คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับโครงสร้างหนี้, รับสภาพหนี้, และสิทธิของเจ้าหนี้ในการรับชำระหนี้จากผู้จำนองและลูกหนี้
ในการทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง อ. และโจทก์ที่ 2 กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย นั้น มีวัตถุประสงค์ระบุไว้ในข้อ 2 ว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของ อ. และโจทก์ที่ 2 และให้ถือว่าเป็นเพียงข้อตกลงรับสภาพหนี้ และ/หรือผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ ไม่ใช่การระงับหนี้เดิม มูลหนี้เดิมรวมทั้งหลักประกันยังคงมีอยู่โดยไม่ถูกกระทบกระเทือน และใน ข้อ 1 ให้คำนิยามศัพท์ "มูลหนี้เดิม" หมายถึง "สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อประเภทต่าง ๆ ที่สถาบันผู้โอนมีอยู่ต่อลูกหนี้...และ บสท. (บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย) ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว...ตามสัญญาโอนสินทรัพย์..." ซึ่งมูลหนี้เดิมดังกล่าว อ. และโจทก์ที่ 2 ยอมรับสภาพหนี้ไว้ในข้อ 3 ว่า ในวันที่ 30 มิถุนายน 2546 ช. ซึ่งเป็นลูกหนี้เป็นหนี้ตามมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท และสัญญา ข้อ 4 ระบุการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้เพียง 15,200,000 บาท บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ที่ อ. และโจทก์ที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทำไว้ดังกล่าว จึงเป็นการผ่อนปรนเงื่อนไขในการชำระหนี้อันเป็นการรับสภาพในมูลหนี้เดิม 29,391,445.67 บาท แต่ให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้รับจำนองทั้งสองชำระหนี้บางส่วนเพียง 15,200,000 บาท มิใช่เป็นการปลดหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมผู้จำนองทุกคน ดังนั้น เมื่อ อ. กับโจทก์ที่ 2 ชำระเงินไปเพียง 200,000 บาท จึงยังคงต้องรับผิดชำระอีก 15,000,000 บาท โดยต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่จำนองตามส่วนแบ่งกรรมสิทธิ์ของตนไปชำระให้แก่จำเลยให้ครบถ้วนตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ส่วนที่บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ข้อ 21 ที่ระบุว่า เมื่อ อ. และโจทก์ที่ 2 ปฏิบัติตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ครบถ้วนแล้ว ให้ถือว่า อ. และโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมนั้น ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดตามมูลหนี้เดิมด้วย บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เจ้าหนี้ว่าไม่ประสงค์จะเรียกให้ อ. และโจทก์ที่ 2 ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมให้แก่เจ้าหนี้โดยสิ้นเชิง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 เท่านั้น ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ ยังคงต้องรับผิดอยู่ตามจำนวนมูลหนี้เดิม ดังนั้น แม้จำเลยจะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนกรรมสิทธิ์ของ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ แล้ว 11,277,358.84 บาท ก็ไม่มีผลทำให้ ด. ผู้จำนองอื่น และ ช. ลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือตามมูลหนี้เดิมแต่อย่างใดเพราะหนี้ยังไม่ได้ชำระโดยสิ้นเชิง ดังนี้ โจทก์ทั้งสองจึงคงต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองขอชำระหนี้เพียง 3,722,641.16 บาท จำเลยย่อมมีสิทธิไม่รับชำระหนี้ดังกล่าว การที่จำเลยยื่นคำคัดค้านและขอรับเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดในส่วนของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่เป็นการผิดบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติม สัญญาปรับโครงสร้างหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4081/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเครื่องกระสุนปืน การริบทรัพย์สิน และความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองเพื่อการค้า
เครื่องกระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนสามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เพียงแต่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้มีเครื่องกระสุนปืนจากนายทะเบียน จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ทำหรือมีไว้เป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 32 ส่วน ป.อ. มาตรา 33 (1) เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่ศาลในการลงโทษริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด โดยมุ่งหมายให้ริบทรัพย์สินที่ผู้กระทำความผิดได้ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง ทั้งเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยประกาศขายเครื่องกระสุนปืนให้ผู้สนใจทราบ แล้วจำเลยจัดส่งเครื่องกระสุนปืนให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อและได้รับเงินค่าเครื่องกระสุนปืนนั้น ซึ่งเป็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้า เครื่องกระสุนปืนของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง สมควรให้ริบ ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แต่บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองสำหรับการค้า ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ซึ่งเป็นบทบัญญัติความผิดสำหรับผู้ที่มีหรือจำหน่ายอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนสำหรับการค้าโดยเฉพาะ อันมีอัตราโทษหนักกว่าผู้ที่กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนทั่ว ๆ ไปซึ่งมิใช่เพื่อการค้า เมื่อจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองสำหรับการค้า โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเครื่องกระสุนปืนอื่นนอกจากที่มีไว้สำหรับการค้า จึงต้องลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 24, 73 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคสอง นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3918/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาจ้างก่อสร้าง: สัญญาอนุญาโตตุลาการยังใช้บังคับได้ แม้สัญญาหลักเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. ซึ่งคู่สัญญาทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย แม้ว่าอนุญาโตตุลาการจะวินิจฉัยว่าสัญญาดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ต้องบังคับตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางและให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะสัญญาจ้างทำของมาใช้บังคับ ซึ่งสัญญาที่ทำเป็นหนังสือในรูปแบบของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. นี้เป็นโมฆะ เพราะเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีลักษณะสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างทำของได้ หากมีลักษณะเข้าทุกองค์ประกอบของสัญญา และไม่มีข้อบกพร่องขององค์ประกอบทุกข้อในทางกฎหมาย ทั้งไม่มีข้อบกพร่องในการแสดงเจตนา ซึ่งสัญญาจ้างทำของนี้ไม่ต้องทำตามแบบแต่อย่างใด สัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. เป็นสัญญาจ้างทำของจึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อมีการทำสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหนังสือ แม้จะเป็นโมฆะในลักษณะของสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์งานโครงสร้างและสถาปัตยกรรมโครงการ ม. แต่เนื้อหาของสัญญานั้นยังอยู่และสมบูรณ์ในลักษณะของสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ข้อสัญญาหรือข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการจึงยังคงมีอยู่ในรูปของหนังสือ สัญญาอนุญาโตตุลาการจึงมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ต้องตามหลักเกณฑ์ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคสอง นอกจากนี้ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...และเพื่อวัตถุประสงค์นี้ (ซึ่งหมายถึงอำนาจของอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยถึงความมีอยู่หรือความสมบูรณ์ของสัญญาอนุญาโตตุลาการ) ให้ถือว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก เป็นข้อสัญญาแยกต่างหากจากสัญญาหลัก คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการที่ว่าสัญญาหลักเป็นโมฆะหรือไม่สมบูรณ์จะไม่กระทบกระเทือนถึงข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ" ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการ ม. ที่เป็นหนังสือนั้นยังมีอยู่ อนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจวินิจฉัยและทำคำชี้ขาดได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงชอบด้วยกฎหมาย สามารถบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง, 43, 44

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสัญญาเช่าซื้อ, ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม, และการเลิกสัญญาสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย
คดีนี้จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลชั้นต้นให้สืบพยานไปฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 เมื่อในการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ที่ระบุว่า ก. เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ และ ก. มอบอำนาจให้ ญ. มีอำนาจลงนามในสัญญาเช่าซื้อกับมีอำนาจตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้รับมอบอำนาจ ญ. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้บุคคลใดลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้ การที่ ญ. มอบอำนาจช่วงอีกทอดหนึ่งให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อ แล้วปรากฏลายมือชื่อ ร. ลงไว้ในช่องผู้ให้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อเป็นลำดับ ซึ่งศาลล่างทั้งสองมิได้ติดใจสงสัยเกี่ยวกับลายมือชื่อ ร. ที่ลงไว้ในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ พยานบุคคลและพยานเอกสารที่โจทก์นำสืบมาเพียงฝ่ายเดียวในคดีโดยจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ จึงมีรายละเอียดข้อสำคัญพอให้เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งรับฟังได้ว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ร. ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์แล้ว
โจทก์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อทรัพย์สิน การดำเนินการอันเกี่ยวกับธุรกิจของโจทก์ย่อมมีการลงทุนและเสียค่าใช้จ่าย ทั้งโจทก์ย่อมมุ่งหวังผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการลงทุนประกอบธุรกิจของตนบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้น การที่โจทก์คิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาโดยนำเงินลงทุนที่โจทก์ใช้จ่ายไปเกี่ยวกับรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคำนวณรวมกับดอกเบี้ยในแต่ละงวด เพื่อให้ตนได้รับประโยชน์หรือกำไรในเชิงธุรกิจของตน และการคิดคำนวณผลประโยชน์ของโจทก์เช่นนั้นมิได้สูงเกินสมควรหากยังคงอยู่ภายใต้มาตรฐานแห่งเศรษฐกิจกับความเป็นจริงของค่าครองชีพของประชาชนในสังคม ทั้งมิได้เป็นการคิดคำนวณผลประโยชน์ที่ต้องห้ามต่อกฎหมายด้วยแล้ว จึงยังมิอาจกล่าวว่าการคิดค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อของโจทก์เป็นไปโดยไม่เป็นธรรม ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับค่าขาดราคาหรือเบี้ยปรับอันพึงชดใช้แก่กันนั้น เป็นเพียงข้อกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าเสียหายภายหลังจากเลิกสัญญาที่คู่สัญญาสามารถตกลงกันไว้ได้ โจทก์ก็หาได้นำหนี้ดังกล่าวไปรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าซื้อดังที่จำเลยทั้งสองเข้าใจและอ้างมาในฎีกา ข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อจึงมิใช่ข้อตกลงสำเร็จรูปที่ทำให้โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปได้เปรียบจำเลยที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร หรือมีลักษณะหรือมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ อันต้องด้วยลักษณะของข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2550
เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เพิ่งผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 2 งวดติดต่อกัน และโจทก์ยังมิได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามเพื่อใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต่อจำเลยที่ 1 โดยชอบ ข้อเท็จจริงกลับได้ความต่อไปตามคำฟ้องและคำเบิกความของ น. ผู้รับมอบอำนาจช่วงโจทก์ว่า โจทก์เป็นฝ่ายติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 สอดคล้องกับรายละเอียดในใบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ซื้อทรัพย์ ที่ระบุถึงเรื่องที่โจทก์เป็นฝ่ายติดตามรถยนต์คืน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โต้แย้งคัดค้านในการนั้น พฤติการณ์ของโจทก์ที่ติดตามยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 คู่สัญญาฝ่ายที่ผิดนัดยินยอมส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์โดยไม่อิดเอื้อนเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างสมัครใจเลิกสัญญาเช่าซื้อต่อกันโดยปริยาย อันเป็นผลให้คู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาต่อกันอีก โจทก์ไม่อาจอาศัยข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อเรียกร้องค่าขาดราคาจากจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันย่อมไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3465/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาเดียว ความผิดหลายบท การลดโทษ และรอการลงโทษในคดีขายสุราและเกี่ยวข้องกับเด็ก
การที่จำเลยขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคานั้น เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะขายสุราในสถานบริการของจำเลยให้ได้จำนวนมากขึ้น แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องแยกความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขายกับความผิดฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และจำหน่ายสุราแก่เด็กเป็นข้อ ๆ ต่างหากจากกัน แต่ก็เกิดจากเจตนาอันเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท หาใช่ความผิดหลายกรรมต่างกันไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นกล่าวอ้างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811-2813/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค้ามนุษย์: การพิสูจน์ข้อเท็จจริงนอกฟ้อง และการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่สมบูรณ์
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกกับพวกสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยหลอกลวงคนไทย คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและสัญชาติอื่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้เสียหายไปบังคับใช้แรงงานเป็นลูกเรือประมง โดยใช้กลอุบายหลอกลวง บังคับขืนใจ หรือใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันใช้ยาพิษใส่ในน้ำหรือน้ำแดงหรือสุราให้พวกผู้เสียหายดื่มจนพวกผู้เสียหายมึนงง ขาดสติ และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แล้วนำพวกผู้เสียหายไปหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้ที่บริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อบังคับใช้แรงงานในเรือประมงในน่านน้ำสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ในทางพิจารณาว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ให้เสมียนนำสัญญากู้เงินไปให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดลงชื่อโดยไม่ได้อ่านให้ฟัง และผู้เสียหายทั้งเจ็ดไม่ได้รับเงินกู้ แต่ต้องทำงานบนเรือประมงเพื่อหักใช้หนี้ เป็นการข่มขืนใจและทำให้ผู้เสียหายทั้งเจ็ดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการทำงานของผู้เสียหายทั้งเจ็ดก็ตาม แต่เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังเช่นที่ปรากฏในทางพิจารณา จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้กล่าวในฟ้องและไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ ไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งหกตามข้อเท็จจริงนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2759/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกู้ยืมเงินเพื่อฉ้อโกง และการใช้ดุลยพินิจให้รอการลงโทษโดยคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นราษฎรอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลต่างจังหวัด ไม่มีประวัติการต้องโทษติดตัว ก่อนคดีนี้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกชาวบ้านก็เคยชักชวนกันร่วมลงทุนไปซื้อถ้วยชามแล้วนำเงินมาแบ่งปันกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามก็เป็นราษฎรหมู่บ้าน ตำบลเดียวกัน และการร่วมเป็นสมาชิกกองทุนเงินสุขาภิบาลถือได้ว่าเป็นเพื่อนบ้านกัน ซึ่งการกู้ยืมเงินโดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงล่อใจนั้น โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามและสมาชิกทั้งหลายก็รู้เห็นแต่แรก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อายุมากย่างเข้าสู่วัยชรา ความจำเป็นส่วนตัวคงไม่แตกต่างไปจากจำเลยที่ 4 และที่ 5 มากนัก หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตกลงไปใช้เงินตามส่วนที่ควรรับผิดแล้ว ก็คงมีโอกาสจะได้รับให้รอการลงโทษได้ทำนองเดียวกันกับจำเลยที่ 4 และที่ 5 การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอเวลาหาเงินไปชำระโจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามมานั้น ส่วนหนึ่งแสดงว่าได้สำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว เมื่อโทษจำคุกที่จะลงแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ลักษณะการกระทำความผิดจะค่อนข้างร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ทั้งเมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สภาพความผิด และการพยายามบรรเทาผลร้ายแล้ว กรณีมีเหตุควรปรานีโดยให้รอการกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งยี่สิบสามเพื่อคุมความประพฤติไว้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนใจ, กรรโชก, รีตเอาทรัพย์, พรากผู้เยาว์: กรณีคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานข่มขู่เรียกทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยฐานรีดเอาทรัพย์ ตาม ป.อ. มาตรา 338 แต่ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ ฟังไม่ได้ว่ามีคลิปวิดีโอที่มีภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นวัตถุความลับตามฟ้องที่จะไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอยู่จริง การกระทำของจำเลยไม่อาจแน่ใจได้ว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาจะข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้สร้อยคอทองคำ โดยการขู่เข็ญว่าหากผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยินยอม จำเลยจะนำคลิปวิดีโอที่บันทึกภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยและผู้เสียหายที่ 2 ไปเผยแพร่ให้บุคคลอื่นดูอันเป็นการขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับโดยคลิปวิดีโอนั้น อย่างไรก็ตามได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 2 มีเพศสัมพันธ์กันอันถือเป็นเรื่องเสื่อมเสีย การกระทำของจำเลยถือเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 2 ให้ยอมให้ตนได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ 2 ผู้ถูกขู่เข็ญ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ยอมคืนสร้อยคอทองคำแก่จำเลย การกระทำจึงเข้าลักษณะเป็นความผิดฐานกรรโชกซึ่งมีโทษเบากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นข้อเท็จจริงอันเกี่ยวพันกันกับความผิดข้อหาอื่นที่ศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยมาและเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและลงโทษจำเลยฐานกรรโชก ตาม ป.อ. มาตรา 337 วรรคหนึ่ง ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2170/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของเกษตรกรเช่าเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ให้เช่านาจะขายนาได้ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบ โดยทำเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายนา พร้อมทั้งระบุราคาที่จะขายและวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบภายในสิบห้าวัน และถ้าผู้เช่านาแสดงความจำนงจะซื้อนาเป็นหนังสือยื่นต่อประธาน คชก. ตำบล ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ผู้ให้เช่านาต้องขายนาแปลงดังกล่าวให้ผู้เช่านาตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ได้แจ้งไว้" และมาตรา 54 วรรคแรก บัญญัติว่า "ถ้าผู้ให้เช่านาขายนาไปโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 53 ไม่ว่านานั้นจะถูกโอนไปยังผู้ใด ผู้เช่านามีสิทธิซื้อนาจากผู้รับโอนนั้นตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการเช่าที่ดินอันจะได้รับความคุ้มครองนั้นจะต้องเป็นการเช่าที่ดินระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยกำหนดวิธีการที่ผู้ให้เช่าต้องปฏิบัติว่า ผู้ให้เช่านาจะขายที่นาได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้เช่านาทราบเป็นหนังสือแสดงความจำนงจะขายที่นาพร้อมทั้งระบุราคาที่จะขาย และวิธีการชำระเงินยื่นต่อประธานคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คชก.) เพื่อแจ้งให้ผู้เช่านาทราบ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สิทธิผู้เช่านาที่จะซื้อที่นาได้ก่อนบุคคลอื่นและหากผู้ให้เช่านามิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ไม่ว่าที่นานั้นจะโอนไปยังผู้ใด ผู้เช่านาย่อมมีสิทธิซื้อที่นาจากผู้รับโอนนั้นได้ตามราคาและวิธีการชำระเงินที่ผู้รับโอนรับซื้อไว้หรือตามราคาตลาดในขณะนั้น แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่ากัน แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืมกับธนาคาร ก. แล้วผิดนัดชำระหนี้ จึงถูกธนาคาร ก. ฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9154/2542 และบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. ได้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคาร ก. ระหว่างพิจารณาคดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งอายัดที่ดิน โดยห้ามมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยขายทอดตลาดที่ดินพิพาท แต่ไม่มีผู้สนใจเข้าประมูลซื้อหรือมีผู้สนใจประมูลซื้อในราคาต่ำกว่าราคาที่พึงจะได้รับ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจึงรับโอนที่ดินพิพาทในราคา 28,868,000 บาท ซึ่งไม่น้อยกว่าราคาที่พึงจะได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่าย ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 76 ต่อมาผู้ชำระบัญชีของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้นให้แก่กระทรวงการคลัง เพื่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ หนี้สินและทรัพย์สินที่คงเหลือของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 19 และในวันเดียวกันกระทรวงการคลังได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า การที่ที่ดินพิพาทตกมาเป็นของผู้คัดค้านมิได้เกิดจากการขายที่ดินพิพาทของ ส. แต่อย่างใด แต่เป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายโดยชอบ และจะถือว่า ส. มิได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 53 วรรคแรก อันจะทำให้ผู้ร้องมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านนั้นตามมาตรา 54 วรรคแรกหาได้ไม่ แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำแขวงลำผักชี จะมีมติเห็นชอบให้ผู้ร้องมีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจากผู้รับโอนได้ก็ตาม ก็หามีผลให้ผู้คัดค้านต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการดังกล่าวแต่ประการใดไม่ ดังนี้ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้องให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำแขวงลำผักชีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1480/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินมรดก, การโอนสิทธิ, และความสุจริตของผู้รับโอน: กรณีเพิกถอนนิติกรรม
เมื่อผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใดแล้วต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วย เป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่โดยทั่วไปของผู้จัดการมรดกไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากทายาท และการกระทำเช่นนี้ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 และมาตรา 1722 จำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจที่จะกระทำได้ นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกให้แก่จำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ตกเป็นโมฆะ ตามมาตรา 150 แม้จะทำให้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นทายาทโดยธรรมได้รับความเสียหายไม่ได้รับมรดกที่ดินพิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 1 จะว่ากล่าวกันต่างหาก ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ได้
โจทก์ทั้งสี่ไม่ได้บรรยายฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 กระทำการโดยไม่สุจริต แต่กลับบรรยายฟ้องว่าแม้จำเลยที่ 3 รับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เท่ากับโจทก์ทั้งสี่ยอมรับว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่ แม้ศาลชั้นต้นยินยอมให้โจทก์ทั้งสี่นำสืบพยานหลักฐานกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการนำสืบพยานหลักฐานนอกเหนือไปจากคำฟ้อง คำให้การ อันเป็นการนำสืบไม่เกี่ยวแก่ประเด็นข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคสอง ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามมาตรา 87 (1)
การที่โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพิพาทส่วนของผู้ตายเป็นการได้ทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ซึ่งโจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท จึงไม่อาจยกสิทธิการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริตแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ไถ่ถอนการขายฝาก กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทย่อมตกแก่จำเลยที่ 3 โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 3 ย่อมมีสิทธิจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 4 ได้ โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 ได้เช่นเดียวกัน เมื่อโจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 แล้ว การที่จะเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นประโยชน์อีกต่อไป แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้ฎีกาขึ้นมาด้วยแต่มูลความแห่งคดีระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 252
of 11