกระทำลงในที่รโหฐานจึงตรวจค้นได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ
แม้คดีนี้เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจะใช้อุบายล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม ก็มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมเป็นผู้ชักจูงใจหรือก่อให้จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เพราะจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว การล่อซื้อของพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นเพียงการแสวงหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสาม เมื่อจำเลยทั้งสามร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยทั้งสามย่อมเป็นความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน อันเป็นความผิดสำเร็จ หาใช่ว่าเมื่อมีการใช้อุบายวางแผนล่อซื้อต้องถือว่าขาดเจตนาซื้อขายกันจริง จึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 และมาตรา 66 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจำเลยทั้งสามกระทำความผิด แต่ปรากฏว่าในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคดีนี้ มีองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง เดิม มาใช้บังคับแก่คดีนี้ และความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับมาตรา 15 วรรคหนึ่ง เดิม จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่คดีนี้เช่นเดียวกัน ส่วนในมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นบทระวางโทษของความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนสำหรับเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุแห่งการกระทำความผิดที่มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป แต่ไม่เกิน 20 กรัม แม้จะปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางคดีนี้มีจำนวน 46 เม็ด และมีน้ำหนักสุทธิเกินกว่า 1.5 กรัม ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางอันเป็นองค์ประกอบความผิด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้จำนวนเท่าใดกันแน่ จึงไม่อาจปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ได้ แต่ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดอันต้องด้วยบทระวางโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่อยู่ ซึ่งตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนของโทษจำคุกมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 15 ปี แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง เดิม ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนนี้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวในส่วนที่เป็นคุณมาบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังมิได้ยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้ว่าจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วแต่ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ตาม ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขโดยปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง และเห็นสมควรแก้ไขกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาด้วย และเนื่องจากจำเลยทั้งสามเป็นตัวการกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยกัน ถือว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ไขตลอดไปถึง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6802/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บันดาลโทสะจากการพบเห็นชู้รัก ศาลยกเว้นความผิดฐานมีอาวุธปืนฯ
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพในการทำลายล้างสูงและสามารถก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยง่ายยิงผู้เสียหายในระยะใกล้ และยิงถูกร่างกายผู้เสียหายกระสุนปืนเข้าที่ปอดด้านซ้าย ช่องท้อง ถูกลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็กอันเป็นอวัยวะส่วนสำคัญ แม้จำเลยจะอ้างว่ากระทำไปโดยอารมณ์ชั่ววูบด้วยความหึงหวงก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเป็นเพราะนายดาบตำรวจ อ. สามีจำเลย ได้แสดงความรักใคร่ในทำนองพลอดรักกับผู้เสียหาย ซึ่งมีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับนายดาบตำรวจอ. สามีจำเลย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงและถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปในขณะนั้นโดยทันทีจึงเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ แม้จะไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายกับนายดาบตำรวจ อ. ทราบว่าจำเลยอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุขณะที่บุคคลทั้งสองพลอดรักกันก็ตาม แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวมีผลเป็นการข่มเหงจำเลยแล้ว ก็มีเหตุที่จำเลยจะบันดาลโทสะได้หาจำต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายกระทำโดยเจตนามุ่งที่จะข่มเหงจำเลยโดยตรงแต่ประการใดไม่
การที่จำเลยนำอาวุธปืนของกลางที่นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ราชการติดตัวไปโดยมุ่งประสงค์จะนำไปมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ใช้ในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในงานกฐิน ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองเพราะจำเลยมิได้เจตนาจะยึดไว้อย่างเป็นเจ้าของ ทั้งการที่จำเลยนำอาวุธปืนติดตัวไปเพื่อมอบให้นายดาบตำรวจ อ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไว้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ที่จะพาอาวุธปืนของกลางไปได้ แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนติดตัวไปที่บ้านที่เกิดเหตุก็เป็นการกระทำต่อเนื่องกันจำเลยจึงไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน แม้ความผิดข้อหาดังกล่าวจะยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
of 3