คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ม. 52

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6046/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองสิทธิผู้รับจำนองในคดีฟอกเงิน: สิทธิได้รับดอกเบี้ยจนถึงวันขายทอดตลาด
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 52 เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สิน เมื่อผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของตนตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 715 บัญญัติว่า จำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ คือ ดอกเบี้ย ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 2 ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต้นเงินที่คงเหลือตามสัญญาจำนองพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิของผู้รับจำนองตามกฎหมาย ย่อมไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7293/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอคืนทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน: เจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่ยื่นคำร้องได้ เจ้าหนี้บังคับคดีไม่มีสิทธิ
ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ส่วนผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินคงมีสิทธิขอให้คุ้มครองสิทธิของตนในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเท่านั้น
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ไว้ก่อนศาลสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น เพื่อจะได้ขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่ตน เพราะเท่ากับเป็นการคืนทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินให้ไปเป็นประโยชน์ในการชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มุ่งสกัดมิให้ทรัพย์สินซึ่งมีที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกนำไปใช้อย่างทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สิน ไม่ได้ทรัพย์สินไปเป็นของตนแต่อย่างใด คงมีเพียงสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินนั้นเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสิทธิที่ตนมีอยู่เดิม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8780/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นคำร้องคัดค้านทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน: ต้องพิสูจน์เหตุไม่สามารถยื่นก่อนศาลมีคำสั่ง
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลมีคำสั่ง..." และตามมาตรา 53 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 51 หากปรากฏในภายหลังโดยคำร้องของเจ้าของ ผู้รับโอน หรือผู้รับประโยชน์ทรัพย์สินนั้น ถ้าศาลไต่สวนแล้วเห็นว่า กรณีต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 50 ให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินนั้น..." และในวรรคสองบัญญัติว่า "คำร้องตามวรรคหนึ่งจะต้องยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่คำสั่งศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และผู้ร้องต้องพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการหรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น" ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นว่า ผู้รับประโยชน์ในทรัพย์สินอาจยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนได้ 2 กรณี กล่าวคือ กรณีแรกต้องยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 50 วรรคสอง และกรณีที่สองยื่นคำร้องภายหลังจากศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 53 โดยผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องภายใน 1 ปี นับแต่คำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินถึงที่สุด และพิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ก่อนศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีการส่งหนังสือแจ้งประกาศของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2546 เรื่อง ประกาศศาลแพ่ง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ไปยังสำนักงานใหญ่ของผู้คัดค้านที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ซึ่งมีพนักงานของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับเอกสารดังกล่าวไว้แทน ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศดังกล่าวเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในวันที่ 2 ธันวาคม 2547 ภายหลังจากที่ผู้คัดค้านที่ 6 ทราบประกาศดังกล่าวแล้วเกือบ 1 ปี ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ แต่ผู้คัดค้านที่ 6 กลับมิได้ดำเนินการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาดังกล่าว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 เพิ่งมายื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิของตนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน นานถึง 2 เดือน 16 วัน ผู้คัดค้านที่ 6 จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านก่อนศาลมีคำสั่งได้เพราะไม่ทราบถึงประกาศหรือหนังสือแจ้งของเลขาธิการ หรือมีเหตุขัดข้องอันสมควรประการอื่น เมื่อไม่ปรากฏเหตุขัดข้องใด ๆ ในคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 6 ประกอบกับในวันนัดไต่สวน ทนายผู้คัดค้านที่ 6 แถลงรับว่าจะนำสืบเฉพาะประเด็นความสุจริตในการรับจำนองที่ดินพิพาทเท่านั้น ทั้งผู้คัดค้านที่ 6 ทราบถึงประกาศของศาลชั้นต้น ถือได้ว่าผู้คัดค้านที่ 6 ไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่า เหตุใดจึงไม่สามารถยื่นคำร้องคัดค้านตามมาตรา 50 ได้ ดังนั้นกรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 53 วรรคสอง ผู้คัดค้านที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4175/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการใช้กฎหมายฟอกเงินย้อนหลัง: ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานโดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้และไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 40-41/2546