คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12544/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฉ้อโกงโดยอ้างโครงการจัดซื้อที่ไม่เป็นความจริง ผู้เสียหายมีสิทธิร้องทุกข์ได้
จังหวัดอุทัยธานีไม่เคยมีโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ เพื่อมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจ และไม่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นตามที่กลุ่มคนร้ายโทรศัพท์มาหลอกลวงโจทก์ร่วม ทั้งการที่โจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไปนั้น ก็หาได้ประสงค์เพื่อนำไปให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน แต่มอบเงินแก่คนร้ายก็ด้วยเหตุที่โจทก์ร่วมหลงเชื่อการหลอกลวงของกลุ่มคนร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมได้ร่วมกับกลุ่มคนร้ายนำสินบนไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เมื่อโจทก์ร่วมมอบเงินแก่คนร้ายไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของกลุ่มคนร้ายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8520/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์นายจ้าง - มูลค่าความเสียหาย - ราคาขายไม่ใช่ตัวชี้วัด - ชดใช้ตามราคาของทรัพย์
ขณะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักท่อนเหล็กวางเครื่องจักรของผู้เสียหายไปนั้น โรงงานของผู้เสียหายยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ซึ่ง ว. พนักงานของผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความว่า ท่อนเหล็กมีราคาท่อนละ 8,000 บาท รวม 2 ท่อน เป็นเงิน 16,000 บาท และเบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า ท่อนเหล็กยังสามารถนำมาใช้งานต่อได้ ไม่ใช่วัสดุเหลือใช้จึงเห็นได้ว่าท่อนเหล็กยังมีประโยชน์ในการใช้สอยและมีมูลค่า เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปย่อมทำให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ราคาตามมูลค่าของท่อนเหล็กที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายตามความเป็นจริงในขณะเกิดเหตุ หาใช่รับผิดตามราคาที่จำเลยทั้งสองนำไปขายไม่ เพราะขณะที่จำเลยทั้งสองขายนั้นเป็นการขายอย่างเศษวัสดุสิ่งของเหลือใช้ที่ไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง ทั้งเป็นการขายในขณะที่จำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่พึงใช้ความระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเฉกเช่นวิญญูชนทั่วไปพึงกระทำ และเมื่อพิจารณาท่อนเหล็กวางเครื่องจักรซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนที่ปรากฏในภาพถ่ายประกอบราคาที่ ว. พยานโจทก์เบิกความแล้ว เห็นว่า เป็นราคาที่มีมูลค่าเหมาะสมตามสภาพและประโยชน์ใช้สอยในขณะเกิดเหตุแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 16,000 บาท จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป็นโมฆะตามกฎหมาย
การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดร้อยละ 14.50 ต่อปี กับจำเลยในวันทำสัญญากู้ยืมเงิน เป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) บวกส่วนต่าง (MARGIN) สูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศ ซึ่งขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์คิดดอกเบี้ย MRR ร้อยละ 6.50 ต่อปี ส่วนต่างสูงสุดร้อยละ 4.00 ต่อปี เท่ากับร้อยละ 10.50 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยของโจทก์กับจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 14 (2) ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22267/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์โดยจำเลยครอบครองเงินร่วมกับโจทก์ และการร้องทุกข์ที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย
กฎหมายมิได้กำหนดรูปแบบของการร้องทุกข์ว่าต้องดำเนินการอย่างไร การที่โจทก์ร่วมแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่า ประสงค์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย และพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำโจทก์ร่วมไว้ จึงถือว่าเป็นการร้องทุกข์แล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้บันทึกการมอบคดีความผิดอันยอมความไว้ก็ตาม พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยไว้ใช้จ่ายร่วมกันในครอบครัว การที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ร่วมเป็นชาวต่างชาติไม่สามารถเปิดบัญชีได้ จำเลยจึงเปิดบัญชีและฝากเงินในชื่อของจำเลยเพียงคนเดียว ถือได้ว่าจำเลยครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้จำเลยคืนเงินแต่จำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังยักยอกเอาเงินซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ แต่เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นเจ้าของร่วมกันในเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งในเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น
of 11