พบผลลัพธ์ทั้งหมด 145 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6559/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการคัดค้านการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย ขึ้นอยู่กับสถานะการได้สิทธิในทรัพย์สินนั้น
ผู้ร้องเคยยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์พิพาทรายเดียวกันในคดีแพ่ง ซึ่งถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยไม่ใช่ของผู้ร้อง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของผู้ร้อง แม้ที่ดินพิพาทจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และผู้ร้องเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาท ผู้ร้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามระเบียบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้น แต่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้รอการพิจารณาคำร้องขอเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ของผู้ร้องไว้ เพราะที่ดินพิพาทถูกยึด ผู้ร้องจึงยังไม่ได้รับสิทธิให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิร้องขอให้มีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีและให้ถอนการยึดตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 158 ต้องยกคำร้องขอ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่ากรณีเป็นการร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามฎีกาของผู้ร้องต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6316/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นทำให้เกิดความเสียหาย และศาลสามารถกำหนดค่าเสียหายได้
ฎีกาของจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องด้วยเหตุใดคงกล่าวอ้างแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยทั้งสองมีลักษณะแตกต่างกันเห็นได้ชัดเจนเท่านั้น จะแตกต่างกันส่วนไหน อย่างไร จึงเห็นได้ชัดเจนไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งในฎีกาเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์จดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BEEBYFARRIS"และรูปหัวคนอินเดียนแดงกับกางเกงยีนของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2525จำเลยที่ 2 มีอาชีพขายเสื้อผ้ามานานถึงประมาณ 50 ปี ย่อมทราบว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน จำเลยทั้งสองนำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาทำการดัดแปลงใช้กับสินค้าประเภทกางเกงยีนเช่นเดียวกับโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของตนขึ้นเอง จำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้ากางเกงยีนในลักษณะเป็นตราสลากติดกับสินค้าเช่นเดียวกันกับการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้จะมีลักษณะของตัวอักษรคำว่า "Leeman" กับคำว่า "BEEBYFARRIS"กำกับอยู่แตกต่างกัน แต่คำว่า "Lee" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยกับคำว่า "BEE" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้ว ประกอบด้วยตัวอักษรเกือบเหมือนกันทุกตัวแตกต่างกันเฉพาะตัวอักษรตัวแรกระหว่าง L กับ B เท่านั้นเครื่องหมายทั้งสองอาจเรียกขานได้ว่า ตราศีรษะอินเดียนแดงเหมือนกันเมื่อใช้กับสินค้ากางเกงยีนเช่นเดียวกัน ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองจงใจเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยทั้งสองเป็นสินค้าของโจทก์การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์และโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์นำสืบว่าความเสียหายของโจทก์มีมากน้อยเพียงใดไม่ได้แต่ศาลก็มีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6164/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หนังสือมอบอำนาจทั่วไป, การฟ้องล้มละลาย, หนี้สิน, การแก้ไขคำฟ้อง, พยานหลักฐาน
หนังสือมอบอำนาจระบุให้ อ. ดำเนินคดีทางศาลแทนโจทก์ได้ทั่วไปในคดีทุกชนิด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีล้มละลายจึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป แม้โจทก์จะได้มอบอำนาจโดยมิได้ระบุให้ฟ้องผู้ใดเป็นจำเลย และมอบอำนาจไว้นานเพียงใด อ. ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยไม่จำต้องมีหนังสืออนุญาตจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยอีก ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้พร้อมดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์แจ้งชัดพอที่จำเลยจะเข้าใจแล้ว ส่วนโจทก์จะคิดดอกเบี้ยอย่างไรจากยอดเงินใด ระยะเวลาเท่าใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาและแสดงหลักฐานต่าง ๆ ประกอบข้อเท็จจริงในฟ้องได้หาทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดีไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยยังติดค้างหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินยังไม่รวมดอกเบี้ยจำนวน 2,703,000 บาทเศษ แม้จำเลยจะยังโต้เถียงอยู่ว่า โจทก์คำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โจทก์ขอแก้ไขจำนวนหนี้ในฟ้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริงเมื่อแก้แล้วจำนวนหนี้โดยเฉพาะต้นเงินก็ยังไม่น้อยกว่า 500,000 บาทตามเดิมและในเรื่องนี้ศาลฎีกาก็วินิจฉัยไว้เพียงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในต้นเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยมิได้ชี้ขัดในชั้นนี้ว่ายอดหนี้ทั้งหมดที่ถูกต้องเป็นเท่าใด เพราะจะต้องไปว่ากันในชั้นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่แล้ว ฉะนั้นฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้วเป็นการไม่ชอบ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องหรือไม่ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จำเลยคงมีแต่พยานบุคคลมาสืบต่อสู้ว่าชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้อ้างอิงพยานเอกสารแสดงถึงการชำระหนี้หากให้จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบอีกในประเด็นนี้ก็ไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตัดพยานบุคคลของจำเลยที่จะนำสืบในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องเคลือบคลุม – ฎีกาไม่ยกข้อเท็จจริง/กฎหมายใหม่ – ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นที่เข้าใจได้แล้วว่า โจทก์ทั้งสองจะต้องเสียดอกเบี้ยให้จำเลยอย่างไรในต้นเงินจำนวนเท่าไร เริ่มตั้งแต่เมื่อใด ถึงเมื่อใด และคิดเป็นเงินเท่าไร คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยมิได้กล่าวอ้างว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเรื่องนี้ไม่ถูกต้องอย่างไรคงคัดลอกข้อความในอุทธรณ์แทบทุกถ้อยคำเกี่ยวกับอุทธรณ์ที่ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมมาไว้ในฎีกาเท่านั้น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง: ข้อกล่าวหาขัดแย้ง, ประเด็นใหม่, และการไม่โต้แย้งคำพิพากษา
ตามฎีกาของโจทก์ตอนแรกโจทก์กล่าวมาในฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนอยู่ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย แต่อีกตอนหนึ่งโจทก์กลับกล่าวเป็นทำนองเห็นด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าสัญญาดังกล่าวถูกต้องเป็นสัญญาทีสมบูรณ์โดยชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์จึงขัดแย้งกัน อีกทั้งมิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าตีความสัญญาไม่ถูกต้องผิดจากที่คู่กรณีบ่งชี้ไว้อย่างไรและโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใดถือว่าเป็นฎีกาของให้โจทก์ได้มีสิทธิเข้าไปปรับปรุงทำถนนในที่พิพาทซึ่งยังค้างอยู่ต่อไปนั้น เนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์ คำขอตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ที่ไม่่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย เมื่อฎีกาของโจทก์ต้องห้ามดังวินิจฉัยมาปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่า โจทก์ได้ทำถนนเข้าไปในที่ดินพิพาทแล้วหรือไม่ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5191/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาตัวแทนและผลกระทบจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการเช่าที่ราชพัสดุ
กรมธนารักษ์วางเงื่อนไขสำหรับผู้ประมูลสิทธิการเช่าเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ราชพัสดุแปลงพิพาทว่าจะต้องเป็นนิติบุคคลซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10,000,000 บาท การที่โจทก์ทำสัญญามอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นตัวแทนโจทก์ไปดำเนินการดังกล่าวจึงไม่สามารถทำได้ เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4มิใช่นิติบุคคล ไม่มีสิทธิประมูล ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 จึงไม่มีผลบังคับ ขณะทำสัญญามอบอำนาจ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการก็ไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกันและเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล ขณะทำสัญญาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 ได้ สัญญาตัวการตัวแทนต่างฝ่ายต่างมีสิทธิเลิกสัญญาเวลาใด ๆ ก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 827 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ได้บอกเลิกสัญญาแล้วเพราะการดำเนินการตามที่มอบหมายขัดต่อกฎกระทรวงการคลัง การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงมิได้กระทำเมื่องานที่ได้รับมอบหมายได้กระทำสำเร็จแล้ว หาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 รับผิดตามสัญญาโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เชิดให้จำเลยที่ 1 กระทำการในนามของตน จึงเป็นตัวการตัวแทนต้องรับผิดต่อโจทก์ ตามคำฟ้องไม่ได้กล่าวอ้างเรื่องการใช้ชื่อสกุลของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 มาเป็นเหตุให้ต้องรับผิดร่วมกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยปฏิเสธสัญญาค้ำประกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการรับรองลายมือชื่อและขอบเขตความรับผิดตามสัญญา
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไร หากจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดต่อโจทก์แล้วก็จะต้องรับผิดไม่เกิน 150,000 บาท ดังนี้คำให้การจำเลยที่ 2 ตอนต้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงส่วนตอนหลังเป็นเรื่องปัญหาข้อกฎหมายว่าจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด หาได้ขัดกันไม่จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันหรือไม่ และจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด คำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ไม่ได้ให้การในรายละเอียดว่าลายมือชื่อผู้ค้ำประกันในเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวไม่ใช่ลายมือชื่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธินำสืบว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันไม่ใช่ของจำเลยที่ 2 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องนอกคำให้การ จึงรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ให้ถือเอาคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2เป็นคำฟ้องฎีกาของจำเลยที่ 2 ด้วยนั้น เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งเป็นฎีกาที่ไม่ชอบจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2358/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายใบยาสูบ: ประเด็นอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 และการวินิจฉัยนอกประเด็น
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์อย่างสิ้นเชิงว่าไม่เคยทำสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้องโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์จริง จึงไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ตามสัญญาหรือไม่ แม้ศาลล่างจะรับวินิจฉัยในประเด็นนี้ให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินที่จ่ายล่วงหน้าเป็นค่าซื้อของส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าของที่จำเลยส่งมอบแล้วคืน มีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มิใช่กรณีตามมาตรา 165 (1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การละเมิดอำนาจศาลและการขัดขวางกระบวนพิจารณา ศาลฎีกายืนโทษปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ฎีกาของโจทก์ที่ว่า ศาลอุทธรณ์มิได้ยกเลิกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30,31 และมาตรา 33คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นต่อไปได้ เพราะโจทก์ได้คัดค้านไว้แล้วขอให้ยกเลิกข้อกำหนดของศาลชั้นต้นเสียนั้น โจทก์มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย การที่ศาลออกข้อกำหนดก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปตามความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ที่ศาลชั้นต้นออกข้อกำหนดมิให้โจทก์ลุกขึ้นแถลงการณ์ใด ๆ ในขณะที่ศาลจดรายงานกระบวนพิจารณาอยู่อันจะเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็ว เหตุที่ออกข้อกำหนดเพราะโจทก์ได้กระทำหลายครั้งแล้วเมื่อศาลชั้นต้นออกข้อกำหนด โจทก์มิได้นำพาต่อข้อกำหนดของศาลยังลุกขึ้นแถลงโดยศาลมิได้อนุญาต และขอให้ศาลบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณาอีก โจทก์ย่อมทราบถึงการกระทำของตนดีว่าเป็นการขัดขวางทำให้กระบวนพิจารณาไม่อาจดำเนินไปได้โดยรวดเร็วย่อมเป็นการละเมิดอำนาจศาลจะอ้างว่ากระทำไปโดยไม่รู้ว่ามีความผิดไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่ชัดแจ้ง: การไม่ระบุประเด็นคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อย่างชัดเจน ทำให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ฎีกาว่า ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1แต่มิได้กล่าวให้แจ้งชัดว่าไม่เห็นด้วยในปัญหาข้อไหน อย่างไรเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยหรือไม่ เพียงแต่กล่าวอ้างความเป็นมาของที่ดินพิพาทและโต้แย้งการรับฟังเอกสารซึ่งซ้ำกับที่กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเท่านั้นจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย