คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 50

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 13 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4859/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิไถ่ทรัพย์ขายฝากของผู้ขายฝากแม้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนมือ - การคุ้มครองสิทธิผู้รับประโยชน์สุจริต
แม้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) จะกำหนดว่า ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินต้องเป็นเจ้าของที่แท้จริงในขณะยื่นคำร้องขอคืนทรัพย์สินหรือขอคุ้มครองสิทธิของตน และขณะยื่นคำร้อง ผู้คัดค้านที่ 6 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 38 ถึงที่ 43 และผู้คัดค้านที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินรายการที่ 35 และที่ 36 ไปแล้ว ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 เป็นผู้ขายฝากทรัพย์ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งการขายฝากนั้น คือสัญญาซื้อขายซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตกไปยังผู้ซื้อ โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 491 และกรณีที่มีการไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ให้ทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 492 ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ได้ขายฝากทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้ว แต่เมื่อผู้ขายอาจไถ่ทรัพย์นั้นคืนได้ตามสัญญาขายฝาก ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาขายฝากและทรงสิทธิในฐานะเป็นผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2522 มาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) คำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงมิใช่เป็นการยื่นคำคัดค้านโดยอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง (1) แต่เป็นการร้องคัดค้านตามมาตรา 50 วรรคสอง (เดิม) เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 ทำสัญญาขายฝากทรัพย์ที่ขอไถ่โดยสุจริต ทั้งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ก่อนครบกำหนดไถ่ได้แสดงเจตนาขอไถ่ทรัพย์ตามสัญญา ผู้คัดค้านที่ 6 และที่ 7 จึงเป็นผู้รับประโยชน์โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดีเพื่อใช้สิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การติดตามทรัพย์สินจากการฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของเดิม vs. การคืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดฟอกเงิน สิทธิของผู้ให้เช่าซื้อและทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากผู้คัดค้าน แต่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทจึงยังคงเป็นของผู้คัดค้าน เมื่อผู้คัดค้านให้ ร. เช่าซื้อรถยนต์พิพาทและรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตไม่ทราบว่า ร. นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระค่างวดเช่าซื้อบางส่วน ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์พิพาทได้ แต่รถยนต์พิพาทคงมีส่วนที่เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย โดยเมื่อ ร. ชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้คัดค้านยังไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อ จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ยังขาดอยู่ ซึ่งผู้คัดค้านมีสิทธิที่จะได้รับ จึงให้คืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์พิพาทแก่ผู้คัดค้านตามจำนวนเงินลงทุนที่ยังขาดพร้อมดอกผล
ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านชำระไปก่อนแล้ว ผู้คัดค้านเรียกเก็บจาก ร. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านแล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านมีสิทธิรับคืนได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5315/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีฟอกเงิน แม้ความผิดมูลฐานเกิดขึ้นภายหลังการได้มาซึ่งทรัพย์สิน
แม้ความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ถูกกำหนดให้เป็นความผิดมูลฐานภายหลังจากที่มีการกระทำความผิดมูลฐานดังกล่าวหรือเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทรัพย์สินมา ศาลก็มีอำนาจนำบทบัญญัตินี้มาใช้บังคับแก่คดีของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ เพราะไม่ได้นำมาวินิจฉัยและลงโทษจำเลยในทางอาญาพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งถึงตัวทรัพย์สินเป็นสำคัญ ส่วนความผิดมูลฐานที่ผู้ร้องอ้างเป็นเหตุขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นข้อเท็จจริงประกอบว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือไม่ แม้คำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินอ้างเหตุจากความผิดมูลฐานเดียวกัน แต่เมื่อเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องยังไม่เคยยื่นคำร้องขอมาก่อน ผู้ร้องก็ยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินได้ เมื่อทรัพย์สินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินคดีนี้และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.93/2558 ของศาลชั้นต้น เป็นทรัพย์สินต่างรายการกัน การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จึงไม่เป็นการร้องซ้อน ร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดที่ศาลจะมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 ไม่ได้จะต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่มีคำพิพากษาและมีผู้ถูกลงโทษแล้วเท่านั้น เนื่องจากการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นมาตรการทางแพ่งที่มาตรา 59 บัญญัติให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม และผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธินำสืบพิสูจน์ได้ตามมาตรา 50 หรือนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของมาตรา 51 วรรคสาม ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องรอให้การดำเนินคดีอาญาในความผิดมูลฐานถึงที่สุดเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ให้เช่าซื้อเมื่อทรัพย์สินถูกยึดจากคดีฟอกเงิน: คืนเงินลงทุนส่วนที่ยังขาด พร้อมดอกผล
ห. ยังชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 1 พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่ารถยนต์ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อมาเพื่อให้เช่าซื้อมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด แต่เมื่อ ห. ผู้เช่าซื้อรถยนต์เป็นเครือข่ายผู้กระทำความผิดมูลฐาน เงินที่ ห. ชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อจึงเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวที่มีรถยนต์เป็นวัตถุแห่งสัญญา จึงเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรวมอยู่ด้วยซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดิน
ตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์มีราคาเงินสด 1,111,214.95 บาท หักเงินดาวน์แล้ว 301,721.50 บาท ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้เงินลงทุนให้ ห. เช่าซื้อรถยนต์ 809,493.45 บาท ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระไป ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกเก็บจาก ห. เมื่อชำระเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แล้วบางส่วน ส่วนที่ยังขาดอยู่ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิได้รับคืนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/3 วรรคสาม เมื่อระยะเวลาเช่าซื้อมีกำหนด 84 งวด คิดเป็นเงินค่าเช่าซื้อส่วนที่เป็นราคารถยนต์งวดละ 9,636.83 บาท ห. ชำระค่าเช่าซื้อรวม 24 งวด เป็นเงิน 231,283.92 บาท จึงเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับ 578,209.53 บาท เมื่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนำรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้ออกขายทอดตลาดแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์เป็นเงิน 578,209.53 บาท พร้อมดอกผล ส่วนที่เหลือ (หากมี) พร้อมดอกผลจึงตกเป็นของแผ่นดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินจากการกระทำผิดฟอกเงิน: การคืนสิทธิสถาบันการเงินและเงินลงทุนที่เหลือ
ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์จากผู้คัดค้านที่ 2 โดยนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาชำระเงินดาวน์และค่างวดเช่าซื้อ แต่ผู้คัดค้านที่ 1 จะได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์เมื่อชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วเท่านั้น เมื่อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังคงเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อกรณีมีเหตุควรเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์และรับเงินตามสัญญาเช่าซื้อโดยสุจริตจึงชอบที่จะขอคืนรถยนต์ได้ แต่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาชำระราคาค่าเช่าซื้อบางส่วนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 รถยนต์จึงมีส่วนที่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดซึ่งต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมอยู่ด้วย เมื่อตามสัญญาเช่าซื้อเหลือเงินลงทุนของผู้คัดค้านที่ 2 ที่ยังขาดอยู่ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิจะได้รับ 358,504.59 บาท จึงต้องคืนราคารถยนต์ตามสิทธิของผู้คัดค้านที่ 2 โดยต้องขายทอดตลาดรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่แบ่งแยกไม่ได้แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เกิน 358,504.59 บาท พร้อมดอกผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5092/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: สันนิษฐานว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดและตกเป็นของแผ่นดิน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่ตัวบุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐานเพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐาน ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็ดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้
ผู้คัดค้านเป็นบุตรของ ร. ซึ่งสมรสใหม่กับ ม. เมื่อฟังได้ว่า ม. ที่หลบหนีไปมีเฮโรอีน 24 หลอด ซุกซ่อนไว้ที่บ้านอันเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงฟังได้ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 (1) แล้ว และต้องถือว่า ร. ภริยาของ ม. ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน เป็นผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ม. การที่ผู้คัดค้านซึ่งพักอาศัยอยู่ที่อื่นฝากเงินสดจำนวนมากไว้กับ ร. แสดงให้เห็นว่ายังคงไปมาหาสู่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับ ร. และ ม. อย่างใกล้ชิด จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริตตามมาตรา 51 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4673/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการคุ้มครองทรัพย์สินที่ถูกสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินภายใต้ พ.ร.บ.ฟอกเงิน
ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งได้ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ศาลมีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินเพื่อบังคับตามคำพิพากษาแล้ว จึงเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่ผู้ร้องร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในฐานะผู้รับจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิเข้ามาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้เป็นการยื่นเข้ามาก่อนคำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด ก็ต้องถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 53 ผู้คัดค้านที่ 3 ต้องพิสูจน์ว่าตนไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 50 เพราะไม่ทราบถึงประกาศของศาลและหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5655-5656/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงิน: สิทธิของเจ้าของทรัพย์สินที่แท้จริง ผู้รับโอนสิทธิ และการบังคับใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลัง
แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้นก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น
ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติวรรคหก ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่าผู้ร้องต้องร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปในคราวเดียวกัน และผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอดังกล่าวเพิ่มเติมมาในภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้ ศาลจึงไม่อาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่ ส. กับพวกชิงทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายที่ได้มาโดยสุจริต ผู้เสียหายจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริง และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนที่จะติดตามเอาเงินคืนจาก ส. กับพวกตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย เมื่อ ส. นำเงินของผู้เสียหายไปซื้อหุ้นและวางเป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ และได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อซึ่งเป็นทรัพย์สินและดอกผลของผู้เสียหายที่ ส. ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องคัดค้านทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน: ต้องพิสูจน์เหตุไม่สามารถยื่นก่อนศาลมีคำสั่ง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง..." และตามมาตรา 53 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น..." และในวรรคสองบัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และผู้ร้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น" ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรกต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 50 วรรคสอง และกรณีที่สองยื่นคำร้องภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 53 โดยผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่คำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่อง ประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ซึ่งมีพนักงานของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้แทน ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 6 ทราบประกาศดังกล่าวแล้วเกือบ 1 ปี ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แต่ผู้คัดค้านที่ 6 กลับมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 เพิ่งมายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นานถึง 2 เดือน 16 วัน ผู้คัดค้านที่ 6 จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านก่อนศาลมีคำสั่งได้เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น เมื่อไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด ๆ ในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 ประกอบกับในวันนัดไต่สวน ทนายผู้คัดค้านที่ 6 แถลงรับว่าจะนำสืบเฉพาะประเด็นความสุจริตในการรับจำนองที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศของศาลชั้นต้น ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุใดจึงไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ ดังนั้นกรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว
of 2