คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พัลลภ พิสิษฐ์สังฆการ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 606 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์โดยข่มขู่ด้วยการแสดงอาวุธและท่าทางข่มขู่ ผู้เสียหายกลัวจึงมอบเงินให้
จำเลยทั้งสองเดินเข้ามาหาผู้เสียหายทั้งสองและจำเลยที่ 1พูดขอเงิน 5 บาท ผู้เสียหายที่ 1 บอกว่าไม่ค่อยมีเงิน จำเลยคนหนึ่งก็พูดว่ามีเท่าไรก็เอามาเถอะ พร้อมกับที่จำเลยทั้งสองเดินเข้ามาหาผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 2 ถือของแข็งยาวประมาณ1 แขน ห่อด้วยกระดาษและเคาะของแข็งกับฝ่ามืออีกข้างหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 1 ยกขาข้างหนึ่งขึ้นมาและใช้มือข้างหนึ่งตบที่ขากางเกงข้างนั้น ผู้เสียหายทั้งสองกลัว จึงให้เงินแก่จำเลยที่ 1 ไป ดังนี้การกระทำและคำพูดของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งสองว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายทั้งสองส่งเงินให้แก่จำเลยทั้งสองนั่นเอง จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2699/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับประกันภัย/ผู้รับช่วงสิทธิ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิด แม้มีการประนีประนอมยอมความกับผู้เสียหายแล้ว
เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับ ส.และต. ภายหลังจากที่โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามพันธะที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยแก่ ส.และต. ผู้เสียหายแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิของผู้เสียหายที่ได้เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยผู้ทำละเมิดให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้จ่ายไปนั้นได้โดยหาจำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามเสียก่อนไม่ แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้บรรยายถึงจำนวนเงินที่รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของรถยนต์ที่เอาประกันภัยหรือไม่ทั้งมิได้ส่งกรมธรรม์ประกันภัยมาพร้อมกับคำฟ้อง ก็ไม่ทำให้ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม เพราะข้อความดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่คู่ความสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา และโจทก์ไม่จำเป็นต้องส่งกรมธรรม์ประกันภัยมาพร้อมกับคำฟ้องด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2656/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างเหมา: การชำระเงินค่าจ้างเมื่อผลงานเสร็จและผ่านการตรวจรับ แม้จำเลยยังไม่ได้รับเงินจากผู้ว่าจ้าง
ข้อความในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ 5 ที่ว่า "ผู้ว่าจ้าง(จำเลย) ตกลงจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง (โจทก์) เป็นจำนวนเงิน 36,977 บาท เมื่อผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตกลงทำสัญญาจ้างเหมา เงินส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นงวด งวดละ 1 เดือน ตามผลงานที่ผู้รับจ้างทำเสร็จจริงและได้ผ่านการตรวจรับงานจากบริษัท ว. และและวิศวกรผู้ควบคุมงานแล้ว โดยผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับเงินงวดนั้นจากบริษัท ว." นั้น สามารถแยกพิจารณาได้เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกที่ว่า "เงินส่วนที่เหลือจะจ่ายเป็นงวด งวดละ 1 เดือน ตามผลงานที่ผู้รับจ้างทำเสร็จจริง และได้ผ่านการตรวจรับงานตามที่ระบุไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้าง แต่ข้อความส่วนที่สองที่ว่า" โดยผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าจ้างได้รับเงินงวดนั้นจากบริษัทว." หาใช่เงื่อนไขบังคับก่อนที่จะกำหนดการชำระเงินค่าจ้างไม่ เป็นแต่เพียงข้อตกลงที่มุ่งหมายให้จำเลยเร่งรัดให้บริษัท ว. ชำระค่าก่อสร้างแก่จำเลยตามสัญญาที่จำเลยทำกับบริษัท ว. เพื่อนำเงินมาชำระแก่โจทก์เมื่อโจทก์ทำงานเสร็จและผ่านการตรวจรับงานตามเงื่อนไขในสัญญาส่วนแรกแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทำงานเสร็จส่งมอบงานและมีการตรวจรับงานตามเงื่อนไขแล้ว จำเลยต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยยังไม่ได้รับเงินงวดจากบริษัท ว. จึงไม่ต้องชำระค่าจ้างให้โจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังนัดชี้สองสถาน: ข้อจำกัดและเหตุผลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การในวันนัดชี้สองสถาน เนื้อหาสาระที่ขอแก้ไขมิใช่ปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งเป็นข้อต่อสู้ที่มีพื้นฐานข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนจำเลยที่ 1 และที่ 2 อาจยกขึ้นต่อสู้ได้ก่อนวันชี้สองสถาน และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ระบุอ้างเหตุขัดข้องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวได้ก่อนวันชี้สองสถาน คำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2645/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่เป็นไปตามรูปแบบ เหตุไม่โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และมิได้ยกข้อเท็จจริง/ข้อกฎหมายใหม่
ฎีกาของโจทก์มี 3 ข้อ กล่าวคือ ข้อ 1. เป็นคำฟ้อง คำให้การของจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลชั้นต้น และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ข้อ 2. โจทก์นำคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นมาเขียนไว้เกือบทั้งหมด และข้อ 3.โจทก์เขียนไว้ในฎีกาเพียงว่า "โจทก์ขอถือเอาคำอุทธรณ์ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์" กับท้ายฎีกาของโจทก์ระบุว่า ดังนั้นขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน395,147 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ฎีกาของโจทก์เช่นนี้เป็นฎีกาที่โจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่ชอบและโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เพราะเหตุใด คำอุทธรณ์ของโจทก์ที่โจทก์ขอถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฎีกาโจทก์นั้นก็เป็นการคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่อาจนำมาเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างอิงไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก (เดิม)ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน - อายุความฟ้องขับไล่ - ศาลไม่รับวินิจฉัยประเด็นการให้การขัดแย้ง
เมื่อศาลชั้นต้นชี้สองสถานมิได้กำหนดประเด็นว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ และในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3ก็วินิจฉัยให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีโดยฟังว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยมิได้วินิจฉัยในเรื่องจำเลยแย่งการครอบครองที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยให้การและอุทธรณ์ขัดแย้งกัน โดยในตอนแรกให้การและอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของจำเลย ส่วนในตอนหลังให้การและอุทธรณ์ว่าหากที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยก็ครอบครองมา 1 ปี แล้วคำฟ้องโจทก์ขาดอายุความ คำให้การและอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นคำให้การและอุทธรณ์ที่เคลือบคลุมนั้น ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษฐานบุกรุกเมื่อฟ้องพยายามลักทรัพย์: ศาลไม่ถือว่าเป็นการลงโทษนอกคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามลักทรัพย์ และฐานบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80,335,362,364,365ทั้งสองกระทงความผิดเมื่อได้ความตามทางพิจารณาว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิดฐานพยายามลักทรัพย์แต่กระทำผิดฐานบุกรุกเท่านั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยฐานบุกรุกได้ไม่เป็นการลงโทษนอกคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2536/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ทำให้การซื้อขายไม่ผูกพันกับผู้เยาว์
ขณะที่บิดาโจทก์ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยและสามีนั้น โจทก์อายุเพียง 17-18 ปี ยังเป็นผู้เยาว์อยู่ การที่บิดาโจทก์ขายที่พิพาทส่วนของโจทก์โดยไม่สอบถามโจทก์ก่อน และไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาลให้ขายที่พิพาทส่วนของโจทก์แทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574(มาตรา 1546 เดิม) ดังนี้การซื้อขายที่พิพาทจึงไม่ผูกพันส่วนของโจทก์ การที่จำเลยและสามีครอบครองทำกินในที่พิพาทส่วนของโจทก์ จึงถือว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาข้อเท็จจริงต้องมีปัญหาสำคัญสู่ศาลสูงสุด มิฉะนั้นเป็นคำรับรองที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้รับรองให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงสำหรับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ว่า "ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 ศาลอนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้"เป็นคำรับรองที่ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 เพราะไม่ได้ความว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2469/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทในการขับรถและการลดโทษจำเลยที่ไม่ฎีกา
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองขับรถยนต์ชนกันโดยประมาททำให้ผู้โดยสารในรถถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์-พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งสองประมาท แต่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 หนักเกินไป เห็นควรแก้ไขให้เหมาะสม และเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยทั้งสองเป็นข้อเท็จจริงอันหนึ่งอันเดียวกัน และหลังเกิดเหตุฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้นำเงินไปช่วยเป็นค่าปลงศพ และค่ามนุษยธรรมแก่ฝ่ายผู้เสียหาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาโดยกำหนดโทษให้เบาลงอีกไปถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยได้
of 61