พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5041/2528
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากป่วย และสิทธิในการได้รับค่าชดเชย ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อน และดอกเบี้ย
การที่ลูกจ้างเจ็บป่วยจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่การงานได้ตามปกตินั้น เป็นเหตุที่เกิดขึ้นตามสภาพของร่างกายโดยธรรมชาติแม้ตามระเบียบข้อบังคับ ของนายจ้างและสัญญาผู้เข้าทำงานของนายจ้างซึ่งลูกจ้างทำกับนายจ้าง จะให้อำนาจนายจ้างเลิกจ้างได้ ก็เป็นเพียงให้สิทธิไว้เท่านั้นถือไม่ได้ว่า ลูกจ้างกระทำการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือสัญญาเมื่อนายจ้างเลิกจ้าง จึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 45กำหนดเพียงว่า ถ้านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำโดยลูกจ้างไม่มีความผิด ตามข้อ 47 ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี มิได้มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดว่าถ้าลูกจ้างไม่ใช้สิทธิขอลาหยุดแล้วลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างดังกล่าว สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ไม่ใช่เงินซึ่งกฎหมายบังคับให้นายจ้างจ่ายทันที ที่ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าฉะนั้นนายจ้างจะผิดนัดต่อเมื่อลูกจ้างได้บอกกล่าว หรือทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าได้บอกกล่าวหรือทวงถามลูกจ้างชอบที่จะได้ ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้อง แม้ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ31 จะกำหนดให้นายจ้างจ่ายดอกเบี้ยแก่ลูกจ้างระหว่างผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี ก็ตาม แต่ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ระบุขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยตามกฎหมาย โดยมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดแจ้งทั้งโจทก์เรียกร้องเงินมาหลายประเภท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันการที่ศาลให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2072/2519
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์ประกอบและอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 24 มิได้มีข้อห้ามแต่งตั้งข้าราชการประจำ หรือข้าราชการบำนาญเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และมิได้กำหนดว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ทั้งหมดจะต้องแต่งตั้งจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างแต่ประการใด บัญญัติเพียงว่าคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนและไม่เกินเก้าคน ต้องแต่งตั้งจากฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนเท่านั้น ดังนั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีเก้าคน ประกอบด้วยกรรมการที่เป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญด้วย และกรรมการในฐานะผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้างฝ่ายละคน จึงเป็นกรรมการที่ถูกต้องตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว
ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 26 บัญญัติไว้เพียงว่าการประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก มิได้กำหนดว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายฝ่ายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมประชุม หรือลงชื่อในคำชี้ขาดด้วยทุกครั้งไป ดังนั้นการที่ไม่มีกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างร่วมลงนามในคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ไม่ทำให้คำชี้ขาดนั้นขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
โจทก์ฎีกาว่า ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น เมื่อไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัย
ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 26 บัญญัติไว้เพียงว่าการประชุมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุมมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก มิได้กำหนดว่าจะต้องมีกรรมการที่เป็นผู้แทนฝ่ายฝ่ายจ้างและฝ่ายลูกจ้างร่วมประชุม หรือลงชื่อในคำชี้ขาดด้วยทุกครั้งไป ดังนั้นการที่ไม่มีกรรมการผู้แทนฝ่ายนายจ้างร่วมลงนามในคำชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน ไม่ทำให้คำชี้ขาดนั้นขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด
โจทก์ฎีกาว่า ผู้แต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ใช้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงไม่มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์นั้น เมื่อไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมไม่วินิจฉัย