คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างและฉ้อโกง: การพิจารณาอายุความและอำนาจศาลในการลงโทษ
จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์เงินของโจทก์ร่วมไป จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมด้วย จำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี
ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีฉ้อโกงและการพิจารณาความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง
ประธานกรรมการโจทก์ร่วมรู้ว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินของโจทก์ร่วมไปตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพให้ไว้เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 แล้ว แต่โจทก์ร่วมฎีกาว่าไม่รู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันดังกล่าว เนื่องจากยังไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่าจำเลยที่ 1 โกงเงินโจทก์ร่วมไปเมื่อใด จำนวนเท่าใด และโกงอย่างไร แต่เมื่อโจทก์ร่วมมิได้นำสืบให้ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดตั้งแต่วันใดที่มิใช่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกคำรับสารภาพไว้ และรู้เรื่องความผิดก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ปรากฏชัดว่าโจทก์ร่วมรู้ตัวผู้กระทำผิดและรู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดก่อนวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 อันเป็นวันร้องทุกข์ไม่เกิน 3 เดือน กรณีไม่อาจทราบแน่ชัดว่าคดียังไม่ขาดอายุความ หรือไม่แน่ชัดว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงสมควรยกประโยชน์ให้แก่จำเลยทั้งสองว่าสำหรับข้อหาฉ้อโกงนั้น คดีขาดอายุความแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฟ้องคดีข้อหานี้
ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องคดีนี้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองรับเงินจากธนาคารตามเช็คไปเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริตอันครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นการบรรยายฟ้องรวมการกระทำอื่นซึ่งอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำผิดอื่นนั้นตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้พิจารณาลงโทษความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่พิจารณาได้ความ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิจารณาตามมาตรานี้โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 215 และมาตรา 225 ได้เพราะข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้มอบเช็คให้จำเลยที่ 2 ไปขึ้นเงินที่ธนาคารจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ร่วม ได้เงินของโจทก์ร่วมมาจำนวน 125,616 บาท โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มอบเงินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มอบเงินคืนให้โจทก์ร่วมแล้วดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วม ย่อมไม่อาจร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความได้และมีอายุความ 10 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ แม้ความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องรวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225 ก็ตาม แต่ศาลฎีกาไม่อาจกำหนดโทษจำเลยทั้งสองให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา เพราะจะเป็นการพิจารณาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12634/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนอง/โอนที่ดินโดยผู้จัดการทรัพย์สิน: การยินยอมถูกต้องทำให้สัญญาใช้ได้ เหตุฉ้อฉล/ทุจริตไม่ปรากฏ
ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนแล้วจึงจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ได้
...ฯลฯ...
(4) รับประกันโดยประการใดๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
...ฯลฯ...
จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น มีความสามารถที่จะทำนิติกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง ได้เอง โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์แต่ประการใด โดยจัดว่าเป็นผู้หย่อนความสามารถเฉพาะการทำนิติกรรมต่าง ๆ ซึ่งระบุไว้เท่านั้นที่จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะมีความสามารถทำได้ ส่วนมาตรา 34 วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวมาในวรรคหนึ่งหรือวรรคสองได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม" ตามบทบัญญัติในวรรคสามนี้ หมายถึงกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดใน (1) ถึง (11) หรือวรรคสองด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถโดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้พิทักษ์ ได้ทำนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทและการโอนที่ดินพิพาทชำระหนี้จำนองซึ่งเป็นนิติกรรมดังได้ระบุไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 34 (4) โดยได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 1 ผู้พิทักษ์แล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 34 วรรคหนึ่งแล้ว นิติกรรมดังกล่าวย่อมมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11188/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเชิดตัวแทนซื้อขายที่ดิน: ผลของการซื้อขายโดยผู้ประมูลได้และการเพิกถอนนิติกรรม
การที่บุคคลหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนอันตนจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าเป็นตัวแทนของตนตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 821 นั้น นอกจากจะมีการแสดงออกว่าเป็นตัวแทนของบุคคลใดแล้ว บุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วยจะต้องรับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลนั้นที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการด้วย ผู้ที่มีการแสดงออกว่าเป็นตัวการ จึงจะต้องรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการ ถ้าหากบุคคลภายนอกที่รับติดต่อกิจการด้วย มิได้รับติดต่อโดยหลงเข้าใจว่าเป็นกิจการของบุคคลอื่น แต่ยอมติดต่อโดยเชื่อถือผู้ที่มาติดต่อด้วยอย่างผู้มาติดต่อเป็นเจ้าของกิจการนั้นเองแล้ว ก็ต้องถือว่าไม่ใช่กรณีที่บุคคลคนหนึ่งเชิดบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นตัวแทน หรือรู้แล้วยอมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองเป็นผู้แทนตน อันตนจะต้องพลอยรับผิดชอบเสมือนเป็นตัวการไปด้วย และต้องถือเป็นกรณีที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นส่วนตัวเอง ไม่มีการพาดพิงไปถึงบุคคลใดให้ต้องรับผิดชอบด้วย ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์เป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 บังคับให้จำเลยแสดงออกแก่โจทก์ทำให้โจทก์เชื่อว่าการทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นการกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 เอง จึงเป็นการที่จำเลยร่วมที่ 1 เชิดจำเลยเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมที่ 1 จำเลยร่วมที่ 1 จะยกเหตุการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วมที่ 1 เพื่อจำเลยจะได้มีเงินมาชำระหนี้ให้แก่จำเลยร่วมที่ 1 ตามเงื่อนไขสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยจำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นหรือตัดสินใจในการกำหนดราคาซื้อขายหรือเข้าถือเอาประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างกันเอง มาเป็นเหตุอ้างปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายเพราะการนี้หาได้ไม่ เมื่อจำเลยร่วมที่ 2 ทราบว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทมาก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 ดังนั้น การที่จำเลยร่วมที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วมที่ 2 นั้น จำเลยร่วมที่ 2 ย่อมทราบแล้วว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ย่อมอยู่ในฐานะที่จะต้องรู้ถึงข้อความจริงอันเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบอยู่ก่อนรับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11027/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด: การรู้ตัวผู้เสียหายและผู้ก่อเหตุเป็นสำคัญในการนับอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด กรณีจึงต้องนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดประการหนึ่ง และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกประการหนึ่งประกอบกันเป็นวันใด และพ้นหนึ่งปีนับแต่วันดังกล่าว คดีจึงจะขาดอายุความ แม้ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์จะได้ยื่นฟ้องกรมทางหลวงชนบทเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้รับผิดในเหตุละเมิด โดยเข้าใจว่ากรมทางหลวงชนบทมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลทางหลวงที่เกิดเหตุ ต่อมากรมทางหลวงชนบทยื่นคำให้การในคดีดังกล่าว โจทก์ได้รับสำเนาคำให้การวันที่ 1 กันยายน 2551 ทำนองว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 1 กันยายน 2551 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความแต่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยเข้ารับช่วงสิทธิของพันตำรวจโท บ. ผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 สิทธิของโจทก์จึงมีเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันภัยมีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยตามที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าเหตุเกิดวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 โดยไม่ได้นำสืบว่าพันตำรวจโท บ. ไม่รู้ตัวผู้พึงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่าพันตำรวจโท บ. รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2550 เพราะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจทางหลวงย่อมรู้ว่าถนนที่เกิดเหตุอยู่ในความดูแลของจำเลยอายุความละเมิดจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากพันตำรวจโท บ. จึงต้องฟ้องจำเลยภายใน 1 ปี นับแต่วันดังกล่าวด้วย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2551 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10634/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดชดใช้ค่าเลือกตั้งใหม่ แม้ไม่มีความผิดอาญา เพียงมีหลักฐานเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต
มาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีมีหลักฐานเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ หาใช่จำต้องฟังจนแน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญาหรือทำละเมิดจริง ดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 99 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอพิสูจน์การกระทำผิดร่วมกันปล้นทรัพย์และซ่อนเร้นศพ ศาลยกฟ้อง
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานไม่เพียงพอฟังว่าจำเลยมีส่วนร่วมปล้นทรัพย์และซ่อนเร้นศพ แม้จะรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพ ตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ศาลจึงมีอำนาจฟังพยานโจทก์ จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริง หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพผู้ตายไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน และพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิง, พรากเด็ก, และการชดใช้ค่าเสียหายทางจิตใจ
คำว่า "พราก" ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 317 หมายความว่า พาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแลโดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีใด ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็กไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ทั้งนี้ไม่ว่าเด็กจะไปอยู่ที่ใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังเอาใจใส่เด็กย่อมอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลตลอดเวลา ดังนี้ การพรากเด็กไม่ว่าผู้พรากเด็กจะเป็นฝ่ายชักชวนโดยมีเจตนามุ่งหมายที่จะกระทำชำเราเพียงอย่างเดียวก็ย่อมเป็นความผิดทั้งสิ้น
ขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมอยู่ที่บ้าน จ. ซึ่งเป็นปู่ โดยโจทก์ร่วมได้ไปเยี่ยมปู่และย่าที่บ้านพักและพักอาศัยอยู่ที่นั่น โดยผู้เสียหายที่ 2 ได้ส่งโจทก์ร่วมไปที่บ้าน จ. เพื่อให้มาดูแลเนื่องจาก จ. ป่วย จึงถือได้ว่า จ. อยู่ในฐานะผู้ดูแลโจทก์ร่วม โดยได้รับมอบหมายจากผู้เสียหายที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยโทรศัพท์ชวนโจทก์ร่วมไปทำงานแล้วขับรถเก๋งมารับโจทก์ร่วมไปและต่อมาก็ได้กระทำชำเราโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการรบกวนและก้าวล่วงอำนาจผู้ดูแลของ จ. ที่มีต่อโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก ส. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นอา ผู้ปกครองดูแลของโจทก์ร่วม โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก จ. ผู้ดูแลเพื่อการอนาจารก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญแต่อย่างใด และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ในข้อดังกล่าวด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคสอง อีกทั้งการกระทำของจำเลยยังเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ด้วย โดยความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม จำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ดูแลโจทก์ร่วมเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน ตามมาตรา 277 วรรคแรก และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตามมาตรา 283 ทวิ วรรคสอง จำเลยมีเจตนาเดียวกันคือพาโจทก์ร่วมไปกระทำชำเรา การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10065/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่า: พิจารณาจากพฤติการณ์, อาวุธ, และบาดแผลควบคู่กัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย ถูกบริเวณหน้าอกด้านซ้าย โดยเจตนาฆ่าและผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 288 นั้น ความผิดตามฟ้องของโจทก์ย่อมรวมถึงการทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าว ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
ในการพิจารณาว่า ผู้กระทำมีเจตนาทำร้ายร่างกายหรือเจตนาฆ่านั้น จะต้องพิจารณาจากความร้ายแรงของอาวุธ อวัยวะที่ถูกกระทำ ลักษณะบาดแผลที่ได้รับและพฤติการณ์แห่งการกระทำอื่น ๆ ประกอบกัน ซึ่งพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลย จะมีความสำคัญในการวินิจฉัยถึงเจตนาของจำเลยยิ่งกว่าหลักเกณฑ์อื่น ๆ มิใช่พิจารณาแต่เพียงอาวุธ ลักษณะอาการในการจ้วงแทง และบาดแผลที่ได้รับเท่านั้น
of 11