คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 819 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 182/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดนายจ้างต่อการเสียชีวิตลูกจ้างขณะเดินทางกลับจากที่ทำงาน กรณีสวัสดิการรถรับส่ง
ลูกจ้างเลิกทำงานประจำวันตามหน้าที่แล้วและออกจากโรงงานมานั่งรถยนต์เพื่อเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรถยนต์แล่นตกลงข้างถนนและทับลูกจ้างถึงแก่ความตาย ดังนี้ แม้รถที่ลูกจ้างนั่งจะเป็นรถยนต์บริการที่นายจ้างจัดรับส่งพนักงาน ก็เป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้เพื่อความสะดวกแก่พนักงานในการเดินทางกลับบ้านเท่านั้น ลูกจ้างมิได้นั่งรถไปหรือกลับจากการทำงานตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมบังคับบัญชาของนายจ้างจึงถือไม่ได้ว่าการตายของลูกจ้างเกี่ยวข้องกับการทำงานให้แก่นายจ้าง นายจ้างไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทดแทนและค่าทำศพแก่ลูกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจเนื่องจากอายุครบ 60 ปี ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46วรรคสอง มีความว่า 'การเลิกจ้างตามข้อนี้ หมายความว่าการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำความผิดตามข้อ 47แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯลฯ'และวรรคสามมีความว่า 'ความในข้อนี้มิให้ใช้บังคับแก่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นหรือลูกจ้างประจำที่นายจ้างแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่า ให้ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันและยังอยู่ในระยะเวลานั้น' ดังนี้ จะเห็นได้ว่าถ้ากฎหมายมีความประสงค์ที่จะไม่ให้ถือว่าการเลิกจ้างพนักงานของรัฐวิสาหกิจซึ่งขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามเพราะเหตุอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์เป็นการเลิกจ้างซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยแล้ว ก็ย่อมจะแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงมหาดไทยระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ได้ดังตัวอย่างในวรรคสาม
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ 2คำว่า'ค่าชดเชย' หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างแต่การจ่ายเงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยนั้นมิได้มีลักษณะที่แสดงว่ามุ่งหมายจะจ่ายให้อย่างค่าชดเชย หากแต่เป็นเงินซึ่งจ่ายให้แก่ลูกจ้างในลักษณะที่เป็นเงินสงเคราะห์เพื่อตอบแทนการที่ได้ทำงานมาโดยไม่มีความผิดทางวินัยจนกระทั่งออกจากงาน หรือลาออกเอง หรือถึงแก่กรรมด้วยและหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินก็แตกต่างกับการจ่ายค่าชดเชย เงินบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลย จึงเป็นเงินประเภทอื่นที่กล่าวไว้ในบทนิยามคำว่า'ค่าชดเชย'จำเลยจะขอให้ถือการที่จำเลยได้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่โจทก์เป็นการจ่ายค่าชดเชยแล้วหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางไม่ใช่ค่าจ้างสำหรับคำนวณค่าทดแทนกรณีประสบภัยจากการทำงาน
เมื่อ ม. ลูกจ้างทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานของโจทก์เงินเดือนปกติที่โจทก์จ่ายให้แก่ ม. จึงเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานอยู่แล้ว ส่วนเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางซึ่งโจทก์จ่ายให้ ม. เมื่อออกไปทำงานต่างจังหวัดเป็นครั้งคราวนั้น เป็นการตอบแทนการออกไปทำงานในต่างจังหวัดนอกเหนือจากการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน ไม่มีพฤติการณ์ใดส่อแสดงว่า โจทก์จ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางให้แก่ ม.. เป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานด้วยเงินค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางกรณีนี้จึงหาใช่ค่าจ้างอันอาจนำมารวมคำนวณค่าทดแทนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2261-2264/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินบำเหน็จจากการเกษียณอายุ ต้องรวมเงินรางวัลพิเศษคำนวณตามข้อบังคับและกฎหมายแรงงาน
จำเลยเช่าโรงงานสุราบางยี่ขันจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาดำเนินการ ตามสัญญาเช่ากำหนดให้จำเลยรับโอนพนักงานและคนงานเข้าทำงานต่อไปและให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน โดยที่เงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวได้วางระเบียบให้จ่ายเท่ากับค่าจ้างปกติในเดือนสุดท้ายของปีที่ออกปีละ 1 เดือนโจทก์ออกจากงานเพราะเกษียณอายุจำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โดยคำนวณเฉพาะเงินเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีทำงานแต่ไม่นำเงินรางวัลพิเศษที่โจทก์ได้รับเป็นรายเดือนมารวมคำนวณด้วยดังนี้ คำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องระเบียบว่าด้วยเวลาทำงาน เป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งจำเลยในฐานะผู้เช่าโรงงานสุราจะต้องถือปฏิบัติตามข้อสัญญาที่ทำไว้กับผู้ให้เช่าและจำเลยในฐานะที่เป็นนายจ้างจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอันเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่วางไว้ด้วยเมื่อได้ความว่าเงินรางวัลพิเศษที่จำเลยจ่ายให้แก่พนักงานและคนงานที่มีเงินเดือนหรือค่าจ้างเต็มอัตรา เกินอัตรา หรือไม่มีอัตราโดยจ่ายเป็นรายเดือนและมีขั้นวิ่งเหมือนเงินเดือนถือได้ว่าเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดเวลาทำงาน ฯลฯและเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ และเงินรางวัลพิเศษนี้เป็นค่าจ้างปกติตามบทนิยามคำว่า 'ค่าจ้างปกติ' ในคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง ระเบียบว่าด้วยเวลาทำงานฯ ฉะนั้น จึงต้องนำเงินรางวัลพิเศษไปรวมกับเงินเดือนหรือค่าจ้างคำนวณเป็นเงินบำเหน็จตามคำสั่งดังกล่าวด้วยแม้จำเลยได้มีหนังสือแจ้งทุกหน่วยงานว่า ไม่ถือว่าเงินรางวัลพิเศษเป็นค่าจ้างที่จะนำมารวมคำนวณเงินบำเหน็จก็ไม่มีผลบังคับเพราะขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยและคำสั่งกระทรวงอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 แก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 5 เป็นเรื่องกำหนดข้อยกเว้นการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างไม่เกี่ยวกับจ่ายเงินบำเหน็จเช่นคดีนี้ทั้งเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังที่โจทก์เกษียณอายุออกจากงานแล้วไม่อาจนำมาปรับกับคดีนี้ได้
เงินบำเหน็จมิใช่เป็น 'ส่วนหนึ่งของเงินจ้าง' ตามความหมายในมาตรา 165(9) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันจะมีอายุความ 2 ปีแต่เป็นการเรียกร้องเงินบำเหน็จในกรณีที่ลูกจ้างเกษียณอายุออกจากงานตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติว่ามีอายุความฟ้องร้องเท่าใดจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2029/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการคำนวณค่าชดเชย: การแจ้งเรื่องถูกจับกุม, การประพฤติไม่เหมาะสม, และค่าครองชีพ
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งเรื่องถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบการที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ได้แจ้งเรื่องนี้แล้ว จึงเป็น อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯมาตรา 54
แม้โจทก์ขาดงานเพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมาโจทก์ก็ชอบที่จะแจ้งเรื่องที่ถูกจับให้ผู้บังคับบัญชาทราบ การที่โจทก์ไม่แจ้ง ถือว่าเป็นการประพฤติไม่เหมาะสมตามระเบียบว่าด้วยการจ้างและเลิกจ้างคนงานฯ ของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้
เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่โจทก์มิได้ตั้งประเด็นมาในคำฟ้อง คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยศาลฎีกาย่อมไม่รับวินิจฉัยให้
การที่โจทก์ไปทำงานไม่ได้เพราะถูกจับและถูกควบคุมตัวตลอดมา ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ การไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือไม่ขอลางาน หาทำให้เป็นการละทิ้งหน้าที่ขึ้นไม่ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการ ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(4) อันจำเลยจะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เกี่ยวข้องกับภาวะค่าครองชีพโดยเฉพาะอย่างไร การที่จำเลยจ่ายค่าครองชีพให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนมีจำนวนแน่นอนทำนองเดียวกับเงินเดือนค่าครองชีพ ที่โจทก์ได้รับจึงเป็นส่วนหนึ่งของเงินเดือนที่จำเลยจ่ายให้เป็นการตอบแทน การทำงาน จึงเป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำมาคำนวณค่าชดเชยด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1799/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์ของการบาดเจ็บจากการทำงานเพื่อขอรับเงินทดแทน: การทำร้ายร่างกายก่อนการถูกยิงไม่ถือเป็นอันตรายจากการทำงาน
แม้จะฟังว่าผู้ช่วยผู้จัดการบริษัท อ. สั่งให้ผู้ตายดำเนินการให้ ป. ย้ายออกไปจากห้องพักของบริษัทซึ่ง ป. อยู่โดยไม่มีสิทธิ ผู้ตายสั่งให้คนตาม ป. ไปพบ ป. ไม่ไป ผู้ตายจึงไปพบ ป. เพื่อเจรจาเรียกห้องพักคืน แต่ในการเจรจานั้นได้ความว่าผู้ตายได้ทำร้ายร่างกาย ป. ก่อนโดยไม่จำเป็น ดังนี้ เป็นเรื่องผู้ตายทำร้ายร่างกาย ป. ไปตามเจตนาของผู้ตายเองหาเกี่ยวเนื่องกับการเจรจาเรียกห้องพักคืนอันเป็นการทำงานให้นายจ้างไม่ เมื่อ ป. บันดาลโทสะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย ความตายของผู้ตายจึงเกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายทำร้ายร่างกาย ป. ก่อน ถือไม่ได้ว่าผู้ตายประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันจะทำให้ภริยาของผู้ตายมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1566/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างตามกฎหมาย และเงินบำเหน็จไม่ใช่ค่าชดเชย
การที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานเพราะครบเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 46 ที่แก้ไขแล้ว
การที่จำเลยมีระเบียบว่า ลูกจ้างจะถูกสั่งให้ออกเมื่อปฏิบัติงานมาถึงสิ้นปีงบประมาณซึ่งเป็นปีที่มีอายุครบ 60ปีบริบูรณ์นั้น มิใช่เป็นการกำหนดระยะเวลาการจ้างเพราะมิใช่ เป็นการตกลงกันว่าจะจ้างกันจนกว่าลูกจ้างจะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ แต่เป็นเรื่องกำหนดคุณสมบัติของลูกจ้างเป็นการทั่วไป โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลย เป็นเงินสงเคราะห์ที่จ่ายให้สำหรับความดีความชอบในการที่ลูกจ้างได้ทำงานมาเกินกว่า3 ปี และออกจากงานไปโดยไม่มีความผิดทางวินัย เป็นการจ่ายโดยมีวัตถุประสงค์ยิ่งกว่าให้เป็นเงินจำนวนหนึ่งแก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง ทั้งข้อความตามระเบียบของจำเลยก็มิได้แสดงว่าประสงค์ให้เงินบำเหน็จนั้นเป็นค่าชดเชยตามกฎหมาย เงินบำเหน็จตามระเบียบของจำเลยจึงเป็นเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างหาใช่ค่าชดเชยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 131/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินทดแทนกรณีลูกจ้างเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายด้วยสาเหตุส่วนตัว แม้เกิดเหตุขณะปฏิบัติงาน
ส. ลูกจ้างโจทก์ถูกแทงทำร้ายถึงแก่ความตาย เพราะสาเหตุเรื่องส่วนตัวแม้การตายของ ส. ได้เกิดขึ้นขณะปฏิบัติงานทำความสะอาดตู้รถสินค้าและบริเวณที่ทำการรับส่งสินค้าของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างก็ตาม แต่เมื่อมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวก็ถือไม่ได้ว่า ส. ประสบอันตรายถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงานให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง ตามนัยแห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่จำต้องจ่ายเงินทดแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2379/2520

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดนายจ้างต่อการประสบอันตรายของลูกจ้างขณะเดินทางไปทำงาน ต้องเป็นการเดินทางตามคำสั่งหรือเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง
ลูกจ้างมีหน้าที่เดินตลาดและเก็บเงินจากลูกค้า นายจ้างมอบรถจักรยานยนต์ไว้ให้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ดูแลรักษาและอนุญาตให้นำรถกลับบ้านและขับมาทำงานที่สำนักงานด้วย ขณะที่ลูกจ้างประสบอันตรายนั้นเป็นเวลาที่ลูกจ้างขับรถจักรยานยนต์จากบ้านจะไปสำนักงานเพื่อปฏิบัติงานตามปกติ มิได้ประสบอันตรายในขณะที่กำลังเดินทางไปหรือกลับจากการปฏิบัติงานตามคำสั่งของนายจ้าง จึงมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง และมิใช่เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการป้องกันรักษาประโยชน์ให้แก่นายจ้าง นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินทดแทนให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน: เงินผลประโยชน์ในการปลดลูกจ้างตามข้อบังคับบริษัท เข้าข่ายเป็นค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ได้ให้คำจำกัดความของ 'ค่าชดเชย' ไว้ว่า หมายถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทโจทก์มีว่า บริษัทโจทก์จะจ่ายเงินผลประโยชน์ในการปลดลูกจ้างเป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าค่าชดเชยซึ่งลูกจ้างจะพึงได้รับตามประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้งตามข้อบังคับดังกล่าวแสดงเจตนาไว้ว่า บริษัทโจทก์ประกาศข้อบังคับนี้ก็เพราะมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อความตามข้อบังคับนี้จึงแสดงถึงความเอื้อเฟื้อของบริษัทโจทก์ที่สัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าชดเชยในการปลดลูกจ้างออกจากงานให้เป็นจำนวนมากกว่าที่ทางราชการกำหนดไว้ดังนั้น เงินผลประโยชน์ในการปลดที่บริษัทโจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างตามข้อบังคับดังกล่าว จึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างอันเป็นค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ไม่อาจแปลได้ว่าเป็นเงินประเภทอื่นที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง
of 82