คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 39

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 52 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิเจ้าของที่ดินฟ้องขับไล่ผู้บุกรุกหลังศาลพิพากษาถึงที่สุด
ในคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายอาญาด้วยการใช้อุปกรณ์งัดประตูรั้วบ้านและประตูบ้านของโจทก์และบุกรุกเข้าไปครอบครองบ้านของโจทก์โดยละเมิด ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยกับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามาจากจำเลยกระทำผิดต่อกฎหมายอาญาเป็นละเมิดต่อโจทก์ และขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 นั้น โจทก์ยังไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท เนื่องจากยังเป็นประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำลังพิจารณาอยู่ในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ส่วนการที่โจทก์ในคดีนี้ฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมาในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 แล้ว จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทโดยไม่มีสิทธิ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้มาจากโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามที่ศาลฎีกาได้พิพากษาชี้ขาดมา โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยและบริวารอยู่ในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ จึงไม่ใช่การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำในความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 144 และขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ยังมีคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 กำลังพิจารณาอยู่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 ชั่วคราวก่อน เพื่อรอฟังผลการชี้ขาดในคดีหมายเลขดำที่ 8822/2548 ก่อน ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท จึงไม่อยู่ในฐานะที่สามารถฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารได้ การที่จะให้โจทก์ฟ้องจำเลยในมูลละเมิดแล้วให้โจทก์มีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยเข้ามาด้วย ย่อมไม่ชอบ เพราะข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเป็นคนละเรื่องกัน ส่วน ป.วิ.พ. มาตรา 142 นั้น ก็เป็นบทบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจได้ว่าในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ ไม่ใช่บทบัญญัติที่บังคับให้โจทก์ต้องมีคำขอให้บังคับเข้ามาในคำฟ้องแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในคดีนี้สภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแตกต่างจากคดีหมายเลขดำที่ ม.395/2549 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลฎีกา ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5059/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยในการยึด/อายัดทรัพย์สินผู้กระทำผิดทางอาญาทางการเงิน และขอบเขตการบังคับใช้กับทรัพย์สินของคู่สมรส/บุตร
การขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 46 ทศ มุ่งประสงค์จะให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลที่กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46 นว หรือทรัพย์สินซึ่งตามกฎหมายอาจถือได้ว่าเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันมิให้บุคคลที่กระทำความผิดยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับยึดหรืออายัดทรัพย์สิน หรือขายทอดตลาดนำมาชำระหนี้แก่ผู้เสียหาย แม้ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 แต่กฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง ยังคงมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ในทำนองเดียวกัน คำสั่งอายัดทรัพย์สินโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในคดีนี้จึงยังมีผลใช้บังคับได้ เมื่อพิจารณาจากคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของธนาคารแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งห้ามีฐานะเป็นภริยาและบุตรของจำเลย ประกอบกับทรัพย์สินที่ผู้ร้องทั้งห้าขอเพิกถอนการอายัดนั้น เป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ยกให้โดยเสน่หา และยังมีมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้องทั้งห้าดังกล่าวภายหลังคดีอาญาที่เป็นคดีหลักมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน ซึ่งเป็นดุลพินิจโดยชอบของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13141/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในคดีสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง: ผลของคำพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้อง
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดชำระเงินค่างวดงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท ส่วนคดีผู้บริโภคหมายเลขแดงที่ ผบ.480/2553 ของศาลแพ่งธนบุรี จำเลยในคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องเรียกให้โจทก์ในคดีนี้รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างบ้านพิพาท เมื่อศาลแพ่งธนบุรีมีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยแล้ว ฟ้องโจทก์ในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แต่เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด หากในชั้นที่สุดศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นประการใด ผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันทั้งโจทก์และจำเลยในคดีนี้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้คดีนี้ยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยต้องชำระค่าก่อสร้างแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ดังนั้น หากรอฟังผลคดีผู้บริโภคหมายเลขแดงที่ ผบ.480/2553 ของศาลแพ่งธนบุรีให้ถึงที่สุดเสียก่อนแล้วพิพากษาคดีต่อไปย่อมทำให้ความยุติธรรมในคดีนี้ดำเนินไปด้วยดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9419/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่แจ้งวันนัดไต่สวนและไม่เบิกตัวผู้คัดค้าน ทำให้การพิจารณาคดีไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไข
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 11 รายการ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ก่อนถึงวันนัดผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอสอบวันนัด แต่ในวันนัดศาลชั้นต้นมิได้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเกี่ยวกับคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเรื่องคำคัดค้านฉบับใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบ หรือมีการเบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาศาลในวันนัดแต่อย่างใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการนั่งพิจารณาซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ทราบวันนัดไต่สวนคำร้องและไม่สามารถนำพยานเข้าไต่สวนตามคำคัดค้านได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ แล้วให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้องในกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาระงับข้อพิพาทจากเช็คพิพาท: ยุติคดีอาญาได้
เมื่อพิเคราะห์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งมีข้อตกลงที่โจทก์ยอมให้แก่จำเลยทั้งสามผ่อนชำระหนี้ตามเช็คพิพาทเป็นงวด โดยฝ่ายจำเลยยอมออกเช็คฉบับใหม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าว ย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตน ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น แม้เช็คที่ฝ่ายจำเลยสั่งจ่ายทั้งสามฉบับตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้อันเป็นการไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตาม โจทก์ก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้ได้อีก ถือได้ว่าหนี้ที่จำเลยทั้งสามได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องเพื่อใช้เงินนั้นเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3051/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ศาลไม่รับฎีกาเนื่องจากโจทก์ไม่โต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นพิพากษา และการขอให้รอฟังผลคดีอื่นเป็นดุลยพินิจของศาล
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ย่อมถือได้ว่าในขณะที่ยื่นคำฟ้องนั้นที่ดินและบ้านพิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลชั้นต้นงดการอ่านคำพิพากษาจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านพิพาทถึงที่สุดนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการสั่งไม่รอฟังผลคดีอื่นเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4805/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอเลื่อนคดีต้องแสดงเหตุให้ศาลเห็นว่าหากไม่อนุญาตจะทำให้เสียความยุติธรรม แม้ป่วยจริงก็ต้องแสดงเหตุผลประกอบ
ในการขอเลื่อนคดีของคู่ความนั้น กฎหมายได้บัญญัติรายละเอียดและเหตุที่จะขอเลื่อนคดีไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 39 และ 40 การที่จำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีเป็นครั้งที่ 5 และยื่นใบรับรองแพทย์มาด้วยเพื่อยืนยันว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงไม่สามารถมาศาลได้ แม้โจทก์มิได้คัดค้านและข้อเท็จจริงจะฟังว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยจริงซึ่งมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ แต่คำร้องขอเลื่อนคดีระบุเพียงว่าขอเลื่อนคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมโดยไม่ได้แสดงให้เห็นชัดเจนในคำร้องว่าหากศาลไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีแล้วจะทำให้เสียความยุติธรรมอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง อีกทั้งการที่คู่ความขอเลื่อนคดีเพราะป่วยเจ็บ ศาลก็ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 41 กล่าวคือ ตั้งเจ้าพนักงานไปทำการตรวจอาการป่วยเจ็บเสมอไป เพราะกรณีตามมาตรา 41 นั้น เป็นเรื่องที่ศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่าคู่ความฝ่ายที่ขอเลื่อนคดีป่วยถึงกับไม่สามารถมาศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประวิงคดีและการพิสูจน์อายุของจำเลยเพื่อขอโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นได้ให้โอกาสแก่จำเลยจำเลยถึง 3 ครั้ง เพื่อให้ดำเนินการให้ได้พยานบุคคลมาศาลเพื่อไต่สวนซึ่งในแต่ละครั้งศาลชั้นต้นได้กำชับจำเลยให้รีบดำเนินการเพื่อให้นำพยานมาศาลในวันนัด แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถนำพยานมาศาลได้เลย ทั้งเหตุผลที่ไม่สามารถนำพยานมาได้ก็คงเป็นเหตุผลเดียวกันทุกครั้งคือติดขัดด้วยระเบียบของทางราชการ แต่จำเลยก็หาได้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวพยานมาศาล ทั้งมิได้แถลงให้ศาลทราบว่าจะสามารถติดตามพยานมาไต่สวนได้หรือไม่ เมื่อใด เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาประวิงคดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนพยานจำเลยต่อไปอีก โดยถือว่าจำเลยไม่มีพยานมาสืบและให้งดไต่สวนพยานจำเลยนั้น ชอบด้วยรูปคดีแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 495/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า-ภารจำยอม: ศาลเลื่อนพิจารณาจนกว่าคดีภารจำยอมถึงที่สุด จึงจะวินิจฉัยผิดสัญญาเช่าได้
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า เนื่องจากที่ดินที่เช่าถูกบุคคลภายนอกฟ้องร้องว่าตกอยู่ในภารจำยอม เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์ ปัญหาว่าที่ดินที่เช่าตกอยู่ในภารจำยอม จึงเป็นประเด็นโดยตรงซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าหรือไม่ และศาลชั้นต้นในคดีซึ่งบุคคลภายนอกฟ้องโจทก์และจำเลยได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อรั้วคอนกรีตกั้นทางเดินที่อ้างว่าเป็นภารจำยอมออก แต่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณายังไม่ถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันจริง กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่ามีความหมายอยู่ในตัวว่า หากคดีดังกล่าวถึงที่สุดว่าที่ดินที่เช่ามีภาระผูกพันก็ถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า จึงเป็นกรณีที่ต้องอาศัยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนซึ่งคำชี้ขาดตัดสินบางข้อที่ศาลนั้นเอง จึงมีเหตุสมควรที่ต้องเลื่อนการพิจารณาต่อไปจนกว่าจะได้มีการพิพากษาหรือชี้ขาดในข้อนั้น ๆ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 39 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องสมบูรณ์หรือไม่ ต้องพิจารณาในสาระสำคัญว่าคำฟ้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงจะรับฟังได้หรือรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องรับฟังกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฉะนั้นเมื่อคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 วรรคสอง จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ยกเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญา: การกระทำผิดฐานพาอาวุธปืนเกินกำหนดอายุความ 1 ปี ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เมื่อจำเลยกระทำผิดในปี 2534แต่ถูกจับและฟ้องในปี 2540 ดังนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยสำหรับความผิดฐานนี้เกินกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95(5) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(6)โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว
of 6