คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ม. 12

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมสนามกอล์ฟ - การบังคับใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
โจทก์ทั้งหกสิบบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสโมสรกอล์ฟของจําเลย จําเลยดูแลรักษาและบริหารสนามกอล์ฟตลอดจนบริการอื่น ๆ ไม่ดี แต่จําเลยเพิ่มค่าบํารุงสนามรายปีโดยพลการ ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบขายสิทธิการเป็นสมาชิกต่อได้ยากและราคาไม่ดี นอกจากนี้ยังตัดสิทธิสมาชิกตลอดชีพ คงเหลือ 30 ปี กับเพิ่มค่าโอนสิทธิให้ทายาทซึ่งเดิมไม่มีและเรียกเก็บค่ารักษาสิทธิปีละ 2,400 บาท มีกำหนด 3 ปีจากสมาชิกที่ขอระงับสิทธิชั่วคราวซึ่งเดิมไม่ได้เรียกเก็บและบังคับหากสมาชิกใดไม่จ่ายค่าบํารุงรายปีตามราคาที่จําเลยต้องการ จําเลยจะไม่ออกตั๋วให้สมาชิกใช้สนามกอล์ฟและเล่นกอล์ฟ เป็นการกล่าวอ้างว่าจําเลยในฐานผู้ให้บริการขึ้นค่าบํารุงรายปี เพิ่มค่าโอนสิทธิ หรือออกกฎระเบียบต่าง ๆ ที่กระทบสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบโดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเดือดร้อนจําต้องยอมจ่ายคําบํารุงโดยไม่สมัครใจ อันเป็นการกล่าวอ้างว่าการกระทำของจําเลยเป็นการกระทำผิดสัญญา นับว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกสิบแล้ว โจทก์ทั้งหกสิบจึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์ทั้งหกสิบยอมรับว่าจําเลยสามารถเปลี่ยนแปลงค่าบำรุงรักษาสนามรายปี ค่าธรรมเนียมการโอนสมาชิก หรือกำหนดข้อบังคับได้ตามความเหมาะสมเพียงแต่โจทก์ทั้งหกสิบอ้างว่า จําเลยเรียกเก็บในอัตราที่ไม่เหมาะสมและเป็นการเอาเปรียบโจทก์ทั้งหกสิบซึ่งเป็นผู้บริโภคอันไม่เป็นธรรม และจําเลยไม่บำรุงรักษาสนามกอล์ฟให้มีความเหมาะสมดังที่โฆษณาไว้เท่านั้น โจทก์ทั้งหกสิบได้สิทธิการเป็นสมาชิกจากจําเลยก่อนมี พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 12 บัญญัติว่าไม่ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ จึงไม่อาจนําพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกําหนดตามสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งหกสิบกับจําเลยได้
เมื่อพิจารณาจากค่าบํารุงสนามรายปี ค่าโอนสมาชิก ค่ารักษาสิทธิของสมาชิกของสนามกอล์ฟของจําเลย เปรียบเทียบกับสนามกอล์ฟอื่นที่อยู่ในย่านเดียวกันและมีมาตรฐานสนามระดับเดียวกัน เห็นได้ว่ามีอัตราที่ใกล้เคียงกันโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบำรุงรักษาสนามรายปีของจําเลยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายปี 2549 ค่าโอนสิทธิสมาชิกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2546 และค่ารักษาสิทธิเปลี่ยนแปลงครั้งสุดท้ายในปี 2553 และโจทก์ทั้งหกสิบชําระเงินในอัตราที่จําเลยเรียกเก็บตลอดมา อันแสดงว่าจําเลยได้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สอดคล้องกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของสนามอื่นในระดับมาตรฐานสนามเดียวกัน การที่จําเลยเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงเป็นการกระทำโดยคำนึงถึงมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 12 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าสถานีบริการน้ำมัน: การบอกเลิกสัญญา, ค่าชดเชย, และค่าเสียหายจากการไม่คืนทรัพย์สิน
การพิจารณาว่าจำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อตกลงแต่งตั้งผู้ประกอบการระหว่างจำเลยกับโจทก์เป็นสำคัญซึ่งระบุไว้ในข้อ 10 ของสัญญาดังกล่าวว่า "ในระหว่างระยะเวลาการเช่าตามข้อ 6 หากผู้ประกอบการไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไป หรือสัญญานี้เลิก หรือสิ้นสุดลงก่อนระยะเวลาตามข้อ 1 เนื่องจากความผิดของผู้ประกอบการ บริษัทบางจากฯ มีสิทธิที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ..." ข้อเท็จจริงได้ความว่า ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โจทก์ประสบภาวะขาดทุนโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปขอให้จำเลยรีบดำเนินการจ่ายเงินชดเชยค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินและเงินชดเชยค่าก่อสร้างให้โจทก์ และเหตุที่โจทก์ประสบภาวะขาดทุนเป็นผลมาจากโจทก์ไม่สามารถซื้อน้ำมันจากจำเลยตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญาจึงถูกจำเลยปรับ ดังนั้น การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยแจ้งว่าไม่ประสงค์จะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากต่อไปจึงเป็นผลมาจากความผิดของโจทก์ จำเลยจึงมีสิทธิตามสัญญาข้อ 10 ที่จะจัดผู้อื่นเข้ามาดำเนินการแทนโดยจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้ประกอบการ สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิของฝ่ายจำเลยที่จะกระทำหรือไม่กระทำก็ได้เพราะข้อสัญญาไม่ได้บังคับไว้ เมื่อจำเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าว จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ ในส่วนที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่ายินดีที่จะใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันต่อไปและชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ หนังสือนั้นจึงมีลักษณะเป็นคำสนองรับการไม่ประสบจะดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากของโจทก์ แต่คำสนองของจำเลยดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญว่าจำเลยจะชำระค่าชดเชยแก่โจทก์ และจำเลยจะจัดทำบันทึกข้อตกลงเพื่อใช้สิทธิเข้าดำเนินการสถานีบริการน้ำมันบางจากจากโจทก์และจะนัดหมายโจทก์มาลงนามรับข้อตกลงต่อไป จึงเป็นคำสนองอันมีข้อความเพิ่มเติมมีข้อจำกัด หรือมีข้อแก้ไข ถือได้ว่าเป็นคำบอกปัดไม่รับและเป็นคำเสนอใหม่ของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวและมีหนังสือโต้แย้งจำนวนค่าชดเชยและวิธีการคำนวณค่าชดเชย หนังสือดังกล่าวจึงเป็นการบอกปัดคำเสนอของจำเลย คำเสนอของจำเลยจึงสิ้นความผูกพัน
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 12 ไม่ให้ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2536 ก่อนวันที่ พ.ร.บ. มีผลใช้บังคับ จึงนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินจากการขายทอดตลาด กรณีมีผู้คัดค้านการขาย
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 12 ไม่ให้ใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวบังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากการขายทอดตลาดกับผู้คัดค้านก่อนวันที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกำหนดตามสัญญาที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้
ในการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นจะต้องปฏิบัติบังคับตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดี และ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดอาจไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาด กรณีไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 388 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินจากการขายทอดตลาดที่มีการคัดค้าน การปฏิบัติตามกฎหมายบังคับคดีและล้มละลาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 12 ไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวบังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ ผู้ร้องทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับผู้คัดค้าน ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมาปรับใช้กับสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ ต้องพิจารณาไปตามบทกฎหมายอื่น
การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับคดี และ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดอาจไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาด้วยเหตุดังกล่าว กรณีไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 388

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4634/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อระงับเมื่อรถสูญหาย ศาลลดค่าเสียหายและยกเลิกค่าขาดประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 12 ไม่ให้ใช้พระราชบัญญัติดังกล่าวบังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จึงไม่อาจนำพระราชบัญญัติดังกล่าวมาปรับใช้กับข้อกำหนดตามสัญญาดังกล่าวได้ ต้องพิจารณาไปตามบทบัญญัติทั่วไป สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง จึงต้องนำบทบัญญัติลักษณะเช่าทรัพย์มาบังคับด้วย เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไปตั้งแต่วันที่รถยนต์สูญหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเช่าซื้ออีกต่อไป ส่วนข้อกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 5 ที่ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกโจรภัยหรือสูญหาย ผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาจนครบนั้น ถือได้ว่าเป็นการกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ให้เช่าซื้อไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าว สำหรับค่าขาดประโยชน์ จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายให้โจทก์ประจำงวดวันที่ 2 พฤษภาคม 2542 จำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้องวดต่อไปวันที่ 2 มิถุนายน 2542 แต่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2542 สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันในวันที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้ผิดนัดหรือค้างชำระค่าเช่าซื้อแต่อย่างใด และค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขาดประโยชน์ก่อนรถยนต์สูญหาย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาขายฝาก: ราคาขายฝากที่แท้จริง, ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร, สิทธิไถ่, การชำระหนี้ไม่ถูกต้อง
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 12 ไม่ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ การที่จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมบ้านกับโจทก์เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 ก่อน พ.ร.บ. ดังกล่าว และ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง มีผลใช้บังคับ จึงนำ พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและ ป.พ.พ. มาตรา 499 วรรคสอง ที่ให้สิทธิแก่ผู้ขายฝากไถ่ทรัพย์ได้ตามราคาขายฝากที่แท้จริงรวมผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละสิบห้าต่อปีมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้ เมื่อสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมบ้านระบุราคาขายฝากไว้จำนวน 310,000 บาท การที่จำเลยอ้างตนเองและบุคคลอื่นสืบเป็นพยานเพื่อแสดงถึงราคาขายฝากที่แท้จริงว่ามีราคาเพียง 200,000 บาท เป็นการนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) จึงต้องฟังว่าคู่สัญญากำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 310,000 บาท แต่จำเลยขอไถ่ในราคา 230,000 บาท อันเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ที่ไม่ถูกต้องตามมูลหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกปัดไม่ชำระหนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8171/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด การบอกเลิกสัญญา และการโอนกรรมสิทธิ์ กรณีมีข้อพิพาทเรื่องการครอบครอง
ผู้ร้องเป็นผู้เข้าประมูลสู้ราคาและซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า ผู้ร้องแจ้งความประสงค์ต่อผู้คัดค้านว่าจะนำทรัพย์ดังกล่าวไปพัฒนาทางธุรกิจเมื่อใด อย่างไร ที่จะทำให้เห็นว่าการได้รับโอนทรัพย์ดังกล่าวล่าช้าทำให้เสียประโยชน์ในทางธุรกิจของผู้ร้องถึงขนาดที่ว่าที่ดินนั้นหมดประโยชน์แก่ผู้ร้องอีกต่อไป ข้ออ้างดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้ร้องยกขึ้นกล่าวอ้างภายหลังทั้งสิ้น ทั้งการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดมีกระบวนการต่างจากการซื้อทรัพย์จากเจ้าของทรัพย์โดยตรง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายทอดตลาดได้ผู้ร้องย่อมต้องทราบว่าผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดอาจยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นทันที เพราะอาจมีการร้องคัดค้านการขายทอดตลาดดังกล่าว ฉะนั้น จะถือว่าระยะเวลา 4 ปีเศษ เป็นเวลานานเกินสมควรทำให้การชำระหนี้เป็นอันพ้นวิสัยนั้นไม่ได้ ประกอบกับศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ยกคำร้องของ ว. ที่ร้องขอให้เพิกถอนการขายแล้ว ผู้คัดค้านสามารถโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องได้ กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 219 และ 388 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินมัดจำคืน
ตามสัญญาซื้อขายที่ดินมิได้กำหนดเวลาไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องเมื่อใด และนิติกรรมที่จะเป็นโมฆะตามมาตรา 190 ต้องเป็นนิติกรรมที่มีเงื่อนไขบังคับก่อนและเงื่อนไขจะสำเร็จได้หรือไม่สุดแต่ใจของฝ่ายลูกหนี้ แต่การซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด ผู้ร้องย่อมทราบว่าอาจไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นทันทีเนื่องจากอาจมีผู้มีส่วนได้เสียร้องคัดค้านการขายดังกล่าว ซึ่งเหตุที่ทำให้โอนกรรมสิทธิ์ล่าช้าดังกล่าวไม่ใช่การกระทำตามอำเภอใจของผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่สัญญาสัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นโมฆะ
พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 3 ผู้บริโภคซึ่งเข้าทำสัญญาในฐานะผู้ซื้อที่จะได้รับความคุ้มครองตามความในมาตรา 4 ต้องไม่ได้เข้าทำสัญญาเพื่อการค้าทรัพย์สิน บริการ หรือประโยชน์อื่นใด แต่ตามคำร้องและทางนำสืบของผู้ร้องยืนยันว่าผู้ร้องเข้าซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการค้า ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้บริโภคตามความหมายดังกล่าวทั้งตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยังกำหนดว่า พ.ร.บ. นี้ไม่ใช้บังคับแก่นิติกรรมหรือสัญญาที่ทำขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ซึ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2540 โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ผู้ร้องประมูลซื้อทรัพย์และทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 ก่อน พ.ร.บ. ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ ใช้บังคับ สัญญาซื้อขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ. ดังกล่าว