คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุญส่ง วรรณกลาง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,029 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3238/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ปลอมเอกสารสิทธิเพื่อปกปิดการยักยอก สิทธิฟ้องระงับเมื่อคดีถึงที่สุด
จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินและใบรับเงินแล้วใช้เอกสารปลอมดังกล่าวแสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีของโจทก์ร่วม เพื่อปกปิดการกระทำของจำเลยที่ได้ยักยอกเงินบางส่วนของโจทก์ร่วมไป แม้การปลอมเอกสารดังกล่าวจะกระทำภายหลังที่จำเลยยักยอกเงินไปแล้วก็ตามแต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับที่จำเลยได้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วมไป โดยจำเลยมีเจตนาที่จะใช้เอกสารปลอมที่ทำขึ้นเป็นหลักฐานเพื่อยักยอกเงินของโจทก์ร่วมนั่นเอง ความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมกับความผิดฐานยักยอก จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงินดังกล่าว และศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม จึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ที่โจทก์ฎีกาว่าการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมเป็นการกระทำในเวลาต่างกัน จึงเป็นการกระทำต่างกรรมกันนั้น เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวระงับไปแล้วฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3207/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับชำระหนี้ดอกเบี้ยในคดีล้มละลาย: การสอบสวนหนี้สินต้องให้ความเป็นธรรมและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์1,578,355.08 บาท โดยเป็นเงินต้น 785,056.68 บาท ดอกเบี้ย793,298.40 บาท ยอดดอกเบี้ยเป็นการคำนวณนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้ ต. จะให้การเป็นพยานเจ้าหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในชั้นสอบสวนว่าในส่วนของดอกเบี้ยเป็นการขอรับชำระนับแต่วันชำระครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยก่อนหน้านั้น การสอบสวนในเรื่องหนี้สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 105 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และทำความจริงในเรื่องหนี้สินให้ปรากฏ เมื่อ ต.ให้การถึงเรื่องดอกเบี้ยดังกล่าว แต่เมื่อคำนวณแล้วปรากฏว่าต่างกับจำนวนดอกเบี้ยที่ขอรับชำระมาก เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะต้องสอบสวนต่อไปว่าเหตุใดเจ้าหนี้จึงยื่นขอรับชำระเกินเพื่อให้ ต.อธิบาย ต. คำนวณแล้วก็จะทราบว่าที่ให้การไปนั้นผิดหลง ความจริงเป็นการขอรับชำระดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นมา มิใช่ถือโอกาสจากความผิดพลาดของพยานดังกล่าวมาเป็นเหตุอ้างมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในส่วนนั้นเป็นการไม่ให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ หนี้ค่าดอกเบี้ยจำนวน 286,366.85 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าเจ้าหนี้ขอเกินมาเป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยผิดนัดจนถึงวันที่มีการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายจึงเป็นหนี้ที่ไม่ต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามที่ยื่นขอมาเต็มจำนวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหนังสือยืนยันหนี้โดยผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ระยะเวลาคัดค้านหนี้ยังไม่เริ่ม
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76 บุคคลที่รับคำคู่ความหรือเอกสารไว้แทนจะต้องอายุเกินยี่สิบปีแต่คดีนี้เด็กหญิง ก. หลานสาวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับหนังสือยืนยันหนี้ไว้แทนผู้ร้องมีอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น การส่งหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำแจ้งความยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านในวันที่ 3 มกราคม 2534 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยันหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 119 วรรคสอง การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2524 ข้อ 353 เป็นเรื่องการส่งจดหมายทั่วไปมิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3180/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้แพ่งสะดุดหยุดลงจากการยอมรับหนี้โดยการสั่งจ่ายเช็คใหม่ และการร่วมรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการ
จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและรับสินค้าไปจากโจทก์หลายคราวแล้วสั่งจ่ายเช็คจำนวน 25 ฉบับ ลงวันที่สั่งจ่ายระหว่างเดือนมิถุนายน 2528 ถึงเดือนสิงหาคม 2529 ให้โจทก์เพื่อชำระค่าสินค้า เมื่อโจทก์เรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ก็ได้สั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่แทนฉบับเดิมพร้อมดอกเบี้ยตลอดมาและเมื่อเช็คที่เปลี่ยนถึงกำหนด โจทก์เรียกเก็บธนาคารตามเช็คก็ปฏิเสธการจ่ายเงินอีก การกระทำดังกล่าวเป็นกรณีจำเลยที่ 1 กระทำอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้วอายุความในการเรียกร้องค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมสะดุดหยุดลงและอายุความจะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ลงในเช็คแต่ละฉบับอันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามเช็คเป็นต้นไป เมื่อเช็คฉบับหลังสุดที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจำนวน 531,134 บาท ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2529 โจทก์นำหนี้จำนวนดังกล่าวมาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2530 จึงยังไม่เกิน 2 ปี หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และศาลพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าเป็นเช็คประกันหนี้ค่าสินค้าที่ซื้อนั้น เป็นเรื่องวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าไม่มีหนี้สินต่อกันประกอบกับการฟ้องคดีเช็คทางอาญานั้น ไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา ดังนั้นในการพิจารณาคดีแพ่งศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3146/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา: ศาลต้องใช้ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญา หากคดีอาญาตัดสินว่าไม่ประมาท คดีแพ่งก็ต้องฟังตาม
คดีนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่จำเลยที่ 1ถูกพนักงานอัยการกองคดีแขวงพระนครใต้เป็นโจทก์ฟ้อง ซึ่งมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยเป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารชน ช. โดยประมาทหรือไม่ การฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คดีอาญาดังกล่าวฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ดังนี้ศาลจะต้องฟังในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1มิได้ขับรถยนต์โดยสารชน ช. โดยประมาทการกระทำของจำเลยที่ 1ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมเกิดจากการใช้ทางโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาถือว่าเป็นภาระจำยอม แม้เริ่มต้นจากการยินยอม
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าผู้มีชื่อซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยได้ยินยอมให้โจทก์และบริวารใช้ถนนพิพาท แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องต่อมาว่าโจทก์ใช้ถนนพิพาทโดยความสงบโดยเปิดเผย และด้วยถือว่าเป็นถนนซึ่งเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ติดต่อมาเป็นเวลากว่า 20 ปีโดยผู้มีชื่อและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็มิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิบนถนนแต่ประการใด ถนนดังกล่าวตลอดทั้งสายจึงตกเป็นภาระจำยอมตามกฎหมายแก่ที่ดินของโจทก์ คำว่ายินยอมตามคำฟ้องของโจทก์จึงมีความหมายว่า เจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยรู้ว่าโจทก์ใช้ถนนพิพาทแล้วมิได้หวงห้ามหรือสงวนสิทธิบนถนนพิพาทนั้นเองมิได้มีความหมายว่า โจทก์ขออนุญาตเจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยใช้ถนนพิพาทแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ใช้ถนนพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นภาระจำยอมเกินกว่า 10 ปี โดยมิได้ขออนุญาตใช้ถนนพิพาทจากเจ้าของที่ดินเดิมและจำเลยถนนพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3043/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีแพ่ง แม้มีการฟ้องล้มละลาย จำเลยยังคงเป็นหนี้
เมื่อคดีแพ่งที่พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ต่อโจทก์ถึงที่สุดแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวจะต้องผูกพันตามคำพิพากษานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 คือต้องฟังว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนตามคำพิพากษา ดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้ว่า คดีล้มละลายนั้นคู่ความไม่ต้องผูกพันในผลของคดีแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยในคดีล้มละลายมีสิทธินำสืบว่าตนไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่สมควรเป็นบุคคลล้มละลายตามที่จำเลยกล่าวอ้างนั้นเป็นเพียงสิทธินำสืบทั่ว ๆ ไปของจำเลยเท่านั้น ไม่ถึงกับนำสืบหักล้างผลของคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3037/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในข้อเท็จจริง: ทรัพย์พิพาท, การจดทะเบียน, ข้อเท็จจริงนอกสำนวน
คดีมีทุนทรัพย์ในชั้นร้องขัดทรัพย์ 180,000 บาท ต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง การที่ผู้ร้องฎีกาว่า ทรัพย์พิพาทยังไม่ได้จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514เป็นฎีกาที่โต้เถียงคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังว่าทรัพย์พิพาทได้จดทะเบียนแล้ว และที่ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามฎีกาของผู้ร้องมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงใดที่อ้างว่าเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวนฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2937/2536 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำคดีล้มละลาย: การอ้างหนี้เดิมเพิ่มเติมหลังมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลาย ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยสามารถชำระหนี้ได้ คดีถึงที่สุด โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายนี้โดยอ้างว่ามีพยานหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับจำนวนหนี้สินของจำเลย แต่เป็นหนี้สินที่จำเลยมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนซึ่งโจทก์ชอบที่จะอ้างและนำสืบได้ คำฟ้องโจทก์คดีนี้อาศัยข้อเท็จจริงในจำนวนหนี้ของจำเลยที่มีอยู่จริงซ้ำกับคดีก่อนจึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2937/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำคดีล้มละลาย: ประเด็นหนี้สินเดิมที่โจทก์มิได้นำสืบครบถ้วนในคดีก่อน
โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายคดีก่อนโดยอ้างและนำสืบหนี้สินที่จำเลยมีอยู่แต่เพียงบางส่วน และหนี้สินส่วนที่โจทก์ขอเพิ่มในการฟ้องคดีนี้นั้น ล้วนแต่เป็นหนี้สินที่จำเลยมีอยู่แล้วในขณะที่โจทก์ฟ้องและนำสืบในคดีล้มละลายคดีก่อน ซึ่งโจทก์ชอบที่จะอ้างและนำสืบได้แต่โจทก์ก็มิได้กระทำเพื่อประกอบการวินิจฉัยของศาลเอง ดังนี้จำนวนหนี้สินที่จำเลยมีอยู่จริงเพียงใด จำเลยสามารถชำระหนี้ได้หรือไม่ ทั้งสองคดีที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นประเด็นที่อาศัยข้อเท็จจริงในจำนวนหนี้สินเดียวกัน แต่ด้วยความบกพร่องของโจทก์ในการดำเนินคดีก่อนเป็นเหตุให้ศาลมีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นพิพาทโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยสามารถชำระหนี้ได้ และคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ได้ถึงที่สุดแล้ว คำฟ้องโจทก์คดีนี้อ้างเหตุจำนวนหนี้สินเพิ่มเติม เป็นการอาศัยข้อเท็จจริงในจำนวนหนี้สินของจำเลยที่มีอยู่จริงซ้ำกับคดีก่อนจึงเป็นฟ้องซ้ำ
of 103