คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญมี ฐิตะศิริ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5997/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนคืนการให้ที่ดิน – การหมิ่นประมาท – พยานหลักฐานไม่เพียงพอ – ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงและบอกปัดไม่ให้ความช่วยเหลือโจทก์ในขณะที่จำเลยสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือได้ โดยจำเลยกล่าวว่า "แล้วแต่พวกมึงจะไปอยู่ที่ไหนอีแก่มึงเป็นคนไม่ยุติธรรม" และอีกข้อความหนึ่งว่า "แล้วแต่พวกมึงจะพากันไปตายที่ไหน กูไม่สนใจ มึงตายกูก็จะไม่ไปเผามึง" แต่ตามทางนำสืบของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยด่าโจทก์ว่า อีแก่ หรือมึงตายกูก็ไม่ไปเผามึง แม้ ส. จะเบิกความว่า จำเลยด่าโจทก์ว่าไม่มีความยุติธรรมซึ่งตรงตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง แต่ก็เป็นเพียงการกล่าวด้วยความน้อยใจว่าโจทก์รักบุตรแต่ละคนไม่เท่ากัน หาใช่เจตนาทำให้โจทก์ต้องเสียชื่อเสียงหรือเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิ่มชื่อสกุลเป็นชื่อรองของบุตรเมื่อบิดามารดาเปลี่ยนชื่อสกุลโดยไม่ยินยอม
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน: ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากกฎหมายใหม่ห้ามฎีกา
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกา และให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา" คดีนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นระยะเวลาภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และภายหลังจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว (เปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559) เมื่อโจทก์ร่วมยื่นฎีกา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาใช้บังคับตาม มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 180 ต้องห้ามมิให้ฎีกา" เช่นนี้หลักเกณฑ์ในการฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงแตกต่างไปจาก มาตรา 183 (เดิม) ซึ่งหากคู่ความฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แม้จะเป็นกรณีที่ศาลกำหนดให้ส่งฝึกและอบรมเกินกว่า 3 ปี ตามมาตรา 180 ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฎีกาของโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด: ผลต่อการฟ้องคดีอาญา – พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ และอำนาจฟ้อง
เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล และเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าวไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และเสพเมทแอมเฟตามีน รวม 3 ฐาน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด 3 ฐาน หากจำเลยทั้งสามได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะพ้นจากความผิดทุกข้อหาที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ในทางกลับกันการที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องทุกข้อกล่าวหาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 หาใช่เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาสั่งฟ้องเป็นรายข้อหาเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่
แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสามในห้องพิจารณา จำเลยทั้งสามรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออาจถูกชักนำให้กระทำความผิดได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ เพราะมิได้ปรับบทกฎหมายหรือกำหนดโทษฐานนี้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจคุมความประพฤติจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 มิใช่การพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จึงไม่ชอบเพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง มิใช่ทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบได้ ให้คืนแก่เจ้าของตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5259-5260/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่า, ชู้สาว, ค่าทดแทน, สิทธิในการปกครองบุตร และการบังคับตามข้อตกลงประนีประนอม
ป.วิ.พ. ไม่มีบทบัญญัติห้ามมิให้รับฟังแผ่นบันทึกเสียงที่แอบบันทึกไว้ ดังนั้น แผ่นบันทึกเสียงสนทนาระหว่าง ช. กับจำเลยที่ 1 ที่ ช. จัดทำขึ้นโดยแอบบันทึกเสียงจำเลยที่ 1 ซึ่งยอมรับว่ามีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในทำนองชู้สาว โดย ช. มาเบิกความเป็นพยานต่อศาลเอง ช. จึงเป็นประจักษ์พยานเกี่ยวกับการสนทนาดังกล่าว ศาลจึงรับฟังแผ่นบันทึกเสียงดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ไม่ต้องห้าม
ระยะเวลาการฟ้องหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1529 เป็นสิทธิเฉพาะตัวระหว่างสามีภริยาคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนไม่ว่าโจทก์หรือจำเลยที่ 1 จะขาดจากการสมรสหรือไม่ ก็หาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 อ้างระยะเวลาดังกล่าวเพื่อไม่ต้องใช้ค่าทดแทนไม่
ปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 หรือไม่ ป.พ.พ. มาตรา 1518 บัญญัติว่า "สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้กระทำการอันแสดงให้เห็นว่า ได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว" จากบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องมีข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า มีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติการณ์อันเป็นการให้อภัยจำเลยที่ 1 ในเหตุหย่าตามฟ้องของโจทก์แล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ ในสำนวนจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาว่าโจทก์ให้อภัยในการกระทำของจำเลยที่ 1 อันจะทำให้โจทก์หมดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5020/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนรับบุตรชอบด้วยกฎหมาย: สิทธิความเป็นบิดา, เหตุผลสมควร, และประโยชน์สูงสุดของเด็ก
เจตนารมณ์ของ ป.พ.พ. มาตรา 1548 บิดาจะจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของเด็กและมารดาเด็ก ซึ่งจะต้องไปแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียนและเป็นเรื่องเฉพาะตัว ผู้อื่นจะให้ความยินยอมแทนไม่ได้ ทั้งนี้เด็กและมารดาเด็กต้องอยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ เมื่อโจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองไปให้ความยินยอมต่อนายทะเบียน คดีดังกล่าวจำเลยทั้งสองคัดค้าน ดังนั้น การที่โจทก์จะไปยื่นคำร้องจดทะเบียนเป็นหนังสืออีกเพื่อให้นายทะเบียนมีหนังสือถึงจำเลยทั้งสอง ตามมาตรา 1548 วรรคสอง ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ พฤติการณ์ถือได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องป.พ.พ. มาตรา 1548 วรรคสาม บัญญัติถึงการจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาลใน 3 กรณี คือ กรณีที่เด็กหรือมารดาเด็กคัดค้านว่าผู้ขอจดทะเบียนไม่ใช่บิดา หรือไม่ให้ความยินยอม หรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยังไร้เดียงสาไม่สามารถให้ความยินยอมได้ คดีจึงต้องพิจารณาเพียงว่าการไม่ให้ความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นมารดามีเหตุสมควรหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นได้นัดพร้อมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุที่จำเลยที่ 1 ไม่ให้ความยินยอม เพียงพอแก่การพิจารณาวินิจฉัยคดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานจึงหาใช่ไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งสองต่อสู้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำพิพากษาหย่า และผลต่อการสมรสใหม่ กรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย
คดีเดิม ก. ซึ่งเป็นสามีฟ้องหย่าโจทก์ ซึ่งเป็นภริยา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์และ ก. หย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ต่อมา ก. นำคำพิพากษาดังกล่าวไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "การขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจและมีเหตุอันสมควร ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ จึงให้งดไต่สวนและอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ" ชี้ให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ถึงข้อความในคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวว่า ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า หากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะและในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าก็ได้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย อันเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การที่ ก. โจทก์ และทนายโจทก์ไม่แถลงคัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยในคดีดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า คู่ความในคดีนั้นประสงค์จะให้คดีแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดี หาใช่โดยการได้เปรียบกันด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความในคดีแพ่งสามารถกระทำได้โดยชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะใช้ดุลพินิจ มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ไม่ และกรณีเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ทั้งคดีหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์ก็เป็นคดีเกี่ยวด้วยสถานะของบุคคล เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีดังกล่าวในภายหลังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) จึงไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายโจทก์ในคดีนั้นแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาลชั้นต้นและวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้น ถือเป็นการเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
เมื่อคำพิพากษาโดยคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดถูกเพิกถอน การที่ ก. ไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงถูกเพิกถอนไปด้วย สถานะของบุคคลระหว่าง ก. กับโจทก์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน เมื่อจำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับ ก. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 อันเป็นเวลาหลังจากมีการเพิกถอนทะเบียนการหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์แล้ว จึงเป็นการสมรสในขณะที่ ก. มีคู่สมรสอยู่ จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 จำเลยไม่อาจอ้างความสุจริตได้ การสมรสระหว่างจำเลยกับ ก. ไม่มีผลเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเพราะคำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้นเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลและมีผลผูกพันบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องแยกสินสมรสและค่าอุปการะเลี้ยงดูในคดีหย่า การพิสูจน์สินสมรสและฐานะทางการเงินของคู่สมรส
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน
โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์
บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินระหว่างการพิจารณาคดี: ผลผูกพันตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรส ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอม และใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญาว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินตามที่เสนอต่อศาลในคดีอาญาโดยระบุว่าจะนำบันทึกข้อตกลงไปเสนอต่อศาลฎีกา แล้วโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จากนั้นโจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าพร้อมนำบันทึกที่ทำต่อศาลอาญาไปแสดงว่ามีการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยต่างยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้ว พร้อมยื่นข้อตกลงที่ทำต่อกันที่ศาลอาญาแนบท้ายคำแถลง ดังนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ถอนฟ้องในชั้นฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และอำนาจปกครองเด็ก
ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน... มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่..." ย่อมหมายความว่า การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย คดีนี้การดำเนินการให้ผู้คัดค้านตั้งครรภ์แทนและ ค. เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงเป็นการไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมผูกพันคู่สัญญาและใช้บังคับได้ แม้ตามกฎหมายดังกล่าว ระบุให้เฉพาะสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน และผู้ร้องกับ ม. มิอาจเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ก็ตาม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของอสุจิที่เข้าผสมกับไข่ของหญิงที่บริจาคจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วนำไปฝังในโพรงมดลูกของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. ในฐานะเป็นบิดาซึ่งผู้คัดค้านแถลงยอมรับในข้อนี้ และไม่คัดค้านหากศาลจะมีคำสั่งให้ ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องด้วยแล้ว จึงเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้สิทธิของผู้ร้องไว้โดยตรง ต้องอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 56 มาวินิจฉัยคดีนี้อย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง
ผู้คัดค้านไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. แต่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ค. จึงมีสถานะเป็นมารดาของ ค. เท่านั้น เมื่อกรณีผู้ร้องกับ ค. อยู่ในบังคับของบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 29 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคสอง (5) สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวได้ เพื่อความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
of 14