คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 88 ทวิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินอากรศุลกากร: เจตนาหลีกเลี่ยงอากร vs. การสำแดงรุ่นรถยนต์ไม่ถูกต้อง
เมื่อ ป.รัษฎากร มาตรา 88 (เดิม) ได้กำหนดขั้นตอนให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้ประกอบการค้าผู้เสียภาษี จึงแสดงชัดว่าเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งแก่ผู้เสียภาษีว่าจะต้องเสียภาษีประเภทใด เป็นเงินเท่าใด เพื่อให้ผู้เสียภาษีมีโอกาสตรวจสอบและโต้แย้งโดยการอุทธรณ์การประเมินได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้การประเมินภาษีและการแจ้งการประเมินภาษีจะเป็นการกระทำคนละขั้นตอนกัน แต่การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานจะสมบูรณ์และเกิดหนี้ที่ผู้เสียภาษีจะต้องชำระก็ต่อเมื่อได้มีหนังสือแจ้งการประเมินแก่ผู้จะต้องเสียภาษีอากรโดยชอบแล้ว การแจ้งการประเมินเป็นหนังสือจึงถือเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการประเมินและต้องกระทำให้เสร็จสมบูรณ์ภายในอายุความ มิใช่เพียงเมื่อเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรแล้วจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงไปได้ไม่ ดังนั้น หากเจ้าพนักงานประเมินมิได้แจ้งการประเมินจึงย่อมเท่ากับไม่มีการประเมิน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ แม้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 ได้ทำการประเมินให้จำเลยชำระภาษีอากรเพิ่ม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2533 แต่ก็มิได้มีการแจ้งการประเมินดังกล่าวแก่จำเลย เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือแจ้งการประเมินในวันที่ 4 สิงหาคม 2542 และส่งแก่จำเลยทราบได้ในวันที่ 2 ธันวาคม 2542 อันเป็นเวลาพ้น 10 ปี ที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 จะมีอำนาจประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) การประเมินภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในกรณีหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องเรียกเงินอากรที่ขาดจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคสาม ไม่ใช่อายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้าแต่ต้องใช้อายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 167 (เดิม) (มาตรา 193/31 ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากร ท่านให้มีอายุความ 10 ปี และการนับอายุความต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 169 (เดิม) (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งได้แก่วันที่โจทก์ตรวจพบว่าจำเลยหลีกเลี่ยงอากร แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้รับฟังได้ว่า การที่จำเลยนำเข้ารถยนต์คันพิพาทโดยสำแดงรุ่นไม่ถูกต้องนั้น ไม่ได้เกิดจากการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใด ๆ จึงมีอายุความ 10 ปีนับแต่วันที่นำของเข้าตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 วรรคสาม เมื่อจำเลยนำรถยนต์คันพิพาทเข้ามาในราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2532 และได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2532 แต่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งเกิน 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7720/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเพิ่มเติม, เงินเพิ่ม, เบี้ยปรับ, การนำพยานหลักฐาน, และการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีภาษีอากร
สำหรับเงินเพิ่มตามกฎหมายไม่มีกฎหมายให้อยู่ในดุลพินิจของศาลจึงไม่อาจงดหรือลดได้ ส่วนเบี้ยปรับนั้นโจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
แม้ว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกให้โจทก์นำส่งบัญชีที่ต้องทำตามกฎหมายพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชี บัญชีกำไรขาดทุน งบดุล สำหรับปี 2516 ถึง 2520 ไปส่งเพื่อทำการตรวจสอบ ดังนั้นสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีของปีอื่นจึงมิได้ถูกเรียกให้นำส่งก็ตาม ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติตัดสิทธิมิให้ศาลรับฟังสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีของปีอื่น ๆ ที่มิได้นำส่งต่อเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามหมายเรียกตรวจสอบก่อนเพราะในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติ และข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวดังนั้น คู่ความย่อมมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบได้ภายใต้บังคับแห่ง ป.วิ.พ.หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและการยื่นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ.มาตรา 85 เมื่อโจทก์ได้ยื่นพยานหลักฐานดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนดคดีภาษีอากรในชั้นพิจารณาคดีแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบการวินิจฉัยคดีได้
คดีนี้โจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้าง ภาระการพิสูจน์จึงตกโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานต่าง ๆ มานำสืบให้ปรากฏจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้นำค่าเช่าซื้อลงบัญชีถูกต้องครบถ้วนทุกรายดังที่โจทก์อ้าง คงรับฟังได้เพียงเท่าที่ปรากฏตามคำรับของ ส.เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีซึ่งเป็นพยานฝ่ายจำเลยเท่านั้น โจทก์จะมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ว่า โจทก์ลงบัญชีรายรับไว้ถูกต้องโดยระบุรายละเอียดแห่งการลงบัญชีไว้ในอุทธรณ์ของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาคดีโจทก์ได้ให้พยานโจทก์เบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวไว้ หรือนำเอกสารดังกล่าวมาถามค้านพยานจำเลยให้ปรากฏในสำนวน จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีการค้าเพิ่มเติมรวมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของเดือนมกราคมถึงมีนาคม มิถุนายน สิงหาคม และตุลาคมถึงธันวาคม 2516 รวม 8 เดือน โดยการประเมินดังกล่าวมิได้กระทำภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการการค้า แต่อยู่ภายในกำหนดเวลา 10 ปี ดังนี้ เมื่อปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม โจทก์แสดงยอดรายรับขาดไปไม่เกินกว่าร้อยละ 25 ของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม2516 จึงไม่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 88 ทวิ (2) ส่วนเดือนมกราคม มิถุนายนสิงหาคม ตุลาคมถึงธันวาคม 2516 รวม 6 เดือน โจทก์แสดงยอดรายรับขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของยอดรายรับที่แสดงในแบบแสดงรายการการค้า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับ 6 เดือน ดังกล่าวจึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา88 ทวิ (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2534 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดเวลาประเมินภาษีตามประกาศ คปถ.ฉบับที่ 8 และการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับปกติวิสัยทางการค้า
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 กำหนดให้การประเมินตามหมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนที่ออกก่อนวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติใช้บังคับให้แล้วเสร็จภายในเวลาสองปี ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหมายเรียกลงวันที่ 26 สิงหาคม 2517 ไปยังโจทก์ว่าประสงค์จะทำการตรวจสอบการเสียภาษีอากรตั้งแต่ปี 2512 ถึงปัจจุบัน ซึ่งตามข้อความดังกล่าวแสดงว่าจำเลยประสงค์จะตรวจสอบภาษีสำหรับปี 2517 อันเป็นปีปัจจุบันด้วย กรณีไม่จำต้องให้จำเลยมีหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรปี 2517 อีก เมื่อเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยทำการประเมินภาษีอากรปี 2517 แล้วเสร็จเกินกำหนดเวลาสองปีดังกล่าว การประเมินจึงไม่ชอบ
การตรวจสอบไต่สวนภาษีอากรตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8 มิได้จำกัดแต่เพียงเฉพาะการให้ออกหมายเรียกมาตรวจสอบเท่านั้น แต่หมายถึงการออกหนังสือเชิญผู้มีหน้าที่ชำระหรือนำส่งภาษีอากรมาทำการตรวจสอบด้วย การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ให้โจทก์ไปพบเพื่อทราบข้อความบางอย่างอันเกี่ยวกับรายละเอียดในงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2518 และ 2519 แม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำว่าให้โจทก์ไปพบเพื่อตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีของโจทก์ก็ตาม ก็เห็นได้ว่าเป็นการเรียกไปพบเพื่อให้ชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดในงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุนของโจทก์เพื่อนำไปสู่การพิจารณาว่าโจทก์ได้เสียภาษีไว้ถูกต้องหรือไม่ อันเป็นการตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษีของโจทก์นั่นเองดังนั้น จำเลยจึงต้องดำเนินการประเมินหรือออกคำสั่งให้ชำระหรือนำส่งภาษีอากรให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีโดยให้เวลาน้อยกว่า7 วัน แม้จะเป็นการไม่ชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 23 และ 87 ตรี แต่โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านมาแต่แรก กลับยินยอมปฏิบัติตามหมายเรียก ตลอดจนให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนมาจนกระทั่งเสร็จสิ้นและเจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินแล้ว ดังนี้โจทก์จึงจะอ้างว่าหมายเรียกดังกล่าวไม่ชอบไม่ได้
ระยะเวลาที่กำหนดให้ทำการประเมินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 8นั้น รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังมีอำนาจสั่งขยายออกไปตามควรแก่กรณีได้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นแต่ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลาดังกล่าว
การซื้อขายสินค้าแบบไดเรก ไฟแนนซ์ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติคือโจทก์จะสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายในต่างประเทศต่อเมื่อมีผู้ซื้อในประเทศไทยต้องการซื้อ และโจทก์ได้เปิดเผยให้ผู้ขายในต่างประเทศทราบตัวผู้ซื้อที่แท้จริงในประเทศไทยด้วยการให้ผู้ซื้อในประเทศไทยส่งเงินค่าสินค้าไปให้ผู้ขายในต่างประเทศโดยตรง และให้ผู้ขายในต่างประเทศส่งสินค้ามายังผู้ซื้อในประเทศโดยตรง ผิดปกติวิสัยของพ่อค้าคนกลางที่ซื้อสินค้ามาเพื่อขายต่อจะพึงปฏิบัติ เพราะการเปิดเผยให้ผู้ซื้อทราบแหล่งที่ซื้อและเปิดเผยให้ผู้ขายทราบราคาที่ผู้ซื้อต้องชำระย่อมเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายติดต่อซื้อขายกันได้โดยตรงในครั้งต่อไปโดยไม่ต้องซื้อผ่านโจทก์ ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าของผู้ขายในต่างประเทศ มิใช่เป็นผู้ซื้อสินค้ามาแล้วขายไปดังที่โจทก์อ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีการค้าเกิดขึ้นเมื่อนำเข้าสินค้า แม้ยังมิได้ยื่นแบบแสดงรายการ กรมสรรพากรมีสิทธิรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิ
89ตรี จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507-2508. โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้า. ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี. ถือว่าผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขายสินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. จำเลยย่อมมีรายรับตามมูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร. และมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าภาษีการค้าทุกเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป. มูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนภาษีที่จำเลยผู้ประกอบการค้ามีรายรับ.
การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินในภายหลัง. เนื่องจากจำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า. แล้วมีหนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวไม่ทำให้มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเพิ่งเกิด. แม้หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีที่ประเมินจะเพิ่งมีไปยังจำเลยภายหลังจากจำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว. กรมสรรพากรก็ยังมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนได้.
เบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกอบการค้าต้องเสียตามประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย.
สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี.
คำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรซึ่งระบุว่าขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ถือได้ว่าขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ. เพราะค่าภาษีอากรเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) อยู่แล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1826/2511 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มูลหนี้ภาษีการค้าเกิดขึ้นเมื่อใด: การประเมินภาษีและการขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
จำเลยนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรตั้งแต่ปี 2507- 2508 โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้าและชำระภาษีการค้า ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรี ถือว่า ผู้ประกอบการค้าที่เป็นผู้นำเข้าซึ่งสินค้าทุกชนิดได้ขาย สินค้านั้นในวันนำเข้าในราชอาณาจักร จำเลยย่อมมีรายรับตาม มูลค่าของสินค้าในวันนำเข้าในราชอาณาจักร และมีหน้าที่ต้อง ชำระเงินค่าภาษีการค้าทุกเดือนภาษี ภายในวันที่ 15 ของ เดือนถัดไป มูลหนี้ค่าภาษีการค้าจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ เดือนภาษีที่จำเลยผู้ประกอบการค้ามีรายรับ
การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินในภายหลัง เนื่องจาก จำเลยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการการค้า แล้วมี หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีไปให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวไม่ทำให้ มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเพิ่งเกิด แม้หนังสือแจ้งยอดเงินภาษีที่ ประเมินจะเพิ่งมีไปยังจำเลยภายหลังจากจำเลยถูกศาลสั่ง พิทักษ์ทรัพย์แล้ว กรมสรรพากรก็ยังมีสิทธิยื่น คำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีการค้า ซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนได้
เบี้ยปรับและเงินเพิ่มซึ่งผู้ประกอบการค้าต้องเสียตาม ประมวลรัษฎากรถือว่าเป็นเงินภาษีด้วย
สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลเพื่อเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี
คำขอรับชำระหนี้ของกรมสรรพากรซึ่งระบุว่าขอรับชำระหนี้ ค่าภาษีอากร (ภาษีการค้า) ถือได้ว่าขอรับชำระหนี้ในฐานะ เป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิ เพราะค่าภาษีอากรเป็น หนี้บุริมสิทธิสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253(3) อยู่แล้ว