คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประมาทเลินเล่อของตัวการและตัวแทนในการขายทอดตลาด การร่วมรับผิดในค่าเสียหาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าตอบแทนการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม-เบี้ยปรับ: ศาลมีอำนาจลดลงได้หากสูงเกินส่วน
ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เมื่อศาลชั้นต้นยกคำขอในส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้ง ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลอุทธรณ์ภาคพิจารณาคดียาเสพติด: การพิจารณาไม่ชอบตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8479/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาข้อมูลจากผู้ต้องหาเพื่อขยายผลจับกุม และการพิสูจน์ประโยชน์จากการให้ข้อมูลในคดียาเสพติด
การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ช. ได้เนื่องจากเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนขยายผลจากการจับกุมจำเลยทั้งสอง โดยจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตาม น. ที่ใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน บย 5560 เชียงราย จนมีการจับกุม ช. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด ในรถยนต์ดังกล่าว ซึ่งข้อความที่จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึง ช. หรือ น. และไม่เป็นเหตุให้ทำการจับกุมตัว ช. ได้ โดยข้อมูลเกี่ยวกับ น. ได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 พยานรับแจ้งจากผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดว่า จะมีกลุ่มคนชนเผ่าม้ง เป็นกลุ่มของ น. ลักลอบลำเลียงยาเสพติดไปส่งให้ลูกค้าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แสดงว่าเจ้าพนักงานตำรวจมีข้อมูลอยู่ก่อนแล้วว่า น. มีพฤติการณ์ลักลอบลำเลียงยาเสพติด จึงจัดกำลังเฝ้าสะกดรอยติดตามจนสามารถจับกุม ช. ได้ ทั้งยังได้ความจากพลตำรวจตรี ภ. เบิกความตอบโจทก์อีกว่า เกี่ยวกับคดีนี้ไม่สามารถขยายผลจับกุมผู้กระทำความผิดคนอื่นในคดีนี้ได้อีก ฉะนั้นการที่พยานโจทก์ทั้งสองเบิกความว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเพียงความเข้าใจของพยานโจทก์ทั้งสองเอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมายังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6114/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่ยักยอกทรัพย์-สนับสนุนการกระทำผิด กรณีขายทรัพย์สินของรัฐโดยมิชอบ
ศาลาทรงไทยกลางน้ำสร้างจากงบประมาณของเทศบาลตำบล ป. แม้ไม่มีเลขทะเบียนครุภัณฑ์หรือเป็นพัสดุที่ไม่มีทะเบียนคุม การดำเนินการใดๆ กับศาลาทรงไทยดังกล่าวต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าเป็นอำนาจสั่งการของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีตำบล ป. ผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การตรวจสอบและจำหน่ายพัสดุของจำเลยที่ 1 ภายใต้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ตาม ป.อ. จำเลยที่ 1 จำหน่ายศาลาทรงไทยกลางน้ำของเทศบาลให้แก่เอกชนในลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบดังกล่าว อีกทั้งไม่นำเงินที่ขายได้ส่งเป็นรายได้เทศบาลในทันที จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลทักท้วง ทวงถาม และถูกตรวจสอบโดยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด จึงให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการนำเงินมาคืนในภายหลัง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และมาตรา 151 ซึ่งเป็นบทเฉพาะของบททั่วไปตามมาตรา 157 ย่อมไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
จำเลยที่ 2 เป็นเลขานุการนายกเทศมนตรีของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการติดต่อขายศาลาทรงไทยกลางน้ำของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าร่วมประชุมวาระอนุมัติรื้อถอนศาลาทรงไทยกลางน้ำ ก็เป็นเวลาในภายหลังจากจำเลยที่ 1 ติดต่อขายศาลาทรงไทยดังกล่าวไปแล้ว ทั้งการที่จำเลยที่ 2 รับฝากเงินค่าขายศาลาดังกล่าวไว้จากผู้ซื้อแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่อยู่ที่สำนักงาน เป็นการกระทำตามคำสั่งของ จำเลยที่ 1 ผู้บังคับบัญชา ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 ย่อมมิใช่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5628/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: การพิจารณาฐานะผู้ตาย, ผู้รับประโยชน์, และความรับผิดของผู้รับประกัน
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคท้าย ย่อมกำหนดตามฐานะของผู้ตายและฐานะของผู้มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู และต้องพิจารณาว่าหากผู้ตายมีชีวิตจะให้อุปการะเลี้ยงดูได้เพียงใดและเป็นเวลานานเท่าใด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะถึงแก่ความตายผู้ตายกำลังใกล้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี ในระหว่างนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุ 53 ปี และโจทก์ที่ 2 มีอายุ 45 ปี หากผู้ตายไม่ถึงแก่ความตายย่อมมีโอกาสจบการศึกษาและประกอบอาชีพมีรายได้พอสมควร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการขาดไร้อุปการะตามกฎหมายโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 20 ปี นับว่าเหมาะสมตามสมควรและตามฐานะของผู้ตายกับโจทก์ทั้งสองแล้ว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์แท็กซี่และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือผู้ใช้ จ้างวาน หรือผู้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 กระทำการร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์แท็กซี่ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์สามล้อเครื่องที่จำเลยที่ 5 ขับจนเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ทั้งสองถึงแก่ความตาย ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องตามฟ้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด และโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์แท็กซี่จากจำเลยที่ 2 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทน ฐานที่ตั้งแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสองต่อจำเลยที่ 4 เป็นเรื่องหนี้อันเกิดแต่สัญญา การที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยที่ 4 ยอมใช้เงิน 300,000 บาท เป็นการระงับหนี้อันเกิดแต่สัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 4 ซึ่งมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไว้ ส่วนจำนวนเงินที่ยังไม่เต็มตามความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 เมื่อคดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามสัญญาประกันภัยตามบทบัญญัติของ ป.วิ.พ. ย่อมไม่อาจให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในวงเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเนื่องจากจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบโทรศัพท์มือถือที่ใช้ติดต่อซื้อขายยาเสพติดเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นโทรศัพท์เครื่องเดียวกันกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สายลับใช้โทรศัพท์ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันพึงริบเสีย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4109/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดสรรที่ดิน: ภาระจำยอมเพื่อสาธารณูปโภคตามประกาศ คปฎ. ที่ 286 มิได้สิ้นสภาพตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
การที่โจทก์แบ่งแยกที่ดินออกเป็นแปลงย่อยเพื่อจำหน่ายให้แก่จำเลย ซึ่งมีจำนวนตั้งแต่ 10 แปลงขึ้นไป และมีการจดทะเบียนภาระจำยอมจากโจทก์ให้แก่จำเลย ซึ่งซื้อที่ดินจากบริษัท ช. เพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะถือเป็นการจัดให้มีสาธารณูปโภคอันเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ขออนุญาตจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ก็เป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีผลทำให้การแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกจำหน่าย ไม่เข้าหลักเกณฑ์การจัดสรรที่ดินตามข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่อย่างใด
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เป็นกฎหมายเฉพาะ บัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวประกอบธุรกิจค้าที่ดินที่ต้องห้าม ไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีมีทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท
ฟ้องแย้งของจำเลยขอห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการถือครองที่ดินของจำเลย และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหาย 300,000 บาท แก่จำเลย ซึ่งหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ย่อมมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับการบังคับตามกฎหมาย คำฟ้องแย้งของจำเลยจึงมีสภาพเป็นเพียงคำให้การ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยอ้างเหตุมูลละเมิดเนื่องจากถูกโจทก์ฟ้อง เป็นคนละเรื่องกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ฟ้องแย้งในส่วนนี้เป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาประเมินตารางวาละ 300 บาท คิดเป็นทุนทรัพย์พิพาท 21,000 บาท ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยให้จึงไม่ชอบ
of 6