คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 819 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยคำนวณจากค่าจ้างจริง ไม่ใช่เงินเลื่อนขั้นเกษียณ และการผิดนัดรับชำระหนี้ทำให้ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย
การที่พนักงานรถไฟได้รับการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปีอีก 1 ขั้นในปีที่เกษียณอายุโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้น โดยที่พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 มาตรา 31 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วบัญญัติไว้ในวรรคสองว่า การเลื่อนเงินเดือนในวันสุดท้ายของปีงบประมาณนั้นไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับเงินเดือนที่ได้เลื่อน แต่เงินเดือนที่ได้เลื่อนให้ถือเสมือนว่าเป็นเงินเดือนเดิม อัตราเงินเดือนที่ได้เพิ่มขึ้นในวันสุดท้ายที่เกษียณอายุจึงเป็นแต่เพียงสิทธิ ไม่ได้จ่ายเป็นตัวเงิน ถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างตามความในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานและจะนำมาคำนวณค่าชดเชยไม่ได้เพราะคำว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย.ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วนั้นมุ่งหมายถึงค่าจ้างครั้งสุดท้ายที่ลูกจ้างได้รับตามความเป็นจริง
การที่จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้โจทก์จึงตกเป็นผู้ผิดนัด ไม่มีสิทธิที่จะเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899-910/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเพราะเกษียณอายุ: ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ยังมีผลผูกพัน แม้มีระเบียบภายใน
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ ใช้สำหรับพิจารณาว่า คุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ มิได้ยกเว้นไว้ว่าไม่ให้ถือเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศดังกล่าว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46กำหนดบทนิยามคำว่า 'การเลิกจ้าง' ไว้ และได้ระบุเจาะจงลงไปด้วยว่า 'การเลิกจ้างตามข้อนี้' แสดงว่าให้ใช้แก่เรื่องค่าชดเชยตามประกาศนี้เท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นด้วย การแปลคำว่า 'เลิกจ้าง' ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา31 จึงไม่จำต้องพลอยแปลตามข้อ 46 ด้วย (การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ(ฉบับที่6) กลับไปใช้ข้อความตาม (ฉบับที่ 2) โดยไม่มีข้อความให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างด้วยดังเช่น (ฉบับที่ 5) นั้นอาจเป็นเพราะเห็นบทนิยามคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามที่เคยใช้อยู่นั้น ครอบคลุมถึงกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้ เพราะมิได้ระบุยกเว้นไว้เป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
นายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยขึ้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
แม้นายจ้างจะได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งลูกจ้างทราบดีแล้วตั้งแต่สมัครเข้าทำงานว่า เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็จะให้พ้นจากตำแหน่งไป ก็ถือไม่ได้ว่ามีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะเป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติลูกจ้างเป็นการทั่วไป
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46และข้อ 47 ไม่ปรากฏชัดว่ามีเจตนารมณ์ในการกำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยเพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และยังไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างจึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีกเมื่อจำเลยมิได้จ่ายให้ตามกำหนดเวลาที่กฎหมายบังคับไว้ จึงต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875-878/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน แม้หลักเกณฑ์ราชการจะแตกต่าง
การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 46 หมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด โดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ทั้งไม่มีข้อความยกเว้นไว้มิให้ถือว่า การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุอันถือว่าเป็นการขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการเลิกจ้าง การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจึงเป็นการเลิกจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
เดิม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานมิได้มีความระบุไว้ถึงเรื่องการเกษียณอายุ ต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) มีข้อความเพิ่มเติมว่า การเลิกจ้างรวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นตำแหน่งเพราะเกษียณอายุนั้น เป็นการเน้นความหมายของคำว่าเลิกจ้างให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้น และต่อมามีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6)ไม่มีข้อความว่า การเลิกจ้างให้รวมทั้งกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุ เช่น ประกาศกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ 5) ก็ไม่ทำให้ความหมายของการพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเปลี่ยนแปลงไป
การที่กระทรวงการคลังวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าชดเชยไว้ว่า การที่พนักงานรัฐวิสาหกิจพ้นจากตำแหน่ง เพราะเกษียณอายุตามกฎหมายมิใช่เป็นกรณีเลิกจ้างนั้น เป็นเพียงหลักเกณฑ์ตามแนวความเห็นของทางราชการ ไม่มีผลบังคับอย่างกฎหมาย จึงไม่มีผลลบล้างความหมายของคำว่าเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน
เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย มีหลักเกณฑ์การจ่ายแตกต่างไปจากค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จึงถือไม่ได้ว่าเงินบำเหน็จเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินบำเหน็จกับการจ่ายค่าชดเชย: ข้อบังคับนายจ้างไม่อาจเปลี่ยนแปลงสิทธิค่าชดเชยตามกฎหมาย
เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย ฉบับที่ 29 ผู้ปฏิบัติงานจะมีสิทธิได้รับต่อเมื่อมีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เว้นแต่การออกจากงานเพราะเหตุที่ระบุไว้ เช่นเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานต่อไปได้ มีระยะเวลาทำงานถึงกำหนดที่กล่าวแล้ว และกรณีผู้ปฏิบัติงานตาย จำเลยก็ยังต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ทายาทของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะไม่มีสิทธิรับเงินบำเหน็จเมื่อถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออกตามข้อบังคับของจำเลย และทายาทไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จถ้าผู้ปฏิบัติงานถึงแก่ความตายเพราะกระทำผิดอาญาหรือถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยซึ่งถ้าไม่ตายเสียก่อนจะถูกลงโทษไล่ออกหรือให้ออก ดังนี้ เงินบำเหน็จเป็นเงินที่มีลักษณะหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายแตกต่างกับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง คุ้มครองแรงงาน ข้อ 46,47 และเป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างมิใช่ค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ในข้อ 11 วรรคแรกว่า 'การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ ให้ถือเป็นการจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน' เมื่อข้อบังคับดังกล่าวออกโดยอาศัยความในมาตรา 18(8) แห่งพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ. 2509 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเพียงให้คณะกรรมการมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการสงเคราะห์ ผู้จัดการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ซึ่งพ้นการเป็นผู้จัดการพนักงานหรือลูกจ้างของธนาคารและครอบครัวของบุคคลดังกล่าวหาได้ให้อำนาจกำหนดให้เงินตามข้อบังคับที่ออกเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานด้วยไม่ ข้อบังคับของจำเลย ข้อ 11 วรรคแรก จึงไม่มีผลให้เงินบำเหน็จ ซึ่งเป็นเงินประเภทอื่นกลายเป็นค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774-780/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชย: การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและกฎหมายแรงงาน
พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518 ใช้สำหรับพิจารณาว่าคุณสมบัติขั้นมาตรฐานของพนักงานรัฐวิสาหกิจมีอย่างไรบ้าง การที่รัฐวิสาหกิจให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะขาดคุณสมบัติในเรื่องอายุจะเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้หรือไม่นั้นต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 เมื่อประกาศดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้เป็นพิเศษว่า การให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุไม่ให้ถือว่าเป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้วเพียงแต่การที่รัฐซึ่งเป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจทั้งหลายกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งปวงให้เป็นระเบียบเดียวกันในรูปของกฎหมายนั้น หามีผลเป็นข้อยกเว้นไปในตัวสำหรับบทนิยามของคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46ซึ่งกำหนดหน้าที่ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยได้กำหนดบทนิยามไว้ในข้อนี้เองว่า 'การเลิกจ้าง' หมายความว่าอย่างไร ทั้งยังจำกัดลงไปด้วยว่า 'การเลิกจ้างตามข้อนี้' แสดงว่า'การเลิกจ้าง' ในข้อ 46 นี้ใช้แก่ค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเท่านั้น มิได้มุ่งหมายให้นำไปใช้แก่เรื่องอื่นหรือกฎหมายอื่นดังนั้น พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31จึงไม่ต้องพลอยแปลคำว่า 'การเลิกจ้าง' ตามคำแปลในเรื่องค่าชดเชยด้วย
การที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ (ฉบับที่ 6) แก้ไขข้อ 46ของประกาศฯ (ฉบับที่ 5) ตัดข้อความที่ให้รวมเอากรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างด้วยออกไปนั้น อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าบทนิยามคำว่า'การเลิกจ้าง' ตามที่เคยใช้อยู่ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุอยู่แล้วก็ได้เพราะมิได้ระบุยกเว้นเป็นพิเศษแต่อย่างใด จะถือว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะเปลี่ยนหลักการยังไม่ได้
แม้ระเบียบของนายจ้างได้กำหนดเป็นข้อตกลงซึ่งเมื่อลูกจ้างสมัครเข้าทำงานก็ทราบอยู่แล้วว่า เมื่อมีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์ก็จะพ้นจากตำแหน่งไป ก็ยังถือไม่ได้ว่าได้มีการกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว เพราะมิใช่เป็นการตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นรายๆ ไปว่าจะจ้างกันเป็นระยะเวลานานเท่าใด และการจ่ายค่าชดเชยนี้ เป็นหน้าที่ซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ในการจ่ายก็ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้นั้นนายจ้างหามีอำนาจที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายค่าชดเชยนั้นเองให้ขัดแย้งกับประกาศฯ. อันมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายไม่
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2นิยามคำว่า 'ค่าชดเชย' แต่เพียงว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง แม้จะดูข้อ 46 และ47 ด้วยก็ไม่ปรากฏชัดว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเพื่อการช่วยเหลือให้ลูกจ้างมีเงินยังชีพในระหว่างหางานใหม่เนื่องจากต้องออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและยังไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้เป็นพิเศษเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ จึงต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามมาตรา 164
ค่าชดเชยเป็นเงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง จึงเป็นหนี้เงินซึ่งกฎหมายกำหนดเวลาชำระไว้แน่นอนแล้วโดยลูกจ้างมิพักต้องทวงถามอีก. เมื่อนายจ้างมิได้จ่ายให้ก็ต้องเสียดอกเบี้ยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายงานข้ามบริษัทในเครือถือเป็นการเลิกจ้าง สิทธิค่าชดเชยและค่าหยุดพักผ่อน
เหตุที่จำเลยย้ายโจทก์ไปทำงานที่บริษัทอื่นก็เนื่องมา จากจำเลยไม่พอใจผลงานของโจทก์ แม้บริษัทนั้นจะอยู่ในเครือเดียวกันกับจำเลยแต่ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากกันในการเข้าทำงานโจทก์ก็ต้องทำสัญญาเป็นการตกลงจ้างกันใหม่ การย้ายดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปหรือให้โจทก์ออกจากงาน ถึงหากโจทก์จะสมัครใจทำงานใหม่ก็เป็นการสมัครใจหลังจากที่จำเลยไม่ประสงค์จะจ้างโจทก์ต่อไปแล้วและหาได้มีข้อความใดเป็นการตกลงให้นับระยะเวลาทำงานกับจำเลยต่อเนื่องกับระยะเวลาทำงานกับบริษัทใหม่ไม่ จึงมิใช่เป็นการสมัครใจย้ายที่ทำงานของโจทก์ หากเป็นผลจากการเลิกจ้างของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยจากจำเลย
เมื่อจำเลยจ่ายค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่นให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือน มิใช่เป็นครั้งคราว หรือโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหากโจทก์มิได้ไปติดต่อลูกค้านอกสถานที่ทำงานจะไม่ได้รับค่าพาหนะและค่าคอมมิชชั่น และจำเลยได้จ่ายเช่นนี้มาตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานจนเลิกจ้างจึงถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นการตอบแทนการทำงาน อันเป็นค่าจ้างเพียงแต่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นเท่านั้น จึงต้องนำเงินนี้มารวมกับเงินเดือนเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย
ข้อบังคับของจำเลยมีความว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิพักผ่อนประจำปี โดยได้รับค่าจ้างเต็ม วันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังไม่ ได้ใช้จะเก็บสะสมไว้ในปีต่อไปไม่ได้ ดังนี้พนักงานที่ทำงานมาเป็นเวลา 1 ปี กับ 1 วัน ก็ย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ ไม่จำต้องทำงานต่อไปจนครบอีก 1 ปี และการที่พนักงานมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นก็เป็นแต่เพียงจะนำไปเก็บสะสม ไว้ใช้ในปีต่อไปไม่ได้เท่านั้นเอง หาเสียสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีอีกไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โบนัส-บำเหน็จ: สิทธิลูกจ้างรับโอนจากรัฐวิสาหกิจ vs. ลูกจ้างใหม่ตามสัญญาเช่า
เงินโบนัสและเงินบำเหน็จเป็นเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนอกเหนือไปจากที่นายจ้างจะต้องจ่ายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ เช่นค่าชดเชยดังนั้น นายจ้างจะจ่ายเงินโบนัสและเงินบำเหน็จให้แก่ลูกจ้างหรือไม่ และถ้าจ่ายจะจ่ายด้วยวิธีการและหลักเกณฑ์อย่างใดก็ต้องแล้วแต่นายจ้างจะกำหนด หรือตามสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างแล้วแต่กรณี เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะ โจทก์บางคนที่จำเลยรับเข้าทำงานเองมิได้มีความผูกพันอยู่กับสัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อจำเลยได้มีคำสั่งและประกาศให้ทราบแล้วว่า ให้แยกจ่ายเงินค่าครองชีพต่างหากจากเงินเดือนและค่าจ้าง ทั้งโจทก์ก็ได้ยอมรับเอาเงินโบนัสและเงินบำเหน็จไปแล้ว มิได้มีการโต้แย้งหรือเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเป็นประการอื่น จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินโบนัสหรือเงินบำเหน็จเพิ่มอีกได้
ส่วนโจทก์บางคนที่จำเลยรับโอนจากโรงงานสุรากรมโรงงานอุตสาหกรรมตามสัญญาเช่านั้น จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาเช่า โดยที่ขณะสัญญาเช่ายังมีผลบังคับกระทรวงการคลังได้สั่งให้รัฐวิสาหกิจที่จ่ายเงินค่าครองชีพเงินค่ายังชีพ หรือเงินที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นแต่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน นำเงินดังกล่าวไปบวกรวมเข้ากับเงินเดือนค่าจ้าง และนำยอดรวมไปปรับเข้าขั้นเงินเดือนค่าจ้าง ตามบัญชีอัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ที่รัฐวิสาหกิจใช้อยู่ ซึ่งเห็นว่าตามวิธีการที่กำหนดนี้ย่อมเป็นการให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจดีขึ้นในการคำนวณเงินโบนัสและเงินบำเหน็จ ฉะนั้น จึงอยู่ในข้อบังคับของสัญญาเช่าอันเป็นผลให้จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าต้องปฏิบัติตามระเบียบหรือคำสั่งทางราชการดังกล่าว ด้วยเหตุนี้โจทก์ที่จำเลยรับโอนมาจึงมีสิทธิจะให้จำเลยนำเงินค่าครองชีพมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินโบนัสและเงินบำเหน็จเพิ่มอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินชดเชยและบำเหน็จของนายจ้างตามระเบียบ และกฎหมายแรงงาน: การพิจารณาว่าเงินบำเหน็จรวมเป็นค่าชดเชยแล้ว
ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน ฯลฯ ของโรงงานจำเลยกำหนดว่าเมื่อพนักงานประจำต้องออกจากงานจะได้รับเงินชดเชยและเงินบำเหน็จทั้งสองอย่างและตอนต้นของระเบียบได้กล่าวถึงเหตุผลในการออกระเบียบนี้ว่า โดยที่ได้พิจารณาเห็นสมควรกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดงาน ค่าจ้าง เงินชดเชยเงินค่าทดแทน ค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ และบำเหน็จพนักงานและคนงานในโรงงาน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติแรงงานระเบียบนี้ประกาศใช้ภายหลังที่ได้มีพระราชบัญญัติแรงงานพ.ศ.2499 ต่อมาพระราชบัญญัติแรงงานฯ ได้ถูกยกเลิกไปและมีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำซึ่งกำหนดอัตราค่าชดเชยไว้เป็นผลดีแก่ฝ่ายลูกจ้างมากขึ้นกว่าตามพระราชบัญญัติแรงงานฯ ส่วนระเบียบการจ่ายเงินชดเชยของจำเลยมิได้เปลี่ยนแปลงอย่างใด ดังนี้หากจำเลยจ่ายค่าชดเชยน้อยไปไม่ครบตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจำเลยก็มีหน้าที่ต้องจ่ายให้ครบ ส่วนเงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยนั้น ต้องการให้พนักงานที่ทำงานมาด้วยดีได้รับเงินตอบแทนความชอบอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นจากเงินชดเชย และบำเหน็จนี้ตามระเบียบของจำเลยกำหนดว่าถ้ามากกว่าเงินชดเชยให้ตัดเงินบำเหน็จออกเท่ากับจำนวนเงินชดเชย แต่ถ้าน้อยกว่าก็ให้ได้รับแต่เงินชดเชยอย่างเดียว แปลได้ว่า พนักงานประจำทุกคนมีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานจนครบตามสิทธิของตนและยังมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีกด้วยถ้าเงินบำเหน็จมากกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับเงินบำเหน็จเฉพาะส่วนที่มาก กว่าเงินชดเชย เมื่อรวมกับเงินชดเชยแล้วก็จะได้เท่ากับเงินบำเหน็จทั้งหมดนั่นเอง แต่ถ้าเงินบำเหน็จน้อยกว่าเงินชดเชยก็ให้ได้รับแต่ค่าชดเชยอย่างเดียว ดังนั้นเห็นได้ว่าเงินบำเหน็จที่พนักงานได้รับไปนั้น เป็นเงินชดเชยตามระเบียบของจำเลยหรือค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ รวมอยู่ด้วยแล้ว เมื่อโจทก์ทุกคนได้รับบำเหน็จไปแล้วมีจำนวนเงินเกินกว่าค่าชดเชยที่ขอมาตามฟ้อง จึงถือได้ว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทุกคนไปแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงแบ่งรายได้ตัดผม ไม่เป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
โจทก์เป็นช่างตัดผมอยู่ที่ร้านของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ออกอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ ค่าตัดผมที่โจทก์ตัดจำเลยได้ร้อยละ 40 โจทก์ได้ร้อยละ 60 ไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ลักษณะเห็นได้ว่าจำเลยไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ โดยเป็นทำนองจำเลยมีร้านตัดผมและอุปกรณ์แต่ไม่สามารถตัดเองได้ ก็หาประโยชน์โดยเปิดโอกาสให้ช่างตัดผมเข้ามาทำการตัดผมในร้านของจำเลยและแบ่งรายได้ที่ช่างตัดผมได้รับเป็นของจำเลยส่วนหนึ่ง การทำงานของโจทก์เป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งค่าจ้างจากลูกค้า ค่าจ้างที่โจทก์ได้รับมิใช่ค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยเพื่อรับค่าจ้าง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลยตามความหมายแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับวันลาพักผ่อนประจำปี: ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ขัดต่อกฎหมายแรงงาน
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของจำเลยเกี่ยวกับการนับวันลาพักผ่อน อ้างว่าระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยให้การว่าระเบียบนั้นไม่ขัดต่อกฎหมาย คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว ปัญหาว่าคำวินิจฉัยของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงต้องวินิจฉัยว่าระเบียบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขัดต่อกฎหมายหรือไม่ มิใช่วินิจฉัยเพียงว่าจำเลยวินิจฉัยตรงตามระเบียบดังกล่าวแล้วจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างเป็นอำนาจของนายจ้างดังนั้น การที่ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการลาของพนักงานฯ กำหนดให้พนักงานต้องยื่นใบลาจึงเห็นได้ว่าเพื่อให้การกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้พนักงานตรงกับความประสงค์ของพนักงานแต่ละคนยิ่งขึ้น และตามระเบียบก็ไม่ถือว่าวันลาพักผ่อนประจำปีเป็นวันลา ฉะนั้นวันลาพักผ่อนประจำปีก็คือวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั่นเอง
การที่ระเบียบการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคว่าด้วยการลาของพนักงานฯให้นับวันหยุดประจำสัปดาห์เข้าเป็นวันลาด้วยนั้น ไม่มีผลทำให้พนักงานไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์เหลืออยู่เลยเพราะหากพนักงานเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นช่วงๆ ไม่ให้คร่อมวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดประจำสัปดาห์ก็คงเหลืออยู่บริบูรณ์ ส่วนในกรณีพนักงานเลือกหยุดพักผ่อนประจำปีให้คร่อมวันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานก็ยังเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปี8 วันทำงาน สูงกว่าขั้นต่ำตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ซึ่งกำหนดไว้ 6 วันทำงาน และสิทธิที่พนักงานมีตามประกาศฯ ดังกล่าว เป็นสิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน หาใช่สิทธิที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีในวันทำงานโดยไม่จำกัดจำนวนวันไม่
of 82