คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
รัชนี สุขใจ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 24 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2602/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ตามมาตรา 5 และมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 สถานศึกษาของเอกชนที่จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การศึกษาในระดับปริญญา ทำการสอน การวิจัยและการอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 แม้จะยังไม่มีการเรียนการสอน สถานศึกษาเอกชนนั้นย่อมมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และจากบทบัญญัติของมาตรา 9 มหาวิทยาลัยจึงเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนประเภทหนึ่งที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในด้านวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงหลายสาขาวิชา เพื่อให้ประกาศนียบัตร อนุปริญญา หรือปริญญาแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในหลายระดับรวมถึง ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งการทำการวิจัยและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 10 คือ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และแม้มหาวิทยาลัย ป. ยังไม่มีการเรียนการสอน แต่จากข้อมูลในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยระบุชัดว่า มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมด้านการศึกษา ภาษา วัฒนธรรม การกีฬา และสาธารณสุข ทั้งยังมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษา เช่น หัวข้อเกี่ยวกับนักศึกษาใหม่ หลักสูตรการเรียนการสอน และคณาจารย์ไว้ชัดแจ้ง แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย ป. จัดตั้งขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายในการจัดการศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ มหาวิทยาลัย ป. จึงมีสถานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามความในมาตรา 8 และ 9 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจัดตั้งมหาวิทยาลัยโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกับนำข้อมูลต่าง ๆ ลงในเว็บไซต์ จัดให้มีพิธีสถาปนาคณาจารย์ นักวิชาการ คณะทำงานของมหาวิทยาลัย ป. และมอบปริญญากิตติมศักดิ์ให้กับบุคคลต่าง ๆ อันเป็นการแสดงออกให้บุคคลทั่วไปที่พบเห็นหลงเชื่อว่ามหาวิทยาลัย ป. มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญา การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต
การบรรยายฟ้องของโจทก์สามารถแยกเจตนาของจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1.1 ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และข้อ 1.2 ฐานร่วมกันจัดการศึกษาระดับปริญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
แม้คดีทั้งสองดังกล่าวโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 2 โดยกล่าวหาว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและร่วมกันจัดการศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าตนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการศึกษาระดับปริญญาเช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ทั้งสองคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อมหาวิทยาลัย ส. และมหาวิทยาลัย ส. 2 ซึ่งเป็นคนละมหาวิทยาลัยกับคดีนี้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับทั้งสองคดีดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2204/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา: ทนายความต้องดำเนินการด้วยตนเอง
ไม่ปรากฏในสำนวนว่าจำเลยทั้งสองได้ตั้งแต่ง ณ. เป็นทนายความและ ณ. มิได้ทำหน้าที่เป็นทนายความจำเลยทั้งสองมาก่อนที่จะมีการยื่นฎีกา ณ. จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแทนจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60, 61 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งการที่จำเลยทั้งสองตั้งแต่ง ส. เป็นทนายความและ ส. เคยมอบฉันทะให้ ณ. เป็นเสมียนทนายทำการแทนในกิจการยื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 3 รับทราบคำสั่งศาล รับทราบกำหนดวันนัด รับเอกสารจากศาล ตรวจสำนวน รวมถึงให้ถ้อยคำแถลงต่อศาลและแก้ไขข้อความที่พิมพ์ผิดพลาดได้ ก็ไม่ทำให้ ณ. เสมียนทนายจำเลยทั้งสองมีอำนาจทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา เพราะทนายความอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำการแทนได้ในกิจการที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 64 เท่านั้น โดยไม่รวมถึงกิจการสำคัญเกี่ยวกับคดีซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองเช่นการทำคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา มีผลทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฎีกาและฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกำหนดระยะเวลาฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1018/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดวันคดีถึงที่สุดในคดียาเสพติด และการใช้บทบัญญัติทางอาญาที่เป็นคุณ
การที่จะนำบทบัญญัติของกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 3 มาใช้บังคับในฐานกฎหมายที่เป็นคุณได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นำมาใช้บังคับแก่ความรับผิดทางอาญาของผู้กระทำความผิดเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายทำให้อายุความสะดุดหยุดนับใหม่ได้
จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับจากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมจึงต้องรับผิดซำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมในการซื้อสินค้าและบริการพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
of 3