คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 52

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,157 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8759/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายสถานประกอบการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง สิทธิในการได้รับค่าชดเชยพิเศษ
กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึงนายจ้างได้ปิดสถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมแล้วย้ายไปเปิดในที่แห่งใหม่อันมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ประกอบกิจการเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจำเลยใช้อู่ปากน้ำเป็นสถานที่จอดเก็บรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ.507 ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถจะต้องเริ่มต้นมาที่อู่ปากน้ำ เวลา 3 นาฬิกา ซึ่งเป็นกะแรกเพื่อลงชื่อก่อนทำงานแล้วรับรถขับออกจากอู่ไปยังปลายทางสายใต้ใหม่แล้วขับวนกลับมาที่อู่ปากน้ำ เมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วโจทก์จะต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำรถไปจอดเก็บไว้ที่อู่ปากน้ำจึงกลับบ้านได้ เมื่อจำเลยได้ปิดสถานที่ประกอบกิจการเป็นประจำแห่งเดิมที่อู่ปากน้ำแล้วย้ายไปใช้อู่สายใต้ใหม่อันมิใช่สถานที่ที่จำเลยใช้ประกอบกิจการประจำอยู่ก่อนแล้วเป็นสถานที่ประกอบกิจการประจำแห่งใหม่ของจำเลย จึงเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นแล้ว เมื่อโจทก์มีบ้านอยู่ที่อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีระยะทางห่างจากอู่ปากน้ำ 3 กิโลเมตร และห่างจากอู่สายใต้ใหม่ 58 กิโลเมตร โดยโจทก์พักอาศัยอยู่กับพี่สาวที่มีอายุ 56 ปี ซึ่งเจ็บป่วยบ่อยและโจทก์ต้องดูแล เมื่อพิจารณาประกอบการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ที่จำเลยเปลี่ยนให้โจทก์จะต้องเริ่มต้นมาทำงานโดยมาลงชื่อก่อนทำงานที่อู่สายใต้ใหม่แล้วรับรถขับจากอู่สายใต้ใหม่ไปยังปลายทางที่อู่ปากน้ำ แล้วขับวนมาที่อู่สายใต้ใหม่ และเมื่อปฏิบัติหน้าที่เสร็จแล้วต้องนำรถไปเติมน้ำมันและนำไปจอดเก็บที่อู่สายใต้ใหม่จึงจะกลับบ้านได้แล้ว แสดงว่าหากโจทก์ต้องทำงานตามที่จำเลยย้ายสถานประกอบกิจการจากอู่ปากน้ำไปที่อู่สายใต้ใหม่ ย่อมมีความลำบากและเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม อันจะเป็นเหตุให้โจทก์มีเวลาพักผ่อนน้อยลงกว่าเดิมและไม่มีเวลาดูแลครอบครัวเช่นเดิม เป็นการเพิ่มภาระและก่อความเดือดร้อนแก่โจทก์หรือครอบครัว ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างหรือครอบครัว หากโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้โดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงานด้วยโดยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้มีผลในวันที่ 9 ธันวาคม 2550 จึงเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษดังกล่าว
ค่าชดเชยพิเศษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ลูกจ้างมีสิทธิได้รับไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างพึงมีสิทธิได้รับตามมาตรา 118 เมื่อโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบ 10 ปีขึ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) เป็นเงิน 145,175 บาท เมื่อคิดเป็นค่าชดเชยพิเศษคือร้อยละ 50 ของอัตราค่าชดเชยที่โจทก์พึงมีสิทธิได้รับจะได้เป็นเงิน 72,587.50 บาท การที่ศาลแรงงานกลางเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความและอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษเป็นเงิน 72,587.50 บาท แก่โจทก์ แม้เกินไปจากที่โจทก์มีคำขอบังคับ แต่เป็นการกำหนดให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามจำนวนเงินที่ถูกต้องแท้จริง จึงเป็นการพิพากษาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14541-14551/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าจ้าง ค่าธรรมเนียมธนาคาร และการจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
คำฟ้องบรรยายว่านับแต่เริ่มทำงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2553 จนครบ 1 ปี จำเลยไม่จัดให้โจทก์แต่ละคนหยุดพักผ่อนประจำปีโดยให้ทำงานแทน จึงขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น พอถือได้ว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีซึ่งเกิดมีขึ้นในปี 2554 รวมมาด้วย ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์แต่ละคนที่เป็นลูกจ้างรายวันแม้ไม่มีการเลิกจ้างแต่เป็นการลาออก ในอัตราไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของอัตราค่าจ้างในวันทำงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 62 และมาตรา 64 แต่จำเลยจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์แต่ละคนเท่ากับอัตราค่าจ้างรายวัน จึงต้องจ่ายส่วนที่ขาดให้แก่โจทก์แต่ละคน
นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้างของลูกจ้างเพราะเหตุขาดงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้แก่โจทก์แต่ละคน ส่วนดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้นั้นเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งโจทก์แต่ละคนมีคำขอท้ายคำฟ้องเรียกดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง แม้ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และคู่ความไม่อุทธรณ์ แต่เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยเสียดอกเบี้ยของค่าจ้างที่หักไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
เมื่อนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 55 การที่จำเลยหักค่าจ้างบางส่วนของโจทก์แต่ละคนไว้ทุกเดือนแล้วนำไปชำระค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารในการโอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์แต่ละคน จึงไม่ใช่หนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการอันเป็นประโยชน์แก่เป็นลูกจ้างแต่ฝ่ายเดียวตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง (3) จำเลยต้องคืนค่าจ้างที่หักไว้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แก่โจทก์แต่ละคน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13937/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างทางพฤติการณ์ และสิทธิการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อมีการเลิกจ้าง
การวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ย่อมไม่ได้ แม้ในการประชุม ธ. ประธานกรรมการบริหารบริษัทในกลุ่มแพนจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันดังกล่าว ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์ ไม่ใช่เลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเงินทดแทน – การทำลายมติคณะกรรมการ – การจ่ายค่าทดแทนตามกฎหมาย
โจทก์ประสงค์ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลแรงงานภาค 6 เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนทดแทนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายและให้พิพากษาว่าการประสบอันตรายของ พ. บุตรโจทก์เกิดจากการทำงานให้แก่นายจ้างอันเป็นการฟ้องเพื่อทำลายมติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ยืนตามคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกผู้พิจารณาในชั้นต้น สำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนต่างเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่งและคำวินิจฉัย การที่โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นการฟ้องผู้ที่มีอำนาจและหน้าที่ออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยปัญหาพิพาทตามกฎหมายเพื่อทำลายคำสั่งและคำวินิจฉัยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดพิษณุโลกเป็นจำเลยได้
โจทก์ฟ้องคดีด้วยวาจา ศาลแรงงานภาค 6 บันทึกรายการแห่งข้อหาตามแบบคำฟ้องคดีแรงาน (รง.1) โดยคำขอท้ายคำฟ้องระบุขอให้เพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ว่า พ. ถึงแก่ความตายไม่ใช่ผลโดยตรงจากการทำงานหรือป้องกันรักษาประโยชน์ให้นายจ้าง ไม่เป็นการประสบอันตรายตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 และขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าทดแทนกรณี พ. ถึงแก่ความตายให้แก่โจทก์เป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นเวลา 5 ปี เมื่อสิทธิการได้รับค่าทดแทนของโจทก์ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ ซึ่งบัญญัติให้จ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนในอัตราร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน มีกำหนด 8 ปี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนให้โจทก์โดยการจ่ายเงินให้จำเลยปฏิบัติตาม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง (4) และวรรคสี่ (เกินไปจากคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16434-16650/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-ทำงานวันหยุด: งานท่าเรือกรุงเทพไม่ใช่ขนส่ง จ่ายตามประกาศ รัฐวิสาหกิจ
กิจการของจำเลยที่ท่าเรือกรุงเทพเป็นการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการให้ใช้บริการท่าเรือ จำเลยไม่มีหน้าที่ขนสินค้าไปส่งให้ลูกค้า แต่กำหนดระเบียบให้ลูกค้ามารับสินค้าเองที่ท่าเรือ เมื่อเคลื่อนย้ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าแล้วจะนำไปเก็บไว้ที่โกดังหรือที่ลานกลางแจ้งในบริเวณพื้นที่ของจำเลยเพื่อรอให้เจ้าของสินค้ามารับไป งานที่โจทก์แต่ละคนทำอยู่ในส่วนงานปฏิบัติการเพื่อรองรับการให้บริการในกิจการท่าเรือกรุงเทพของจำเลย ลักษณะของกิจการและลักษณะการทำงานที่จำเลยที่ให้ลูกจ้างจำเลยรวมทั้งโจทก์รวม 217 คน ทำที่ท่าเรือกรุงเทพจึงเป็นเพียงการให้บริการการใช้ท่าเรือและขนถ่ายสินค้าจากเรือนำไปเก็บไว้เพื่อรอให้ผู้มีอำนาจรับสินค้ามารับไปจากท่าเรือของจำเลย โดยมิได้ทำให้สินค้าเคลื่อนที่พ้นจากบริเวณท่าเรือเพื่อให้ถึงผู้รับหรือเจ้าของสินค้า อันเป็นเพียงการขนถ่ายสินค้าจากเรือสินค้าขึ้นท่าเพื่อให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างเรือสินค้ากับการขนส่งด้วยยานพาหนะอื่นเท่านั้นไม่ใช่การทำงานขนส่ง จึงไม่ใช่งานขนส่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 40 (2)
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดและค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคมิได้จ่ายให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 37 และ 38 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดที่จำเลยเหมาจ่ายเป็นภาคจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่มีการปฏิบัติกันมานานแล้ว แต่ก็เป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่อาจใช้บังคับได้ โจทก์แต่ละคนจึงมีอำนาจฟ้องโดยไม่จำต้องยื่นข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์หรือยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือต่อจำเลยตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 23 หรือมาตรา 25 ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ข้อ 7
การที่จำเลยถือมติคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทยครั้งที่ 5/2526 ให้หน่วยงานของจำเลยคืองานของท่าเรือกรุงเทพเป็นงานขนส่ง แล้วไม่จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนที่ทำงานอยู่ที่ท่าเรือกรุงเทพนั้น ลูกจ้างอื่นของจำเลยจึงเป็นผู้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีด้วย ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำพิพากษาผูกพันจำเลยและลูกจ้างอื่นของจำเลยด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375-1437/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานต่างประเทศ: ศาลพิพากษาชอบธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงาน และประเด็นค่าล่วงเวลา
โจทก์ทั้งหกสิบสามบรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนทำสัญญาจ้างแรงงานแทนบริษัท ฤ. นายจ้างซึ่งเป็นตัวการที่อยู่ในประเทศกาตาร์ แม้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างและส่งโจทก์ทั้งหกสิบสามไปทำงานที่ประเทศกาตาร์โดยเป็นตัวแทนของบริษัท ฤ. หรือฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นผู้ตกลงรับโจทก์ทั้งหกสิบสามเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ หากจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยก็ยังคงต้องรับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการที่อยู่ต่างประเทศหรือในฐานะนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่นั่นเอง ไม่ถือว่าศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือพิพากษาเกินไปกว่า หรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องเพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดพยานหลักฐานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้ออ้างในคำฟ้องหรือไม่เท่านั้น
โจทก์ทั้งหกสิบสามฟ้องขอให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารหรือออกหนังสือแสดงความยินยอมให้โจทก์ถอนเงินจากบัญชี เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยเรียกให้ธนาคารชำระเงินและธนาคารได้ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันของโจทก์ทั้งหกสิบสามให้แก่จำเลยแล้ว จึงให้จำเลยชำระเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ทั้งหกสิบสาม ซึ่งเป็นการพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินที่ ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามที่เห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งหกสิบสามโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ให้จำเลยคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์แต่ละคนวางไว้ที่ธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้โจทก์ทั้งหกสิบสามได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5462/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายงานพนักงานขับรถเป็นการกลั่นแกล้งเนื่องจากบทบาทสหภาพแรงงาน ศาลยืนเพิกถอนคำสั่งย้าย
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งย้ายโจทก์จากตำแหน่งพนักงานขับรถไปทำงานตำแหน่ง ผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายขนส่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างทำให้โจทก์มีรายได้ลดลง จำเลยให้การว่า การย้ายเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับการทำงานและเป็นอำนาจบริหาร ไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ การที่ ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่ามีเหตุเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลยหรือไม่ ในการวินิจฉัยจึงต้องพิเคราะห์ก่อนว่าคำสั่งย้ายตำแหน่งงานโจทก์เป็นไปโดยชอบหรือไม่ ประกอบกับเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงศาลแรงงานมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรได้ ศาลแรงงานกลางย่อมสามารถรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่พอใจในการ ก่อตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขับรถขนส่งสินค้า เมื่อโจทก์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงาน เป็น ประธานสหภาพแรงงาน และเป็นกรรมการลูกจ้าง น่าเชื่อว่าจำเลยไม่พอใจโจทก์ การย้ายโจทก์ให้มารับตำแหน่งใหม่กระทำโดยไม่สุจริต เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ แล้วนำมาวินิจฉัยว่าคำสั่งย้ายตำแหน่งงานโจทก์ไม่ชอบ มีเหตุสมควรเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลยและให้โจทก์กลับไปทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ จึงเป็นการวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาท ไม่ใช่การวินิจฉัยนอกฟ้อง
เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างแล้ว การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่เป็นสิทธิ ของนายจ้างจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2850/2525 แต่การที่นายจ้างไม่มอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ต้องไม่เป็นที่เสียหายแก่ลูกจ้างด้วย
การที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งย้ายของจำเลย แล้วพิพากษาต่อไปว่าให้โจทก์ได้รับค่าจ้างและผลประโยชน์หรือเงินเพิ่มหรือสวัสดิการเหมือนเดิม ก็เพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยอาจโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ต่อไป และให้จำเลยสามารถปฏิบัติตามคำพิพากษาได้อย่างถูกต้องในการให้โจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถดังเดิม ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12224-12238/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแรงงานในการพิพากษาเกินคำขอและผลผูกพันต่อผู้อื่น รวมถึงประเด็นการคิดเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และ 53 เป็นบทบัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิเศษ คือ การบัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิพากษาเกินคำขอและให้มีผลผูกพันผู้ที่มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดีด้วยได้ เพราะคดีแรงงานเป็นคดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างและผู้มีผลประโยชน์ในมูลความแห่งคดี ซึ่งบางครั้งก็มีจำนวนมาก การต้องฟ้องร้องทุกเรื่องย่อมเกิดความล่าช้า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพื่อประโยชน์ในการที่จะเกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมและไม่ให้เกิดข้อพิพาทตามมา แต่จะต้องกำหนดไว้ในคำพิพากษาให้ชัดเจน การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติกับสมาชิกอื่นของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 และ 53

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11683-11703/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างและค่าชดเชยจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน: ศาลรับฟ้องได้แม้ยังไม่ถึงที่สุด
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง ซึ่งไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 124 นำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง หาได้บัญญัติให้ลูกจ้างต้องรอจนกว่าคำสั่งเป็นที่สุดแล้วจึงจะฟ้องเรียกเงินตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานได้
เมื่อตามบัญชีค่าจ้างและค่าชดเชยตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสั่งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 2 น้อยกว่าคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ที่ 2 ย่อมไม่อาจได้รับค่าจ้างและค่าชดเชยเกินกว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จึงเห็นควรกำหนดจำนวนค่าจ้างและค่าชดเชยที่โจทก์แต่ละสำนวนมีสิทธิได้รับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานให้ชัดเจน
แม้โจทก์แต่ละสำนวนมิได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน แต่ก็บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน เพื่อความเป็นธรรมจึงเห็นสมควรวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9139/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างต้องมีเหตุผลอันสมควร ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่าการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
กรณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอซึ่งน้อยกว่าสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน แม้ตามกฎหมายแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลแรงงานกลางจะต้องพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ศาลแรงงานพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่ในกรณีที่ศาลแรงงานเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจะพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับก็ได้" เมื่อปรากฏในคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องว่า โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน แต่โจทก์ไม่ได้ขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตามสิทธิที่จะได้รับเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน ตามขอจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นกรณีที่ศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิของโจทก์ที่จะได้รับเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องอันไม่ใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ
ส่วนกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง และเหตุดังกล่าวเพียงพอแก่การเลิกจ้างหรือไม่เป็นสำคัญ ดังนั้น การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการแผนกปล่อยปละละเลยไม่วางระเบียบการตรวจสอบให้ดีปล่อยให้มีการปลอมเอกสารและลายมือชื่อในการดำเนินการเสียภาษีนำเข้าตู้สินค้าในนามจำเลยไม่ถูกต้องจนทำให้เกิดความผิดพลาดในแผนกอาจเกิดความเสียหายแก่จำเลย เป็นการกระทำที่ผิดพลาดอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจึงมีเหตุให้นายจ้างไม่ไว้วางใจให้ลูกจ้างปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
of 116