คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 247

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,368 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ด้วยคอนโดมิเนียม, การสลักหลังเช็ค, และภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ป.พ.พ. มาตรา 326 มีความหมายแต่เพียงว่า บุคคลผู้ชำระหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับชำระหนี้ออกใบเสร็จให้แก่ตนเป็นสำคัญ เพื่อเป็นพยานหลักฐานใช้ยันต่อเจ้าหนี้ว่าตนได้ชำระหนี้แล้ว หากเป็นการชำระหนี้โดยสิ้นเชิงผู้ชำระหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้เวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือให้ขีดฆ่าเอกสารนั้นได้ด้วย แต่ไม่ได้หมายความถึงว่าหากไม่มีใบเสร็จเป็นสำคัญ หรือไม่มีการเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ หรือไม่มีการขีดฆ่าเอกสารนั้นแล้ว ลูกหนี้จะไม่อาจนำสืบด้วยพยานหลักฐานอย่างอื่นว่ามีการชำระหนี้แล้ว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คที่ ม. นำมาขายลดไว้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คฉบับดังกล่าว ลายมือชื่อที่ปรากฏในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 หาใช่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 4 ที่ต้องนำสืบว่าลายมือชื่อที่สลักหลังเช็คเป็นลายมือชื่อปลอมไม่
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้รับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของ ม. ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 จึงไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15238/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นเมื่อมีใบสั่งซื้อตอบรับใบเสนอราคา แม้จะยังไม่ได้ส่งมอบสินค้า ผู้ซื้อต้องรับสินค้าและชำระราคา
การซื้อขายสินค้าประเภทอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้นสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางจะเกิดขึ้นเมื่อคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีใบเสนอราคา แสดงว่าได้ทำคำเสนอไปยังจำเลยแล้วการที่จำเลยมีใบสั่งซื้อกลับไปยังโจทก์ โดยมีสาระสำคัญตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นชนิด รุ่น หรือราคาสินค้าที่โจทก์เสนอมา คงมีแต่รายละเอียดที่จำเลยกำหนดไว้ในใบสั่งซื้อว่าวางบิลได้ในเวลาใด ติดต่อพนักงานของจำเลยผู้ใดและที่อาคารชั้นไหนเท่านั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญอันจะถือว่าเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นคำสนองถูกต้องตรงกับคำเสนอของโจทก์ ก่อให้เกิดสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยและมีผลบังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ใบสั่งซื้อของจำเลยส่งไปถึงโจทก์แล้ว ส่วนที่ต่อมามีพนักงานของโจทก์ติดต่อไปยังจำเลยขอให้ยืนยันการสั่งซื้อ ก็เป็นเพียงกลวิธีในการทำธุรกิจที่จะลดความเสี่ยงและเป็นการให้บริการแก่ลูกค้า โดยให้โอกาสแก่จำเลยว่าจะยังคงยืนยันการซื้อขายหรือไม่ หาใช่สัญญาซื้อขายยังไม่เกิดขึ้นไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าจากโจทก์และไม่ยอมชำระราคา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ตามคำฟ้องปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลย ฉะนั้น โจทก์จะรับชำระค่าสินค้าเพียงอย่างเดียวโดยไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะเป็นสัญญาต่างตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามคำขอท้ายฟ้องให้แก่โจทก์เท่านั้น โดยไม่ได้พิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์ด้วยจึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือจะต้องพิพากษาให้จำเลยรับมอบสินค้าจากโจทก์และชำระราคา ส่วนการจะบังคับคดีอย่างไรนั้นเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14144/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลดหนี้ภาระค้ำประกันเมื่อผู้รับจำนองยินยอมให้ผู้ซื้อรับภาระจำนอง และการระงับหนี้ของผู้ค้ำประกันร่วม
จำเลยที่ 4 และที่ 5 ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้กู้ยืมเงินและหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเดียวกันไว้ต่อโจทก์ โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม พร้อมกับจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้เป็นประกันหนี้ดังกล่าวด้วย ต่อมาจำเลยที่ 5 ขายที่ดินที่จำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และโจทก์มีหนังสือที่แสดงเจตนาว่ายอมปลดหนี้ภาระการค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 5 จนหมดสิ้นแล้ว เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 293 และมาตรา 296 การที่โจทก์สละสิทธิต่อจำเลยที่ 5 ย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 5 ระงับไปตามมาตรา 340 และย่อมมีผลทำให้หนี้ตามภาระการค้ำประกันสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมระงับไปด้วยตามมาตรา 293 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และแม้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เนื่องจากต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและหนี้ตามภาระการค้ำประกันดังกล่าวเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ในระหว่างจำเลยที่ 4 และที่ 5 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 4 ได้ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12122/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีถูกโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดิน: การยื่นขอออกโฉนดถือเป็นการโต้แย้งสิทธิ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ต่อมาปรากฎว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงวางทะเบียนในเอกสารสิทธิดังกล่าวไปเป็นของจำเลยทั้งสองและจำเลยทั้งสองได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าวพร้อมนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดที่ดิน ตามคำฟ้องดังกล่าวโจทก์แสดงว่า โจทก์อ้างความเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า แต่ต่อมาปรากฏว่ามีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองในทะเบียนที่ดิน แล้วจำเลยทั้งสองยังยื่นเรื่องขอออกโฉนดและนำเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดเพื่อออกโฉนดให้แก่จำเลยทั้งสองการกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน และกำลังดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิครอบครองที่ดินของโจทก์โดยตรงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าถูกจำเลยทั้งสองกระทำการโต้แย้งสิทธิในที่ดินอย่างไร โจทก์จึงไม่มีข้อโต้แย้งสิทธิแล้วพิพากษายกฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เนื่องจากคดีนี้ยังมิได้มีการสืบพยานจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ต่อไป ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12104/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบ หากไม่ชำระค่าทนายความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมฎีกา แม้ศาลชั้นต้นรับฎีกาไว้ก็ไม่สมบูรณ์
ค่าทนายความเป็นค่าธรรมเนียมอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 เมื่อศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระค่าทนายความจำนวน 150,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นหลักเกณฑ์เคร่งครัดที่โจทก์ผู้ยื่นฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม เพราะมิใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื้อหาแห่งคดี ที่โจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าขึ้นศาลตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์มาวางศาลพร้อมกับฎีกา เป็นการฝ่าฝืนต่อหลักเกณฑ์ที่บทบัญญัติมาตรา 229 กำหนดไว้ จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนเสียก่อนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความ แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วก็ไม่ถือว่าเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11712/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาขาดอายุ การตรวจสอบวันยื่นฎีกาเป็นหน้าที่ทนาย การอนุญาตฎีกาเกินกำหนดไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในคำขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 มีตรายางประทับข้อความว่าถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุกๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้ว โดยทนายผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ได้ลงลายมือชื่อไว้ตอนท้ายข้อความดังกล่าว จึงต้องถือว่าผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยชอบแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาและคำร้องขออนุญาตฎีกาเมื่อล่วงเลยระยะเวลาฎีกาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาฎีกา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 ยื่นฎีกาภายหลังสิ้นระยะเวลายื่นฎีกาโดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย เป็นการไม่ชอบฎีกาของผู้คัดค้านที่ 6 ถึงที่ 8 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11027/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า: การชำระค่าไฟฟ้าเมื่อเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชำรุด และการลดเบี้ยปรับ
ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อสินค้าไฟฟ้าจากโจทก์รับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมแก่โจทก์ในกรณีที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าคลาดเคลื่อนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ข้อ 6 ซึ่งกำหนดว่า "ในกรณีที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าคลาดเคลื่อน ผู้ซื้อยินยอมชำระค่าไฟฟ้าประจำเดือนไปก่อน โดยให้นำค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของ 3 เดือนหลังสุดที่ถือว่าปกติติดต่อกัน หรือค่าไฟฟ้าที่คำนวณพื้นฐานวิศวกรรมไฟฟ้า โดยอาศัยหลักฐานข้อมูล ซึ่งตรวจสอบได้ในช่วงเวลานั้น มาเป็นค่าไฟฟ้าประจำเดือนของเดือนที่เริ่มมีการผิดพลาดเป็นต้นไป หากภายหลังการตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า มีผลแตกต่างจากที่เรียกเก็บไปแล้วนั้น คู่สัญญายินยอมให้เก็บเพิ่มหรือจ่ายคืน แล้วแต่กรณี" โจทก์มิได้อ้างในคำฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้ซื้อเจตนากระทำหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำโดยมิชอบต่ออุปกรณ์ระบบจ่ายไฟฟ้าและหรือเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ข้อ 9 ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าเพิ่มย้อนหลังต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 มิได้กระทำหรือใช้ผู้อื่นกระทำโดยมิชอบต่ออุปกรณ์เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าตามสัญญาข้อ 9 นั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือในประเด็นที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สืบพยานหลักฐานมาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 243 (1)
ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์ปรากฏตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าว่าเป็นดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าไฟฟ้าโดยกำหนดให้คิดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยอัตรานี้จึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีผิดสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลย่อมพิจารณาลดลงเป็นจำนวนพอสมควรไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบเห็นถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าไฟฟ้าว่าสูงถึงจำนวนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ศาลฎีกาเห็นว่า เบี้ยปรับที่เป็นดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวสูงเกินไป จึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับนั้นลงเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10912/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดี: การเพิกถอนขายทอดตลาดต้องยื่นคำร้องภายในกำหนด หากพ้นกำหนดสิทธิขาด
คำร้องของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งประกาศแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ทราบ การขายทอดตลาดจึงไม่ชอบนั้น เป็นการกล่าวอ้างว่าการขายทอดตลาดฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงอยู่ในบังคับมาตรา 296 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวและเสนอบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงิน รายงานต่อศาลเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2546 ว่า ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ - จ่ายเงินและจ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปแล้ว การบังคับคดีจึงเสร็จสิ้นลงตามมาตรา 296 วรรคสี่ (2) การที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 13 ธันวาคม 2550 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10870/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกที่ไม่ชอบ กรณีภูมิลำเนาไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ศาลต้องไต่สวนก่อนวินิจฉัย
จำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าบ้านซึ่งโจทก์อ้างมาในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลยนั้น ไม่มีสภาพเป็นบ้านที่สามารถอยู่อาศัยได้ คงมีเพียงเสาบ้านเท่านั้นและจำเลยไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังดังกล่าว จึงไม่ได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่เจ้าพนักงานศาลนำไปส่ง ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยอ้างก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นยังไม่ได้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย กระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยและภายหลังแต่นั้นมาย่อมไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ แม้จำเลยจะยื่นคำขอโดยมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลและยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนให้ได้ความจริงก่อนว่าเป็นไปตามที่จำเลยอ้างหรือไม่จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10756/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และผลกระทบต่อการบังคับคดี
คดีนี้เป็นคดีต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่นๆ ที่เป็นสาขาคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วย โดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นลำดับ หากมีเหตุอันต้องห้ามอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วแม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าว
การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จากพยานหลักฐานในสำนวนน่าจะฟังข้อเท็จจริงได้ว่า จำเลยออกจากที่ดินตามฟ้องของโจทก์ภายในวันที่ 31 มกราคม 2538 ตามกำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายจึงไม่อาจที่จะบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยได้ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาเมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรแล้วย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5)
of 237