คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 427

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 167 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความรับผิดนายจ้างต่อการเสียชีวิตของลูกจ้างระหว่างการเดินทางเพื่อเจรจาค่าเสียหาย
การที่ น. ขับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดชัยนาทตามคำสั่งของ พ. ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พ. และเป็นนายจ้างของ น. เพื่อพา พ. ไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายกรณีที่ พ. เคยขับรถยนต์ชนกับรถยนต์ของบุคคลอื่นในระหว่างการทำตามหน้าที่ของผู้แทนบริษัท พ. เป็นการไปเพื่อตกลงชดใช้ค่าเสียหายประนีประนอมยอมความหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 850, 852 สำหรับการทำละเมิดของ พ. ที่บริษัท พ. อาจต้องรับผิดในความเสียหายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 77, 425, 427 การไปเจรจาเพื่อชดใช้ความเสียหายของ พ. เป็นการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ดังนั้น แม้ น. จะไม่ได้ป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้างแต่ก็ได้ทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง น. และ พ. ถึงแก่ความตายโดยไม่ปรากฏสาเหตุการถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงไม่ได้เกิดในระหว่างการเจรจาหรือสืบเนื่องมาจากการเจรจาเรื่องค่าเสียหาย ทั้งไม่ใช่เหตุที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นได้จากการเดินทาง จึงมิใช่ผลโดยตรงจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง หรือตามคำสั่งของนายจ้าง การที่ น. และ พ. ถึงแก่ความตายจึงถือไม่ได้ว่าเนื่องจากการทำงาน หรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นนายจ้าง น. จึงไม่ได้ประสบอันตรายตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ. 2537

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7728-7729/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าของรถที่ให้เช่ารถพร้อมคนขับแก่ตัวแทน และการละเมิดของคนขับ
ลูกหนี้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางให้บริษัทเขมจิราขนส่ง จำกัด เช่ารถบรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุโดยมีชื่อและเครื่องหมายของลูกหนี้อยู่ที่รถ แล้วนำไปบรรทุกน้ำมันส่งให้แก่ลูกค้าทั่วราชอาณาจักร ถือได้ว่าบริษัทดังกล่าวเป็นตัวแทนของลูกหนี้ในการขนส่งน้ำมัน เมื่อผู้ขับรถบรรทุกน้ำมันซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทดังกล่าวได้กระทำละเมิดต่อเจ้าหนี้ทั้งสองในทางการที่จ้าง ลูกหนี้ย่อมต้องรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างของตัวแทนได้กระทำไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 425, 427, 820

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่ง: การประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่มีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ ศ. ได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทน ศ. ผู้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงในคดีอาญาย่อมผูกพันโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิจาก ศ. ด้วย เมื่อคดีส่วนอาญาถึงที่สุดแล้ว โดยศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์ในคดีอาญานำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติให้ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ยุติในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 2 มิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดสิทธิในทรัพย์สิน การคืนทรัพย์สินหรือใช้ราคา และค่าเสียหายจากการไม่คืนทรัพย์สิน
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 4 ก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 4 ได้นำงานบางส่วนไปให้โจทก์ดำเนินการ ตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 กำหนดว่า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แล้ว ให้บรรดางานที่จำเลยที่ 4 ทำขึ้นและสิ่งของต่าง ๆ ที่ได้นำไปไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างตกเป็นของจำเลยที่ 1 ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 4 แต่การที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เป็นวัสดุอุปกรณ์ที่โจทก์นำเข้าไปดำเนินการ โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1336 บัญญัติไว้ และกรรมสิทธิ์ของโจทก์จะสิ้นสุดลงได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายหรือโดยโจทก์ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ซึ่งโจทก์มิได้ทำนิติกรรมให้มีผลเป็นการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 หรือจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ทำสัญญากันดังกล่าวข้างต้น ก็มีผลเฉพาะทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น จำเลยที่ 4 จะยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้มอบหมายหาได้ไม่ สัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ก่อให้เกิดบุคคลสิทธิเฉพาะคู่สัญญา มิได้ก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าวให้แก่โจทก์
เมื่อโจทก์จะเข้าไปรื้อถอนทรัพย์สินของโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ห้ามและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ารื้อถอนโดยอ้างสิทธิตามสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ข้างต้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้กระทำเช่นนั้นได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จึงต้องคืนทรัพย์ตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ในการใช้ราคาและค่าเสียหายอื่น ๆ ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบด้วยมาตรา 427
ทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จะต้องคืนให้โจทก์คืนแผ่นเหล็กและเสาเข็ม เมื่อระยะเวลานับแต่เกิดข้อพิพาทจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 8 ปี ทรัพย์สินของโจทก์น่าจะเสื่อมสภาพไปจนพ้นวิสัยที่จะคืนในสภาพที่ใช้งานได้ดังเดิมเพื่อมิให้เกิดปัญหาให้ชั้นบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ราคาให้แก่โจทก์โดยไม่กำหนดให้คืนทรัพย์สิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1627/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนเชิด-ความรับผิดทางละเมิด: เจ้าของรถมีส่วนรับผิดเมื่อรถถูกใช้โดยไม่ชอบ
รถแท็กซี่คันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 2 และหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏอยู่ข้างรถ การที่จำเลยที่ 1 นำรถคันดังกล่าวออกมาขับรับผู้โดยสาร ย่อมเป็นการแสดงออกต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2เจ้าของรถในการรับจ้างบรรทุกผู้โดยสาร จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427,821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5549/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยืมรถและการไม่เป็นตัวแทน: จำเลยไม่ต้องรับผิดในละเมิดที่ตัวการกระทำเอง
จำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะคันเกิดเหตุ โดยในขณะเกิดเหตุจำเลยให้นายนิดยืมเงิน 5,000 บาท โดยให้ น.ขับรถยนต์ของจำเลยคันดังกล่าวไปรับเงินจากภรรยาของจำเลย แล้ว น.ขับรถยนต์ไปเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์คันอื่นโดยละเมิด เป็นเหตุให้ ณ. และ บ.ถึงแก่ความตาย เมื่อการที่ น.นำรถยนต์ที่จำเลยให้ยืมเพื่อไปรับเงินที่จำเลยให้ยืมจากภรรยาของจำเลยนั้น มิใช่เป็นการทำการแทนจำเลย แต่เป็นการทำเพื่อกิจการและประโยชน์ของ น.เอง ดังนี้ น.จึงมิใช่ตัวแทนของจำเลย จำเลยย่อมไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่ง น.ได้กระทำไปดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าของรถและผู้เช่าซื้อกรณีเกิดละเมิดจากคนขับ รวมถึงการประเมินค่าเสียหายที่เหมาะสม
รถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุมีชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และผู้ประกอบการขนส่ง แม้จำเลยที่ 3 จะให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อดังกล่าวไป แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นผู้เสียภาษีในการใช้รถยนต์ประกอบการขนส่งประเภทส่วนบุคคลตลอดมาทุกปีและยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกันในการประกอบการขนส่ง โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดในทางการที่จ้างและในการประกอบการขนส่งอันเป็นธุรกิจที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีผลประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วย
ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 1 อยู่ในสภาพพังยับเยิน แม้จะทำการซ่อมแซมอย่างดีแล้วก็ไม่สามารถทำให้คืนดีเหมือนเดิมได้ ทำให้รถยนต์เสื่อมราคาไปจากการใช้ตามปกติ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 อีก จึงหาใช่เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าซ่อมและเปลี่ยนอะไหล่ไม่
ความเสียหายจากการกระทำละเมิดเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำละเมิดได้รับอันตรายสาหัสและต้องทุพพลภาพเป็นอัมพาตครึ่งท่อนล่างไปตลอดชีวิต นอกจากผู้ถูกกระทำละเมิดจะได้รับชดใช้ค่าเสียความสามารถประกอบการงานตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 444 วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหาย ที่ต้องได้รับความทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจจากการทุพพลภาพไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงินดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 446 วรรคหนึ่ง อีกด้วย และค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยส่วนนี้กับค่าเสียความสามารถประกอบการงาน เป็นค่าเสียหายคนละอย่างแตกต่างกัน และไม่ซ้ำซ้อนกัน
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดเป็นศาลที่รับแต่งตั้งจากศาลจังหวัดสีคิ้วให้สืบพยานหลักฐานของจำเลยแทนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 102 เท่านั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด หาใช่กระบวนพิจารณาสืบพยานหลักฐานของจำเลยตามที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับแต่งตั้งให้กระทำแทนศาลจังหวัดสีคิ้วไม่ ดังนั้น การที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ โดยให้โจทก์ไปยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาคดีจึงชอบแล้ว และการที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมิได้รับคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ไว้แล้วส่งไปศาลจังหวัดสีคิ้วเพื่อพิจารณาสั่งนั้น ก็หาเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสีคิ้วที่พิจารณาคดี การดำเนินกระบวนพิจารณาที่เกี่ยวกับจำเลยต่อมาทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายสินค้าขณะส่งมอบให้ผู้แทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องทางทะเล ย่อมต้องร่วมกันรับผิดในความเสียหายของสินค้าดังกล่าวที่ได้เกิดขึ้นระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากเมืองท่าสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพซึ่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 39 วรรคสองและมาตรา 40 (3) ให้ถือว่าสินค้าตามฟ้องยังคงอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1และที่ 2 ผู้ขนส่งจนกว่าจะได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เมื่อเรือขนส่งสินค้ามาจอดเทียบท่าเรือกรุงเทพจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของเรือได้ติดต่อเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยมาทำการขนสินค้าขึ้นจากเรือและตามหลักฐานการชำระค่าเช่าระบุว่ามีการคิดค่าเช่าโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จ่าย แสดงให้เห็นได้ว่าหน้าที่ในการขนส่งสินค้าขึ้นจากเรือยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งอยู่ เพียงแต่อาจมีเหตุจำเป็นที่ปั้นจั่นของเรือขนส่งสินค้าไม่สามารถยกสินค้าดังกล่าวขึ้นจากเรือได้จึงต้องมีการเช่ารถปั้นจั่นของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อให้ทำหน้าที่แทนปั้นจั่นของเรือ การทำหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงเป็นการทำงานแทนและเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเห็นได้ว่าการขนสินค้าตามฟ้องขึ้นจากเรือลงไปวางไว้ที่พื้นหน้าท่าเป็นขั้นตอนหนึ่งในการส่งมอบสินค้าให้ไปอยู่ในความครอบครองดูแลของการท่าเรือแห่งประเทศไทย การที่ลวดสลิงที่รัดยึดสินค้าเกิดขาดในระหว่างที่ปั้นจั่นยกลอยขึ้นจากเรือกำลังจะเคลื่อนย้ายมาวางที่พื้นหน้าท่าและตกกระแทกพื้นที่หน้าท่าทำให้สินค้าได้รับความเสียหายนั้น ถือว่าเป็นเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวยังอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยทั้งสองย่อมต้องรับผิดเพื่อความเสียหายดังกล่าว โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดหรือประมาทเลินเล่อของผู้ควบคุมรถปั้นจั่นซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยหรือไม่ เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งย่อมต้องรับผิดในความผิดหรือประมาทเลินเล่อของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยทั้งสองอยู่แล้ว กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ขนส่งตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 42 (13)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5545/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของตัวการและตัวแทน กรณีรถกอล์ฟชนผู้เล่น
จำเลยที่ 1 ทำงานเป็นแคดดี้อยู่ในสนามกอล์ฟของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถกอล์ฟบรรทุกผู้เล่นกอล์ฟชนโจทก์ได้รับบาดเจ็บที่เข่าซ้ายและหลังเท้าซ้ายจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ดูแลครอบครอง เพราะการใช้รถคันเกิดเหตุจะต้องผ่านการซื้อบัตรรถกอล์ฟโดยตรงจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงได้รับประโยชน์ส่วนแบ่งเป็นค่าเช่าจากผู้เล่นกอล์ฟ และแม้การที่จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุจะมิใช่หน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 1 แต่ก็ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้ทำ จำเลยที่ 1 จึงเป็นตัวแทน ของจำเลยที่ 2 ในด้านบริการแก่ผู้เล่นกอล์ฟ จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวการจึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4223/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดของนายจ้างและตัวการจากการดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้า
จำเลยที่ 2 และบริษัท ธ. เป็นบริษัทในเครือเดียวกันมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการค้าหาประโยชน์จากการใช้สถานที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่า ร่วมกัน การที่บริษัท ธ. ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1มาดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าดังกล่าว จึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ศูนย์การค้าของบริษัท ธ. และจำเลยที่ 2 ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยังทำหน้าที่ส่งพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลรักษาความปลอดภัยที่ศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าที่เกิดเหตุ พฤติการณ์ของบริษัท ธ. กับจำเลยที่ 2 ที่ประกอบกิจการค้าร่วมกัน โดยมีชื่อจำเลยที่ 2 และชื่อศูนย์การค้าดังกล่าวติดอยู่ในอาคารเดียวกัน และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 คอยดูแลรักษาความปลอดภัยในศูนย์การค้านั้น ย่อมเป็นที่แสดงให้ผู้ใช้บริการเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหรือได้ร่วมกับเจ้าของศูนย์การค้าดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยที่ 1 รวมทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าผู้มาใช้บริการแทนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการด้วย
การที่พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 1 ไม่ระมัดระวังตรวจบัตรจอดรถโดยเคร่งครัด อันเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อป้องกันการโจรกรรมรถยนต์ เป็นผลโดยตรงทำให้รถยนต์ของนาย ส. ถูกลักไป และเป็นการประมาทเลินเล่อ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับพนักงานรักษาความปลอดภัย ซึ่งเป็นลูกจ้างของตนในผลแห่งละเมิดต่อนาย ส. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ส่วนจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นตัวการมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนดูแลรักษาความเรียบร้อยและปลอดภัยในบริเวณลานจอดรถของศูนย์การค้าดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนของจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่มอบหมายให้ทำแทนนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ประกอบด้วยมาตรา 420 จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
of 17