คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ม. 11 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ การครอบครองพื้นที่ และความรับผิดทางแพ่ง
ความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันยึดถือครอบครองทำประโยชน์ แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ตามพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ สามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 นั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวเพิ่มขึ้น จึงไม่อาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย: การยกข้อเท็จจริงใหม่ขัดกับคำรับสารภาพ และการลงโทษที่ไม่สมเหตุผล
โจทก์บรรยายในคำฟ้องอย่างแจ้งชัดว่า จำเลยทำไม้ปอเลียง ในบริเวณป่าบางไต เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงต้องรับฟังตามคำฟ้องว่าจำเลยทำไม้ในป่าอันเป็นการทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ที่จำเลยอ้างว่าเป็นการทำไม้ในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองไม่เป็นไม้หวงห้ามในชั้นฎีกา จึงขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นการยกข้อเท็จจริงเพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้กล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5517/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้หวงห้ามในที่ดินมีกรรมสิทธิ์: ผลกระทบจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ฉบับใหม่ และสิทธิครอบครองที่ดิน
ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ "ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม" โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ
ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14743/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานบุกรุกทำลายป่าสงวน, ทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต, และมีไม้หวงห้ามไว้ในครอบครอง ศาลพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" ซึ่งมีความสัมพันธ์กับหลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องของโจทก์ ตามกฎหมายดังกล่าวมาตรา 158 (5) ว่า "การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด..." เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้บังอาจร่วมกัน ก่นสร้าง แผ้วถาง และเข้ายึดถือหรือครอบครองบริเวณป่าสงวนแห่งชาติ...โดยจำเลยทั้งสองได้ใช้มีดพร้าเป็นอุปกรณ์ในการก่นสร้าง โค่นไม้จำนวนหลายต้น อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้มีดพร้าตัดกิ่งไม้โยนเข้ากองไฟในที่เกิดเหตุ ประกอบกับภาพถ่ายสภาพที่เกิดเหตุลักษณะเป็นการแผ้วถางทำป่าให้เตียนเพื่อเข้ายึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในกรอบของข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันก่นสร้าง แผ้วถาง อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติชอบแล้ว
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางที่เกิดเหตุ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ และในขณะเดียวกันยังร่วมกันทำไม้โดยตัดไม้ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เพราะเป็นความผิดสำเร็จในตัวเองทันทีที่ได้กระทำ แต่ลักษณะความผิดฐานร่วมกันทำไม้และยึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ แผ้วถางอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ กับความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นการกระทำคนละคราวโดยอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดให้เกิดผลแตกต่างแยกต่างหากจากกัน โดยหลังจากที่ตัดไม้แล้วจำเลยทั้งสองมีเจตนามีไม้ที่ตัดไว้ในครอบครองย่อมเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากการตัดไม้ แม้ว่าไม้ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันตัดและมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตาม จึงเป็นการกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11013/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ: การพิพากษาความผิดฐานทำลายป่าไม้ แม้ไม้ไม่ใช่ไม้หวงห้าม
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันทำไม้ โดยตัดฟันต้นงิ้วภายในเขตป่าประดางและป่าวังเจ้า อันเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และเลื่อยออกเป็นท่อนได้ไม้งิ้ว 105 ท่อน ปริมาตร 12.07 ลูกบาศก์เมตร แล้วร่วมกันใช้รถยนต์บรรทุกนำไม้ดังกล่าวออกจากป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า ต้นไม้งิ้วที่จำเลยกับพวกร่วมกันตัดฟันและเลื่อยออกเป็นท่อนนั้น เป็นไม้หวงห้ามอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานทำไม้ ตามมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ดังนั้น ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่บรรยายข้อเท็จจริงขาดองค์ประกอบความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้คำขอท้ายฟ้องจะระบุบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาด้วยและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันทำไม้ ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่จำเลยคงมีความผิดฐานร่วมกันทำไม้อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคสอง (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษเกินคำฟ้องในความผิดบุกรุกที่ดินและทำไม้ ศาลฎีกายกประเด็นข้อกฎหมายเพื่อแก้ไขโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองป่าที่ดินภูเขากระโดน อันเป็นที่ดินของรัฐ โดยเป็นที่ราชพัสดุ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ อยู่ในความครอบครองดูแลของกรมธนารักษ์เท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำแก่ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน หรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทหนักมานั้น จึงเป็นการลงโทษเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4540/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันจากการทำไม้, ครอบครองไม้หวงห้าม และช่วยซ่อนเร้นของหลีกเลี่ยงอากร
การทำไม้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 11 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 วรรคสอง (2) และการมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 69 วรรคสอง (2) ส่วนการช่วยซ่อนเร้นหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่านำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อจำกัด เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้แม้ไม้หวงห้ามที่จำเลยที่ 1 ร่วมกันทำไม้และมีไว้ในครอบครองจะเป็นจำนวนเดียวกันก็ตามการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิ กำหนดโทษปรับไว้เป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรแล้ว ไม่ใช่สี่เท่าของค่าอากร ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำราคาเลื่อยยนต์ของกลางมารวมคำนวณกับค่าอากร จึงต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รอการลงโทษจำคุกคดีทำไม้ฐานความผิดไม่ร้ายแรงและแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดได้
ไม้สักแปรรูปที่เจ้าพนักงานยึดเป็นของกลางในคดีนี้มีจำนวนเพียง 1 แผ่น ปริมาตร 0.268 ลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเพียงเล็กน้อย พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนักประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยที่ 1 กลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 58 และเนื่องจากการรอการลงโทษด้วยเหตุสภาพแห่งความผิดและพฤติการณ์ตามรูปคดีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนเช่นกัน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาให้ได้รับการรอการลงโทษจำคุกดุจจำเลยที่ 1 ผู้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ป.อ. มาตรา 89
ความผิดฐานทำไม้เป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ อันเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษบทหนักตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 73 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 233/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำไม้แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลลดโทษและรอการลงโทษเนื่องจากพฤติการณ์ไม่ร้ายแรง
แม้จำเลยทั้งสามใช้เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำไม้และแปรรูปไม้ แต่ปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่า ไม้ยางที่จำเลยทั้งสามร่วมกันแปรรูปนั้นอยู่ในเขตที่ดินของนาย ส. ญาติจำเลยที่ 1 มิได้ขึ้นอยู่ในป่า ทั้งนาย ส. ก็อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ตัดไม้ได้ เพียงแต่จำเลยที่ 1 มิได้ดำเนินการขออนุญาตทำไม้และแปรรูปไม้ให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงนัก และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสแก่จำเลยทั้งสามกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดีต่อไป โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 56 แต่เพื่อให้จำเลยทั้งสามหลาบจำไม่หวนกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก เห็นสมควรลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง
ตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ ฯ มาตรา 69 ด้วย ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นกรณีการมีไม้ยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จึงเป็นการปรับบทไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้