คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรทิน สาเรือง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 108 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 880/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์: แม้สุจริตแต่กฎหมายไม่เปิดช่องยกเว้น
ก่อนที่จะมีการยึดที่ดินพิพาท โจทก์ขอตรวจสอบการถือครองที่ดินของจำเลยที่สำนักงานที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินพบว่าจำเลยถือครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1267 จึงคัดถ่ายเอกสารให้ผู้แทนโจทก์ไว้ ต่อมาโจทก์ขอตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิอีกครั้ง โดยคัดถ่ายหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) ดังกล่าวพร้อมราคาประเมินที่ดิน เจ้าพนักงานที่ดินก็ดำเนินการให้ หลังจากนั้นผู้แทนโจทก์นำยึดที่ดินพิพาท แต่ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งว่าที่ดินพิพาทมีการออกเป็นโฉนดที่ดินและจำเลยโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกก่อนจะมีการยึดแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 153 บัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ได้แก่ ค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของเจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีบรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ วรรคสองบัญญัติว่า ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีเป็นผู้ชำระ และตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ 3 ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 2 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แม้ความผิดพลาดในการยึดที่ดินพิพาทไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของผู้แทนโจทก์ก็ตาม แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานบังคับคดีและศาลใช้ดุลพินิจยกเว้นค่าธรรมเนียมถอนการยึดได้ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปเรียกร้องจากผู้เป็นต้นเหตุเอง ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดยักยอกทรัพย์และเอาไปเสียซึ่งเอกสาร: การกระทำที่ทำให้เอกสารไร้ประโยชน์เป็นความผิดฐานเอาเอกสารไปเสียได้
ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 188 นั้น แตกต่างกัน การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของแต่ละความผิดนั้น คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองเช็คพิพาทโดยโจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองให้แก่จำเลย การที่จำเลยเอาเช็คพิพาทของโจทก์ไปเรียกเก็บเงิน นอกจากเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว ย่อมเป็นการกระทำให้เช็คพิพาทนั้นไร้ประโยชน์ที่จะใช้ได้อีก การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 188 อีกบทหนึ่งด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19772/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรส แม้จะหย่าแล้วต้องแบ่งสินสมรส
การสมรสสิ้นสุดด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอน เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 และจดทะเบียนหย่ากันเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ดังนี้ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 การสมรสของโจทก์กับผู้ตายยังมีอยู่ เมื่อคู่ความรับว่าทรัพย์สินตามฟ้องผู้ตายได้มาระหว่างสมรสกับโจทก์ ย่อมเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับผู้ตาย และในทะเบียนหย่าก็ไม่มีบันทึกเป็นหลักฐานลงลายมือชื่อโจทก์ระบุข้อความว่าโจทก์สละสินสมรสที่ตนมีสิทธิได้ ทั้งกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เมื่อโจทก์กับผู้ตายจดทะเบียนหย่ากัน ต้องแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวในวันจดทะเบียนหย่าให้โจทก์และผู้ตายคนละครึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15913/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมความในคดีข่มขืนกระทำชำเรา: ผลกระทบต่ออำนาจฟ้องและการระงับคดี
โจทก์บรรยายฟ้องในคำฟ้องอ้างเหตุที่เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในลักษณะเป็นการโทรมหญิงเท่านั้น แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าธารกำนัล แต่เมื่อโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายของจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นต่อหน้าธารกำนัล ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง แสดงว่าโจทก์มิได้ประสงค์ให้ความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความไม่ได้เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อหน้าธารกำนัล และเมื่อข้อเท็จจริงในทางพิจารณารับฟังไม่ได้ว่าการร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะเป็นการโทรมหญิงตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคสาม คงเป็นความผิดตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง อันเป็นความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้น ย่อมตกลงยอมความกันได้ตามมาตรา 281 เมื่อมีการยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 วรรคหนึ่ง ของโจทก์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4039/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ล่าช้า จำเลยผิดสัญญา ชดใช้ค่าเสียหาย
แม้สัญญาจ้างซ่อมรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าจะต้องซ่อมเสร็จเมื่อใด แต่จำเลยก็มีหน้าที่ต้องซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จตามสัญญา จำเลยได้รับรถยนต์คันพิพาทไว้ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 โจทก์ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปให้อู่ น. ซ่อมต่อ รวมเวลาที่รถยนต์คันพิพาทอยู่ที่อู่ซ่อมรถของจำเลยเป็นเวลา 7 เดือนเศษ ซึ่งน่าจะเพียงพอแก่การซ่อมรถยนต์ดังกล่าวให้แล้วเสร็จ โดยเทียบเคียงกับที่หลังจากนำรถยนต์คันพิพาทไปซ่อมที่อู่แห่งใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็ซ่อมเสร็จ นอกจากนี้จำเลยซ่อมรถยนต์ได้เพียงประมาณร้อยละ 30 โจทก์มีหนังสือแจ้งจำเลยระบุให้เวลาจำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 และเมื่อโจทก์ไปขอรับรถในวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงเวลาตามที่กำหนด จำเลยก็ยอมให้รับรถไปโดยมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ถือได้ว่าจำเลยสละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลาที่โจทก์ให้แก่จำเลย พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่สามารถซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามสัญญาแล้ว ทั้งถือได้ว่าจำเลยผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์จึงชอบที่จะเลิกสัญญาโดยไม่จำต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แล้วเสร็จก่อน การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1677/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คเพื่อชำระหนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่บังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิด พ.ร.บ.เช็ค
เมื่อบันทึกการรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กระทำขึ้นภายหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้กู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ แม้จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์อยู่จริง แต่เมื่อการกู้ยืมเงินไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1676/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกโดยทายาทโดยธรรม ไม่ถือเป็นการโกงเจ้าหนี้ หากไม่มีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้
การโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 นั้น ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 49394 ซึ่งผู้ตายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองนั้น ก็เป็นเพียงการรับโอนทรัพย์มรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายจะสละมรดกในที่ดินโฉนดดังกล่าว แต่สิทธิของเจ้าหนี้ในการว่ากล่าวเอาแก่ทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทยังคงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21846/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งจากการกระทำความผิดทางอาญา: ค่าสินไหมทดแทนกรณีพรากเด็กและกระทำชำเรา
เมื่อคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเองเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20586-20591/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีสนับสนุนเจ้าพนักงานทุจริต: เหตุเกิดก่อน พ.ร.บ. ป.ป.ช. และจำเลยไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
แม้จำเลยจะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่จำเลยก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งคดีนี้เกิดก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับ แม้พนักงานสอบสวนจะพบการกระทำความผิดและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลย หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว และพนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษก็ตาม ก็หาทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจหน้าที่สอบสวนโดยชอบในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นต้องเสียไป และมีผลทำให้การสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ แม้แต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากงานที่ทำเป็นประโยชน์และไม่มีความเสียหาย
แม้ภายหลังที่จำเลยเข้าทำงานแล้วจะปรากฏว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่แล้วโดยไม่ปรากฏความเสียหายแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงงานที่จำเลยได้กระทำไปในหน้าที่ และเมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นจากโจทก์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นก่อนที่จะพ้นจากหน้าที่ได้
of 11