คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ขจรศักดิ์ บุญเกษม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 21 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดและค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า (เบี้ยปรับ) ที่ศาลพิจารณาแล้วเป็นจำนวนพอสมควร
สัญญาเช่าข้อ 10.3 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องรับผิดชอบชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า สอดคล้องกับข้อ 3.2 ซึ่งกำหนดว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยเหตุจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เช่าหรือผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลา ผู้เช่าตกลงให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้สัญญาเช่าข้อ 11 ยังระบุว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบกำหนดสัญญาแล้ว ไม่มีการต่อสัญญาออกไปตามข้อ 9 หรือโดยการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10 หรือด้วยเหตุอื่นใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อ 11.1 ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันที โดยมิจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครองยึดหน่วง และขนย้ายทรัพย์สินทั้งปวงที่อยู่ในทรัพย์สินที่เช่าออกไป รวมทั้งมีสิทธิดำเนินการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปด้วย และสัญญาจ้างบริการข้อ 8 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการใช้บริการได้ในกรณีสัญญาจ้างบริการสิ้นสุดโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของจำเลย แสดงให้เห็นว่าหากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจำเลยจะมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าอีกต่อไป รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการเช่าและเงินประกันการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าและสัญญาจ้างบริการก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันตามสัญญาเช่าข้อ 10.3 เมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระเสมือนหนึ่งเป็นการเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่เลิกกันไปแล้วหาได้ไม่ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่บอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญาโดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้าสัตว์ป่าคุ้มครองกับการมีสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองเป็นความผิดต่างกรรมกัน
นอกจากจำเลยจำหน่ายซากเป็ดแดง 54 ซาก ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพนักงานผู้จับกุมไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยยังพบนกอีโก้ง 2 ตัว ที่ยังมีชีวิตอยู่ในกรงขังภายในบริเวณบ้านของจำเลย การที่จำเลยมีนกอีโก้งซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีไว้เพื่อการค้า จึงเป็นการกระทำโดยมีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาในการกระทำความผิดต่างกัน ประกอบกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 บัญญัติแยกไว้คนละมาตรา โดยความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองและซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ในมาตรา 17 และมาตรา 92 ส่วนความผิดฐานค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองอยู่ในมาตรา 29 และมาตรา 89 วรรคหนึ่ง แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการแยกเป็นคนละความผิดต่างกระทงกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน กรณีไม่ต้องด้วยบทนิยามของคำว่า "ค้า" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4523/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: ยึดทรัพย์เพิ่มเมื่อทรัพย์จำนองไม่พอชำระหนี้ & ขยายเวลาบังคับคดี
แม้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้ต้องบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองก่อน หากไม่ครบจำนวนหนี้จึงจะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ก็ตาม แต่ทรัพย์จำนองมีราคาประเมินไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ ประกอบกับเหตุที่การขายทอดตลาดทรัพย์จำนองยังไม่เสร็จสิ้นนั้น มิใช่เกิดจากความผิดของโจทก์ ดังนั้น การยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยไว้ก่อน แต่ห้ามนำออกขายทอดตลาดจนกว่าจะมีการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองและได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนจึงค่อยนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาด ซึ่งไม่ขัดต่อขั้นตอนการบังคับคดี และน่าจะเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หาทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวไม่ โจทก์จึงมีสิทธินำยึดที่ดินดังกล่าวของจำเลยเพิ่มเติมได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4457/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การบังคับคดีและการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้จำนอง
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 29 กำหนดเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดได้ก็ต่อเมื่อห้องชุดดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 โดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้คราวที่สุดจากนิติบุคคลอาคารชุดมาแสดง ส่วน พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2558 ซึ่งใช้บังคับในช่วงเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือไปยังผู้ร้อง ที่บัญญัติเพิ่มมาตรา 309 จัตวา ซึ่งวรรคสองและวรรคสามของมาตราดังกล่าวเป็นทำนองเดียวกับมาตรา 335 แห่ง ป.วิ.พ. ซึ่งใช้บังคับขณะเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดนั้นเป็นเพียงการยกเว้นให้ไม่ต้องใช้หนังสือรับรองการปลอดหนี้ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 สำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดกรณีที่ซื้อห้องชุดได้จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี และให้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระแก่นิติบุคคลอาคารชุดในกรณีที่นิติบุคคลอาคารชุดแจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เพื่อมิให้ผู้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระ อันเป็นการจูงใจและลดอุปสรรคในการขายทอดตลาดห้องชุดให้สามารถจำหน่ายได้ในเวลาที่รวดเร็ว ส่งผลดีต่อผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีและระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม หาใช่บทบัญญัติที่เปลี่ยนแปลงลำดับบุริมสิทธิของค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 ให้เป็นอย่างอื่น หากนิติบุคคลอาคารชุดไม่แจ้งรายการหนี้ที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนดเวลา เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งยอดค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อเจ้าพนักงานที่ดิน จึงต้องด้วย พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) และวรรคสอง ที่บัญญัติว่า บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดและถ้าผู้จัดการได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3044/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษรวมกระทงและการลดโทษที่ถูกต้องตามกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง
คดีนี้จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษให้จำเลย แทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมเข้าด้วยกัน เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน แต่ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินที่อาจมีถึง 366 วันหรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีจันทรคติ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2862/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฟอกเงินโดยสมคบกันใช้บัญชีเงินฝากเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเงินจากการค้ายาเสพติด
จำเลยกับพวกต่างทราบดีอยู่แล้วว่าเงินที่ต่างเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องได้มาจากการค้ายาเสพติด โดยจำเลยกับพวกสมคบกันกระทำการเพื่อโอนและรับโอนเงินที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดนั้นด้วยเจตนาปกปิดแหล่งที่มาของเงินดังกล่าว อันเป็นการฟอกเงิน ด้วยการใช้บัญชีเงินฝากของ ท. ม. ส. อ. และ ว. เพื่อโอนและรับโอนเงิน แล้วจำเลยรวบรวมเงินที่ได้รับมาไปมอบให้แก่กลุ่มผู้ค้ายาเสพติด จึงต้องถือว่าการที่ ท. ม. ส. อ. และ ว. ฟอกเงินด้วยการโอนและรับโอนเงินที่ได้มาดังกล่าวเป็นการกระทำของจำเลยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งวงเงินจัดซื้อเพื่อหลีกเลี่ยงการสอบราคาและเอื้อประโยชน์ผู้เสนอราคา การกระทำผิด พ.ร.บ.เสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้ อ. ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท โดยแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคา แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้
ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ดำเนินการให้มีการจัดซื้อหรือจัดจ้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งวงเงินที่จะซื้อออกเป็น 3 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท จนทำให้อำนาจสั่งซื้อหรือสั่งจ้างเปลี่ยนไปจากวิธีสอบราคาเป็นวิธีตกลงราคา ที่เจ้าหน้าที่พัสดุสามารถติดต่อกับผู้ขายหรือผู้รับจ้างเพียงรายเดียวมาตกลงราคาได้โดยตรง และจำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งเจาะจงให้ซื้อจากร้าน ส. ซึ่งมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นการเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. ให้ได้เป็นผู้เข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ทั้งจำเลยที่ 1 ยังได้กระทำการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 22 วรรคสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายมิให้มีผู้เสนอราคารายอื่นเข้ามาแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม แม้การจะจัดซื้อโดยวิธีตกลงราคากันนั้น ต้องประกอบด้วยข้อเสนอของผู้ขายและคำสนองรับของผู้ซื้อเป็นสำคัญก็ตาม ทั้งยังปรากฏด้วยว่าร้าน ส. เพียงรายเดียวที่เข้ามาตกลงราคาวิทยาลัยการอาชีพ ม. จึงถือได้ว่าร้าน ส. โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐอันเกี่ยวกับการซื้อ ซึ่งเป็นการเสนอราคาตามบทนิยาม มาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 แล้ว อีกทั้งเมื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 บัญญัติว่า "ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม..." องค์ประกอบหลักของความผิดตามมาตรานี้ คือ กระทำการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม แสดงให้เห็นได้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นได้แม้จะมีผู้เสนอราคาเพียงรายเดียว โดยหาจำต้องมีผู้เสนอราคา 2 รายขึ้นไปไม่ จำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งวงเงินให้อยู่ในวงเงินที่สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 19 ที่แก้ไขแล้ว กำหนด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้มีผู้อื่นเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรมด้วยวิธีสอบราคาเพื่อเอื้ออำนวยแก่ร้าน ส. เพียงรายเดียวให้เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำสัญญากับวิทยาลัยการอาชีพ ม. โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐต้องเสียหาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ส่วนจำเลยที่ 3 ที่รู้ถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 และจัดหาวัสดุให้ในนามของร้าน ส. ที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย โดยจัดทำบิลส่งของนำวัสดุอุปกรณ์ตามรายการขอซื้อขอจ้าง มาส่งให้แก่วิทยาลัยการอาชีพ ม. ตามที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อหรือจัดจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทำการใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบ ป.อ. มาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2604/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีประกันอุบัติเหตุ: ประกันวินาศภัย 2 ปี vs. ประกันชีวิต 10 ปี
จำเลยรับประกันภัยจากโจทก์ตามกรมธรรม์อุบัติเหตุ โดยให้ความคุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุและทำให้ผู้ประกันเสียภัยชีวิต สูญเสียอวัยวะโดยสิ้นเชิง หรือสายตาโดยถาวรสิ้นเชิง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่เกิดอุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บที่ได้รับและทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องพักรักษาตัวติดต่อกันในฐานะผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลและเสียชีวิตเพราะการบาดเจ็บนั้น จะเห็นได้ว่ากรมธรรม์ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นการประสบอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิตเป็นสัญญาประกันชีวิตอย่างหนึ่งเพราะอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้เอาประกันเป็นเงื่อนไขแห่งการใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 889 แต่กรณีผู้เอาประกันไม่เสียชีวิตเพียงแต่สูญเสียอวัยวะ หรือสายตาโดยถาวรสิ้นเชิง หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง อันเป็นการถือเอาลักษณะการบาดเจ็บต่อผู้เอาประกันภัยเนื่องจากอุบัติเหตุเป็นเงื่อนไขในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยกำหนดจำนวนเงินแน่นอนสำหรับการชดใช้ ในส่วนนี้จึงหาใช่สัญญาประกันชีวิต แต่ถือว่าเป็นวินาศภัยอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ประสบอุบัติเหตุลื่นล้มในห้องน้ำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ แพทย์ลงความเห็นว่าโจทก์มีความพิการและถือว่าโจทก์ทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุแต่ไม่เสียชีวิต การฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุนี้จึงเป็นในส่วนของการประกันวินาศภัย ซึ่งต้องใช้อายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคแรก เมื่อโจทก์ประสบอุบัติเหตุวันที่ 5 ตุลาคม 2556 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 22 กันยายน 2561 เกินกว่า 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง: การชำระค่าจ้าง, การตรวจรับงาน, การแก้ไขข้อบกพร่อง, และการเลิกสัญญาโดยปริยาย
การสั่งแก้ไขข้อบกพร่องของงานย่อมต้องระบุรายการของงานและข้อที่อ้างว่าเป็นความบกพร่องเพื่อที่คู่สัญญาจะได้นําไปพิจารณาแก้ไข และที่สัญญากำหนดให้การสั่งแก้ไขข้อบกพร่องของงานให้กระทำโดยจําเลยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรก็ด้วยเจตนาให้เป็นหลักฐานชัดเจนเพื่อป้องกันการโต้แย้งกันที่อาจจะเกิดขึ้นได้ภายหลัง การทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรถึงโจทก์ตามสัญญาจึงย่อมหมายถึงการส่งคำสั่งเป็นหนังสือให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างคู่สัญญา ส่วนการส่งข้อความสนทนากันทางแอปพลิเคชันไลน์ หากจะให้ถือเป็นการออกคำสั่งในการแก้ไขงาน ก็ต้องปรากฏทางปฏิบัติที่ชัดแจ้งว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ใช้คำสั่งเช่นนั้นได้
โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญา แต่เมื่อโจทก์ส่งมอบงานแก่จําเลยแล้ว พนักงานของจําเลยก็จัดทำใบขอให้จ่ายเงินเพื่อเสนอจําเลยให้อนุมัติจ่ายเงินแก่โจทก์ แต่จําเลยอ้างเพียงว่าโจทก์ทำงานบกพร่องจึงยังไม่ชําระเงินโดยไม่โต้แย้งเรื่องการทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา พฤติการณ์ตามที่ปฏิบัติต่อกันดังกล่าวแสดงว่า โจทก์และจําเลยมิได้มีเจตนาที่จะถือเอากำหนดเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ดังนั้น การที่โจทก์ทำงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์ส่งมอบงานแก่จําเลยแล้ว แต่จําเลยไม่ตรวจรับมอบงานตามสัญญา หรือจําเลยมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้โจทก์แก้ไขงานที่ตรวจรับแล้วพบว่ามีความบกพร่องและจําเลยไม่ชําระค่างานแก่โจทก์ตามสัญญา โดยที่สัญญาว่าจ้างเป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์ย่อมมีสิทธิบรรเทาความเสียหายด้วยการไม่ทำงานในงวดต่อไปได้ หากไม่ได้รับค่าจ้างตามผลงานที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการที่จําเลยต้องว่าจ้างบริษัท อ. เข้าดำเนินการแทนก็เป็นเหตุอันเนื่องมาจากจําเลยเป็นฝ่ายไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ตามผลงานที่เกิดขึ้นจริงก่อน โจทก์จึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา ในส่วนการริบเงินประกันนั้น ตามสัญญากำหนดว่าหากเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามที่ระบุไว้ จําเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรแก่โจทก์ และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วจําเลยจึงจะมีสิทธิริบเงินประกันหรือหลักประกันที่โจทก์มอบให้ไว้แก่จําเลยได้ตามสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจําเลยบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จําเลยจึงไม่มีสิทธิริบเงินประกันผลงานของโจทก์ตามสัญญา แต่เมื่อต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่เข้าทำงานในงวดต่อ ๆ ไปให้แล้วเสร็จตามสัญญา ส่วนจําเลยก็ไม่ชําระค่าจ้างและได้ว่าจ้างบุคคลภายนอกเข้าทำงานแทนเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าโจทก์กับจําเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย โจทก์และจําเลยต่างต้องคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1755/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดรถยนต์ของกลาง ผู้ขายต้องส่งมอบรถยนต์สภาพพร้อมใช้งานตามกฎหมาย หากไม่สามารถจดทะเบียนได้ถือเป็นผิดสัญญา
ก่อนนำรถยนต์ของกลางออกขายทอดตลาด จำเลยปฏิบัติตามประมวลระเบียบปฏิบัติศุลกากร พ.ศ. 2556 ข้อ 1 3 4 22 ที่กำหนดให้ตรวจสอบรถยนต์ที่ตรวจยึดทุกคันไม่ว่าจะมีผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตามจาก 6 หน่วยงานแล้ว ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับกรมการขนส่งทางบกนั้น จำเลยมีหนังสือถึงกรมการขนส่งทางบกขอความร่วมมือตรวจสอบรถยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาดว่าสามารถจดทะเบียนได้หรือไม่ โดยหากกรมการขนส่งทางบกพบว่ารถคันใดมีปัญหาในการที่จะนำไปจดทะเบียน ขอให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งให้จำเลยทราบพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ต่อมากรมการขนส่งทางบกได้แจ้งผลการตรวจสอบรถยนต์ที่จะประมูลดังกล่าวตามหนังสือของกรมการขนส่งทางบก ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2559 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวกรมการขนส่งทางบกได้ส่งผลการตรวจสอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะประมูลขายทอดตลาด 343 คัน โดยแบ่งออกเป็น 1. รายการรถที่สามารถจดทะเบียนได้ 3 คัน 2. รายการรถที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ 1 คัน 3. รายการรถที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องรถยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ 70 คัน และ 4. รายการรถที่ตรวจสอบแล้วไม่พบข้อมูลใด ๆ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรถยนต์ของกลางอยู่ในรายการที่ 3 คือตรวจสอบพบว่ามีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ไว้ จึงไม่สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่มาของรถได้ แสดงให้เห็นว่า กรมการขนส่งทางบกเองก็มิได้ยืนยันว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ดังเช่นรถในรายการที่ 1 การที่จำเลยอ้างตามฎีกาว่า กฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 ระบุไว้เพียงแค่ชิ้นส่วนที่เป็นตัวถังรถ โครงคัสซี หรือ แชสซี (Chassis) รถหรือโครงรถจักรยานยนต์เท่านั้น มิได้ระบุส่วนของเครื่องยนต์อันเป็นชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศที่จะนำมาประกอบการงดรับจดทะเบียนตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว รถยนต์ของกลางมีการส่งบัญชีรับและจำหน่ายเครื่องยนต์ มิได้มีการส่งบัญชีตัวถังรถ โครงคัสซีรถและโครงรถจักรยานยนต์ ดังนั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของกฎกระทรวงงดรับจดทะเบียนรถที่ประกอบจากชิ้นส่วนของรถที่ใช้แล้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ พ.ศ. 2556 และคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยว่าสินค้าที่นำเข้ามาโดยไม่มีใบอนุญาตซึ่งถูกริบตกเป็นของแผ่นดิน ไม่ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากได้ตกเป็นของแผ่นดินไปแล้ว ถ้าจำเลยนำสินค้าดังกล่าวออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อไปจากการขายทอดตลาดไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าอีกเพราะมิได้เป็นผู้นำเข้า การที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางขายทอดตลาดและออกเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนจึงเป็นการกระทำภายใต้ความเชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์ของกลางสามารถนำไปจดทะเบียนได้นั้น จึงเป็นเพียงความเห็นของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถยนต์ของกลางยังไม่ได้รับการยืนยันจากกรมการขนส่งทางบกว่าจดทะเบียนได้หรือไม่ แต่กลับนำออกขายทอดตลาด โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้แจ้งให้ผู้เข้าประมูลรวมถึงโจทก์ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวก่อนการประมูล นอกจากนี้ เมื่อพิเคราะห์ประกาศส่วนกลาง สำนักสืบสวนและปราบปราม ที่ 5/2559 เรื่อง ประมูลขายทอดตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลาง วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2559 และบัญชีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของกลางที่จะทำการขายทอดตลาดในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 ที่มีรายละเอียดของรถยนต์ของกลางแล้ว ได้ความจาก ว. พนักงานจำเลย เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ตามเอกสารดังกล่าวรถยนต์ของกลางมิได้มีการระบุในช่องหมายเหตุ 1 ว่า "ไม่ออกแบบที่ 32" ซึ่งหมายความว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ ย่อมทำให้ผู้เข้าร่วมประมูลรวมทั้งโจทก์ที่อ่านประกาศดังกล่าวเข้าใจได้ว่ารถยนต์ของกลางสามารถจดทะเบียนได้ เมื่อต่อมารถยนต์ของกลางไม่สามารถจดทะเบียนได้ จึงถือได้ว่าจำเลยในฐานะผู้ขายไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีสภาพเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติตามวิสัยของการใช้ทรัพย์แก่โจทก์ในฐานะผู้ซื้อ เนื่องจากผู้ซื้อรถยนต์ย่อมต้องการใช้รถยนต์ที่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
of 3