คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 421

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 365 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12973/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิในที่ดินของผู้อื่นทำให้เกิดความเสียหาย การกลบร่องน้ำกีดขวางการใช้น้ำของผู้อื่น
โจทก์และเจ้าของที่ดินเดิมใช้น้ำจากคลองชลประทานผ่านร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 ในการทำนามาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วตั้งแต่ก่อนที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 รู้ดี แสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าถ้าจำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เสีย ผลเสียหายย่อมเกิดขึ้นแก่การทำนาและเลี้ยงปลาของโจทก์อย่างแน่นอน ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 กลบร่องน้ำในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อ มิให้โจทก์ได้ใช้น้ำที่ไหลผ่านร่องน้ำนั้นในการทำนาและเลี้ยงปลาต่อไป ย่อมเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่น เป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เปิดร่องน้ำนั้นเพื่อโจทก์จะได้ใช้น้ำที่ผ่านมาทางร่องน้ำนี้ทำนาและเลี้ยงปลาตามเดิมต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าคล้ายกันจนสับสน และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา อายุความไม่ขาด
คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง
ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า "พรีเมียร์" ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า "เทคโนโลยี" ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์
แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8956/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดทางละเมิดจากการซื้อขายสินค้าที่ผิดสัญญาระหว่างสมาชิกผู้จำหน่าย และการกระทำโดยสุจริตของผู้ซื้อ
จำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกผู้จำหน่ายของโจทก์ ซื้อสินค้าจากโจทก์ในราคาสมาชิกแล้วจำหน่ายสินค้าให้แก่ จำเลยที่ 1 ซึ่งนำสินค้าเหล่านี้จำหน่ายต่อในราคาที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงผิดสัญญาต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 เคยเป็นสมาชิกผู้จำหน่ายของโจทก์และทราบข้อกำหนดห้ามดังกล่าวแต่ขณะซื้อผลิตภัณฑ์ของโจทก์ จากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มิได้เป็นสมาชิกผู้จำหน่ายของโจทก์ ข้อกำหนดห้ามดังกล่าว จึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ต้องปฏิบัติตามด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
แม้จำเลยที่ 1 จะรู้ว่าการที่จำเลยที่ 2 จำหน่ายสินค้าให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในการประกอบอาชีพค้าขายโดยเสรี ไปวางจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อหากำไรตามอัตภาพ มิใช่กระทำโดยมุ่งประสงค์จะใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการใช้ทางและละเมิด: การใช้สิทธิโดยชอบธรรมที่ไม่เกินส่วน และการคาดหมายความเดือดร้อนจากการปลูกสร้าง
แม้ผู้จัดสรรที่ดินได้แสดงออกโดยปริยายว่า จะจัดให้มีถนนในโครงการที่ดินที่จัดสรรตามแผนผังโครงการ ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอม ซึ่งผู้จัดสรรที่ดินมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป จะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 วรรคหนึ่ง อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะจัดสรรที่ดิน แต่ปรากฏว่า ถนนพิพาทอยู่ในที่ดินจัดสรรส่วนที่ผู้จัดสรรที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์และก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามแผนผังของโครงการ โดยที่ดินดังกล่าวถูกปล่อยให้เป็นที่ว่างเปล่ามานานถึง 12 ปี มีการนำแท่งคอนกรีตไปปิดกั้นปากทางถนนพิพาทไม่ให้รถยนต์แล่นผ่านเข้าออก โจทก์หรือผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรายอื่น ๆ ไม่ได้โต้แย้งต่อผู้จัดสรรที่ดินเพราะสามารถใช้ถนนด้านหน้าอาคารพาณิชย์ของโจทก์ออกสู่ถนนสาธารณะได้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์หรือผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรายอื่น ๆ มิได้ถือเอาการมีหรือไม่มีอาคารพาณิชย์ในที่ดินดังกล่าวเป็นสาระสำคัญและถนนพิพาทจะเป็นสาธารณูปโภคหรือไม่ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวมิได้นำออกจัดสรรขายตามสภาพที่เป็นจริง ถนนพิพาทจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอม ผู้จัดสรรที่ดินจึงมีสิทธิเหนือที่ดินและถนนพิพาทส่วนนี้ ต่อมาผู้จัดสรรที่ดินขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ก่อสร้างกำแพงปิดกั้นปากทางถนนพิพาทในที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
อาคารพาณิชย์ของโจทก์ทั้งสองคูหาตั้งอยู่ในโครงการจัดสรรในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นย่านชุมชนและย่านการค้าที่มีความเจริญมาก มีอาคารพาณิชย์ของผู้อื่นในโครงการปลูกเรียงติดต่อกันหลายคูหา โจทก์จึงควรคิดหรือคาดหมายได้ถึงความไม่สะดวกในการพักอาศัยและการสัญจรไปมา แม้จะปรากฏขณะโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากแผนผังของโครงการว่า มีถนนอยู่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ แต่ก็เป็นถนนที่กันไว้สำหรับใช้เป็นทางเข้าออกอาคารพาณิชย์ที่จะก่อสร้างในที่ดินด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ เมื่อผู้จัดสรรที่ดินมิได้ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ตามแผนผังของโครงการ โจทก์ก็มิได้โต้แย้งหรือว่ากล่าวเอาแก่ผู้จัดสรรที่ดิน ทั้งโจทก์ยังได้ต่อเติมด้านหลังอาคารพาณิชย์ทั้งสี่ชั้น ให้สูงชิดติดกันแนวเขตที่ดินของโจทก์ เท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพว่าหากมีผู้มาก่อสร้างชิดติดกับแนวเขตที่ดินโจทก์ อาจทำให้บังทิศทางลม แสงสว่าง กับหน้าต่างและประตูด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์ได้ ซึ่งเป็นไปตามปกติและมีเหตุอันควรที่จะคาดหมายได้อยู่แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งที่ดินด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์จากผู้จัดสรรที่ดินและสร้างรั้วคอนกรีตผนังทึบชิดติดกับด้านหลังอาคารพาณิชย์ของโจทก์สูงประมาณ 3 เมตร จึงเป็นการใช้สิทธิตามปกติโดยมีเหตุอันควรถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิเกินส่วนซึ่งมีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมาย อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6702/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำโดยไม่สุจริตถือเป็นการละเมิด ผู้ฟ้องต้องชดใช้ค่าเสียหายค่าทนายความ
ในคดีก่อนที่จำเลยทั้งสามฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนการออกโฉนดที่ดิน ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง แต่จำเลยทั้งสามกลับนำคดีมาฟ้องโจทก์ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดิน และแบ่งแยกโฉนดที่ดินในส่วนที่จำเลยทั้งสามอ้างว่าเป็นของตนอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันและคดีถึงที่สุดไปแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าจำเลยทั้งสามไม่มีสิทธินำประเด็นที่ถึงที่สุดดังกล่าวมาฟ้องโจทก์แล้ว การที่จำเลยทั้งสามยังมาฟ้องโจทก์ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันถึงที่สุดไปแล้วนั้นมาฟ้องโจทก์อีกอันเป็นการฟ้องซ้ำ ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อสู้คดีปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของตนจากการกระทำอันไม่สุจริตของจำเลยทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และค่าว่าจ้างทนายความเข้าต่อสู้คดีกับจำเลยทั้งสามในเหตุที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการปกป้องสิทธิอันชอบธรรมของโจทก์ไม่ให้เสียไป จึงเป็นค่าเสียหายโดยตรงจากการที่จำเลยทั้งสามกระทำการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4857/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการก่อสร้างสะพานลอยปิดบังอาคารพาณิชย์ สร้างเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าสาธารณะ
การก่อสร้างสะพานลอยพิพาทริเริ่มขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมโดยตรงเพราะในขณะนั้นมิได้เป็นจุดที่มีประชาชนเดินข้ามถนนเป็นจำนวนมากแต่อย่างใด ลำพังการคาดการณ์ว่าเมื่อสร้างสะพานลอยพิพาทแล้วย่อมต้องมีประชาชนใช้ประโยชน์เป็นจำนวนยังไม่พอฟังว่าการสร้างสะพานลอยพิพาทเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์โดยแท้จริง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมร่วมกันกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยพิพาทเพื่อประโยชนในทางธุรกิจการค้าของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมอันเป็นการใช้สิทธิของตนเป็นเหตุให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินกว่าที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติหรือเหตุอันควร อันเป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชื่อทางการค้าและเครื่องหมายการค้า ห้ามใช้ชื่อคล้ายทำให้สับสน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งห้ากล่าวหาว่าร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 109 และ 110 ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าโดยหลอกลวงในแหล่งกำเนิดของสินค้าและเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ส่วนคดีนี้เป็นคดีแพ่งพิพาทกันในเรื่องสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างได้รับการจดทะเบียนว่าใครมีสิทธิดีกว่าและมีเหตุเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ หรือเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับทะเบียนเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าโดยตรง ประเด็นในคดีนี้จึงมีว่าใครมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าดีกว่ากัน คดีนี้ย่อมมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่งประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 46
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยที่ 3 ประกอบด้วยคำว่า KOBE และ GOBE เป็นสาระสำคัญ ซึ่งคำทั้งสองต่างใช้อักษรโรมันตัวพิมพ์ใหญ่ 4 ตัว มีเสียงเรียกขานเหมือนกันว่า โกเบ และใช้กับสินค้าลวดเชื่อมโลหะเหมือนกัน กล่องบรรจุสินค้ามีสีเหมือนกัน ขนาดเท่ากัน ตัวอักษรบนกล่องและการวางตำแหน่งตัวอักษรคล้ายกัน เมื่อคำนึงถึงว่าส่วนใหญ่ของสาธารณชนมิได้มีความรู้ภาษาอังกฤษดีพอที่จะแยกความแตกต่างของตัวอักษรด้วยแล้ว ย่อมเป็นไปได้ง่ายที่สาธารณชนจะเกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 จึงเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า KOBE จนถึงกับเป็นการลวงสาธารณชนให้สับสนหรือหลงผิด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 3 ได้
คำว่า KOBE ที่โจทก์ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าในการประกอบการค้าของโจทก์เป็นทรัพย์สินอย่างหนึ่งของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อประกอบการค้าผลิตภัณฑ์ลวดเชื่อมโลหะเช่นเดียวกันกับโจทก์ โดยใช้ชื่อว่า บริษัทเค โอ บี อี เวลดิ้ง จำกัด ซึ่งเขียนด้วยอักษรโรมันว่า KOBE WELDING CO., LTD พ้องกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและชื่อทางการค้าของโจทก์ กับนำชื่อภาษาอังกฤษของจำเลยที่ 1 ไปพิมพ์ที่กล่องบรรจุสินค้าของจำเลยที่ 1 ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เป็นการมุ่งแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์โดยไม่สุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงละเมิดสิทธิของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5, 18, 420 และ 421 โจทก์ผู้มีสิทธิโดยชอบที่จะใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าวซึ่งต้องเสื่อมเสียประโยชน์จากการใช้ชื่อโดยมิชอบของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามจำเลยที่ 1 มิให้ใช้ชื่อ เค โอ บี อี เวลดิ้ง หรือ KOBE WELDING ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ในการบังคับจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนิติบุคคลด้วยที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของจำเลยที่ 1 โดยมิให้ใช้คำว่า เค โอ บี อี หรือ โกเบ ด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1784/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยใช้ชื่อทางการค้าของผู้อื่น ก่อให้เกิดความสับสนและเสียหายแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้า
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำชื่อทางการค้าคำว่า "HITACHI" และ "ฮิตาชิ" ของโจทก์ไปใช้ในเชิงธุรกิจ เมื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นกิจการเช่นเดียวกับกิจการของโจทก์หรือบริษัทในเครือ จึงมีโอกาสที่สาธารณชนจะหลงผิดเข้าใจว่า กิจการของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นกิจการในเครือ หรือเป็นสาขาหรือมีส่วนสัมพันธ์กับโจทก์ จึงเป็นไปโดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ทั้งเป็นการจดทะเบียนชื่อนิติบุคคลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะอาจทำให้สาธารณชนเกิดความหลงผิดได้ โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ระงับความเสียหาย และขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยที่ 1 และที่ 3 ใช้ชื่อดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 421 และตามระเบียบสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลางว่าด้วยการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท พ.ศ.2538 ข้อ 20 (8)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14818/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์, การแจ้งความร้องทุกข์เพื่อปกป้องสิทธิ, เจ้าของลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม
คำฟ้องของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน อายุความ 1 ปี ในการเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คือวันที่โจทก์ทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลย โจทก์เพิ่งทราบเรื่องการแจ้งความร้องทุกข์ของจำเลยเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 อายุความ 1 ปี เริ่มต้นนับจากวันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กันยายน 2547 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ และกรณีไม่ต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 มาใช้บังคับ เพราะขณะที่ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์นั้น คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุดแต่อย่างใด
ลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมรวมถึงงานเรียบเรียงเสียงประสานด้วย เมื่อจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์งานดนตรีกรรมเพลง "น้ำตาฟ้า" ในส่วนของงานเรียบเรียงเสียงประสาน และปกในของเทปเพลงที่วางจำหน่ายทั่วไปโดยมีงานดังกล่าวอยู่ด้วยระบุรายละเอียดของเพลงนี้ว่า ส. เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองส่วนจำเลยเป็นผู้เรียบเรียงเสียงประสาน จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 62 วรรคสอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์โต้แย้งว่า จำเลยไม่มีลิขสิทธิ์ในงานเรียบเรียงเสียงประสานของงานดนตรีกรรมเพลง "น้ำตาฟ้า"
กรณีมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจว่า จำเลยถูกละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยเคยแจ้งให้มีการระงับการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยแล้ว จำเลยจึงชอบที่จะแจ้งความร้องทุกข์เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมายได้ ไม่ถือว่าเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย หรือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตซึ่งมีแต่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด การที่จำเลยแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางสาธารณประโยชน์ การรบกวนสิทธิ และอำนาจฟ้องของผู้ได้รับความเสียหาย
ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยทำการไถทางแล้วปลูกต้นสักในเส้นทางดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้วเพราะตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
of 37