คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญส่ง วรรณกลาง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,029 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ดุลพินิจอนุญาตเลื่อนคดีเนื่องจากเจ็บป่วย ต้องพิจารณาเหตุผลและสามารถตรวจสอบความจริงได้
การอนุญาตให้เลื่อนคดีหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล แต่ศาลก็ต้องใช้ดุลพินิจอย่างมีเหตุผล ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดที่ 2 ทนายผู้ร้องยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ว. กรรมการผู้จัดการของผู้ร้องป่วยปรากฏตามใบรับรองแพทย์ท้ายคำร้องการขอเลื่อนคดีนัดที่ 2 จึงเป็นการอ้างเหตุขอเลื่อนคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 41 หากศาลชั้นต้นมีความสงสัยว่า ว. จะป่วยจริงตามใบรับรองแพทย์หรือไม่ ก็มีอำนาจไต่สวนคำร้องขอเลื่อนคดีเสียก่อนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(4) หรือจะตั้งเจ้าพนักงานศาลไปตรวจก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีโดยเห็นว่าผู้ร้องไม่เตรียมพยานปากอื่นมาศาลโดยมิได้แถลงว่าพยานที่เหลือมีข้อขัดข้องอย่างไรถึงไม่มาศาล ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับพยานปากอื่นของผู้ร้องมาหรือไม่มาศาลเท่านั้นหาใช่เหตุที่จะนำมาพิจารณาไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีเพราะคู่ความอ้างว่าเจ็บป่วยตามมาตรา 40 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2093/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อผิดพลาดในคำพิพากษาศาลชั้นต้น และการอุทธรณ์ที่ครอบคลุมข้อผิดพลาดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 2,338,295.06บาท แต่ตอนพิพากษา กลับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,338,295.06บาท แก่โจทก์แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลง แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์โดยตรงว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมีข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเกี่ยวกับจำนวนหนี้ดังกล่าว แต่โจทก์ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในต้นเงินจำนวน2,478,103.24 บาท ไม่ใช่จำนวนเงิน 1,338,295.06 บาท ถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในข้อผิดพลาดและข้อผิดหลงแล้วที่ศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน1,338,295.06 บาท จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกจะต้องพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 2,338,295.06 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2090/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร, ปลอมแปลงเอกสาร, แจ้งความเท็จ: องค์ประกอบความผิดและอำนาจฟ้อง
ส.พบรถยนต์ที่ถูกคนร้ายลักไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยจึงขอรถยนต์คืน โดยนำหลักฐานสัญญาเช่าซื้อไปแสดงต่อจำเลย จำเลยไม่คืนให้โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าจำเลยได้รถยนต์มาอย่างไร และจำเลยยังเรียกร้องเอาเงินจาก ส.โดยอ้างว่าจำเลยนำรถยนต์ไปซ่อมอีกทั้งจำเลยกลับนำรถยนต์คันดังกล่าวที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนปลอมและหมายเลขเครื่องยนต์ที่ถูกขูดลบแก้ไขไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยแจ้งว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จพร้อมกับขอโอนรถยนต์จากผู้อื่นมาเป็นของจำเลย ขอเปลี่ยนสีและขอเสียภาษีรถยนต์ย้อนหลัง พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยครอบครองรถยนต์ดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นความผิดฐานยักยอกอีกแต่ข้อหาฐานรับของโจรนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ข้อหาฐานรับของโจรย่อมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจลงโทษจำเลยฐานรับของโจรได้ จำเลยรู้อยู่แล้วว่าหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยนำรถยนต์ที่มีหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวไปยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอออกใบแทนใบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยไปแจ้งเจ้าพนักงานว่าหายทั้งที่รู้ว่าเป็นความเท็จ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานใช้หมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการปลอม กับมีความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) ได้ให้คำนิยามของคำว่า "เอกสาร"ไว้ว่าหมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผังหรือแบบแผนอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้นจากบทนิยามดังกล่าวหมายเลขเครื่องยนต์และแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์จึงเป็นเอกสาร โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความว่า "จำเลยบังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ" ซึ่งย่อมมีความหมายแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด คือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่แจ้งนั้นเป็นความเท็จแม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องอีกว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อความนั้นเป็นความเท็จ ก็เป็นการเพียงพอที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว คำฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158(5) ฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยที่ว่าคดีนี้ผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ในข้อหายักยอกภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความและพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องกับที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยฐานยักยอกไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 นั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แม้จะวินิจฉัยข้อฎีกาดังกล่าวของจำเลย ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาในข้อกฎหมายของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2082/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตกลงผ่อนผันชำระหนี้เช่าซื้อมีผลต่อการถือเอาเวลาชำระเป็นสาระสำคัญ และผลของการเลิกสัญญากันโดยปริยาย
หลังจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ขอผ่อนผันชำระเงินและได้ชำระเงินแก่โจทก์ตามข้อตกลงรวม 4 งวด หลังจากนั้นไม่ชำระ โจทก์จึงยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนพฤติการณ์แสดงว่าทางปฏิบัติโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอากำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเป็นสาระสำคัญต่อไป และการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ตกลงกันตามหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินจึงเป็นการตกลงเลิกข้อตกลงเดิม ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดตามสัญญาเช่าซื้อต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตามกำหนดเวลาในหนังสือขอผ่อนผันชำระเงินโดยชำระเงินขาดในเดือนที่ 3 พฤิตการณ์ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ถือกำหนดเวลาในการชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเดิมเป็นสาระสำคัญเช่นกัน จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาและสัญญาเช่าซื้อเลิกกันไม่ได้ โจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อภายในเวลาอันสมควร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 แต่การที่พนักงานของโจทก์ไปยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ให้ ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายนับแต่วันที่โจทก์ยึดรถยนต์คืนคู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมจำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์ตามมาตรา391 วรรคสาม ส่วนที่จำเลยต้องใช้ราคารถยนต์ที่ยังขาดเมื่อโจทก์ขายรถยนต์ที่เช่าซื้อไปนั้นมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2054/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินล้มละลาย: การจดทะเบียนชื่อไม่ถือเป็นการโอนกรรมสิทธิ์จริง
การใส่ชื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์ของจำเลยที่ 1เป็นการใส่ชื่อไว้เฉย ๆ โดยไม่มีการซื้อขายและส่งมอบรถยนต์ให้แก่กัน จำเลยที่ 2 ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์นั้นอยู่ การมีชื่อในทะเบียนรถยนต์มิใช่ข้อชี้ว่า ผู้มีชื่อเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์นั้นหรือเป็นผู้ได้รับโอนรถยนต์มาเป็นของตนแล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โอนรถยนต์ตามคำร้องให้ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 เพียงมีชื่อเป็นผู้รับโอน และผู้โอนในเอกสารแบบเรื่องราวขอโอนและรับโอนเท่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนรถยนต์มาจากจำเลยที่ 1 แล้ว จึงไม่มีการโอนทรัพย์สินระหว่างจำเลยที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกและแจ้งวันนัดพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยย้ายที่อยู่และไม่สามารถส่งโดยตรงได้
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วน ผู้จัดการตามหนังสือรับรองและสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 7 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร โดยจำเลยที่ 1ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่และจำเลยที่ 3 ก็ยังไม่ได้แจ้งย้ายไปอยู่ที่อื่น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนา ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ตามที่จดทะเบียนไว้และจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาตามที่ระบุไว้ในสำเนาทะเบียนบ้านการที่โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1และที่ 3 ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับจำเลยที่ 2 ครั้งแรกโจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนา คำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 100/20 หมู่ที่ 8ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม แต่ส่งให้ไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ได้ขายไปแล้ว โจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 2 แจ้งย้ายออกไปอยู่บ้านเลขที่ 30/5 ตำบลสะเต็งอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา แต่เมื่อโจทก์ไปขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ปรากฏว่าไม่มีบ้านเลขที่ดังกล่าว ในการไต่สวนจำเลยที่ 2 อ้างสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 2 ย้ายจากบ้านเลขที่ 100/20 แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียน ก็มาเบิกความว่าไม่มีบ้านเลขที่ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ในทะเบียนราษฎร ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏภูมิลำเนา เป็นกรณีที่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารไม่สามารถกระทำได้โดย วิธีธรรมดา การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศโฆษณาทาง หนังสือพิมพ์แทนการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีธรรมดา จึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย วันนัดพิจารณานัดแรกโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตพร้อมมีคำสั่งให้ประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบที่หน้าศาลและออกหมายนัดแจ้งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ทราบโดยวิธีปิดหมาย เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสามไม่มาศาล จึงถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2051/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อจำเลยย้ายที่อยู่และไม่สามารถระบุภูมิลำเนาได้
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการตามหนังสือรับรองและสำเนาทะเบียนบ้านระบุว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ 7 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม กรุงเทพมหานครโดยจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และจำเลยที่ 3ก็ยังไม่ได้แจ้งย้ายไปอยู่ที่อื่น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนา ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ตามที่จดทะเบียนไว้ และจำเลยที่ 3 มีภูมิลำเนาตามที่ระบุไว้ในสำเนาทะเบียนบ้านการที่โจทก์นำส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ณ บ้านเลขที่ดังกล่าวโดยวิธีปิดหมายตามคำสั่งศาลเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำหรับจำเลยที่ 2 ครั้งแรกโจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ที่บ้านเลขที่ 100/20 หมู่ที่ 8 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม แต่ส่งให้ไม่ได้ เพราะจำเลยที่ 2 ได้ขายไปแล้ว โจทก์ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า จำเลยที่ 2 แจ้งย้ายออกไปอยู่บ้านเลขที่ 30/5 ตำบลสะเต็งอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา แต่เมื่อโจทก์ไปขอคัดสำเนาทะเบียนบ้าน ปรากฏว่าไม่มีบ้านเลขที่ดังกล่าว ในการไต่สวนจำเลยที่ 2 อ้างสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่า จำเลยที่ 2 ย้ายจากบ้านเลขที่ 100/20 แต่เจ้าหน้าที่ทะเบียนก็มาเบิกความว่าไม่มีบ้านเลขที่ตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น ในทะเบียนราษฎร ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏภูมิลำเนา เป็นกรณีที่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารไม่สามารถกระทำได้โดยวิธีธรรมดา การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์แทนการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยวิธีธรรมดาจึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
วันนัดพิจารณานัดแรกโจทก์ขอเลื่อนคดี ศาลอนุญาตพร้อมมีคำสั่งให้ประกาศแจ้งวันนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบที่หน้าศาลและออกหมายนัดแจ้งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ทราบโดยวิธีปิดหมาย เมื่อถึงวันนัดจำเลยทั้งสามไม่มาศาลจึงถือว่าจำเลยทั้งสามขาดนัดพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2038/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรังวัดสอบเขตที่ดินเพื่อพิสูจน์การรุกล้ำ กรณีคู่ความตกลงให้รังวัดเพื่อตัดสินคดี
โจทก์และจำเลยท้ากันโดยขอให้หัวหน้าฝ่ายรังวัดสำนักงานที่ดินร่วมกับจ่าศาลไปรังวัดสอบเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 30471 เพื่อให้ทราบว่าการวางท่อประปาตามฟ้องรุกล้ำในที่ดินดังกล่าวหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการวางท่อประปาตามฟ้องรุกล้ำที่ดินของโจทก์ตรงตามคำท้าแล้ว จำเลยจึงต้องแพ้คดีตามคำท้าข้อที่จำเลยยกขึ้นโต้แย้งว่า เส้นดำหมายเขียวเป็นแนวเขตรัศมีทางหลวงอันเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ของกรมทางหลวงนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่นอกเหนือไปจากคำท้า ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหนังสือทวงถามไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการในสัญญาค้ำประกัน ถือว่าเป็นการส่งโดยชอบแล้ว และนำไปสู่การสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว
การที่โจทก์ได้ส่งหนังสือทวงถามให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในสัญญาค้ำประกันซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิลำเนาที่ได้เลือกไว้เป็นการเฉพาะการนี้โดยเจตนาปรากฏชัดแจ้งตั้งแต่จำเลยที่ 3และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 ได้แสดงเจตนาเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาที่เลือกไว้ต่อโจทก์ การส่งหนังสือทวงถามยังภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวโดยทางไปรษณีย์ซึ่งมีผู้รับโดยชอบ จำนวน 2 ครั้ง ในระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหนี้สินพ้นตัวตามพระราชบัญญัติ ล้มละลายฯ มาตรา 8(9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องฎีกาต้องแสดงข้อโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่เพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น
คำฟ้องฎีกาเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (13) จึงต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา โดยต้องมีข้อโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ เมื่อฎีกาโจทก์บรรยายเพียงว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาอย่างไรแต่มิได้บรรยายว่าคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาอย่างไร กรณีจึงไม่อาจทราบได้ว่าข้อที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลอุทธรณ์หรือไม่ ทั้งฎีกาโจทก์มีข้อความว่า "ด้วยความเคารพต่อศาลชั้นต้น โจทก์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังคลาดเคลื่อน... โจทก์ขอประทานกราบเรียนศาลที่เคารพโปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น..." ดังนี้ฎีกาโจทก์มิได้เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หากแต่เป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฟ้องฎีกาโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 ประกอบมาตรา 246,247 และ พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 153
of 103