คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญมี ฐิตะศิริ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความข้อผิดนัดชำระ การบังคับคดีต้องเป็นไปตามส่วนที่ผิดสัญญา การตีความสัญญาต้องเป็นคุณแก่ลูกหนี้
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 ที่ระบุว่า หากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดนัดชำระตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นเป็นฝ่ายผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งบังคับคดีได้ทันทีเต็มตามฟ้อง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นการบังคับคดีในส่วนที่อีกฝ่ายผิดสัญญา แต่การที่โจทก์ไม่นำบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแล อันเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยมีสิทธิบังคับคดีเพื่อให้มีการบังคับให้โจทก์ส่งบุตรไปให้บิดาโจทก์ดูแลตามที่ระบุไว้ในสัญญา หาได้หมายความถึงโจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ไม่ เพราะนอกจากจะทำให้โจทก์และจำเลยต้องรับภาระเพิ่มขึ้นแล้ว การผิดสัญญาในข้อที่ไม่ต้องชำระด้วยเงิน กฎหมายกำหนดวิธีการบังคับคดีไว้แล้ว ทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 7 มีข้อความไม่รัดกุมถือว่าเป็นกรณีมีข้อสงสัย ต้องตีความในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะต้องเป็นผู้เสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่โจทก์ เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องว่า โจทก์ผิดนัดชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่โจทก์ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10027/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำฟ้องอุทธรณ์ คดีมรดก-กรรมสิทธิ์ที่ดิน ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ติดจำนองบุคคลภายนอกที่ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีนี้จึงไม่อาจพิพากษาให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยปลอดจำนองได้ จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ใช่บุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทไม่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ไม่อุทธรณ์ เพียงแก้อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีชั้นอุทธรณ์จึงไม่มีปัญหาว่าจำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 นอกจากจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นบุตรของผู้ตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ และที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ผู้ตายครอบครองแทนทายาทอื่นแล้ว ยังวินิจฉัยเลยไปว่าต้องนำทรัพย์มรดกมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยคนละครึ่งแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกึ่งหนึ่งในที่ดินพิพาท และพิพากษาเลยไปถึงบ้านที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวด้วย ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการพิพากษาให้สิ่งใดๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์ มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10026/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังศาลอุทธรณ์ย้อนสำนวน – กรณีล่วงเลยกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า คำให้การจำเลยไม่ชัดแจ้ง คดีไม่มีประเด็นเรื่องอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องไม่ชอบ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี หมายถึงให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามรูปคดีคือ หากมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ต้องสืบพยานก็ให้สืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาคดีใหม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้พิพากษาเพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นทั้งหมด ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานและสืบพยานโจทก์และจำเลยไปแล้วจึงยังมีกระบวนพิจารณาดังกล่าวอยู่ จำเลยไม่อาจอาศัยเหตุการย้อนสำนวนขอยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การเพื่อจะได้มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องได้ ทั้งคดีนี้ไม่มีการชี้สองสถาน จำเลยต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน จึงเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10025/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องบอกล้างนิติกรรมโมฆียะกรรมหลังถอนฟ้องคดีเดิม
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลย ย่อมเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้อง รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้องและกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิม แต่คำฟ้องที่โจทก์ได้ถอนฟ้องก็อาจยื่นฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เมื่อโจทก์ถอนฟ้องจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาต เท่ากับว่าไม่เคยมีการฟ้องร้องกันมาก่อน เพราะกฎหมายกำหนดให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการฟ้องร้อง คดีดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 ที่โจทก์ยื่นคำแถลงว่าจำเลยละเมิดข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่โจทก์และจำเลยกระทำกันนอกศาลหลังจากมีการถอนฟ้องแล้ว จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความที่กระทำกันในชั้นศาลและมิใช่เป็นกรณีการใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดจากคำพิพากษาถึงที่สุดที่มีอายุความ 10 ปี
ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่งและวรรคสาม บัญญัติว่า โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม และมาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องล่วงพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม คดีโจทก์จึงขาดอายุความต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9981/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องมีผลบังคับใช้ แม้จำเลยพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างแล้ว ผู้คัดค้านต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี
หนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดี ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ถือว่าเป็นคำสั่งอายัดของศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในหมายบังคับคดี ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสอง (เดิม) การที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 คำสั่งอายัดย่อมมีผลบังคับทันทีในวันดังกล่าว แม้จำเลยจะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของผู้คัดค้านแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ก็ตาม เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ผู้คัดค้านได้รับแจ้งคำสั่งอายัดดังกล่าว ผู้คัดค้านยังไม่ได้หักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานบริษัท ก. ตามที่จำเลยได้ทำหนังสือให้ความยินยอมไว้ ผู้คัดค้านจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยที่มีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเต็มจำนวนให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งอายัดดังกล่าว
สำหรับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 และ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42/1 นั้น สิทธิของผู้คัดค้านในฐานะนายจ้างของจำเลยในการหักเงินค่าจ้างหรือเงินอื่นของจำเลยเพื่อชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ถือเป็นสิทธิอันเกิดจากความยินยอมของจำเลยตามหนังสือให้ความยินยอมที่จำเลยทำไว้กับสหกรณ์ หาใช่สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิของจำเลยไม่ แม้จะระบุลำดับในการหักเงินชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ไว้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสหกรณ์เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ หนี้ใดจะเป็นหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่าหนี้ที่จำเลยมีต่อสหกรณ์เป็นเพียงหนี้กู้ยืมเงินไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิหักเงินตอบแทนการออกจากงานและเงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนของจำเลยส่งให้แก่สหกรณ์ภายหลังจากได้รับแจ้งคำสั่งอายัดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว เพราะเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามในคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 วรรคสี่ (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9121/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: ข้อโต้แย้งการปฏิบัติตามคำพิพากษา ไม่ต้องยื่นคำร้องภายใน 15 วัน
คดีนี้ตามคำร้องของจำเลยอ้างว่า การออกหมายบังคับคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมถูกต้องครบถ้วนแล้ว อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวด้วยสิทธิในการร้องขอ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา มิใช่เรื่องที่จำเลยอ้างว่าหมายบังคับคดีของศาลชั้นต้นออกให้ตามคำขอของโจทก์ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่บัญญัติให้จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม (เดิม)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7649/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีแบ่งสินสมรสและข้อพิพาทเรื่องทรัพย์สินหลังหย่า การยักย้ายทรัพย์สิน
จำเลยทั้งสองตั้งใจจะยักย้ายทรัพย์สินที่พิพาทไปให้พ้นจากอำนาจศาลหรือขายทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อประวิงหรือขัดขวางต่อการบังคับตามคำบังคับใดๆ หรืออาจจะออกคำบังคับเอาแก่จำเลยทั้งสอง คำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้บังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 255 (1) (ก) เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยโต้แย้งว่า วิธีการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) นั้น ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวมาใช้หรือมีเหตุอันสมควรประการอื่น ที่ศาลจะมีคำสั่งต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคสาม (เดิม) กรณีจึงไม่อาจเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7641/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส, การเพิกถอนนิติกรรมให้โดยเสน่หา, เงินที่ใช้ซื้อที่ดิน, ศาลสั่งคืนเงินแก่สินสมรส
โจทก์ยื่นฟ้องก่อนวันที่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ใช้บังคับ (วันที่ 14 ธันวาคม 2558) และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ (วันที่ 1 ตุลาคม 2559) จึงต้องนำกฎหมายที่มีผลบังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องมาใช้บังคับแก่กรณี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่นไม่ว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ให้ประธานศาลฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด และวรรคสอง บัญญัติว่า การขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดตามวรรคหนึ่ง คู่ความจะต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่ในกรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลนั้นรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว" เมื่อจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยตั้งประเด็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดก่อนวันนัดสืบพยาน และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษา แล้วศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยเสียเองว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะปัญหาดังกล่าวเป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งแต่เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดจนล่วงพ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าคดีอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7534/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่าจากเหตุจงใจทิ้งร้างและประเด็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาและการแบ่งทรัพย์สิน
โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2556 โจทก์มีอาการป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ไขมันในเลือดสูง ไม่มีแรงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เดือนธันวาคม 2556 จำเลยที่ 1 เริ่มทยอยขนของออกจากบ้าน จนกระทั่งเดือนธันวาคม 2557 จำเลยที่ 1 ขนของออกจากบ้านไปอยู่กินกับจำเลยที่ 2 แล้วไม่กลับมาเลยตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2557 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถูกขับไล่ออกจากบ้านและถูกข่มขู่จะทำร้ายดังที่กล่าวอ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปนับถึงวันฟ้อง (วันที่ 6 กรกฎาคม 2558) เกินกว่า 1 ปี จึงเป็นการจงใจทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปี อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4)
แม้จำเลยที่ 2 จะยื่นฎีกาในปัญหานี้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทิ้งร้างโจทก์แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ ไม่ได้กระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 อันจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 2 แต่ประการใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่ากันเพราะเหตุทิ้งร้างไปเกิน 1 ปีเช่นนี้ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มานั้นเป็นการไม่ชอบ จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิฎีกา แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาจำเลยที่ 2 มาก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6948/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละมรดกและการแบ่งทรัพย์มรดกโดยทายาท การฟ้องแย่งทรัพย์มรดกเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แบ่งแยกที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 ให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิฟ้องเรียกส่วนแบ่งที่ดินแต่ละแปลงจากจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะตัว โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีต่อศาลโดยลำพังเป็นรายแปลง แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีรวมกันมาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลง เมื่อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1424 มีราคา 955,960 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 136,565.71 บาท ส่วนที่ดินหนังสือรับรองการกระทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1425 มีราคา 925,000 บาท ที่ดินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องคนละหนึ่งในเจ็ดส่วน จึงเป็นเงินคนละ 132,142.86 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกเป็นรายแปลงจึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ขณะที่โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องคดีนี้ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดก เอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 หรือเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5 ว่า ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกที่ดินทั้งสองแปลงนั้น เพื่อให้ใส่ชื่อ ส. บิดาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ถือแทนส่วนของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ด้วยนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 14