คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ม. 31

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2689/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์: การรับฟังพยานก่อนฟ้อง, อำนาจศาล, และการพิสูจน์ข้อเท็จจริง
คำฟ้องโจทก์บรรยายถึงรายละเอียดการกระทำผิดของจำเลยข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ ทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้อง โดยระบุสถานที่เกิดเหตุในประเทศไทย มิได้ระบุว่าสถานที่เกิดเหตุนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด แม้ตามฟ้องมีการระบุถึงการกระทำที่หลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคนสัญชาติลาว และผลการหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ได้นำพาผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นคนสัญชาติลาว เข้ามาในราชอาณาจักรไทยให้จำเลยรับไว้ที่จังหวัดหนองคายก็ตาม ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในฟ้องถึงการกระทำของจำเลยนอกราชอาณาจักร และแม้หากมีการหลอกลวงของจำเลยต่อผู้เสียหายที่ 2 นอกราชอาณาจักร ก็เป็นเพียงการตระเตรียม พยายาม หรือการกระทำส่วนหนึ่งเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเท่านั้น ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 5 ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรทั้งสิ้น กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 20 ที่บัญญัติ ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
การสืบพยานก่อนฟ้องตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 ไม่มีเงื่อนไขให้ต้องรอหรือแจ้งผู้ต้องหา จำเลย หรือทนายมาถามค้านก่อนสืบพยานแต่อย่างใด เพราะศาลต้องสืบพยานทันทีที่ได้รับคำร้องและเป็นผู้ไต่สวนค้นหาความจริงรวมถึงถามค้านแทนฝ่ายผู้ต้องหาหรือจำเลย และแม้หากมีจำเลยหรือทนายมา ศาลก็อาจไม่อนุญาตให้ถามค้านก็ได้ การมิได้ถามค้านจึงมิใช่เหตุที่ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นสืบพยานก่อนฟ้องรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 503-505/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีค้ามนุษย์และประมวลกฎหมายอาญา: ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ ไม่พบหลักฐานค้ามนุษย์และให้รอการลงโทษ
โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้สำนวนแรกภายหลังวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ แต่ก่อนฟ้องคดีต่อศาลและก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้สืบพยานไว้ล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 31 โดยศาลชั้นต้นสืบพยานรายผู้เสียหายที่ 1 ไว้ล่วงหน้าแล้ว ย่อมถือว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 ใช้บังคับ มาใช้บังคับต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด การฎีกาของโจทก์จึงเป็นไปตามสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่กรณีต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559