คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 247

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,368 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ, ครอบครองปรปักษ์, และการซื้อที่ดินโดยสุจริต ศาลฎีกาวินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและอำนาจฟ้องของบริษัทบริหารสินทรัพย์ การรับผิดในเบี้ยปรับจากการประมูลทอดตลาด
การที่เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์จำนองกับจำเลยที่ 1 ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี กระทำในฐานะเป็นผู้แทนธนาคาร ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เข้าสู้ราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดชั้นเดิมละเลยไม่นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระตามสำเนาสัญญาซื้อขาย จนเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดทรัพย์จำนองซ้ำอีกครั้งหนึ่งและได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม ย่อมทำให้ธนาคาร ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมได้รับความเสียหายเนื่องจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดครั้งหลังน้อยกว่าครั้งก่อน ทำให้ธนาคาร ท. ไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจนครบถ้วน จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในส่วนที่ขาดตามที่ระบุในสัญญาและตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของธนาคาร ท. โจทก์ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์รับโอนหนี้จากธนาคาร ท. หลังจากคดีเดิมสิ้นสุดแล้ว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบมาตรา 247 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 บัญญัติว่า "ในการโอนสินทรัพย์ไปให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ถ้ามีการฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องเป็นคดีอยู่ในศาล ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนในคดีดังกล่าว ... และในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นแล้ว ก็ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น" ดังนั้น แม้คดีเดิมธนาคาร ท. อยู่ระหว่างบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ธนาคาร ท. สามารถโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ได้ โจทก์มีสิทธิที่จะขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้ หาได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 ในเรื่องการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง และหาได้ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ประการใดไม่ โจทก์ในฐานะตัวการย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิมก่อน
หนังสือสัญญาซื้อขายระบุให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์ผิดสัญญา และเจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดครั้งใหม่หากได้ราคาสุทธิต่ำกว่าครั้งก่อนเท่าใด ผู้ซื้อทรัพย์เดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดนั้น ซึ่งเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดสัญญา ถือว่าเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่งซึ่งหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลไทยพิจารณาหย่าชาวต่างชาติ & การอุปการะเลี้ยงดูหลังการสมรส
โจทก์จำเลยมิใช่เป็นผู้มีสัญชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 24 บัญญัติว่า "ศาลสยามจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้กระทำได้ เหตุหย่าให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า" เมื่อได้ความว่า กฎหมายสัญชาติของโจทก์และจำเลยอนุญาตให้คู่สมรสหย่าขาดจากกันได้ ศาลไทยจึงมีอำนาจพิจารณาเหตุหย่าตามคำฟ้องของโจทก์ต่อไปว่าเป็นเหตุตามกฎหมายแห่งท้องถิ่นที่ยื่นฟ้อง คือ เหตุหย่าที่โจทก์อ้างมาในฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่
ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน สิทธิหน้าที่ของโจทก์จำเลยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูกันจะหมดไปเมื่อการสมรสสิ้นสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง และมาตรา 1501 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่จำเลยจนกว่าจำเลยจะสมรสใหม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 247 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5275/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายกคำพิพากษาเดิม สั่งให้สืบพยานเพิ่มเติม กรณีข้อพิพาทอำนาจกรรมการและเจตนาซื้อขายที่ดิน
ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงเพียงพอวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทข้อแรกว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการผูกพันโจทก์หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยรับฟังข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ทั้ง ๆ ที่โจทก์แถลงว่าเป็นเอกสารที่เป็นเท็จ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทข้อหลังว่าเมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐาน ต้องรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริต ดังนี้ เท่ากับศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมายโดยอาศัยข้อเท็จจริงจากคำฟ้องและคำให้การของคู่ความ อันจะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง แต่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามคำแถลงรับของคู่ความทั้งสองฝ่าย และนำข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นพิพาททั้งสองข้อ และที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคู่ความทั้งสองไม่ติดใจสืบพยานแล้วนั้น ประเด็นข้อพิพาทข้อแรก การที่คู่ความไม่ติดใจสืบพยาน จึงหมายความแต่เฉพาะในข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับกันตามที่บันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาเท่านั้น มิได้หมายความว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่ติดใจสืบพยานใด ๆ เสียทีเดียว ส่วนข้อความตามที่ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่าประเด็นพิพาทข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายและข้อความต่อไปที่ว่า เมื่อทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจสืบพยาน กรณีจึงไม่ต้องสืบพยาน เห็นได้ชัดว่าเป็นเพียงคำสั่งที่ให้มีผลว่า ก่อนศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยเบื้องต้นในปัญหานั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง มิใช่คำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคู่ความอันจะเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่โจทก์จะต้องโต้แย้งไว้เพื่อการใช้สิทธิอุทธรณ์ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยยังมีข้อโต้เถียงกันว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการกระทำโดยนอกเหนืออำนาจและนอกวัตถุประสงค์ของบริษัทโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ จึงสมควรที่จะให้คู่ความทุกฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีมานั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา จึงมีเหตุสมควรที่ศาลฎีกาจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 932/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมจะซื้อจะขายที่ดินเพื่อใช้ในการงดการบังคับคดี หากมีเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ
การที่จำเลยเบิกความตอบศาลถามว่า ที่ น.ส. 3 ก. เลขที่ 371 มีราคาประเมินประมาณ 140,000 บาท ก็เจือสมกับทางนำสืบโจทก์ว่า อ. ได้นำที่ไปตีใช้หนี้ในราคา 104,375 บาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ว่า ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 371 มีราคาเพียง 100,000 บาทเศษ การที่โจทก์ทั้งสองกับพวกไปทำสัญญาจะซื้อจะขายในราคาเท่ากับหนี้ที่ อ. ค้างชำระอยู่กับจำเลยจำนวน 939,706.45 บาท จึงเชื่อว่าเป็นการทำสัญญาเพื่อนำไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีประกอบการของดการบังคับคดีตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้อง โดยคู่สัญญามิได้มีเจตนาผูกพันกันตามนั้น ถือว่านิติกรรมดังกล่าวเกิดจากการแสดงเจตนาลวงย่อมตกเป็นโมฆะ ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21897/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกคืนที่ดินที่ซื้อด้วยเงินมรดก: อำนาจฟ้องและการขาดอายุความ
โจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมและในฐานะผู้จัดการมรดกของมารดาโจทก์ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์คืนจากจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยทั้งสามในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเกิน 10 ปี นับแต่มารดาโจทก์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องอ้างว่า ภายหลังจากมารดาโจทก์ถึงแก่ความตาย บิดาโจทก์ได้นำทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไปซื้อที่ดินหลายแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีของการนำทรัพย์สินกองมรดกไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่ดินพิพาทที่บิดาโจทก์ซื้อมาก็หาตกเป็นทรัพย์มรดกของมารดาโจทก์ไม่ แต่ต้องถือว่าเป็นทรัพย์สินของบิดาโจทก์ ส่วนการใช้จ่ายเงินจากกองมรดกนั้น หากเกินส่วนที่ตนควรได้ไปก็เป็นเรื่องที่บิดาโจทก์จะต้องรับผิดต่อทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของมารดาโจทก์ โจทก์หาอาจที่จะมาฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดเป็นคดีนี้ได้ไม่ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบที่ดินพิพาทคืนหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18325/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลและการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินและมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในคราวเดียวกัน จำเลยจะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกามายังศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252 ด้วย ทั้งต้องนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 จำเลยจะเลือกอุทธรณ์เฉพาะคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลไปยังศาลอุทธรณ์เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่ กรณีต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง: ผู้กู้และผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดในส่วนเกินหลังบังคับจำนอง หากสัญญามิได้ระบุข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 733
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนอง เมื่อตามสัญญาจำนองมิได้ตกลงยกเว้นความใน ป.พ.พ. มาตรา 733 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในเงินส่วนที่ขาดหลังจากการบังคับจำนอง และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยตามมาตรา 698 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14670/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ผิดช่องทางในคดีอนุญาโตตุลาการ ศาลฎีกายกคำอุทธรณ์และฎีกา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ กรณีจึงเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาแล้ว การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวต้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาตามมาตรา 45 วรรคท้าย การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วพิจารณาพิพากษาจึงไม่ชอบเช่นกัน การที่ผู้ร้องยื่นฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณา กรณีจึงต้องยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และยกฎีกาของผู้ร้อง แต่การที่สำนวนคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งอุทธรณ์ของผู้ร้องมายังศาลฎีกาอีก
การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ นั้นต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45 (1) ถึง (5) การที่ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์อ้างข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องเป็นภรรยาอยู่กินโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับ ป. และ ป. ซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุให้ผู้ร้องขอสินเชื่อเช่าซื้อและทำประกันภัย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยนั้น ล้วนเป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนของอนุญาโตตุลาการ และศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 45

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13129/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องแบ่งมรดก: ทายาทถึงแก่ความตายพร้อมกัน ไม่มีสิทธิรับมรดก
ธ. ซึ่งเป็นบุตรของ ก. และ ก. ตายพร้อมกัน ต่างไม่เป็นทายาทที่จะรับมรดกของกันและกัน เพราะในขณะที่บุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายอีกบุคคลหนึ่งไม่มีสภาพบุคคลที่มีความสามารถที่จะมีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 และมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง และกรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 1639 เนื่องจาก ธ. ทายาทไม่ได้ตายก่อน ก. เจ้ามรดกอันจะทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ธ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ธ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ก. ปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
of 237