คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
บัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายประมวลรัษฎากร ประเภทการค้า 11

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 59 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3848/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าจากการขายที่ดิน: การขายสมบัติเก่าไม่ถือเป็นการค้า
การส่งหมายเรียกหรือหนังสืออื่นถึงบุคคลใดเกี่ยวกับภาษีอากรฝ่ายสรรพากรโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคแรกนั้น กฎหมายมิได้บัญญัติวิธีการส่งไว้อย่างในกรณีที่มีผู้นำส่ง แต่ย่อมเห็นได้ว่าพนักงานไปรษณีย์ผู้นำส่งจะต้องส่งให้แก่ผู้รับหรือบุคคลที่อยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับตามที่ผู้ส่งได้จ่าหน้าซองไว้จึงจะถือได้ว่าเป็นการส่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นถ้าปรากฏว่าผู้ที่พนักงานไปรษณีย์ให้ลงลายมือชื่อรับหนังสือไว้แทนโจทก์ไม่ใช่บุคคลที่อยู่ในบ้านโจทก์ ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือในวันดังกล่าว ต้องถือเอาวันที่โจทก์ได้รับจริง
โจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินรายนี้มาโดยการรับจำนองและจดทะเบียนหลุดเป็นสิทธิตั้งแต่ พ.ศ. 2466 แล้วได้ครอบครองทำนาทำสวนตลอดมาเป็นเวลา 35 ปี จึงได้แบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อสะดวกในการขายและให้ได้ราคาดีขึ้นแสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนามาก่อนเลยว่าจะนำที่ดินแปลงนี้มาจัดสรรขาย การที่โจทก์รับจำนองไว้ก็เพื่อหวังจะได้ดอกเบี้ย ไม่ได้หวังจะได้ที่ดินมาเพื่อทำการค้าแต่อย่างใด และโจทก์เพิ่งขายไปหลังจากได้กรรมสิทธิ์มาถึง 47 ปีเศษ การขายที่ดินของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการขายสมบัติเก่าในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่เป็นทางค้าหรือหากำไร โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 และบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 11

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินและตึกแถวเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการค้าเพื่อหากำไร จึงไม่ต้องเสียภาษี
โจทก์ซื้อที่ดินไว้เพียงหนึ่งแปลงพร้อมตึกแถวเมื่อ พ.ศ.2510 แล้วใช้เป็นที่เก็บสินค้าของโจทก์ตลอดมา แสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินและตึกแถวนี้ไว้เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญมาแต่เดิม ที่โจทก์ต้องขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไปใน พ.ศ.2519 ก็เพราะโจทก์มีหนี้สินอยู่มาก จำเป็นต้องขายเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้และแม้โจทก์จะขายได้ราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาเป็นจำนวนมากก็เป็นไปตามปกติของราคาที่ดินที่สูงขึ้นตามกาลเวลาหาใช่มีลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินและตึกแถวดังกล่าว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า อันดับ 11

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2524 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการค้าเพื่อหากำไร ไม่ต้องเสียภาษีการค้า
โจทก์ซื้อที่ดินไว้เพียงหนึ่งแปลงพร้อมตึกแถวเมื่อ พ.ศ.2510 แล้วใช้เป็นที่เก็บสินค้าของโจทก์ตลอดมาแสดงว่าโจทก์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินและตึกแถวนี้ไว้เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญมาแต่เดิม ที่โจทก์ต้องขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไปใน พ.ศ.2519 ก็เพราะโจทก์มีหนี้สินอยู่มาก จำเป็นต้องขายเพื่อเอาเงินมาชำระหนี้และแม้โจทก์จะขายได้ราคาสูงกว่าราคาที่ซื้อมาเป็นจำนวนมากก็เป็นไปตามปกติของราคาที่ดินที่สูงขึ้นตามกาลเวลาหาใช่มีลักษณะเป็นทางค้าหรือหากำไรไม่ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินและตึกแถวดังกล่าว โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า อันดับ 11

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2524

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายที่ดินเพื่อการลงทุนไม่ใช่ค้าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศคณะปฏิวัติ
โจทก์ซื้อที่ดินมาโดยเจตนาใช้ทำนา ไม่ใช่ซื้อไว้เพื่อขาย แต่ได้ขายที่ดินไปเพราะที่ดินไม่เหมาะสมจะทำนาต่อไป และในการขายก็ขายไปทั้งแปลงโดยมิได้ปรับปรุงหรือจัดสรรที่ดินขายหากำไร ที่โจทก์ขายได้เงินมากกว่าตอนที่ซื้อมาเนื่องจากที่ดินราคาสูงขึ้นตามกาลเวลาอันเป็นเรื่องปกติ การขายที่ดินของโจทก์ จึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรอันจะถือว่าเป็นการค้าอสังหาริมทรัพย์ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภท 11 แห่งประมวลรัษฎากร
โจทก์ไม่ได้แสดงรายการเงินได้จากการขายที่ดินไว้ในแบบรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ตามระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรได้ประกาศ กำหนดไว้ อันทำให้โจทก์ไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) แต่ใน ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน2520 ออกใช้บังคับ กำหนดว่า ถ้าผู้มีเงินได้ได้ยื่นรายการเพิ่มเติมให้เป็นไป ตามระเบียบดังกล่าว ภายในเดือนมกราคม 2521 ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ เขตท้องที่หรือกองคลังกรมสรรพากรก็ให้ถือว่าได้ปฏิบัติตามระเบียบแล้ว และเงินได้นั้นให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมพิเคราะห์สำเนาภาพถ่ายแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 9 ซึ่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ภาษี 5 รับรองสำเนาถูกต้องที่โจทก์ยื่นมาพร้อมกับ ฎีกาและใบรับแบบไม่มีเงินเรียกเก็บ ซึ่งกรมสรรพากรออกให้โจทก์และ โจทก์ยื่นพร้อมคำแถลงการณ์ปิดสำนวนในศาลชั้นต้นประกอบกับวินิจฉัยว่า โจทก์ได้ปฏิบัติตามประกาศของคณะปฏิวัติแล้ว เงินได้ของโจทก์จากการ ขายที่ดิน ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินเพื่อหากำไรและการเสียภาษีเงินได้ กรณีผู้ประกอบการค้า
โจทก์ซื้อที่ดินมาและในวันเดียวกันนั้นได้ยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินส่วนหนึ่งออกเป็นแปลงเล็ก ๆ ต่อมาในเวลาใกล้เคียงกันได้ยื่นคำขอแบ่งแยกเพิ่มเติมอีกรวมเป็นจำนวนหนึ่งร้อยแปลงเศษแล้วเริ่มขายที่ดินที่แบ่งแยกเป็นแปลง ๆ นั้นตั้งแต่ปีแรกที่ซื้อมา ส่วนที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่มิได้แบ่งแยกโจทก์ย้ายโรงเรียนราษฎร์ของโจทก์เข้าไปอยู่หลังจากซื้อที่ดินมาราว 10 ปีดังนี้ แสดงว่าโจทก์ซื้อที่ดินส่วนที่ได้แบ่งแยกและขายไปนั้นมาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าในประเภทการค้า 11 บัญชีอัตราภาษีการค้า ต้องเสียภาษีการค้าและเงินที่โจทก์ได้รับมาจากการขายที่ดินนั้นไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(9) โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ด้วย
เมื่อไม่ได้ความว่าที่ดินที่โจทก์ขายไปนั้นโจทก์แบ่งแยกไว้เพื่อการสวัสดิการแก่ครูในโรงเรียนของโจทก์ และฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำต้องขายที่ดินนั้นไปเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินเกี่ยวกับกิจการโรงเรียนราษฎร์แต่โจทก์ซื้อที่ดินส่วนนั้นมาเพื่อขายตั้งแต่แรก การขายที่ดินของโจทก์จึงไม่เกี่ยวกับโรงเรียนราษฎร์ ไม่เป็นกิจการของโรงเรียนราษฎร์ อันจะไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร หมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78ทวิ(3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 398/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินเพื่อหากำไรและการเป็นผู้ประกอบการค้าภายใต้ประมวลรัษฎากร
คำว่าผู้ประกอบการค้าตามประมวลรัษฎากร มีความหมายกว้างกว่าคำว่า พ่อค้าในมาตรา 165(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพราะคำว่าการค้าในประมวลรัษฎากร มาตรา 77 หมายความรวมถึงการประกอบธุรกิจและอื่น ๆ อีกด้วย ดังนั้นปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าที่ดินหรือไม่ จึงมิใช่จะอาศัยแต่เพียงโจทก์ไปซื้อที่ดิน แล้วขายไปเป็นปกติธุระหรือไม่ แต่ต้องอาศัยพฤติการณ์ทั่ว ๆ ไปของโจทก์ประกอบกัน
โจทก์ซื้อที่ดินไว้เป็นจำนวนถึงร้อยกว่าโฉนด โดยไม่ปรากฎว่าได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และได้ขายไปเป็นจำนวนถึง 20 กว่าโฉนดในระยะเวลา 3 ปี มีกำไรทุกแปลงบางแปลงกำไรหลายเท่าตัว ส่วนมากขายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมซึ่งโจทก์ซื้อที่ดินเหล่านั้นไว้ในระยะเวลาที่ทางการมีนโยบายจะให้ท้องที่นั้นเป็นย่านอุตสาหกรรม ดังนี้ ย่อมแสดงว่าโจทก์มีจุดมุ่งหมายในการซื้อที่ดินจำนวนมากเหล่านั้นไว้ เพื่อขายหากำไรเป็นสำคัญ การที่โจทก์ซื้อที่ดินไว้โดยมุ่งในทางการค้า หรือหากำไรมาแต่เดิม และได้ขายที่ดินดังกล่าวไปเป็นทางการค้าหรือหากำไร ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าในประเภทการค้า 11 และต้องเสียภาษีเงินได้จากรายรับ เพราะเงินที่โจทก์ได้รับจากการขายที่ดินเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8) ทั้งไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ตามความในมาตรา 42(9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินเพื่อหากำไร ไม่เข้าข่ายค่าใช้จ่ายที่หักได้ 90% ตามกฎหมายภาษีอากร
พฤติการณ์ที่โจทก์ซื้อที่ดินแปลงแรกแล้วตัดโค่นต้นไม้ถมที่ และทำเขื่อนเป็นการปรับปรุงให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น แล้วซื้อที่ดินแปลงหลังเพื่อให้มีทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงแรกและขายไปทั้งสองแปลงหลังจากซื้อที่ดินแปลงหลังไม่ถึง 4 เดือน ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะตั้งโรงงานดังที่โจทก์อ้าง ดังนี้ แสดงว่าโจทก์ขายที่ดินไปเป็นทางค้าหรือหากำไร "การขายของนอกจากที่ระบุไว้ในข้ออื่นซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต" ในมาตรา 8(32) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ซึ่งยอมให้หักค่าใช้จ่ายร้อยละ90 นั้น ย่อมหมายถึงของอันเกิดจากการผลิต เพราะถ้าจะให้หมายถึงของทุกชนิดไม่ว่าจะเกิดจากการผลิตหรือไม่แล้ว กฎหมายก็ไม่จำต้องบัญญัติคำว่า "ซึ่งผู้ขายมิได้เป็นผู้ผลิต" กำกับไว้และคำว่าผลิตหมายความว่าทำการเกษตรหรือขุดค้นทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบ แปรรูป แปรสภาพสินค้า หรือทำการอย่างใดให้มีขึ้นซึ่งสินค้าไม่ว่าด้วยประการใดๆ "ผู้ผลิต"หมายความว่าผู้ประกอบการค้าที่ทำการผลิต (ประมวลรัษฎากรมาตรา 77) ที่ดินจึงมิใช่ของที่เกิดขึ้นเนื่องจากการผลิตจะนำมาตรา 8(32) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาปรับในเรื่องการขายที่ดินไม่ได้
of 6