คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 448 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 75 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนและผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดต่อความเสียหายจากการทุจริตของลูกจ้าง
แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องไม่ชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 กระทำละเมิดหรือผิดสัญญาแต่เมื่อโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงมาให้เป็นที่เข้าใจตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรแล้ว เป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องปรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่าจะต้องด้วยบทกฎหมายใด ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ทั้งสองทาง โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดทั้งในมูลผิดสัญญาตัวแทนและในมูลละเมิด ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างช้าในวันที่ 12 กันยายน 2555 และจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 อันทำให้สิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องในมูลผิดสัญญาตัวแทนนั้น ไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องถืออายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2554 ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 แต่คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และ ฝ. นั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และ ฝ. รับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ในระหว่างที่ ฝ. เป็นผู้จัดการของโจทก์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2555 ซึ่งความรับผิดของจำเลยที่ 2 และ ฝ. มิใช่การรับผิดร่วมกัน แต่เป็นความรับผิดของแต่ละคนที่จะต้องรับผิดเฉพาะในช่วงเวลาที่ตนเป็นผู้จัดการของโจทก์เท่านั้น และจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซํ้าและการดำเนินกระบวนพิจารณาซํ้าจำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบใบเสร็จรับเงินที่มีการยกเลิกให้ถูกต้อง เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 เบียดบังเอาเงินของโจทก์ไปโดยทุจริต จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 812 เมื่อโจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้ไม่เกินไปกว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ดังนั้น หากโจทก์ได้รับชำระหนี้ไว้จากจำเลยที่ 1 เพียงใด ก็ต้องนำมาหักชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจอดรถทิ้งไว้ในสถานที่ของผู้อื่น และการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทำให้เกิดความรับผิดในฐานะผู้ละเมิด
การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมไปรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่อยู่ในวิสัยที่คาดหมายได้ว่า โจทก์ไม่ดำเนินการซ่อมระบบเบรกรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองอย่างแน่นอน โดยยังคงจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้บริเวณศูนย์บริการของโจทก์มาเป็นเวลาหลายปี ย่อมถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในการที่จะใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่จำเลยทั้งสองจอดรถยนต์พิพาททิ้งไว้ การที่โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองรับรถยนต์พิพาทกลับคืนไปและชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองไม่ยอมรับรถยนต์พิพาทคืนทั้งที่โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับรถยนต์พิพาทคืนแล้ว และยังฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเสียหายที่เกิดจากการจอดรถยนต์ทิ้งไว้เป็นเวลานานนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง
แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองจะเป็นการทำละเมิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทไปจอดไว้ที่ศูนย์บริการของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้เป็นรายวัน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายส่วนที่เกิน 1 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนไปจึงย่อมขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระค่าเสียหาย 1 ปี ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่โจทก์ฟ้องคดีจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1993/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, อำนาจฟ้องราชการส่วนท้องถิ่น, การจ้างทนายความ, ค่าเสียหายจากการเลือกตั้ง
วันที่ 11 ธันวาคม 2556 เป็นวันที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่งสำเนาคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และยังไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายจึงยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เหตุละเมิดจึงยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 11 ธันวาคม 2556 เมื่อจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้การเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานและสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่วันที่ 26 มกราคม 2557 ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญ เนื่องจากสำนักงานเทศบาลตำบลชานุมานได้ขอทราบแนวทางการฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในประเด็นที่ 2 เกี่ยวกับการกำหนดสัดส่วนจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน เช่น ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์บัตรเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เป็นต้น และต้องชดใช้ค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันระหว่างการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมานจำนวนกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วย ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ ในส่วนที่เหลือกึ่งหนึ่งนั้น ถึงแม้จะไม่สามารถฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรา 99 แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 ได้ก็ตาม แต่เทศบาลตำบลชานุมานก็ย่อมสามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 420 แห่ง ป.พ.พ. ได้ และวันที่ 13 มีนาคม 2558 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานใหม่แทนจำเลยเป็นเงิน 183,587.50 บาท ดังนั้น ในส่วนค่าเสียหายที่เกิดจากการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 เป็นเงิน 183,779.50 บาท คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอำนาจเจริญจึงส่งหนังสือแจ้งโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 30 มิถุนายน 2558 จึงถือได้ว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 30 มิถุนายน 2558 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 2 มิถุนายน 2559 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยกับให้มีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมาน ดังนั้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉพาะการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีตำบลชานุมานเป็นเงิน 183,587.50 บาท เนื่องจากจำเลยกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 43 วรรคสอง (2) และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 99 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว แต่คดีนี้เป็นส่วนค่าเสียหายในส่วนที่เกิดจากการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลชานุมาน เขตเลือกตั้งที่ 1 และเขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ เป็นเงิน 183,779.50 บาท เพราะไม่สามารถฟ้องจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 ได้ แต่โจทก์สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ได้ คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 661/2559 ของศาลชั้นต้นเมื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินคดีแพ่ง ซึ่งตัวความเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ให้พนักงานอัยการนำความเห็นของตัวความประกอบการพิจารณาสั่งคดี หากยังเห็นว่าคดีนั้นตัวความอยู่ในฐานะเสียเปรียบไม่สามารถชนะคดีได้และดำเนินคดีไม่เกิดประโยชน์ ให้พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ กรณีพนักงานอัยการสั่งไม่รับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีสิทธิว่าจ้างให้ทนายความดำเนินคดีในศาลได้ ตามหนังสือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2549 และความเห็นฉบับย่อของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่องเสร็จ 549/2550 ให้ความเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจกระทำการใด ๆ ภายในขอบอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือตามที่มีกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น รวมถึงการจ้างทนายความว่าต่างหรือแก้ต่าง แต่การใช้จ่ายเงินจะต้องมีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อยังไม่มีกฎหมายกำหนดค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความไว้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็ไม่สามารถจ่ายจากเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความได้ การที่โจทก์จ้างทนายความฟ้องจำเลยโดยไม่สามารถเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณได้ก็ย่อมเป็นเรื่องภายในของโจทก์ที่จะต้องดำเนินการในเรื่องนี้เอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, การยินยอมตามฟ้อง, การปรับปรุงเสถียรภาพดิน, และการดำเนินการป้องกันการพังทลายของดิน
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ท่านว่าขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 บัญญัติว่า "ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่รางกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น" แสดงว่าแม้ผู้ทำละเมิดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายแล้ว แต่เมื่อยังไม่เกิดความเสียหาย ผู้ทำละเมิดก็ยังไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นจริง จึงต้องเริ่มนับอายุความแต่วันที่เกิดความเสียหายเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิด มิใช่นับแต่วันที่รู้ถึงการกระทำผิดกฎหมายเท่านั้น และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิดที่ บ. ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำไว้ก่อน บ. ถึงแก่ความตาย หนี้ดังกล่าวในส่วนของ บ. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ผู้เป็นทายาทโดยธรรม จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติว่า "...ถ้าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้อันมีต่อเจ้ามรดกมีกำหนดอายุความยาวกว่าหนึ่งปี มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก" หมายถึง กรณีที่เจ้าหนี้ทราบแล้วว่าตนมีสิทธิเรียกร้องต่อเจ้ามรดก แม้อายุความตามสิทธิเรียกร้องนั้นยาวกว่าหนึ่งปี เจ้าหนี้ก็จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่เจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองเพิ่งเกิดขึ้นหลังจาก บ. เจ้าของมรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว ต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ บ. ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับด้วย โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 ยังไม่พ้นกำหนดหนึ่งปี จึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
ส่วนการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำการป้องกันมิให้เกิดการทรุดพังทลายของดินในแนวเขตถนนสาธารณะและถนนสาธารณะอีกต่อไป ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทน และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2555 จึงยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2554 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ตามลำดับ คดีโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดหน่วยงานรัฐ: เหตุละเมิดคือวันขายทอดตลาด, ฟ้องเกิน 10 ปีขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 หน่วยงานของรัฐรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงไม่อาจนำกำหนดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงย่อมมีกำหนดอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อเหตุละเมิดในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2545 อันเป็นวันที่มีการขายทอดตลาดโดยมิชอบ แต่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีนับแต่วันที่ละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาและเป็นวันคดีถึงที่สุดมิใช่วันทำละเมิด แต่เป็นผลของการทำละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 518/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลือกตั้งใหม่ กรณี สส.กระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และผลกระทบจากประกาศ คสช.
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ไม่ได้กำหนดให้รองเลขาธิการเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ในอันที่จะเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วว่า ผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์คือเลขาธิการซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์เท่านั้น แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันกำหนดไว้ว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับให้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาใช้บังคับ
แม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 และที่ 26 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง แต่ก็ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังคงมีผลใช้บังคับได้
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 36 มิใช่บทเฉพาะในอันที่จะไม่สามารถนำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2544 มาใช้บังคับ การที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแต่งตั้งให้ ส. รองเลขาธิการที่มีอาวุโสสูงสุดตามลำดับเป็นผู้รักษาการแทนเลขาธิการโจทก์ตามระเบียบดังกล่าวข้อ 10 วรรคหนึ่ง และข้อ 11 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว และ ส. ย่อมมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนโดยเป็นผู้แทนที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับแล้วว่า จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายด้วยการที่จำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยโจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ รายละเอียดความเสียหายในค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไปปรากฏตามเอกสารท้ายคำฟ้อง ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องออกค่าใช้จ่ายไป โจทก์จ่ายเมื่อวันที่เท่าใดและบางรายการโจทก์จ่ายให้ผู้ใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
วันที่ 26 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหนังสือส่งคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าจำเลยกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญไปให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย ยังไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยและยังไม่มีการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์ต้องมาออกค่าใช้จ่าย เหตุละเมิดยังไม่เกิดขึ้นในอันที่จะถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยในวันดังกล่าว อายุความจึงยังไม่เริ่มนับในวันที่ 26 สิงหาคม 2552 แต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่ในวันที่ 12 ธันวาคม 2553 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้โจทก์มาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าคือจำเลยนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2553 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 1 ปี สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
แม้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 113 มาตรา 158 กำหนดให้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งใหม่มีเฉพาะกรณีที่สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงโดยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือศาลฎีกามีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 103 วรรคหนึ่ง และมาตรา 111 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (9) และเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ใดที่กระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ลบล้างหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ดังนั้น หากเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 106 (6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว มาตรา 265 (2) ดังที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นกัน และจะอ้างว่าไม่ทราบว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าว ห้ามมิให้จำเลยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐนั้นไม่ได้ เนื่องจากบุคคลทุกคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดนั้นไม่ได้ ทั้งการที่ต่อมามีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกำหนดให้รัฐธรรมนูญดังกล่าวสิ้นสุดลง ก็ไม่ปรากฏว่ามีกฎหมายกำหนดให้กระทำเช่นนั้นได้ จึงไม่มีผลลบล้างให้การกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไปแล้วก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติกลายเป็นการกระทำที่ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายอันมีผลให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไร้ผล ถือว่าจำเลยยังกระทำการอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยไปแล้วยังมีผลอยู่ การที่โจทก์ได้รับความเสียหายต้องออกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามหน้าที่และมาฟ้องจำเลยก่อนที่จะมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน จึงถือว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเช่นเดิม
ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป โจทก์จึงยังคงเป็นนิติบุคคล มีอำนาจฟ้องและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8683/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแรงงาน: การฟ้องทั้งละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
การที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง เป็นเหตุให้ ว. ซึ่งเป็นลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทำให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายเป็นการฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลเหตุที่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่กรณีที่ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดในมูลละเมิดแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ผู้ตายลาออกจากงานวันที่ 1 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในการจัดสถานที่ทำงานให้เป็นไปตามกฎหมาย โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 ฟ้องโจทก์ทั้งสี่ในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7990/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิด/ผิดสัญญาจ้างแรงงาน: กฎหมายพิเศษ (พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่) ไม่กระทบอายุความทั่วไป (ป.พ.พ.)
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ระงับการจำหน่ายน้ำนมดิบให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. จึงไม่มีประเด็นแห่งคดีว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ ทั้งไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดได้เอง จำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานภาค 1 วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว และแม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี ดังนั้น จำเลยอุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
โจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างเดียว แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าขณะจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานผลิตและจำหน่ายพันธุ์โคนมและรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมกิจการโคนม มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารจัดการตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถบังคับชำระหนี้จากห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดทั้งมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งในเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้คือวันที่จำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 และ 193/30
มาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นการเฉพาะซึ่งขัดหรือแย้งกับมาตรา 448 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงมีผลยกเว้นมาตรา 448 วรรคหนึ่งเฉพาะในส่วนที่กำหนดให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น แต่ไม่มีผลยกเลิกบทบัญญัติมาตรา 448 วรรคหนึ่งในส่วนที่กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายขาดอายุความเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด
จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับของโจทก์ในช่วงเวลานับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2544 และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่ามูลเหตุผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งอายุความในมูลหนี้ผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดเริ่มนับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2544 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 25 ตุลาคม 2554 จึงเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10941/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมูลละเมิด: วันทำละเมิด vs. วันรู้ถึงความเสียหาย
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง กำหนดอายุความสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดไว้ 2 กรณี คือ กรณีแรก มีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน กรณีที่สอง มีอายุความสิบปีนับแต่วันทำละเมิด ซึ่งหากเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งก็ถือว่าสิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่มูลละเมิดเป็นอันขาดอายุความ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสิบแปดซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์กระทำละเมิด ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของโจทก์ว่าด้วยเงินกู้พิเศษ โดยอนุมัติให้เงินกู้พิเศษแก่ ส. เพื่อซื้อรถยนต์โดยไม่ได้ให้ ส. ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อ ส. จะต้องส่งมอบทะเบียนรถยนต์แก่โจทก์ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2540 และมูลละเมิดของจำเลยทั้งสิบแปดเกิดจากไม่ดำเนินการหรือละเลยไม่กวดขันให้พนักงานสหกรณ์โจทก์ติดตามทวงถาม ส. ให้ส่งมอบทะเบียนรถยนต์ตามระเบียบของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2540 ดังนั้น วันทำละเมิดย่อมเกิดขึ้นนับแต่วันที่ได้กระทำหรืองดเว้นกระทำอันเป็นมูลเหตุให้เกิดความเสียหายนั้น ย่อมเกิดอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30 กรกฎาคม 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551 จึงล่วงพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดแล้วฟ้องโจทก์ย่อมขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9468/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน เริ่มนับแต่วันกระทำผิด ไม่ใช่วันรู้เสียหายหรือแจ้งคำสั่งลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ซึ่งเป็นนายจ้างด้วยเหตุจำเลยปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบ ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ อนุมัติสินเชื่อให้ลูกหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินขอบอำนาจโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดทั้งฐานละเมิดต่อโจทก์ซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง และฐานทำผิดหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย ซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โดยอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์และกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน 2534 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2538 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เกินกว่า 10 ปี แล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดทั้งอายุความฐานละเมิดและอายุความฐานผิดสัญญาจ้างแรงงาน
of 8