คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1337

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 210 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4840/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองพื้นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน (ไหล่ทาง) โดยไม่ชอบ ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิมให้รื้อถอน
ที่พิพาทเป็นไหล่ทางของทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) กรมธนารักษ์ซึ่งรับมอบที่พิพาทคืนจากกรมทางหลวงและจังหวัดฉะเชิงเทราผู้รับมอบช่วงจากกรมธนารักษ์เพื่อดูแลรักษาไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปให้เอกชนรายใดใช้ประโยชน์เป็นการเฉพาะตัว แม้กรมทางหลวงจะหมดความจำเป็นในการใช้สอยและส่งคืนแล้ว แต่ที่พิพาทอยู่ในเขตทางหลวงมิใช่ที่ราชพัสดุตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 2 ประกอบข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 มาตรา 4 และแม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ก็ตาม ที่พิพาทก็ยังเป็นไหล่ทางซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงอยู่และยังคงสภาพเดิม เว้นแต่ทางราชการจะเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง (1) แล้วเท่านั้น ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในที่พิพาท การที่จังหวัดฉะเชิงเทราอนุญาตให้จำเลยเช่าที่พิพาทจึงเป็นการให้เช่าโดยปราศจากอำนาจ สัญญาเช่าดังกล่าวไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิครอบครองเหนือที่พิพาทตามสัญญาเช่าได้
การที่จำเลยสร้างเพิงบนไหล่ทางหลวงพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ล้อมรั้วสังกะสีปิดกั้นระหว่างทางหลวงกับที่ดินของโจทก์ ย่อมกระทบสิทธิของโจทก์ในอันที่จะใช้ทางหลวงนั้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเพิงและทรัพย์สินออกไปจากที่พิพาทและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9183/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิใช้ทางสาธารณประโยชน์ การรบกวนสิทธิ และอำนาจฟ้องของผู้ได้รับความเสียหาย
ที่ดินของโจทก์อยู่ติดกับทางพิพาทซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ โจทก์ชอบที่จะใช้สอยทางพิพาทได้ การที่จำเลยเข้ายึดถือครอบครองโดยทำการไถทางแล้วปลูกต้นสักในเส้นทางดังกล่าว ย่อมเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ในการใช้เส้นทางสาธารณประโยชน์ อันถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 421 และ 1337 โดยไม่จำต้องคำนึงว่าโจทก์มีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะหรือไม่ ทั้งไม่ต้องคำนึงว่าประชาชนเลิกใช้เส้นทางดังกล่าวแล้วเพราะตราบใดที่ยังไม่มีการประกาศยกเลิกโดยทางการก็ยังคงสภาพเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่ การกระทำของจำเลยเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2341/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำทางร่วมและละเมิดสิทธิ โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ แม้จะมีการกระทำละเมิดจากผู้อื่น
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ต่อเติมแนวกันสาดจากอาคารมากเกินความจำเป็นและไม่ได้วางแผงขายสินค้าบนถนน ฎีกาของจำเลยที่ว่ากระทำของจำเลยไม่เป็นละเมิด เพราะโจทก์ยินยอมแล้วเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงขัดแย้งแตกต่างไปจากคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำเลยต่อเติมแนวกันสาดและนำสินค้ามาวางขายบนถนนเป็นการรบกวนสิทธิของโจทก์ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารศูนย์การค้าย่อมมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 แม้เจ้าของร้านค้ารายอื่นจะกระทำการรบกวนสิทธิของโจทก์ด้วย แต่เมื่อโจทก์ประสงค์จะยังความเสียหายหรือเดือดร้อนซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลยให้สิ้นไป การที่โจทก์ฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยจึงหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การก่อสร้างกำแพงในที่ดินของตนเพื่อป้องกันกลิ่นจากห้องน้ำของผู้อื่น ไม่เป็นการละเมิด
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การก่อสร้างกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำในอาคารของโจทก์กับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศของโจทก์ซึ่งอยู่ถัดไปเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้รื้อถอนกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนออกไปด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารและก่อกำแพงของจำเลยเป็นการขัดขวางรบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์ และเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกำหนดจากส่วนหนึ่งของคำฟ้องและคำให้การที่คู่ความโต้แย้งกันว่า การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ด้วยว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย การก่อสร้างกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5139/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเจ้าของทรัพย์สินโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่น กรณีการกีดขวางการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดินของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 การเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ ทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4215/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่และบดบังทัศนียภาพ ทำให้เจ้าของที่ดินเสียหาย
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าอาจให้เช่าได้เดือนละ 60,000 บาท แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงเดือนละ 5,000 บาท โจทก์มิได้ฎีกา ส่วนจำเลยฎีกาโต้แย้งว่าค่าเสียหายควรต่ำกว่านั้น จึงถือได้ว่าเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่อาจให้เช่าได้ขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
คำฟ้องโจทก์ตอนท้ายได้บรรยายแล้วว่า โจทก์ประสงค์จะนำที่ดินไปทำประโยชน์โดยทำเป็นท่าเรือขนส่งสินค้า จึงให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งบังหน้าที่ดินของโจทก์ทั้งหมดออกไป และบรรยายฟ้องต่อไปอีกว่า การที่จำเลยไม่รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนแม้จะปลูกนอกเขตที่ดินโจทก์ แต่บังหน้าที่ดินทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้หน้าที่ดินที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทำประโยชน์ได้ ขอให้รื้อถอนบ้านจำเลยบางส่วนออกไปจากหน้าที่ดินพิพาทด้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย เป็นกรณีที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า การที่จำเลยใช้สิทธิปลูกบ้านในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือควรคาดหมายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์บังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านที่ปลูกบังหน้าที่ดินโจทก์ทั้งยังมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนจากจำเลยได้อีก จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประกอบกิจการโรงงานสร้างความเดือดร้อน – สิทธิในการเยียวยาและบังคับตามคำพิพากษา
จำเลยทั้งสองประกอบกิจการโรงงานส่งเสียงดังและมีการพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายแก่อนามัยและเดือดร้อนรำคาญอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 นอกจากนี้โจทก์ทั้งสองมีสิทธิจะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป โดยไม่ลบล้างสิทธิที่จะเรียกเอาค่าทดแทนตามมาตรา 1337 อีกด้วย แต่จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของโรงงานย่อมมีสิทธิที่จะใช้สอยโรงงานอันเป็นทรัพย์สินของตนได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลที่ห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายและเดือนร้อนรำคาญแก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองชอบที่จะขอให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญระงับสิ้นลง การตั้งโรงงานของจำเลยแม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.โรงงานฯ แต่เป็นการกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8309/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการประกอบกิจการก่อเสียงดัง-กลิ่นเหม็น สิทธิในการป้องกันความเสียหาย และขอบเขตค่าเสียหายที่ได้รับ
การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสองก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นรบกวนสิทธิที่จะอยู่อาศัยในเคหะสถานของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหาย หรือเดือดร้อนรำคาญให้สิ้นไป ได้แก่การดำเนินการให้จำเลยทั้งสองหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นหรือหาวิธีป้องกันมิให้เกิดเสียงดังและส่งกลิ่นเหม็นอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสอง
เมื่อศาลมีคำพิพากษาห้ามมิให้จำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงดังและพ่นสีส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้ว หากจำเลยทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล โจทก์ทั้งสองชอบที่จะให้บังคับคดีได้ ซึ่งย่อมทำให้ความเสียหายหรือเดือดร้อนรำคาญจากเสียงดังและกลิ่นเหม็นนั้นระงับสิ้นไป ไม่เป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์อีกต่อไป
การตั้งโรงงานของจำเลยทั้งสอง แม้จะเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และสมควรจะย้ายไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมตามที่โจทก์อ้างมา ก็เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำผิดต่อรัฐ พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่กำกับและดูแลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองย้ายโรงงานไปอยู่ที่อื่น
ค่าใช้จ่ายในการป้องกันเสียงดังและระงับกลิ่นเหม็น อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในบ้านโจทก์ทั้งสอง ค่าใช้จ่ายในการกู้เงินมาสร้างบ้านอีกหนึ่งหลัง และค่าใช้จ่ายที่ต้องจ้างคนเฝ้าบ้านนั้น มิใช่ผลธรรมดาที่เกิดจากเหตุกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสอง แต่เป็นความเสียหายที่ไกลเกินเหตุ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจำกัด, ศาลคืนค่าขึ้นศาล, ประเด็นค่าเสียหายเกินคำขอไม่ฟัง
แม้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนการพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกกัน หาใช่คิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทุกคนรวมกันไม่ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท และจำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหาย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการปลูกสร้างอาคารสูงของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และมีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ แม้ตามคำขอจะมิได้มีข้อความระบุโดยชัดแจ้งเรื่องค่าทดแทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 มาด้วยก็ตาม ก็พอถือได้ว่ามีประเด็นพิพาทเรื่องค่าทดแทนความเสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ด้วย
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 465,000 บาท เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นค่าเสียหายจำนวน 340,000 บาท จึงต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินติดทางสาธารณะ: การกีดขวางทางออกไม่ใช่เหตุให้บังคับรื้อถอน หากที่ดินส่วนบุคคลไม่ได้เชื่อมต่อโดยตรง
ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทางหลวง แต่ก็มิใช่ตัวทางหลวง ไม่ว่าจะเป็นผิวจราจรหรือทางเท้า ที่ดินของโจทก์จึงมิได้เชื่อมกับถนนกันตังเนื่องจากยังมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ หากโจทก์จะเข้าออกระหว่างที่ดินของโจทก์กับถนนกันตัง โจทก์จะต้องผ่านที่ดินพิพาทเสียก่อนซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำถนนจากที่ดินของโจทก์ต่อเชื่อมกับถนนกันตังโดยผ่านที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินของโจทก์มิได้ติดต่อกับถนนกันตังมาแต่เดิมเนื่องจากมีที่ดินพิพาทคั่นอยู่ และจำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเป็นของตน โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายเป็นพิเศษเนื่องจากจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทกีดขวางทางออกสู่ถนนกันตังหาได้ไม่กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 421 และมาตรา 1337 ในอันที่โจทก์จะขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและต้นมะพร้าวออกจากที่ดินพิพาทได้
of 21