คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 300

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 207 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ร่วมที่ศาลชั้นต้นรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้าม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300, 390 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์โดยโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ด้วย ก็เป็นการวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์เท่านั้น ไม่มีผลถึงโจทก์ร่วมทั้งสามแต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสาม ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับขี่และการชนบนไหล่ทาง แม้ไม่ชนในช่องสวนทางก็ถือว่ากระทำโดยประมาท
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์กระบะไปตามถนนสายเอเซีย 41 เมื่อถึงที่เกิดเหตุมีการปิดช่องเดินรถเพื่อซ่อมถนน คงเปิดให้รถแล่นสวนทางขึ้นล่องกันได้ด้านละ 1 ช่องทางในทางเดินรถของจำเลยด้านเดียว จำเลยขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วสูงเกินสมควรไม่ชะลอความเร็วรถให้ช้าลงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้ชนกับรถจักรยานยนต์และเลยไปชนรถยนต์ตู้ที่ขับสวนทางมา แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยขับรถโดยประมาทชนกับรถจักรยานยนต์ที่สวนทางมาบนไหล่ทาง แม้ไม่มีการชนในช่องเดินรถสวน ก็ถือได้ว่าตรงกับความประสงค์ให้ลงโทษจำเลยแล้ว กรณีไม่ถือว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 300,390 ตามฟ้องโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8552/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาในคดีรถชน: การพิสูจน์ความผิดต้องชัดเจนว่าเกิดจากจำเลย หากไม่มีหลักฐานเพียงพอ ศาลต้องยกฟ้อง
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจุดชนเกิดในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีการับว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถของจำเลยที่ 1 ทำให้รับฟังเป็นยุติว่า เหตุรถชนกันมิได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของจำเลยที่ 2 ดังนี้หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตน ก็จะต้องไม่มีเหตุคดีนี้เกิดขึ้น ดังนี้จึงจะนำข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ขับรถในขณะเมาสุราและขับด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกตามฟ้องมาเป็นเหตุลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 หาได้ไม่ เพราะข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องนั้น การที่รถทั้งสองคันเฉี่ยวชนกันมิได้เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกินเลยคำฟ้องและอำนาจศาลอุทธรณ์ในการพิจารณาเหตุรอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยขับรถโดยสารประจำทางมาถึงบริเวณสี่แยกถนนมิตรภาพตัดกับถนนแจ้งสนิท จำเลยควรใช้ความระมัดระวังโดยลดความเร็วของรถลงเพื่อความปลอดภัยและหยุดรถเพื่อให้รถในช่องทางที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล่นผ่านไป แต่จำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังขับรถผ่านสี่แยกด้วยความเร็วสูงและฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่ ถ. ขับผ่านสี่แยกดังกล่าวขณะได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว แม้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง แต่จำเลยขับรถโดยสารแล่นเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุด้วยความเร็วโดยมิได้ลดความเร็วลง เป็นการขาดความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์อันเป็นการกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ร่วม จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำโดยประมาทตามที่กล่าวไว้ในคำฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นจึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 และ ป.อ. มาตรา 300 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2408/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ขับรถเมาแล้วประมาท ชนผู้อื่นบาดเจ็บ ศาลแก้ไขโทษจำคุกเป็นกักขัง
ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราและฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส เป็นความผิดหลายกรรมและเรียงกระทงลงโทษจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ เพราะการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราด้วยความเร็วสูงนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทอันเป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและก่อให้เกิดผลโดยตรงที่ทำให้รถยนต์ที่จำเลยขับไปชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายขับจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดแต่เพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1411/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: คดีเมาแล้วขับชนจนผู้อื่นบาดเจ็บ สิทธิฟ้องระงับหากเคยถูกตัดสินลงโทษในความผิดฐานเมาแล้วขับแล้ว
พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยขับรถในขณะเมาสุรา จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม (เดิม) กับการที่จำเลยซึ่งมีอาการมึนเมาสุราขับรถในลักษณะส่ายไปมาบนท้องถนนและขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่แล่นสวนมาเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่มีผู้เสียหายที่ 1 ขับ และมีผู้เสียหายที่ 2 นั่งไปด้วยได้รับความเสียหาย และผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่หลายกรรมต่างกันไม่ เมื่อคดีก่อนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราแล้วสิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในการกระทำเดียวกันนั้นเป็นคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4926/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีจราจร และความประมาทเลินเล่อจากการขับรถโดยไฟท้ายชำรุด
ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11, 43 (4), 148, 157 และ พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง, 60 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 เดือนลงมา จึงมีอายุความเพียง 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2535 นับถึงวันฟ้องวันที่ 19 ตุลาคม 2539 ความผิดตามบทมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทจากการจอดรถกีดขวางทางและงดเว้นการให้สัญญาณ ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ศาลฎีกาวินิจฉัยความรับผิด
จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกพ่วงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถช่องซ้ายโดยไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถหรือให้สัญญาณใดๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด เป็นเหตุให้ ค. ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังไม่สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ ค. จะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ ค. จึงขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย การที่ ค. ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าว จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แต่มิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องอาญา: เหตุอันควร, ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ, และการไม่หลงต่อสู้
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 34 (4), 157 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีจึงทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นนี้ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196
โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดในคำฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมข้อความว่า ป.อ. มาตรา 300 ที่คำขอท้ายฟ้องนั้น จึงเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดเท่านั้นและจำเลยย่อมทราบข้อหาตามคำฟ้องดีอยู่แล้วจึงไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาหรือสอบสวนเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 อีก และไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันสมควรในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งได้ความด้วยว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอยๆ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ต่อมาภายหลังจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดและจำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163, 164 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2643/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องได้รับอันตรายโดยตรง
โจทก์ร่วมที่ 1 มิใช่ผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด คงมีแต่โจทก์ร่วมที่ 2 เท่านั้น ที่ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 1 จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ที่ 1 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 21