คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2508 ม. 65

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2519 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยใช้ราคาขายส่งเป็นฐานคำนวณ กรณีผู้ผูกขาดจำหน่ายและมีข้อตกลงราคาจากผู้ผลิต
พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 9 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดกรณีพิพาทเรื่องนี้ ไม่มีบทนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ของรถยนต์ให้มีความหมายโดยเฉพาะดั่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมฯ (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 มาตรา 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77 ขึ้นใหม่ โดยให้ถือตามราคาขายปลีก จึงย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่า ราคาตลาดของรถยนต์หมายถึงราคาของรถยนต์ชนิด ขนาด สภาพ คุณภาพ เหมือนกับที่ซื้อขายกันเป็นปกติในท้องตลาดทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจมีทั้งราคาขายส่งและราคาขายปลีก
โจทก์เป็นผู้ผูกขาดในการสั่งรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งเข้ามาและในการประกอบรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวในประเทศไทย โดยผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนี้ในต่างประเทศกำหนดให้โจทก์ต้องขายรถยนต์แก่บริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายอยู่ก่อนแต่ผู้เดียว จะขายส่งหรือขายปลีกแก่ผู้อื่นไม่ได้ และโจทก์ต้องคิดราคารถที่ขายแก่บริษัท ก. ตามราคาที่บริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศกำหนดมา ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงต้องขายส่งรถยนต์ให้แก่บริษัท ก. ในราคาเกือบเท่าต้นทุน และราคาที่โจทก์ขายส่งแก่บริษัท ก. มาเป็นรายรับคำนวณเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้จึงชอบแล้ว เจ้าพนักงานประเมินจะถือเอาราคาที่บริษัท ก. ขายปลีกมาเป็นราคาตลาดแล้วกำหนดราคาขายและรายรับของโจทก์ขึ้นใหม่ แล้วประเมินเรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นจากโจทก์หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2519 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายกำไรออกจากประเทศไทยและการเสียภาษีเงินได้ของธนาคารที่มีสาขาต่างประเทศ
ธนาคารโจทก์กับสาขาต่างประเทศและสาขากรุงเทพฯ ย่อมเป็นนิติบุคคลเดียวกัน เงินที่สาขาต่างประเทศส่งมาใช้เป็นเงินกองทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนของสาขากรุงเทพฯ ต้องถือเป็นเงินทุนและเงินสำรองของโจทก์ เพราะพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 10, 12 ประกอบด้วยมาตรา 6 วรรคสองมีเจตนารมณ์ให้ธนาคารพาณิชย์ มีฐานะมั่นคงปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เป็นลูกค้าหรื่อผู้ติดต่อทำธุรกิจ ไม่ประสงค์และไม่ได้บัญญัติให้ธนาคารสาขามีเงินทุน เงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเองแยกต่างหากจากสำนักงานใหญ่และสาขาอื่น ๆ
สาขาธนาคารโจทก์ที่ต่างประเทศส่งเงินมาให้สาขากรุงเทพฯ ใช้เป็นเงินกองทุน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนของสาขากรุงเทพฯ แม้เงินที่ส่งมานั้นจะเคยเป็นเงินฝากของลูกค้าของสาขาต่างประเทศที่มีความผูกพันจะต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้ฝากก็ตาม การที่สาขากรุงเทพฯ ส่งดอกเบี้ยสำหรับเงินจำนวนนี้ไปให้สาขาต่างประเทศ ก็เป็นเพียงการจ่ายเพื่อผ่อนภาระของสาขาต่างประเทศเท่านั้น มิใช่รายจ่ายโดยตรงของสาขากรุงเทพฯ ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายที่กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง และเป็นค่าตอบแทนแก่ทรัพย์สินซึ่งนิติบุคคลเป็นเจ้าของเองและใช้เอง ทั้งเป็นดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุนเงินสำรองต่าง ๆ หรือเงินกองทุนของตนเอง ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) (10) (11) ซึ่งมิให้ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้
บริษัท ป. กู้เงินจากสาขาธนาคารโจทก์ที่ต่างประเทศ ดอกเบี้ยที่บริษัท ป. ขอให้สาขากรุงเทพฯ หักจากบัญชีเงินฝากของบริษัท ป. ส่งไปให้สาขาต่างประเทศนั้น ถือว่าเป็นรายได้ของโจทก์ที่จะต้องนำไปรวมคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เช่นเดียวกับเงินดอกเบี้ยที่สาขากรุงเทพฯ ส่งออกไปจากประเทศไทยดังกล่าวมาแล้ว และการที่ธนาคารโจทก์สาขากรุงเทพฯ ส่งเงินดอกเบี้ยทั้งสองรายนี้ออกไปให้สาขาต่างประเทศ ย่อมเป็นการจำหน่ายกำไรออกจากประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้อัตราร้อยละ 15 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ