คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 243 (1) (2)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3398/2542 เวอร์ชัน 4 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระบวนการพิจารณาฎีกาและการสั่งรับหรือไม่รับฎีกา: ความถูกต้องตามขั้นตอนและอำนาจศาล
เมื่อจำเลยฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่นั่งพิจารณาคดีรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาและคำร้องขอฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถาว่า รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ก่อนจึงจะพิจารณาสั่ง ต่อมาผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่นั่งพิจารณาคดีนี้ไม่รับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็ชอบที่จะสั่งยกคำร้องขอฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถานั้นเสียโดยไม่ต้องไต่สวนคำร้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 156 วรรคสามแต่ศาลชั้นต้นต้องกำหนดให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมชั้นฎีกามาชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดก่อน เมื่อถึงกำหนดแล้วไม่ชำระจึงจะสั่งในฎีกาของจำเลยว่ารับหรือไม่รับฎีกา ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 18 ศาลชั้นต้นยังไม่ควรก้าวล่วงไปสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเสียในตอนนี้ เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ถูกต้อง และศาลอุทธรณ์ไม่ได้แก้ไข ศาลฎีกาจึงอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 แก้ไขให้ถูกต้องโดยให้ศาลชั้นต้นสั่งฎีกาของจำเลยเสียใหม่ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 156 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2245/2526 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความจำนอง-ฟ้องเคลือบคลุม-ผิดนัดชำระหนี้: สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 189 และผลของการผิดนัด
คดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงแล้วยกฟ้องโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์ โดยฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนได้ โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทของ ต. ผู้ตาย เพื่อให้จำเลยไถ่ถอนที่ดินที่ ต. จำนองประกันหนี้เงินกู้ไว้ แม้จะฟ้องหลังจาก ต. ตายไปแล้วเกิน 1 ปี คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามแล้วก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็บัญญัติยกเว้นมิให้บังคับแก่กรณีสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ตามมาตรา 189 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้
เมื่อฟ้องไม่ยืนยันว่า ต. ไม่ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เลย หรือผิดนัดชำระแต่เมื่อใด จึงไม่สามารถคำนวณดอกเบี้ยได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงไม่ชัดแจ้ง เป็นฟ้องเคลือบคลุม โจทก์จะเรียกให้จำเลยชำระดอกเบี้ยที่ค้างไม่ได้
โจทก์ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายใน 15 วัน จำเลยอ่านข้อความแล้วไม่ยอมเซ็นรับหนังสือ ดังนี้ เมื่อครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันส่งหนังสือแก่จำเลย จำเลยมิได้ชำระหนี้ ถือได้ว่าจำเลยผิดนัด โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันผิดนัดเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1172/2514 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กระบวนการพิจารณาคดีที่ผิดระเบียบ: ศาลอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขแม้ไม่มีการอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 2 และ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในฐานที่จำเลยที่ 1 และ 2 เป็นนายจ้างของผู้ขับรถโดยประมาทและจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยความปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณาแล้วพิพากษาคดีโดยจำเลยที่ 1 ไม่ทราบวันนัดสืบพยานและวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น เป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ พิพากษาให้เพิกถอนเสียแล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาพิพากษาเสียใหม่ได้ แม้จะไม่มีฝ่ายใดยกปัญหาข้อนี้อุทธรณ์ขึ้นมาก็ตาม