คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9863/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้ถูกบังคับคดีคัดค้านการรื้อถอนบ้านจากที่ดินพิพาท ต้องเป็นกรณีบังคับคดีทรัพย์สิน มิใช่การรื้อถอนตามคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า ผู้ร้องขัดทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจะใช้สิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 288 ได้นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดียึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของลูกหนี้เพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น แต่คดีนี้เป็นเรื่องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและผู้คัดค้านฟ้องแย้งขับไล่ผู้ร้องพร้อมบริวารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว มิใช่กรณีที่ศาลพิพากษาให้ผู้ร้องใช้เงินแก่ผู้คัดค้านและต้องนำทรัพย์สินของผู้คัดค้านออกขายทอดตลาด จึงไม่อาจนำบทบัญญัติ มาตรา 288 มาบังคับได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอโดยไม่มีการไต่สวนก่อนจึงชอบแล้ว แต่ฎีกาของผู้ร้องขัดทรัพย์ไม่ปรากฏว่าได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใด และที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9365/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการรับผิดในความเสียหายจากการเพิกถอนการขายทอดตลาด: จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความปลอมรายงานกระบวนพิจารณาของศาลฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ขึ้นทั้งฉบับโดยมีใจความสำคัญว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ในคดีดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 นำเอกสารปลอมไปยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการขายทอดตลาดที่ดินโดยมีโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อโจทก์ได้ชำระราคาที่ดิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นเพิกถอนการขายทอดตลาด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้จำเลยที่ 1 จะกระทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต หรือจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
เมื่อ พ. หัวหน้าส่วนงานหลังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเบิกความว่า ไม่สามารถทราบได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2545 ปลอมหรือไม่ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อโจทก์จะถือเอาคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 และกระทำการที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 4 โดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วสรุปว่าจำเลยที่ 1 กระทำไปภายในขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 820 หาได้ไม่
เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) และหากไม่มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดในครั้งนี้โจทก์สามารถเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวได้ แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งนี้แล้ว โจทก์จึงต้องรับผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่และการตัดสินใจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เกิดขึ้นในภายหลังด้วยเช่นกัน กรณียังฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหายและจะถือว่าจำเลยที่ 5 (กรมบังคับคดี) กระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8686/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในศาลเดียวกัน กรณีพิพาทกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินมรดก และการสืบสิทธิของคู่ความ
คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 3148/2545 กับคดีนี้มีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ส. เป็นเจ้าของรวมหรือมีกรรมสิทธิ์รวมในห้องแถวเลขที่ 1383/32 และเลขที่ 1379/1 - 2 หรือไม่ คดีทั้งสองจึงเป็นประเด็นอย่างเดียวกัน แม้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มีใจความสำคัญเพียงว่าในศาลเดียวกันห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โดยมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันด้วยก็ตาม แต่ก็ต้องมีความหมายว่าคู่ความที่ฟ้องร้องกันจะต้องเป็นคู่ความรายเดียวกันหรือเป็นบุคคลที่สืบสิทธิในการฟ้องร้องและดำเนินคดีมาจากคู่ความเดิมด้วยแล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้สืบสิทธิจาก ส. และ ว. ตามลำดับ คดีทั้งสองจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในศาลเดียวกัน ย่อมต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลสำหรับผู้ยากจนในการอุทธรณ์คดีผู้บริโภค และผลกระทบต่อการวางเงินประกันค่าฤชาธรรมเนียม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเนื่องจากจำเลยที่ 2 เป็นคนยากจนไม่มีเงินชำระว่า อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งมีความหมายว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ฟ้องอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องวางค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งรวมถึงเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 157 ด้วย สำหรับเงินวางศาลในการยื่นฟ้องอุทธรณ์ คือ เงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งจะต้องนำมาวางศาลพร้อมอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 229 จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นให้อุทธรณ์โดยไม่ต้องวางเงินความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7280-7281/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงประชาชน, ฟ้องซ้ำ, คำขอคืนเงิน, ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 และร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 39 ถึงที่ 46 การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 38 โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คนนั้น เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติให้คำพิพากษาคดีอาญาต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าวและมาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งยี่สิบเอ็ดคืนหรือใช้เงิน 10,047,100 บาท แก่ผู้เสียหายโดยไม่ได้ให้เหตุผลและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 ถึงที่ 10 ที่ 14 ที่ 15 และที่ 21 คืนหรือใช้เงิน 10,463,700 บาท แก่ผู้เสียหายทั้ง 46 คน อันเป็นการเกินคำขอ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 เป็นผู้ร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงต้องร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้ง 46 ด้วย และกรณีนี้ไม่ใช่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 10 ที่ 15 และที่ 21 จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6921/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินจัดสรร: ข้อตกลงให้ผู้ซื้อรับภาระภาษีขัดกฎหมายและแบบสัญญามาตรฐาน
สัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินเป็นนิติกรรมที่คู่สัญญามีอิสระในการแสดงเจตนาต่อกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 457 แต่การแสดงเจตนาดังกล่าวต้องไม่ฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 457 บัญญัติเฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาซื้อขายเท่านั้นที่คู่สัญญาพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย หาได้บัญญัติถึงค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ด้วย ประกอบกับภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นฤชากรที่เรียกเก็บจากจำเลยซึ่งเป็นผู้มีรายได้จากการขาย ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ เป็นภาระภาษีซึ่งจำเลยในฐานะผู้มีรายได้จากการขายมีหน้าที่ต้องชำระต่อหน่วยงานของรัฐ ข้อตกลง ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ จึงเป็นการที่จำเลยผู้จะขายทำข้อตกลงผลักภาระดังกล่าวไปเป็นของโจทก์ผู้จะซื้อย่อมเป็นการกระทำนอกเหนือบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อบ้านและที่ดินโครงการของจำเลยได้รับใบอนุญาตจัดสรรที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อขาย จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 8 (4) ที่บัญญัติว่า คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางมีอำนาจกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร เพื่อให้ผู้ขอใบอนุญาตทำการจัดสรรที่ดินใช้ในการประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.นี้และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรระหว่างผู้จัดสรรที่ดินกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องทำตามแบบที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางกำหนด เมื่อก่อนทำสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้ประกาศกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรรว่า กรณีสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจัดสรร (มีสิ่งปลูกสร้าง) ให้ใช้ตามแบบ ข ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ผู้จะขายเป็นผู้ออกทั้งสิ้น จำเลยจึงต้องใช้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินตามแบบมาตรฐานดังกล่าว ประกอบกับ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอันถือเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงให้ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายออกชำระเงินค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ รายได้ส่วนท้องถิ่นและอากรแสตมป์ในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมเป็นการแสดงเจตนาฝ่าฝืนหรือแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะส่วนดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 34 วรรคสอง จำเลยไม่อาจอ้างหลักอิสระในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาในการเกี่ยงให้โจทก์ผู้จะซื้อรับภาระเป็นผู้ชำระเงินภาษีอากรแทนได้
แม้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายมีหน้าที่ต้องรับภาระในการชำระเงินค่าภาษีอากรในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และโจทก์เป็นฝ่ายออกชำระเงินดังกล่าวแทนจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินดังกล่าวตามข้อตกลงในสัญญาอันทำให้โจทก์เชื่อโดยสุจริตว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวเนื่องจากมีข้อกำหนดในสัญญาและโจทก์ได้ชำระในวันที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากโจทก์ไม่ชำระก็ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์กันได้ หาถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ จึงไม่อาจนำอายุความในมูลลาภมิควรได้มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653-6654/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกันส่วนในที่ดินพิพาทกรณีแบ่งมรดก: ไม่ใช่การบังคับชำระหนี้
การร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ต้องเป็นกรณีที่มีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ เนื่องจาก ป. ต. ส. และจำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทโดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทของ ส. การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามแบ่งทรัพย์มรดกของ ป. และ ต. ให้โจทก์ทั้งสองตามส่วน โดยคู่ความตกลงกันให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้แบ่งกันตามส่วน จึงเป็นเรื่องบังคับให้จำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมด้วยกัน แล้วจัดการแบ่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองเท่านั้น หาได้มีการบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามไม่ ผู้ร้องทั้งสี่จึงไม่อาจขอกันส่วนโดยอ้างว่าผู้ร้องทั้งสี่เป็นทายาทของ ส. ผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม และมีสิทธิรับมรดกในส่วนของ ส. ร่วมกับจำเลยทั้งสาม เป็นเรื่องที่ผู้ร้องทั้งสี่จะต้องไปดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4985/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการกันส่วนทรัพย์สินจากการบังคับคดี: สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่สมบูรณ์เพราะยังไม่ได้จดทะเบียน
ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 288 และ 289 บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย" มีความหมายถึงการที่เจ้าหนี้สามัญจะบังคับคดีให้กระทบกระทั่งถึงสิทธิของเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่นที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้นไม่ได้เท่านั้น โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนองซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหลักประกันพิเศษ และตามมาตรา 287 ดังกล่าว บุริมสิทธิที่จะใช้ได้ก่อนสิทธิจำนองจะต้องเป็นบุริมสิทธิที่ได้จดทะเบียนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 285 มาตรา 286 และมาตรา 287 เท่านั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 อ. และ น. คู่สัญญามีความประสงค์ที่จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 ดังนั้น ตราบใดที่ยังมิได้มีการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เสร็จเรียบร้อย การได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่บริบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง นิติกรรมระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ 2 ดังกล่าวคงมีฐานะเป็นเพียงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้รับมอบอำนาจจะมอบที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องครอบครอง ก็ถือว่าเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 2 สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของจำเลยที่ 2 อ. และ น. อยู่ ทั้งกรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 เพราะยังชำระราคากันไม่ครบ ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงขายทอดตลาดชำระหนี้ได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิร้องขอกันส่วนของตนในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงก่อนขายทอดตลาดได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาว่า พิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องกันส่วนประกอบพยานหลักฐานเอกสารท้ายคำร้อง เห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องไต่สวน ให้งดการไต่สวนนั้น ย่อมมีผลเป็นการไม่อนุญาตให้เลื่อนคดีอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องพิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3804/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการงานนอกสั่งของอาคารชุด: สิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากการชำระค่าส่วนกลางแทนจำเลย
จัดการงานนอกสั่งนั้น ป.พ.พ. มาตรา 395 บัญญัติว่า "บุคคลใดเข้าทำกิจการแทนผู้อื่นโดยเขามิได้ว่าขานวานใช้ให้ทำก็ดี หรือโดยมิได้มีสิทธิที่จะทำการงานนั้นแทนผู้อื่นด้วยประการใดก็ดี..." ดังนั้น บุคคลใดที่จะเข้าทำกิจการแทนผู้อื่น เช่น โจทก์เข้าไปชำระค่าใช้จ่าย ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา แทนจำเลยนั้น เข้าทำกิจการแทนได้เลยโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าตัวการจะขอให้ทำหรือมีสิทธิทำแทนหรือไม่ ยิ่งในกรณีคดีนี้เข้าทำกิจการอันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลย คือเป็นการจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และตามข้อบังคับของจำเลยและตาม ป.พ.พ. มาตรา 397 ถ้าโจทก์ไม่เข้าชำระค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าส่วนกลาง แทนจำเลยแล้ว อาจไม่ทันท่วงทีเป็นเหตุให้ทางการไฟฟ้านครหลวงและการประปานครหลวงตัดน้ำตัดไฟของอาคารชุด การที่เข้าทำนี้ยังเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องคำนึงว่าจะขัดกับความประสงค์ของตัวการคือจำเลย โจทก์เข้าทำได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยจะต้องการหรือไม่ และเมื่อโจทก์ทำการตามมาตรา 397 นี้แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินอันตนได้ออกไปคืนแก่โจทก์อย่างเช่นโจทก์เป็นตัวแทนจำเลยได้ตามมาตรา 401

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1163/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีค้ามนุษย์: ผู้เสียหายที่แท้จริงและขอบเขตความรับผิด
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น เป็นธุระจัดหา ล่อไป และพาผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณี โดยผู้ร้องที่ 1 ไม่ยินยอม และเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อันเป็นการค้ามนุษย์ ตามคำฟ้องของโจทก์เห็นได้ว่าผู้เสียหายในคดีอาญาตามฟ้องโจทก์คือ ผู้ร้องที่ 1 ไม่ใช่ผู้ร้องที่ 2 เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่จะยื่นคำร้องได้ ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามบทบัญญัติของกฎหมายในข้อหาดังกล่าว ในส่วนของผู้ร้องที่ 1 นั้น แม้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ว่า ผู้ร้องที่ 1 สมัครใจยินยอมที่จะร่วมประเวณีกับลูกค้าชายที่เข้ามาเที่ยวร้าน ต. คาราโอเกะของจำเลยที่ 1 มิใช่ถูกจำเลยที่ 1 ใช้อุบายหลอกลวงก็ตาม แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือชักพาไปซึ่งเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อให้เด็กนั้นกระทำการค้าประเวณีโดยเด็กนั้นยินยอมก็เป็นความผิด ทั้งเป็นความผิดที่กระทำต่อผู้ร้องที่ 1 แม้ผู้ร้องที่ 1 จะยินยอมก็เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดข้อหานี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
of 11