พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันและผู้จำนองหลังแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2492/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำนอง & ค้ำประกัน: ข้อตกลงผิดกฎหมายไม่ผูกพันจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงยอมรับผิดชดใช้เงินที่ขาดจำนวนหากขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองได้น้อยกว่าที่ค้างชำระจนครบถ้วน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 727/1 จึงตกเป็นโมฆะ อันมีผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดในหนี้นั้นเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองในเวลาที่บังคับจำนอง แต่กรณีดังกล่าวหามีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ จำเลยที่ 2 ยังคงมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน แม้จะไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ก็ตาม ดังนั้น หากขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 แล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำต้องระบุในท่อนพิพากษาว่าหากบังคับจำนองเอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แล้ว ได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้โจทก์ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่ขายทอดตลาดที่ดินทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 3 แล้ว ได้เงินไม่พอชำระ อาจทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการตีความในชั้นบังคับคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขโดยระบุให้ชัดเจนว่า หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบ