คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ม. 14

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4777/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัด, การบังคับจำนอง, และผลกระทบจากพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ธนาคาร ก. เป็นธนาคารพาณิชย์อันเป็นสถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เมื่อตามคำสั่งที่ 34/2539 เรื่องอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดของธนาคาร ก. อันเป็นคำสั่งหรือประกาศที่ใช้บังคับในขณะทำสัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทกำหนดอัตราดอกเบี้ยปกติไว้ร้อยละ 16.5 ต่อปี และอัตราผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขร้อยละ 19 ต่อปี การที่สัญญากู้และสัญญาจำนองฉบับพิพาทระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยและ พ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข ทั้งที่ในขณะนั้นจำเลยและ พ. ผู้เป็นลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใดจึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ก. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ข้อตกลงในส่วนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ แม้ว่าความเป็นจริงแล้วโจทก์จะยังมิได้คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามที่โจทก์อ้างมาในฎีกา ก็หาเป็นผลให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายเป็นชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาได้
โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลย อันเป็นเวลาภายหลังจากวันที่ ป.พ.พ. มาตรา 728 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 มีผลใช้บังคับแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวด้วย กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเสียก่อนซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าวนั้น ถ้าและจำเลยละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว โจทก์จึงจะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดได้ โดยความในมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้ใช้มาตรา 728 ที่แก้ไขเพิ่มเติมบังคับแก่การบังคับจำนองที่ทำขึ้นนับแต่วันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย ดังนั้น เมื่อหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้จำนองภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือบอกกล่าว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้สั้นกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้และเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองที่ไม่ชอบ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับจำนองแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16376/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, การคิดดอกเบี้ยตามประกาศธนาคาร, และการปรับปรุงคำพิพากษา
ขณะจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2536 กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (เอ็ม แอล อาร์) ร้อยละ 11.5 ต่อปี ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ร้อยละ 13.25 ต่อปี แต่ในสัญญากู้ยืมเงินระบุดอกเบี้ยไว้อัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขการชำระหนี้ แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยมิได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์พึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งโจทก์ออกประกาศดอกเบี้ยและส่วนลดตามอัตราดอกเบี้ยแต่ละกรณีตามประกาศดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญาเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ อันต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จึงเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จากจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ โดยมีการส่งหนังสือทางไปรษณีย์ไปตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 แต่ส่งไม่ได้เนื่องจากไม่มารับภายในกำหนด กำหนดระยะเวลาที่ให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือยังไม่อาจเริ่มนับ จึงให้ถือเอาวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นวันที่เริ่มคิดดอกเบี้ยเงินกู้
ส่วนดอกเบี้ยสำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี คงที่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยและประกาศอัตราดอกเบี้ยว่าโจทก์ประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นระยะ ๆ ดังนั้นหากนับถัดจากวันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นต้นไป โจทก์ประกาศอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 12.75 ต่อปี จะทำให้การคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ดังกล่าวเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าประกาศของโจทก์ในช่วงนั้นได้ จึงเห็นสมควรแก้ไขโดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 7 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2538 เป็นอัตราสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็ม อาร์ อาร์) ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามประกาศของโจทก์ แต่ไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 12.75 ต่อปี ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามภาวะตลาดการเงิน ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ ซึ่งออกตามความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13019/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา การลดเบี้ยปรับ และความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดเป็นอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นั้น เป็นการกำหนดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติก่อนผิดนัด จึงมิใช่การลดเบี้ยปรับ ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดเบี้ยปรับให้ถูกต้อง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างประกอบกับโจทก์มิได้นำสืบพยานหลักฐานให้เห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายถึงอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดตามที่โจทก์ประกาศในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าว จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาดังกล่าวบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ อย่างไรก็ตาม หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ แต่ละฉบับ การคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งเป็นเบี้ยปรับในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ในแต่ละช่วงเวลาบวกกับอัตราร้อยละ 0.1 ต่อปี จึงต้องนับจากวันที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เป็นดอกเบี้ยให้โจทก์บางส่วนตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 30 ฉบับ พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้ที่สูงเกินไปเป็นโมฆะ การหักชำระดอกเบี้ยที่เคยชำระแล้วออกจากต้นเงิน และการแก้ไขคำพิพากษา
การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้
การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดแจ้ง, ดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียมผิดกฎหมาย, ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษา
การที่โจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยขาดไป 1 หน้า จำเลยอาจจะติดต่อขอรับจากศาลหรือขอคัดถ่ายเอกสารจากศาลได้ ไม่ทำให้คำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายกลายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การประกอบธุรกิจของโจทก์อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 การเรียกดอกเบี้ยจะต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งในขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้จะต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้แล้วส่งสำเนาประกาศไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมในการกู้ยืมเงินจากจำเลยอัตราร้อยละ 0.5 ของวงเงินที่กู้หรือ 1,500 บาท โดยหักจากต้นเงินที่จะจ่ายให้แก่จำเลย
ตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของโจทก์มิได้กำหนดให้เรียกเบี้ยปรับในกรณีชำระล่าช้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับในการชำระเงินล่าช้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8168/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย: สัญญาเป็นโมฆะ แม้ธนาคารคิดดอกเบี้ยภายในกรอบประกาศ แต่การหักชำระหนี้ต้นเงินชอบด้วยกฎหมาย
ธนาคาร ก. ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เมื่อข้อตกลงตามสัญญากู้ยืมที่ธนาคาร ก. ทำกับจำเลยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และประกาศธนาคาร ก. เรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนสินทรัพย์หนี้สินรายจำเลยมาและคิดดอกเบี้ยตามประกาศทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ธนาคาร ก. มีสิทธิเรียกจากลูกค้าได้ในขณะทำสัญญานั้นจึงเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ ฯ มาตรา 14 เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินดังกล่าวร้อยละ 19 ต่อปี จึงเป็นโมฆะแม้ตามความเป็นจริงธนาคาร ก. จะคิดดอกเบี้ยภายในกรอบของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคาร ก. ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยรับผิดชำระดอกเบี้ยก่อนผิดนัด แต่เมื่อเป็นหนี้เงินโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยเป็นเพียงลูกค้าของธนาคาร ก. ที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และจำเลยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญากู้เงินแล้วธนาคาร ก. นำเงินไปจัดการหักชำระหนี้ต่าง ๆ ตามจำนวนหนี้ที่ธนาคารคิดคำนวณขึ้นมาเองนั้น กรณีไม่อาจถือว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยอันตกเป็นโมฆะตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยชำระดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะไปหักชำระหนี้ต้นเงินจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดเป็นโมฆะ หากเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด สิทธิการเรียกร้องหนี้และการหักชำระหนี้
แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้าง และร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ดังนั้นเงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ ผู้รับซื้อหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้
แม้ตามสัญญากู้เงินมีข้อความว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ให้แก่ธนาคาร ก. ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป และยอมให้ธนาคารเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ตามแต่ธนาคารจะเห็นสมควรแต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินกว่าอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ และตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันจะระบุว่า จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้รับจำนองในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ไว้เช่นกันก็ตาม แต่อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าวนั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีลูกค้าผิดนัดหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศเรียกเก็บได้ เมื่อประกาศธนาคาร ก. ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งใช้บังคับขณะทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนองระหว่างธนาคารกับจำเลย กำหนดให้ธนาคารเรียกเก็บดอกเบี้ยและส่วนลดในกรณีลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และเรียกเก็บจากลูกค้าทั่วไปทุกประเภทและไม่ผิดเงื่อนไขในการผ่อนชำระในอัตราที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) คืออัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี บวกร้อยละ 2 ต่อปี รวมเป็นอัตราร้อยละ 16.50 ต่อปี การที่ธนาคารกำหนดดอกเบี้ยที่จะเรียกจากจำเลยในสัญญากู้เงินและสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองไว้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ให้เรียกเก็บกรณีลูกค้าผิดเงื่อนในการผ่อนชำระ โดยจำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา มิใช่อัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่จะเรียกเก็บจากลูกค้านับแต่วันทำสัญญาเช่นนี้จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศของธนาคาร ก. ไม่เป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด อันเป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) การกำหนดดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ
แม้ความเป็นจริงธนาคารจะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังทำสัญญาในบางช่วงไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองก็ตาม ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลับเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ ธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองได้ แต่เนื่องจากหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงิน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เมื่อโจทก์รับซื้อและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
เมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์ในฐานะผู้รับโอนสิทธิจากธนาคาร ก. จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระมาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้จึงต้องนำไปชำระต้นเงินทั้งหมด ส่วนวันผิดนัดที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด เห็นว่า จำเลยต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเป็นรายเดือนภายในวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และตามคำฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเดือนตุลาคม 2541 หลังจากนั้นไม่ชำระ ถือว่าจำเลยผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปซึ่งย่อมหมายความว่าจำเลยจะผิดนัดไม่ชำระหนี้ของงวดเดือนพฤศจิกายน 2541 ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดวันสิ้นเดือนของเดือนพฤศจิกายน 2541 ไปแล้ว คือตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2541 เป็นต้นไป ซึ่งปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชอบตรงตามคำฟ้องและตามกฎหมายเพียงใดนั้นเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้, บังคับจำนอง, ดอกเบี้ยผิดนัด, ทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินจำนองและจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาทรัสต์รีซีท: อัตราดอกเบี้ย, การชำระหนี้, และการบังคับคดี
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี
จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้าไว้ 4 อัตรา ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคาร ม. และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคาร ม. เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383
ธนาคาร ม. มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับกับจำเลยที่ 1 เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
of 3