คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2508 ม. 17 แห่งธรร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 494/2510 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองฯ มาตรา 4 กรณีฟ้องร้องบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 3 และการงดฟังคำคัดค้านของโจทก์
ในภาวะแห่งการปฏิวัติ ระหว่างร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใช้ต่อไป ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มาตรา 17 ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งหรือกระทำการภายในขอบเขตที่ระบุไว้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งย่อมมีผลเป็นธรรมดาว่า ไม่เป็นมูลที่ผู้ใดจะนำมาฟ้องให้รับผิดตามกฎหมายได้ ศาลย่อมไม่รับฟ้องเช่นว่านั้น หรือถ้ารับฟ้องไว้แล้วก็มิได้หมายความว่าศาลจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นในภายหลังไม่ได้ เพราะคำสั่งรับฟ้องเช่นนี้มิใช่คำสั่งวินิจฉัยขี้ขาดคดี ไม่อยู่ในบังคับที่ศาลนั้นจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143, 145 เพราะฉะนั้นพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 ซึ่งบัญญัติให้บุคคลใดฟ้องร้องว่ากล่าวนายกรัฐมนตรีและผู้กระทำการตามคำสั่งนั้น จึงเป็นวิธีการอันพึงดำเนินเมื่อมีการฟ้องร้องคดีอันเป็นกรณีตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร มิใช่บทบัญญัตินอกเหนือขอบเขตแห่งมาตรา 17 และไม่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อพระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 เป็นกฎหมายที่ดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน มาตรา 17 โดยเฉพาะ มิใช่กฎหมายที่บัญญัติกรณีหนึ่งกรณีใดขึ้นเป็นการตัดสิทธิที่บุคคลจะดำเนินคดีทางศาล จึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติตามมาตรา 17แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรบัญญัติว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งหรือกระทำการใดโดยอ้างมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฯลฯ ให้ได้รับความคุ้มครอง บุคคลใดจะฟ้องร้องว่ากล่าว ฯลฯ มิได้ นั้น หมายความว่าต้องเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่อ้าง มาตรา 17 โดยเป็นกรณีที่อยู่ภายในขอบเขตของมาตรา 17 หากคำสั่งหรือการกระทำนั้น ๆ อยู่นอกเหนือขอบเขตของมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ศาลย่อมวินิจฉัยได้ว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นมิได้รับความคุ้มครอง
มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรให้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำสั่งหรือกระทำการใด ๆ โดยมติคณะรัฐมนตรีในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ฯลฯ แสดงว่านายกรัฐมนตรีมีอำนาจที่จะวินิจฉัยพฤติการณ์ที่เห็นสมควรใช้มาตรการที่กำหนดไว้ การวินิจฉัยว่าคำสั่งหรือการกระทำชอบด้วยมาตรา 17 หรือไม่ อยู่ที่ความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีโดยมติคณะรัฐมนตรีว่าสมควรต้องมีคำสั่งหรือกระทำ มิได้อยู่ที่มีพฤติการณ์บ่อนทำลายจริงหรือไม่
มาตรา 17 มิได้ถูกระบุให้ใช้แก่ผู้ทำการบ่อนทำลายโดยเฉพาะแต่ให้ใช้เพื่อระงับหรือปราบปรามการบ่อนทำลาย แม้ผู้กระทำการบ่อนทำลายตายไปแล้ว แต่ผลของการกระทำยังคงอยู่ และมีผู้ได้ร่วมรับผลนั้นด้วย จึงถือได้ว่าผู้ได้ร่วมรับผลนั้นอยู่ในข่ายแห่งมาตรา 17 นั้นด้วย
พระราชบัญญัติให้ความคุ้มครองและห้ามฟ้องบุคคลผู้ปฏิบัติการเกี่ยวแก่มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2508 มาตรา 4 บัญญัติว่า ถ้ามีคดีฟ้องร้องบุคคลซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 3 อยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลจำหน่ายคดีเสีย การที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจึงเป็นการสั่งตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ มิใช่ว่าศาลจะจำหน่ายคดีได้ แต่เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น แม้พระราชบัญญัตินี้จะมีผลย้อนหลังบังคับแก่คดีที่ยื่นฟ้องไว้แล้วด้วย และไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อการตีความ ก็เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับได้ เพราะมิใช่กฎหมายที่ย้อนหลังเป็นการลงโทษบุคคลในทางอาญา
ศาลมีอำนาจที่จะพิเคราะห์ว่ากระบวนพิจารณาใดจำเป็นจะต้องทำเพียงใดหรือไม่ ถ้าเห็นว่ากระบวนพิจารณาใดเป็นการประวิงหรือฟุ่มเฟือยชักช้าโดยไม่จำเป็น ศาลย่อมงดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นได้ หรือจะสั่งคู่ความให้งดดำเนินกระบวนพิจารณาในทำนองนั้นก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30, 86 วรรค 2 และดังนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 174 วรรค 4 และเมื่อศาลไม่เห็นประโยชน์ที่จะฟังคำคัดค้านของคู่ความ เพราะกฎหมายบัญญัติให้จำหน่ายคดีโดยชัดแจ้งแล้ว การฟังคำคัดค้านของคู่ความมีแต่จะทำความชักช้าประวิง ยุ่งยาก ศาลก็งดฟังคำคัดค้านและมีคำสั่งจำหน่ายคดีไปทีเดียวได้
เมื่อศาลไม่เห็นควรรับคำฟ้องที่ไม่ระบุตัวทรัพย์สินที่พิพาทให้ชัดเจนไว้พิจารณา ศาลก็ทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 18 และเมื่อศาลรับคำฟ้องโจทก์ไว้แล้วต่อมามีเหตุที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ ศาลก็มีคำสั่งในเรื่องนี้ใหม่โดยให้จำหน่ายคดีที่ไม่มีคำฟ้องชัดเจนพอนั้นเสียได้ ไม่ใช่กรณีที่จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 29 มาใช้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2510)