พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3615/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล: รายจ่ายซื้อมันเส้นและสินค้าขาดบัญชี ต้องมีเหตุผลประกอบด้วยหลักฐาน
การที่กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ใช้มาตรฐานในการคำนวณต้นทุนสินค้าตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0810/13252ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบผู้ประกอบกิจการค้าพืชผลการเกษตรหากไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายได้ ให้ถือราคารับซื้อตามราคาตลาดที่ปรากฏในเอกสารของส่วนราชการนั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าโจทก์ซื้อมันเส้นในราคาสูงไปอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือ ใบสำคัญหรือหลักฐานแสดงการรับจ่ายเงินค่ามันเส้นของโจทก์ที่สุ่มมา ตรวจสอบเพียงบางฉบับ มิใช่เหตุที่จะฟังว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์สูงเกินสมควร เพราะราคาซื้อขายมันเส้นโดยทั่วไปมิได้มีราคาตายตัวหรือมีราคาเดียว และราคาซื้อขายมันเส้นโดยเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาที่จำเลยที่ 1นำมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณมีทั้งที่สูงและต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุว่ารับซื้อมันเส้นจากผู้ค้าพืชไร่ อีกทั้งโจทก์ตรวจสอบคุณภาพมันเส้นที่จะรับซื้อด้วยว่ามีค่าความชื้นและสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดหรือไม่โดยหากปรากฏว่ามันเส้นที่จะรับซื้อมีค่าความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานโจทก์จะคำนวณนำหนักมันเส้นโดยตัดน้ำหนักตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานและคำนวณเงินค่ามันเส้นที่ต้องจ่ายให้ผู้ขายจากน้ำหนักสุทธิภายหลังการตัดน้ำหนักดังกล่าวแล้ว ส่วนการซื้อขายมันเส้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาจัดทำไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายมันเส้นได้นำมาจากการซื้อขายเช่นกรณีของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่โจทก์รับซื้อมันเส้นในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาก็อาจอยู่ภายในกรอบของราคาตลาดได้ มิใช่แสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบแสดงหลักฐานการจ่ายเงินค่ามันเส้นว่าโจทก์จ่ายเป็นเช็ค โดยในใบสำคัญจ่ายจะระบุชื่อธนาคารและหมายเลขเช็คซึ่งสามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินได้จากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ รวมทั้งโจทก์ยังบันทึกรายการซื้อมันเส้นในสมุดรายวันซื้อด้วย โดยจำเลยทั้งสี่ก็มิได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่กลับยอมรับว่าเมื่อได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์แล้วพบว่ายอดเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและมีการนำมาเรียกเก็บแต่ละยอดตรงกับยอดเงินตามใบรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่าซื้อมันเส้นดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะตรวจสอบรายจ่ายโดยเรียกผู้มีชื่อที่ระบุว่าขายมันเส้นให้โจทก์มาสอบถามแล้ว พบว่าหลักฐานการซื้อขายมันเส้นของโจทก์บางรายการไม่น่าเชื่อถือก็หาอาจสรุปว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์ทั้งหมดทุกรายการเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเนื่องจากการตรวจสอบของจำเลยทั้งสี่เพียงแต่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อผู้ขายบางส่วนเท่านั้น มิได้ตรวจสอบจากเอกสารการจ่ายเงินของโจทก์ทุกรายการ และมิได้ให้โอกาสโจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมด การตรวจสอบและให้โจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินเพียงบางส่วนจากสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่มีการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบนี้เป็นเงินเท่าใด จึงไม่ชอบที่จะถือว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นทั้งหมดของโจทก์เป็นรายจ่ายที่ไม่อาจพิสูจน์ตัวผู้รับได้ แต่กลับฟังได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริง มิใช่รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับและมิใช่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันจะถือว่าเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15) และ(18) แม้ในขั้นตอนการตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์มีรายได้จากการขายมันอัดเม็ดต่ำไป แต่จากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ได้ขายมันอัดเม็ดไปจริงแล้วแสดงรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไปหากแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายมันอัดเม็ดสูงกว่าที่แสดงไว้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 คำนวณการสูญเสียน้ำหนักในขั้นตอนการผลิตมันอัดเม็ดของโจทก์ โดยใช้วิธีบวกน้ำหนักมันเส้นที่โจทก์ตัดออกในขณะรับซื้อกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณ จึงทำให้ตัวเลขแสดงยอดมันอัดเม็ดที่ควรผลิตได้สูงกว่าที่โจทก์ระบุในบัญชีขาย แล้วจำเลยที่ 1จึงถือว่าจำนวนมัดอัดเม็ดที่ขาดหายไปเป็นการขายของโจทก์การประเมินด้วยวิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1เห็นว่าโจทก์มีสินค้าขาดจากบัญชีคุมสินค้า จึงให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(6)เดิม ที่ใช้ บังคับในขณะนั้น ซึ่งการประเมินด้วยวิธีการตามมาตรา 79 ทวิ(6)เดิมเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ภาษีการค้า หาได้มีบทบัญญัติให้นำไปใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ด ที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2534
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเสียภาษีการค้าจากการดัดแปลงรถยนต์: ผู้ประกอบการค้าคือผู้ผลิตรถยนต์ที่ดัดแปลง
ย. ดัดแปลงหรือจัดให้ผู้อื่นดัดแปลงรถยนต์กระบะบรรทุกให้เป็นรถยนต์นั่งและจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงลักษณะรถเมื่อเดือนสิงหาคม2529 จึงถือได้ว่า ย. เป็นผู้ประกอบการค้าในฐานะผู้ผลิต มีหน้าที่เสียภาษีการค้าของเดือนสิงหาคม 2529 อันเป็นเดือนภาษีนั้นโจทก์ซื้อรถยนต์คันดังกล่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2530 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ด้วยในขณะนั้น จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าให้แก่จำเลย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเงินค่าภาษีการค้าที่ชำระไปคืนได้ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเสียภาษีการค้ากรณีดัดแปลงรถยนต์กับแบบแสดงรายการการค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลย เจ้าหน้าที่ของจำเลยคำนวณเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามที่โจทก์ชำระก็โดยอาศัยประมวลรัษฎากรเป็นหลัก จึงเป็นการได้มาโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ขณะรับทรัพย์นั้น กรณีมิใช่ลาภมิควรได้ อันจะขาดอายุความ 1 ปี โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มีนาคม 2532 แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2531 เป็นการเกินไปกว่าคำขอไม่ชอบด้วยป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 ปัญหานี้แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2512
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเสียภาษีจากสินค้าที่นำเข้าเพื่อใช้ในการผลิตของตนเอง ไม่ถือเป็นผู้ประกอบการค้าต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการค้าต้องเป็น 'ผู้ประกอบการค้า'ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77. ซึ่งได้แก่ผู้ประกอบการค้า2 ประเภท. คือ ผู้ที่บัญชีอัตราภาษีการค้าได้กำหนดประเภทการค้าและรายการที่ประกอบการค้าไว้ประเภทหนึ่ง. ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าตามอัตราที่ระบุไว้ในบัญชีนั้น ตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง. กับผู้ที่บทบัญญัติในหมวด 4 ที่ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้าด้วยอีกประเภทหนึ่ง. ประเภทหลังนี้คือผู้ประกอบการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง ซึ่งต้องเสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง (1)และ (2).
สำหรับผู้ประกอบการค้าประเภทหลังตามมาตรา 78 วรรคสอง.อธิบดีกรมสรรพากร(โดยอนุมัติรัฐมนตรี) มีอำนาจประกาศให้บุคคล 4 จำพวกเท่านั้น ซึ่งได้แก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ขายทอดใดทอดหนึ่งหรือหลายทอด. ซึ่งสินค้าตามที่กำหนดไว้ในประกาศ (ซึ่งไม่เป็นผู้ที่บัญชีอัตราภาษีการค้าได้ระบุให้เสียภาษีไว้โดยเฉพาะ). มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าซึ่งสินค้าใดๆ ตามที่จะกำหนดไว้ในประกาศ.แต่อธิบดีฯ ไม่มีอำนาจกำหนดอัตราภาษีการค้าที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเสียให้นอกเหนือเกินเลยไปจากอัตราภาษีการค้าตามที่มาตรา 78 วรรคสอง(1)และ (2) ได้บัญญัติไว้แล้ว.
โจทก์สั่งหินสำลีซึ่งเป็นสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูปเข้ามาผลิตเพื่อขายเป็นสินค้าอื่น มิใช่สั่งเข้ามาเพื่อขายให้แก่โรงงานอื่นหรือผู้อื่น. โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าหินสำลี. และจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าสำหรับหินสำลีในฐานะผู้นำเข้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า.ฉะนั้น มาตรา 78 วรรคสองและประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 2)ข้อ 3 รวมตลอดทั้งประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 3) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 79(6) ซึ่งให้ถือว่าโจทก์ได้ขายหินสำลีในวันนำเข้าในราชอาณาจักร จึงนำมาใช้บังคับไม่ได้. เพราะโจทก์มิใช่ผู้ประกอบการค้าทั้งสองประเภทตามมาตรา78 วรรคหนึ่งและมาตรา 78 วรรคสอง ดังกล่าว.
คำว่า'ผลิตเพื่อขาย'ตามมาตรา 79ทวิ(1) ต้องอ่านประกอบกับประโยคหน้าและจึงควรหมายความว่า 'โดยมิใช่ผลิตเพื่อขาย' ด้วย จึงจะถูกต้องตามความมุ่งหมายของมาตรา 79ทวิ วรรคแรก. กล่าวคือการนำเข้ามาโดยมิใช่นำมาขายก็ดี.การนำเข้ามาโดยมิใช่นำมาผลิตเพื่อขายก็ดี. กฎหมายให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามวรรคแรกแห่งมาตรานี้ เพราะการผลิตเพื่อขายย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า 'มิใช่นำมาขาย' ในตอนต้นของมาตรา 79ทวิ(1) อยู่แล้ว. ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องใส่คำว่า 'ผลิตเพื่อขาย' ลงไปอีก. และโดยเฉพาะถ้าไม่อ่านประกอบประโยคหน้าดังกล่าวเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่มีทางใช้ข้อยกเว้นตามข้อ(ก) ของมาตรา 79ทวิ(1) ซึ่งบัญญัติยกเว้นในกรณีที่นำเข้ามาใช้ส่วนตัวตามปกติและตามสมควรได้เลย. ส่วนการนำเข้าซึ่งสินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิดอื่นอีก 8 ชนิดนั้น มาตรา 79ทวิวรรคแรก ให้ถือเป็นการขายสินค้าทั้งสิ้น. (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2512).
สำหรับผู้ประกอบการค้าประเภทหลังตามมาตรา 78 วรรคสอง.อธิบดีกรมสรรพากร(โดยอนุมัติรัฐมนตรี) มีอำนาจประกาศให้บุคคล 4 จำพวกเท่านั้น ซึ่งได้แก่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้ขายทอดใดทอดหนึ่งหรือหลายทอด. ซึ่งสินค้าตามที่กำหนดไว้ในประกาศ (ซึ่งไม่เป็นผู้ที่บัญชีอัตราภาษีการค้าได้ระบุให้เสียภาษีไว้โดยเฉพาะ). มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าซึ่งสินค้าใดๆ ตามที่จะกำหนดไว้ในประกาศ.แต่อธิบดีฯ ไม่มีอำนาจกำหนดอัตราภาษีการค้าที่บุคคลเหล่านี้จะต้องเสียให้นอกเหนือเกินเลยไปจากอัตราภาษีการค้าตามที่มาตรา 78 วรรคสอง(1)และ (2) ได้บัญญัติไว้แล้ว.
โจทก์สั่งหินสำลีซึ่งเป็นสินค้าที่มิใช่สินค้าสำเร็จรูปเข้ามาผลิตเพื่อขายเป็นสินค้าอื่น มิใช่สั่งเข้ามาเพื่อขายให้แก่โรงงานอื่นหรือผู้อื่น. โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าหินสำลี. และจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าสำหรับหินสำลีในฐานะผู้นำเข้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า.ฉะนั้น มาตรา 78 วรรคสองและประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 2)ข้อ 3 รวมตลอดทั้งประกาศอธิบดีฯ (ฉบับที่ 3) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 79(6) ซึ่งให้ถือว่าโจทก์ได้ขายหินสำลีในวันนำเข้าในราชอาณาจักร จึงนำมาใช้บังคับไม่ได้. เพราะโจทก์มิใช่ผู้ประกอบการค้าทั้งสองประเภทตามมาตรา78 วรรคหนึ่งและมาตรา 78 วรรคสอง ดังกล่าว.
คำว่า'ผลิตเพื่อขาย'ตามมาตรา 79ทวิ(1) ต้องอ่านประกอบกับประโยคหน้าและจึงควรหมายความว่า 'โดยมิใช่ผลิตเพื่อขาย' ด้วย จึงจะถูกต้องตามความมุ่งหมายของมาตรา 79ทวิ วรรคแรก. กล่าวคือการนำเข้ามาโดยมิใช่นำมาขายก็ดี.การนำเข้ามาโดยมิใช่นำมาผลิตเพื่อขายก็ดี. กฎหมายให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าตามวรรคแรกแห่งมาตรานี้ เพราะการผลิตเพื่อขายย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า 'มิใช่นำมาขาย' ในตอนต้นของมาตรา 79ทวิ(1) อยู่แล้ว. ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องใส่คำว่า 'ผลิตเพื่อขาย' ลงไปอีก. และโดยเฉพาะถ้าไม่อ่านประกอบประโยคหน้าดังกล่าวเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่มีทางใช้ข้อยกเว้นตามข้อ(ก) ของมาตรา 79ทวิ(1) ซึ่งบัญญัติยกเว้นในกรณีที่นำเข้ามาใช้ส่วนตัวตามปกติและตามสมควรได้เลย. ส่วนการนำเข้าซึ่งสินค้าตามประเภทการค้า 1 ชนิดอื่นอีก 8 ชนิดนั้น มาตรา 79ทวิวรรคแรก ให้ถือเป็นการขายสินค้าทั้งสิ้น. (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 14/2512).