คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 656 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6972/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีใช้หนี้ด้วยที่ดินและผลของการไม่ตกลงราคาตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องว่า ส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของ ส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยทั้งสองให้การเพียงแต่ว่า ส.จะเคยยืมเงินโจทก์เมื่อใด จำนวนเท่าไรและมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำประโยชน์หรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่รับรอง เป็นคำให้การไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน ถือไม่ได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธ อีกทั้งศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จึงต้องฟังตามที่โจทก์ฟ้องว่า ส.ได้ยืมเงินโจทก์ไป 30,000 บาท และมอบที่ดินของ ส.ให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์เพื่อประกันการชำระหนี้
โจทก์นำสืบว่า ปี 2527 โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินยืมกับค่าทำบุญศพให้ ส.เป็นเงินทั้งสิ้น 100,000 กว่าบาท จำเลยทั้งสองจึงพูดยกที่ดินของ ส.ให้เป็นการตีใช้หนี้ โดยจำเลยที่ 2 จะไปขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้ดังนี้ แม้จะได้ความตามที่โจทก์นำสืบก็ตาม ก็เป็นกรณีที่โจทก์ผู้ให้ยืมยอมรับเอาทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืม แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการตกลงว่าที่ดินที่ตีใช้หนี้เงินยืมมีราคาเท่าใด เท่ากับราคาในท้องตลาดในเวลาและสถานที่ส่งมอบหรือไม่ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ.มาตรา 656 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 656 วรรคสาม โจทก์จึงไม่อาจจะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามข้อตกลงดังกล่าวได้
การที่จำเลยทั้งสองพูดยกที่ดินของ ส.ให้เป็นการตีใช้หนี้นั้นยังมีเงื่อนไขต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องไปร้องขออนุญาตต่อศาลเพื่อโอนให้โจทก์เนื่องจากขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับมรดกของ ส.ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ มิได้เป็นการยกให้โดยเด็ดขาดทันที จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้มีเจตนาสละการครอบครองที่ดินโจทก์ครอบครองที่ดินโดย ส.มอบให้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อเป็นประกันการใช้หนี้เงินยืมเป็นการครอบครองแทน ส. เมื่อ ส.ถึงแก่ความตายก็ถือได้ว่าโจทก์ยังครอบครองแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. แม้โจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็หาได้สิทธิครอบครองไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5518/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกาในคดีทรัพย์สินพิพาท และประเด็นการนอกเหนือจากประเด็นข้อพิพาท
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กู้ยืมเงินโจทก์ 17,000 บาทและจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ด้วยที่ดินพิพาท โดยถือว่าได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์และไม่เคยตกลงขายที่ดินให้โจทก์ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์โดยจำเลยทั้งสองได้ขายให้แก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งเป็นคดีที่โต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองให้การหรือนำสืบโต้แย้งราคาที่ดินพิพาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีราคา17,000 บาท และถือได้ว่าเป็นราคาทรัพย์สินที่พิพาทในคดีนี้ เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248 วรรคหนึ่ง อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 กู้ยืมเงินและมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ยแล้ว ก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยไม่จำต้องก้าวล่วงไปฟังข้อเท็จจริงว่าการตกลงชำระหนี้ด้วยที่ดินพิพาทเป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา 656 วรรคสอง แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมา จึงเป็นการนอกเหนือไปจากประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การซึ่งไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการอุทธรณ์
โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไปจากหนังสือสัญญา โดยฟังว่าจำเลยที่ 2 เพียงแต่กู้ยืมเงินไปจากโจทก์และมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำกินต่างดอกเบี้ย ฎีกาโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นมิใช่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2518 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่ลงวันที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย หากผู้ทรงลงวันที่โดยสุจริต และอายุความเช็คเริ่มต้นวันที่ลงในเช็ค
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 989 ให้นำมาตรา 910 ในเรื่องตั๋วเงินมาใช้บังคับในเรื่องเช็คด้วย ซึ่งมาตรา 910 วรรค 5 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ลงวันออกตั๋ว ผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งคนใดทำการโดยสุจริตจะจดวันที่ถูกต้องแท้จริงลงก็ได้ และตามวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ตราสารที่มีรายการขาดตกบกพร่องในเรื่องเช่นนี้ เป็นข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นตั๋วเงินที่ไม่สมบูรณ์ ดังนั้นเพียงเพราะเหตุที่เช็คไม่ได้ลงวันที่ไว้จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นโมฆะ และการที่จำเลยเอาเงินโจทก์ไปแล้วเขียนเช็คพิพาทที่ยังไม่ได้ลงวันที่มอบให้โจทก์ไว้ ย่อมเป็นการแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ลงวันที่เอาตามที่โจทก์จะเห็นสมควรเพื่อเรียกเงินตามเช็คเอามาชำระหนี้โจทก์นั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สุจริตอย่างใด เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
อายุความตามมาตรา 1002 ซึ่งให้นับแต่วันตั๋วเงินถึงกำหนดนั้น สำหรับในกรณีเรื่องเช็คก็คือวันที่ลงในเช็คนั่นเอง
การที่จำเลยจะเอารถยนต์ตีราคาใช้หนี้โจทก์ได้นั้นก็ต่อเมื่อโจทก์ยอมรับเอารถยนต์นั้นเป็นการชำระหนี้แทนเงิน และการที่หนี้จะระงับไปด้วยการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สินอย่างอื่นแทนเงินเช่นนี้ ย่อมจะต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบ จะถือเอาราคาที่ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าหาได้ไม่