คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 223

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 256 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการเช่าทรัพย์และการขายทอดตลาด สินค้าที่เหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีส่วนผิด
แม้การที่จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นละเมิด แต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินไปเก็บรักษาไว้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ สำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ขายทอดตลาดโดยเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืน หรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้นอย่างไร จำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 โดยบัญญัติดังกล่าวให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับอนุโลม ซึ่งมาตรา 223 บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด" ตามพฤติการณ์แห่งคดีฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายมีส่วนผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายเป็นสัดส่วนที่ไม่น้อยไปกว่าความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อมากนัก จึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างออกแบบก่อสร้าง: ความรับผิดของผู้รับจ้าง, ความผิดพลาดในการออกแบบ, และการปฏิเสธความรับผิด
โจทก์มีอาชีพออกแบบโครงการก่อสร้างย่อมต้องทราบระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเป็นอย่างดีจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่โจทก์จะไม่ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวในอัตราส่วน 1 ต่อ 100 เพื่อใช้ก่อสร้างให้แก่จำเลย ดังนั้นเมื่อโจทก์ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวดังกล่าวแล้ว จำเลยต้องชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 4 ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ ส่วนการที่จำเลยไม่ได้ทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็ดีหรือยังไม่ได้ขออนุญาตก่อสร้าง อันทำให้จำเลยไม่สามารถทำการก่อสร้างได้ก็ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยเอง หาอาจยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ไม่
ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าแห่งการงานอันเนื่องมาจากสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยายตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสาม ซึ่งไม่ได้กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทำงานในงวดที่ 2 ยังไม่แล้วเสร็จจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าบริการวิชาชีพในงวดที่ 2 โดยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาที่วินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเลิกกันโดยปริยาย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าการงาน 2,140,000 บาท ว่าไม่ถูกต้องอย่างไรจึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์ออกแบบและส่งมอบแบบโครงการพัทยา สาย 2 ให้แก่จำเลย ส่วนจำเลยก็ได้ชำระค่าบริการวิชาชีพแก่โจทก์ครบตามสัญญา การที่จำเลยยอมรับมอบงานที่โจทก์ทำและชำระค่าบริการให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งใดบ่งชี้ว่างานออกแบบที่โจทก์ทำขึ้นไม่ถูกต้อง โจทก์จึงย่อมไม่มีความรับผิดใดๆ ตามสัญญาจ้างเดิม การที่โจทก์และจำเลยมาทำสัญญาจ้างออกแบบกันใหม่แม้จะมีเนื้อหาเป็นการให้โจทก์แก้ไขปรับปรุงแบบเดิมที่โจทก์ทำไว้ก็ตาม ต้องถือเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาเพื่อผูกพันตามข้อตกลงใหม่ที่ระบุไว้ในสัญญาจึงไม่ใช่เป็นการก่อหนี้ที่จำเลยเข้าทำสัญญากับโจทก์โดยสำคัญผิดในแบบของสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันจะทำให้สัญญาจ้างออกแบบฉบับใหม่ตกเป็นโมฆะตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ดังนั้น จำเลยจึงต้องผูกพันรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพตามสัญญาฉบับใหม่แก่โจทก์ อย่างไรก็ดี แม้สัญญาฉบับใหม่จะไม่ตกเป็นโมฆะแต่การที่โจทก์ในฐานะผู้มีอาชีพออกแบบในงานสถาปัตยกรรมย่อมต้องมีหน้าที่ออกแบบให้เป็นไปตามข้อตกลงในกรอบของกฎหมาย ดังนั้น การที่โจทก์ออกแบบอาคารเออยู่ในตำแหน่งที่กฎหมายห้ามไม่ให้ก่อสร้างอาคารที่มีจำนวนเกิน 80 ห้อง นั้น แสดงว่าโจทก์ออกแบบโดยไม่คำนึงถึงข้อห้ามตามกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน แม้จำเลยรู้เห็นหรือยินยอมก็ต้องถือว่าโจทก์มีส่วนผิด จึงสมควรไม่กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ถึงที่ 4 ในส่วนของการออกแบบอาคารเอ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าบริการวิชาชีพเฉพาะในส่วนของการออกแบบอาคารบีเท่านั้น ซึ่งเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเงิน 428,000 บาท พร้อมด้วยอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2551
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมโครงการพหลโยธิน 37 ให้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยสามารถนำแบบแปลนไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของจำเลยแต่โจทก์กลับไม่ดำเนินการตามสัญญาเป็นเหตุให้จำเลยก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด พอถือได้ว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ออกแบบสำหรับการก่อสร้างไม่ถูกต้องแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจึงไม่ใช่การนำสืบนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น กรณีจึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างออกแบบโครงการพหลโยธิน 37 หรือไม่... ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าการออกแบบของโจทก์เป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ต้องการให้เพดานห้องสูงมีความปลอดโปร่งอันส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าซึ่งหากนำไปใช้เป็นแบบในการก่อสร้างจะทำให้อาคารที่ก่อสร้างมีความสูง 25 เมตร เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการที่โจทก์ซึ่งมีอาชีพด้านการออกแบบยอมกระทำในสิ่งที่ขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณชนถือว่าโจทก์มีส่วนผิดที่ทำงานโดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นจากการออกแบบที่ผิดกฎหมายของตน โจทก์จึงไม่สมควรได้รับค่าบริการวิชาชีพงวดที่ 2 ส่วนที่เหลือจำนวน 189,582.60 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4443/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่ทั้งสองฝ่าย การรับช่วงสิทธิของบริษัทประกันภัย และการแบ่งความรับผิด
โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ตามสัญญาประกันภัยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ผู้โดยสารรถคันที่โจทก์รับประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. มาไล่เบี้ยเอาจากผู้ต้องรับผิดจากการที่รถเกิดเฉี่ยวชนกัน เมื่อเหตุที่รถเฉี่ยวชนกันเกิดจากความประมาทของผู้ขับรถคันที่โจทก์รับประกันภัย และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ฐ. และนาวาอากาศเอก ฤ. ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินค่ารักษาพยาบาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10955/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารประมาทเลินเล่อเปิดบัญชีให้ผู้มีเจตนาทุจริต โจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการตรวจสอบภายใน ทำให้ศาลไม่อาจบังคับให้ธนาคารชดใช้ค่าเสียหาย
ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้บริหารกิจการ และตามมาตรา 26 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเป็นผู้กระทำการแทน สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ การที่จำเลยทั้งสองยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงินโดยนำหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งออกโดยพันเอก ศ. โดยมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พันเอก ศ. เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการของโจทก์ หรือไม่ กรณีจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 ถ. นำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอก ศ. ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายทั้งสี่ลงในสำเนาบัตร และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยทั้งสองเพื่อไว้ตรวจสอบลายมือชื่อ จำเลยทั้งสองตรวจสอบหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และเอกสารต่าง ๆ แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ใช้ชื่อบัญชีว่า "โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก" โดยจำเลยทั้งสองมิได้สอบถามไปยังโจทก์ว่าขอเปิดบัญชีหรือไม่ การที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทั้งสี่มิได้มาลงลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของจำเลยทั้งสองจึงถือเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยทั้งสอง อันเป็นความประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชีของจำเลยทั้งสอง แต่การที่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเอกสารต่าง ๆ มายื่นคำขอเปิดบัญชีต่อจำเลยทั้งสองกับการที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบกพร่องไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเปิดบัญชีให้แก่ ถ. นั้น การกระทำของ ถ. เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น หลังจากที่จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์แล้ว ถ. กระทำทุจริตนำเช็คขีดคร่อมที่ลูกค้าโจทก์สั่งจ่ายให้โจทก์เข้าฝากในบัญชีที่จำเลยทั้งสองเปิดให้โจทก์จำนวน 119 รายการ รวมเป็นเงิน 73,462,420.16 บาท รวมเวลานานถึง 5 ปีเศษ อันแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบภายในของโจทก์ไม่ดีพอ โจทก์ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ ถ. มีโอกาสทุจริตได้ง่าย หากโจทก์มีการตรวจสอบที่ดี รัดกุมและละเอียดรอบคอบ ถ. คงจะไม่ทุจริตตลอดมาเป็นระยะเวลา 5 ปีเศษ และความเสียหายคงจะไม่มากเท่านี้ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องพิจารณาความประมาทของทั้งสองฝ่ายตามกฎหมายแพ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7173/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความรับผิดทางละเมิดเมื่อคู่กรณีประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ศาลไม่อาจบังคับให้ชดใช้ค่าเสียหาย
การกำหนดค่าเสียหายของศาลเป็นได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย หากศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้ขัดต่อกฎหมายหรือเกินความรับผิดตามกฎหมายของฝ่ายนั้น ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ข้ออุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พ. และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่กลับกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์รับผิดต่อจำเลย เป็นการไม่ชอบนั้น เป็นอุทธรณ์ที่โต้แย้งอำนาจการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย
ป.พ.พ. มาตรา 442 บัญญัติว่า "ถ้าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยไซร้ ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และมาตรา 223 บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร..." บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดและค่าเสียหายต่อกันโดยให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใดซึ่งต้องถือเอาการกระทำละเมิดมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หาได้ถือเอาความเสียหายมากน้อยเป็นเกณฑ์ไม่ หากต่างฝ่ายต่างกระทำละเมิดต่อกันและมีส่วนประมาทพอกันแล้ว ก็ไม่อาจเรียกค่าเสียหายต่อกันได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังมาว่า พ. และจำเลยต่างประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว ค่าเสียหายที่จำเลยจะเรียกร้องจาก พ. ตามฟ้องแย้งย่อมตกเป็นพับ แม้จำเลยจะเสียหายมากกว่าก็ไม่อาจเรียกให้ พ. ชำระค่าเสียหายได้ พ. จึงไม่มีความรับผิดต่อจำเลย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19347/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดชอบของผู้ขนส่งและผู้ส่งสินค้าอันตราย: การแบ่งความรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายจากการขนส่ง
พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 33 บัญญัติหน้าที่ของผู้ส่งของที่ต้องทำก่อนและขณะส่งมอบของที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตรายได้ให้แก่ผู้ขนส่ง คือ ต้องทำเครื่องหมายหรือปิดป้ายตามสมควรเพื่อให้รู้ว่าของนั้นมีอันตราย และเมื่อส่งของนั้นให้แก่ผู้ขนส่งต้องแจ้งให้ผู้ขนส่งทราบถึงสภาพอันตรายแห่งของนั้น
สินค้าพิพาทบรรจุลงในกล่องกระดาษ ข้างกล่องมีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อสินค้า มีสติกเกอร์ที่แสดงว่าเป็นสารเคมีและแสดงอัตราความเป็นกรด ชื่อของสารเคมีปรากฏในใบเสนอราคา ใบกำกับสินค้า ที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์เพื่อใช้ประกอบในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาออกและตามใบขนสินค้าขาออก อยู่ในวิสัยที่โจทก์ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งจะรู้ว่าเป็นสินค้าที่มีสภาพอันก่อให้เกิดอันตราย หลังจากโจทก์รับสินค้าแล้ว พนักงานของโจทก์จะนำสินค้าไปบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือ ตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าพิพาทเป็นแบบ Less than container load - LCL บรรจุสินค้ารวมกับสินค้าของบุคคลอื่นอีกหลายราย ในกรณีขนส่งสินค้าอันตรายขาออกการท่าเรือแห่งประเทศไทยมีการวางระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษในการขนส่งสินค้าอันตรายไว้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับจ้างขนส่งแบบบรรจุสินค้าไม่เต็มตู้ที่จะต้องจัดการติดป้ายและเครื่องหมายที่ตู้สินค้าให้ชัดเจน แม้จำเลยที่ 2 จะแจ้งว่าสินค้าพิพาทไม่ใช่สินค้าอันตราย ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุให้โจทก์ปัดความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นนี้ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 มีส่วนผิดที่ไม่แจ้งว่าสินค้าพิพาทเป็นสินค้าอันตราย โจทก์จึงไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินการจัดการขนส่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงต้องถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 จึงเห็นควรให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18042/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเมินราคาหลักประกันผิดพลาด ธนาคารอนุมัติสินเชื่อโดยประมาทเลินเล่อ ศาลลดค่าเสียหาย
โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดความรับผิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 ผิดสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินราย ก. เนื่องจากไม่รายงานและประเมินราคาทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันอย่างถูกต้องตามความจริง โจทก์คิดค่าเสียหายจากต้นเงินส่วนที่ธนาคารให้สินเชื่อไปเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามมติคณะกรรมการควบคุมบริษัทประเมินของโจทก์ ทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเท่ากับจำนวนเงินสินเชื่อที่โจทก์อนุมัติให้ ก. กู้ก็ไม่ปรากฏว่าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ มติดังกล่าวระบุด้วยว่า กรณีลูกหนี้ผ่อนชำระปกติ ให้บริษัทประเมินรับสภาพหนี้ยังไม่ต้องชำระค่าเสียหาย ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้จนหลักประกันคุ้มยอดหนี้ บริษัทประเมินหลุดพ้นจากการรับสภาพหนี้ แสดงว่าโจทก์เห็นว่ากรณีที่ผู้กู้ยังคงชำระหนี้ให้แก่โจทก์ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพียงแต่มีความเสี่ยงว่าผู้กู้จะไม่ชำระหนี้ เมื่อโจทก์ไม่นำสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายอย่างอื่นหรือจะเสียประโยชน์จากการนำเงินจำนวนนี้ไปเพื่อการอย่างอื่นและจะได้ประโยชน์มากกว่าการได้ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อแก่ ก. การที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหาย 300,000 บาท จึงสูงเกินไป
สัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินกำหนดหน้าที่ของบริษัทประเมินต้องสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามแบบและวิธีปฏิบัติที่ธนาคารกำหนด แบบสำรวจและประเมินกำหนดรายการประเมินราคาหลักประกันไว้ คือ ราคาประเมินซึ่งเป็นราคาสำหรับการประเมินที่ดินต่อตารางวาและราคาอาคาร กับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นการประเมินมูลค่าทรัพย์สินโดยคำนวณจากข้อมูลเปรียบเทียบ ไม่ว่าจะเป็นราคาประเมินหรือราคารับเป็นหลักประกัน จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นตามมาตรฐานหลักวิชาและจรรยาบรรณในวิชาชีพเพื่อให้โจทก์พิจารณาให้สินเชื่อได้อย่างถูกต้อง หลักประกันราย ร. จำเลยที่ 1 กำหนดราคาประเมิน 10,844,626 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 22,000,000 บาท โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน อ. นักประเมินราคาหลักทรัพย์ของโจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารร้อยละ 127.41 อ. ประเมินใหม่ได้ราคาประเมิน 8,081,085 บาท ราคารับเป็นหลักประกัน 9,674,000 บาท โดยเปรียบเทียบกับโครงการเดียวกัน นอกจากนี้ปรากฏว่าบริษัทประเมินอื่นรวมทั้งจำเลยที่ 1 เคยประเมินราคาในโครงการดังกล่าว ราคาประเมินกับราคารับเป็นหลักประกันจะต่างกันไม่เกินร้อยละ 30 โดยเฉพาะจำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันไม่เกินร้อยละ 20 มาตรฐานการประเมินราคารับเป็นหลักประกันจึงไม่เกินกึ่งหนึ่งของราคาประเมิน การที่จำเลยที่ 1 ประเมินราคารับเป็นหลักประกันถึง 22,000,000 บาท จึงเป็นการประเมินราคารับเป็นหลักประกันเกินกว่าราคาประเมินกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ประเมินราคารับเป็นหลักประกันตามมาตรฐานวิชาชีพเป็นการผิดสัญญา
การให้สินเชื่อ โจทก์ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพื่ออนุมัติวงเงินกู้ โดยฝ่ายประเมินสินทรัพย์ของโจทก์ต้องตรวจสอบข้อมูลว่าน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ราคาที่จำเลยที่ 1 ประเมินนั้นเหมาะสมหรือไม่ และต้องพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ด้วย ทั้งโจทก์ได้เสนอคณะกรรมการพิจารณาสินเชื่อเพื่อวิเคราะห์สินเชื่อด้วย ไม่ได้ใช้ราคาประเมินของจำเลยที่ 1 แต่เพียงอย่างเดียว ในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ เมื่อโจทก์ได้รับรายงานการประเมินราคาจากจำเลยที่ 1 แล้วต้องทราบว่าราคาประเมินซึ่งเป็นราคาต้นทุนกับราคารับเป็นหลักประกันซึ่งเป็นราคาตลาดต่างกันกว่าร้อยละ 100 เป็นเรื่องผิดปกติ แต่ยังคงอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ ต้องถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อ หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดทั้งหมดในส่วนต่างจากการให้สินเชื่อย่อมเป็นการโอนภาระความเสี่ยงของโจทก์แก่ผู้ประเมินราคาหลักประกัน ทั้งที่เป็นความผิดของโจทก์ที่วิเคราะห์ข้อมูลผิดพลาดและไม่ตรวจสอบความน่าเชื่อถือทางการเงินของลูกค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15948/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าปรับสัญญาจ้างแปรสภาพ: ศาลลดค่าปรับเมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างละเลยไม่บำบัดทุกข์
สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426-7427/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดทางอาญาและค่าสินไหมทดแทนจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ การนำข้อเท็จจริงจากคดีแพ่งมาใช้ในคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ
of 26